ทั่วโลกย่อมรู้จักกับอารยธรรมอียิปต์โบราณกันเป็นอย่างดี แต่มีสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปจากพื้นที่สื่อและบทบาทคือกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการทวงคืนสมบัติชาติ โดยเฉพาะนัยยะของโบราณวัตถุซึ่งถูกนำออกไปสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอื่นๆ เรากำลังพูดถึงอาชญากรรมในนามของความรักและยาขมของงานโบราณคดียุคอาณานิคมที่พูดแล้วบะลั่กๆ กันทุกฝ่ายนั่นเอง
นิยามของการทวงคืนสมบัติชาติคืออะไร ประการแรกเราอาจต้องมองข้ามบริบทของอดีตไปพุ่งประเด็นที่เส้นแบ่งพรมแดนของปัจจุบันกับลัทธิจักรวรรดินิยมในอดีต โบราณสถานส่วนมากที่อยู่ในพื้นที่ประเทศใดก็เสมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนั้นๆ ในการดูแลจัดสรร และหากเรามองด้วยมุมมองแบบนักโบราณคดี ทุกพื้นที่พรมแดนประกอบด้วยลำดับชั้นพัฒนาการทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นไปด้วยการแลกเปลี่ยน การเคลื่อนที่ของผู้คน และอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายยุคหลายสมัย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวรวมถึงผลกระทบสืบเนื่องมาจากยุคล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกอีกด้วย
กระแสการล่าอาณานิคมไม่ได้มาพร้อมความขมขื่นในเรื่องของการเมืองการปกครองเท่านั้น ยังส่งผลกระทบด้านวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ในพื้นที่ใต้อาณานิคมดังกล่าวด้วย ข้อดีอย่างหนึ่งคือการมาของอาณานิคมได้นำพากระแสการตื่นตัวทางด้านโบราณคดีเข้ามาด้วย เมื่อลัทธิจักรวรรดินิยมซึ่งยกตนข่มชาติซึ่งมีทรัพยากรแต่ขาดความชำนาญด้านการค้าและการรบผสมเจือปนเข้ากับแนวคิดพันธะของคนผิวขาว (The White Man’s Burden) ที่มองว่าตนในฐานะชาติเจริญแล้วนั้นมีส่วนในการยกระดับสังคมและพัฒนากลุ่มวัฒนธรรมที่ด้อยกว่าในด้านดังกล่าว ทำให้เกิดการไหลบ่าเข้ามาในพื้นที่ที่มีการค้นพบทางโบราณคดีจำนวนมากและหนาแน่น ก่อเกิดแนวคิดการทำงานโบราณคดีอลังการที่ทุกคนจะก้าวเข้ามาขุดค้นและหยิบฉวยโบราณวัตถุเพื่อนำเสนอความเป็นอารยะของตนโดยทางอ้อม แนวคิดเหล่านี้ไม่เปิดพื้นที่ให้กับชาติซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ก่อนถูกปกครองเป็นผู้มีบทบาทในการศึกษาอดีตนอกเหนือไปจากการเป็นแรงงานในการขุดค้น หากอยากมองให้เห็นภาพผ่านสื่อบันเทิง คุณอาจลองดูตัวอย่างจากภาพยนตร์เรื่อง The Mummy (1999) ในช่วงที่เป็นการขุดค้นเมืองสมมติที่ชื่อฮามูนัปตรา คงไม่มีอะไรจะสะท้อนความเป็นจักรวรรดินิยมชี้นิ้วได้ชัดกว่านี้แล้ว และหากจะมองให้ลึกขึ้น เราอาจพิจารณาร่วมกับฉากเปิดซึ่งริชาร์ด โอคอนเนล พระเอกเป็นทหารซึ่งนำทหารกองเดียวกันเข้ามาเสาะหาเมืองแห่งนี้ นั่นเป็นการแสดงภาพของสิ่งที่อาณานิยมใช้เพื่อเข้ามาขุดหาสมบัติในอียิปต์ นั่นคือปืนไม่ใช่เกรียงอย่างที่ควรจะเป็น
ดังนั้นการทวงคืนสมบัติของชาติในความหมายแรกคือการเรียกร้องและทวงคืนโบราณวัตถุภายในประเทศที่หลั่งไหลออกไปตั้งแต่ช่วงยุคอาณานิคมและสมัยใหม่ ทั้งในรูปแบบของการศึกษาหรือการค้าโบราณวัตถุซึ่งปัจจัยหลังกลายเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งไปแล้วในสายตาของสหประชาชาติ
หน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับโบราณสถานและสมบัติของชาติในประเทศอียิปต์มีการก่อตั้งอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ.1858 ในชื่อว่า “สำนักงานศิลปวัตถุ” (Antiquities Authority) แต่กว่าจะเป็นหน่วยงานซึ่งหลุดออกจากการครอบงำจากอาณานิคมตะวันตกไปอยู่ในมือของรัฐบาลอียิปต์ก็ปีค.ศ.1956 ที่กองทัพอังกฤษถอนกำลังออกไปแล้ว หลังจากนั้นก็ปรับเปลี่ยนการดูแลใต้กระทรวงต่างๆ จนสุดท้ายถึงได้รับการยกระดับเป็นกระทรวงศิลปวัตถุ (Ministry of Antiquities) เมื่อปีค.ศ.2015
แต่ช่วงเวลาที่อุดมการณ์ของกระทรวงเดินมาถึงจุดตั้งเป้าที่เรียกว่าเป็นการดำเนินการเพื่อปกป้องโบราณสถานและศิลปวัตถุจากการลักลอบขุดและการลักลอบค้าของเก่าก็เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ.2011 สมัยของ ประธานาธิบดี Hosni Mubarak ในตอนนั้นใช้ชื่อ The Supreme Council of Antiquities (SCA) สังกัดใต้กระทรวงวัฒนธรรม ลักษณะคล้ายคลึงกับการที่ประเทศไทยมีกรมศิลปากร สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมหากจะมองเรื่องโครงสร้างอำนาจ
อียิปต์เผชิญปัญหาด้านอาชญากรรมข้ามชาติในเรื่องกระบวนการค้าโบราณวัตถุและการโจรกรรมสุสาน ไปจนถึงการลักลอบขุดค้นซึ่งเป็นการรบกวนและทำลายแหล่งโบราณคดีอันประเมินค่ามิได้ตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเริ่มจากกระแสการตื่นตัวอียิปต์วิทยาจากชาวฝรั่งเศส ไล่มาจนถึงคิวของอังกฤษ กระแสดังกล่าวยังส่งอิทธิพลการคลั่งอียิปต์ผ่านการจัดทำห้องสไตล์อียิปต์กับเครื่องเรือนอียิปต์ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็เป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มมีการศึกษาด้านโบราณคดี แต่อยู่ในหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภา
กระบวนการของการลักขุดลอบค้าอยู่ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศอียิปต์มาหลายช่วงอายุคน โบราณวัตถุจำนวนมหาศาลแพร่กระจายออกไปตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มากน้อยแล้วแต่ความกระตือรือร้นในความอยากทันกระแสอียิปต์ของชาตินั้นๆ และยังไม่นับคอลเลคชั่นส่วนตัวของเอกชนรายบุคคลอีก พิพิธภัณฑ์หลายแห่งสามารถสร้างห้องนิทรรศการอียิปต์และมีโบราณวัตถุอียิปต์เป็นโบราณวัตถุชิ้นเอกที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชม การรั่วไหลในลักษณะนี้ทำให้ทางการอียิปต์ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของงานโบราณคดีในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมและสมบัติของชาติ ซึ่งยังมีบทบาทสำคัญในฐานะเครื่องมือทางการค้าหารายได้เข้าประเทศผ่านการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง เกิดกระแสเพื่อการปกป้องและคุ้มครองมรดกและสมบัติดังกล่าวอย่างเข้มงวดมากขึ้น พยายามดึงอำนาจของการดูแลให้อยู่ภายใต้รัฐบาลของอียิปต์ ดำเนินการในลักษณะทำนองอียิปต์เพื่อคนอียิปต์
ตัวอย่างของการพยายามทวงคืนอย่างยาวนานและยังไม่ได้รับการตอบสนอง เป็นการเรียกร้องขอให้ทางประเทศเยอรมันยอมส่งคืนรูปปั้นเนเฟอร์ตีติ อายุกว่า 3,400 ปี โบราณวัตถุชิ้นเอกที่โด่งดังไปทั่วโลกทั้งความงามของราชินีกับความละเมียดในการปั้นของช่างฝีมือ ทุกคนที่รู้จักอียิปต์จะต้องคุ้นเคยกับใบหน้าของพระนางอย่างแน่นอนแม้ว่าจะไม่รู้จักพระนาม รูปปั้นของเนเฟอร์ตีติชิ้นนี้และใบหน้านี้สามารถดึงให้นักท่องเที่ยวกว่าล้านคนต้องพุ่งเป้าเข้ามาชมที่พิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน คงไม่ต้องนับว่าเป็นเม็ดเงินจำนวนมากเพียงไร
รูปปั้นนี้ถูกพบในงานขุดค้นของนักโบราณคดีเยอรมันคนดังนามว่า Ludwig Borchardt ซึ่งดำเนินงานในช่วงยุคล่าอาณานิคมและการตื่นตัวของโบราณคดีอลังการ ด้วยลูกเล่นของการจัดเก็บข้อมูลบางอย่าง สุดท้ายแล้วนายลุดวิก บอร์ชาร์ดก็ไม่ได้ส่งมอบโบราณวัตถุชิ้นนี้ให้กับอียิปต์ แต่อยู่ๆ มันก็ไปโผล่ที่เบอร์ลินแบบอัศจรรย์ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับรูปปั้นนี้มีจำนวนมาก ตั้งแต่การตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับรูปแบบศิลปะที่แตกต่างไปจนถึงว่ามันอาจเป็นของทำเทียมขึ้น เมื่อทางเบอร์ลินที่ขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้ยืนยันว่าโบราณวัตถุนี้เป็นของจริง แต่กลับไม่ยอมส่งคืนให้กับประเทศอียิปต์ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมด้วยการบอกว่า “เธออยู่นี่เป็นแขกคนสำคัญดีแล้ว”
นายซาฮี ฮาวาส นักโบราณคดีอียิปต์วิทยาที่ทำงานเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ยื่นเรื่องขอคืนโบราณวัตถุสมบัติของชาติหลายชิ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงศิลาโรเซ็ตต้า (Rosetta Stone) ซึ่งอยู่ที่ British Museum ประเทศอังกฤษด้วย สำหรับรูปปั้นเนเฟอร์ตีติได้ทำการยื่นเรื่องไปหาทางเยอรมันตั้งแต่ปี 2009 และมีการพยายามต่อสู้อีกครั้งเมื่อปี 2011 ทางเยอรมันไม่เคยตอบรับคำเรียกร้องดังกล่าว ยืนยันที่จะให้พระนางอยู่ในเบอร์ลินแบบนางงามตู้กระจกต่อไปในฐานะ “แขกบ้านแขกเมือง”
ไม่ใช่แค่ข้อพิพาทกับชาติยุโรปอย่างเดียว แต่กับประเทศกลุ่มอาหรับอย่างเดียวกันก็มีปรากฏเกี่ยวกับการทวงคืนสมบัติชาติด้วย ปี 2016 ทางกระทรวงศิลปวัตถุได้รับส่งมอบโคมไฟยุคอิสลามของอียิปต์ อายุตรงกับสมัยของเจ้าชายสุไลมาน อักรา เซเลห์ดาร์ (คริสต์ศตวรรษที่ 19) จำนวน 2 ชิ้นซึ่งถูกขโมยไปจาก The National Museum of Egyptian Civilisation (NMEC) พร้อมกับโคมชิ้นอื่นๆ อีก 2 ชิ้น รวมทั้งหมด 4 ชิ้น เมื่อปี 2015 หัวขโมยได้ทำการสับเปลี่ยนโบราณวัตถุด้วยของทำเทียมก่อนที่ของจริงจะไปโผล่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) จำนวน 2 ชิ้นที่ได้รับการส่งมอบกลับมา อีก 1 ชิ้นพบว่ามีปรากฏหลักฐานการซ่อมแซมที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่วนอีก 1 ชิ้นยังไม่สามารถค้นหาจนเจอได้
ตัวอย่างไม่นานมานี้ในการทวงคืนสมบัติชาติของรัฐบาลอียิปต์ในการดำเนินการของกระทรวงศิลปวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ดัง ก็คือข้อพิพาทกับ The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาในการส่งคืนโลงสพของนักบวชที่ชื่อว่า “Nedjemankh” ซึ่งถูกค้นพบที่เมืองมินยา (Minya) อายุราว 1,200 ปีที่ถูกขโมยไปจากอียิปต์เมื่อปีค.ศ. 2011 และถูกนำไปจำหน่ายผ่านบริษัทเอกชนที่จำหน่ายงานศิลปะด้วยเอกสารที่ถูกปลอมขึ้นก่อนจะมีนายหน้าชาวปารีสมาตกลงการขายกับทางพิพิธภัณฑ์ในราคา 4 ล้านเหรียญ
เส้นทางการค้าของโลงศพนี้กระทำการด้วยวิธีการเวียนเปลี่ยนมือขายเป็นทอดๆ โดยเริ่มจากส่งไปที่ประเทศเยอรมันเพื่อทำการตกแต่งซ่อมแซมก่อนจะส่งไปที่ฝรั่งเศส เอกสารการส่งออกจากอียิปต์ถูกปลอมแปลงขึ้นในกระบวนการดังกล่าว และโลงของ Nedjemankhไม่ใช่โบราณวัตถุชิ้นเดียวที่ถูกลักลอบนำออกไปค้าในรอบนั้น แต่ยังมีโบราณวัตถุอีกร่วมร้อยที่ถูกขโมยออกไปซึ่งทางการอียิปต์ดำเนินการเพื่อติดตามกลับมาอยู่ โดยโลงศพที่ได้คืนนี้ผ่านกระบวนการยื่นคำร้องไปนานถึง 2 ปีจึงได้รับการส่งมอบ และกลับไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในอียิปต์เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา
“นี่ไม่ใช่การกระทำเพื่อชาวอียิปต์แต่เป็นสิ่งที่ทำเพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์ นาย Sameh Hassan Shoukry กล่าวกับสำนักข่าว Reuters เป็นคำกล่าวในทางเดียวกับที่นักโบราณคดีที่มีอุดมการณ์หลายคนตระหนักถึงความหมายและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้าใจในมุมมองของวัฒนธรรมในฐานะสมบัติของมนุษยชาติ นอกจากนี้สมบัติดังกล่าวยังผูกพันและสามารถดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมของตนได้อย่างยั่งยืนก็ด้วยการอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้คนในพื้นที่วัฒนธรรมดังกล่าวนั่นเอง
ลักษณะของการทำงานด้านโบราณคดีในอียิปต์ช่วงทศวรรษหลังๆ จึงเป็นนักโบราณคดีท้องถิ่นดำเนินการเป็นหลัก กระนั้นทางการอียิปต์ก็ไม่ได้ปฏิเสธการร่วมมือจากภายนอก เราอาจเห็นนักโบราณคดีอเมริกันหรือยุโรปเข้าไปร่วมงานในการศึกษาอยู่เนืองๆ การบริหารในลักษณะนี้ช่วยลดความเสี่ยงในการลักลอบนำโบราณวัตถุออกนอกประเทศได้ดี และยังใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน การปกป้องไม่ได้เพ่งเล็งไปที่ทางสายตรงคือการควบคุมการเข้าถึงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการปกป้องผ่านพื้นที่สื่อในบางครั้งด้วย เพราะการปกป้องพื้นที่ดังกล่าวย่อมส่งผลดีแต่มุมมองของคนในชาติและเผยแพร่การแสดงออกถึงการให้ความสำคัญต่อมรดกทางวัฒนธรรมในระดับโลกนั่นเอง
และนี่คือการพยายามผ่านระยะเวลาหลาย 10 ปีของประเทศอียิปต์ในการทำให้สหประชาชาติและทั่วโลกเข้าใจความรักและผูกพันต่องานโบราณคดี ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเอง สะท้อนผ่านผลงานต่างๆ ที่ผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ผลที่ได้รับจะเป็นไปในผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวด้วย แต่หากเราใช้เวลาพิจารณาดูรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า “เค้ารักของเค้าจริงๆ”
อยากให้คนไทยใจกว้าง และเปิดรับมุมมองใหม่ๆ รวมถึงหวงแหนสมบัติของชาติที่แม้แต่เงิน 100,000 บาทเราก็ยังทำให้ทับหลังหินทรายจำนวน 2 ชิ้นจากซานฟรานซิสโกมาถึงไทยได้
ไม่รักไม่หวงทำไม่ได้นะเนี่ย แหม
References :
- A brief overview about the Ministry of Antiquities.[Online].Retrieved from: https://egymonuments.gov.eg/ [cited June 1, 2021]
- A Brief History of the Supreme Council of Antiquities (SCA): 1858 to present [Online]. Supreme Council of Antiquities. Retrieved from: http://www.sca-egypt.org/eng/SCA_History.html [cited June 1, 2021]
- Nevine El-Aref. (Dec 15, 2016). Egypt antiquities ministry receives two stolen Islamic-era lamps from UAE [Online]. Ahram Online. Retrieved from: https://english.ahram.org.eg/NewsContent/9/43/253156/Heritage/Islamic/Egypt-antiquities-ministry-receives-two-stolen-Isl.aspx [cited June 1, 2021]
- New York Met museum returns stolen ancient Egyptian coffin. BBC. Retrieved from: https://www.bbc.com/news/world-middle-east-49837860 [cited June 1, 2021]
- Reuters Staff.(January 25, 2011).German foundation refuses to return Nefertiti bust.Reuters. Retrieved from: https://www.reuters.com/article/us-germany-egypt-nefertiti-idUSTRE70N6N220110124 [cited June 5, 2021]
- ณัฎฐา ชื่นวัฒนา.(July 9,2020). แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น: การเมือง โบราณคดีชาตินิยมอลังการ กับมื้ออาหารที่หายไป (1).the 101 world. Retrieved from: https://www.the101.world/ancient-recipe-06/ [cited June 1, 2021]