#FRIART ศิลป์ศุกร์สนุกดี Ep.6 ปิดท้ายธีม “Sex & The Christianity” ในศุกร์สุดท้ายของเดือนมกราคม ด้วยเรื่องราวของนักบุญเตเรซาแห่งอาบิลา (Saint Teresa of Ávila)
“Ecstasy of Saint Teresa” คือหนึ่งในผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีอัน โลเรนโซ เบร์นินี (Gian Lorenzo Bernini ค.ศ.1598 – 1680) สถาปนิกและประติมากรแห่งยุค Baroque สร้างสรรค์จากหินอ่อนแกะสลักขนาดเท่าคนจริงเป็นรูปนักบุญหญิงในชุดนางชีทางด้านขวา ด้วยท่าทางที่ลอยอยู่กลางอากาศ อีกด้านเทวทูตกางปีกพร้อมถือคมหอกขนาดเล็ก (ที่ดูเหมือนธนู) ชี้ลงมาทางตัวของหญิงสาว ปัจจุบันประติมากรรมชิ้นนี้ตั้งอยู่ที่ Santa Maria della Vittoria วิหารที่อุทิศให้แม่พระภายในกรุงโรม
เบื้องหลังการสร้างสรรค์ถูกทำขึ้นโดยคำสั่งของ Federico Baldissera Bartolomeo Cornaro พระคาร์ดินัลแห่งเวนิส เพื่อประดับในโบสถ์ที่จะฝังร่างของท่าน โดยแผนเดิมนั้นขอให้สร้างเป็นประติมากรรมของนักบุญเปาโล ทว่าเบร์นีนีเสนอให้เป็นรูปปั้นของนักบุญเตเรซาแทน เนื่องจากโบสถ์หลังดังกล่าวเป็นของคณะคาร์เมไลท์ไม่สวมรองเท้า (Order of Discalced Carmelites) ซึ่งมีเตเรซาเป็นนักบุญองค์สำคัญ
ทว่าแทนที่จะสร้างเป็นเพียงรูปนักบุญธรรมดา เบร์นีนีกลับเลือกเอาฉากสำคัญจากอัตชีวประวัติของนักบุญมาถ่ายทอด เตเรซานั้นเกิดในครอบครัวชนชั้นสูงของอาบิลา บิดาร่ำรวยจากการขายผ้าขนสัตว์และภายหลังอย่างได้รับการอวยยศอัศวิน
ในวัยเด็กเธอถูกส่งไปยังคอนแวนต์ของคณะออกัสติเนียน (Augustinian Order) ทว่าป่วยหนักจนต้องส่งตัวกลับบ้าน กระนั้นเตเรซาก็ยังอุทิศตัวให้แก่ศาสนาอย่างมากจนหาทางเข้าสู่เส้นทางนักบวชในคณะคาร์เมไลท์แม้จะถูกขัดโดยบิดา และเมื่อเจรจาได้รับการยินยอมจากบิดาของเธอแล้ว เตเรซาก็ได้ปฏิญาณตนเป็นนักบวชเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1537
หลังจากนั้นเธอป่วยไข้จนกระทั่งเป็นอัมพาต แต่กลับหายจากอาการอย่างรวดเร็ว ภายหลังเตเรซาจึงกลายเป็นบุคคลสำคัญในการปฏิรูปคณะคาร์เมไลท์ รวมถึงยังมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาคริสต์ศาสนาคาทอลิกของสเปน พระสันตะปาปาเกรกรอรีที่ 15 ทรงประกาศสถานะนักบุญของเธอในปีค.ศ.1622
ทว่าเรื่องราวที่ผู้คนเล่าขานกันมากเกี่ยวกับเตเรซากลับเป็นเรื่องราวสองแง่สองง่ามที่เกิดขึ้นระหว่างเธอกับเทวทูตที่พระเจ้าส่งมาซึ่งได้ถูกบันทึกในอัตชีวประวัติของเธอดังนี้
“ข้าเห็นหอกทองคำแท่งใหญ่และที่ปลายนั้นราวกับว่าลุกโชนด้วยเปลวเพลิงขนาดย่อม เทวทูตปรากฏกายขึ้น และแทงเข้าสู่หัวใจของข้าในทันใดและยังทิ่มแทงเข้าภายไปในร่างของข้า เมื่อเขาดึงมันออกและปลดปล่อยไฟที่เปี่ยมด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าไว้ในตัวของข้า ความเจ็บปวดนั้นช่างเหลือคณาจนทำให้ข้าร้องคราง ทิ้งความหวานชื่นพ่วงความทรมานที่มากล้นจนข้ามิปรารถนาให้สิ้นสุดลง”

Marble, Santa Maria della Vittoria
ผลงานเบร์นีนีถ่ายทอดเหตุการณ์นั้นออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม หญิงสาวลอยคว้างกลางอากาศ แขนขาแยกออกด้วยท่าทางคล้ายการชักกระตุก ดวงตาและริมฝีปากเปิดออกบนใบหน้าที่บิดเบี้ยวด้วยความหฤหรรษ์ เทวทูตน้อยแย้มยิ้มพร้อมประคองหอกทองคำที่คว้ามาเพื่อจะทิ่มแทงใส่ส่วนลึกของเธอ หอกนั้นคล้ายตัวแทนเครื่องเพศที่ตั้งตรงเพื่อมอบความสุขชั่วนิรันดร์
“ความสุขสมของนักบุญเตเรซา” ที่ไม่ต่างจากบทบรรยายเซ็กส์อันร้อนแรงถูกเล่าขานอย่างไม่จบสิ้น แม้ในยุคปัจจุบันนักเขียนนวนิยายสืบสวนชื่อดังอย่างแดน บราวน์ (Dan Brown) ก็ยังหยิบเอาประวัติของนักบุญเตเรซาและผลงานของเบร์นีนีมาดัดแปลงในผลงานชื่อดังอย่างเทวาซาตาน (Angels & Demons) ด้วย โดยกล่าวผ่านตัวละครเอกอย่างศาตราจารย์แลงดอนว่า…
“ถ้านี่ไม่ใช่การอุปมาถึงเพศสัมพันธ์อันรุนแรงแล้ว
ผมก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรเหมือนกัน”

ผู้เขียน : MM [Editor] คอลัมภ์ FRIART ศิลป์ศุกร์สนุกดี เผยแพร่ทาง Archaeo GO |
