หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องแนวคิดของคู่รักร่วมเพศคู่แรกคือพบที่อารยธรรมอียิปต์โบราณ เราต่างกำลังซาบซึ้งและตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศที่ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของ “ปัจจุบัน”โดยที่ละเลยว่าทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพียงสมมติฐานบนพื้นชุดความคิดหนึ่งๆ สุสานหนึ่งแห่ง ภาพไม่กี่ภาพ แต่มีมิติซ้อนทับมากมาย แล้วสรุปแล้วนี่คือสุสานของรักร่วมเพศ (Homosexual) จริงๆ หรือเป็นแค่กับดักทางความคิดของนักโบราณคดีกันแน่ มากะเทาะแนวคิดในการวิเคราะห์ไปด้วยกันนะคะ

มารู้จักสุสานอันลือลั่นนี้ก่อน สุสานที่ถูกนำไปพูดถึงในฐานะหลักฐานของรักร่วมเพศที่เก่าแก่ที่สุด โดยเฉพาะการตีความว่าเป็นสุสานของคู่เกย์คู่แรกก็ดี เจ้าของสุสานมาสตาบา (Mastaba) แห่งนี้คือชาย 2 คนชื่อว่า Niankhkhnum และ Khnumhotep ชายหนุ่มที่คาดว่ามีอายุเมื่อราว 2,380 ปีก่อนคริสตกาล สุสานนี้ค้นพบครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1964
รูปแบบขององค์ประกอบในภาพแกะสลักจัดอยู่ในท่าที่เหมือนกับภาพประเภทคู่รักต่างเพศทั่วไปที่พบได้ในสุสานอียิปต์โบราณ ทั้งสองยืนเคียงข้างจับมือกัน จมูกทั้งคู่สัมผัสกันเป็นลักษณะของท่าทางการจุมพิตในศิลปะอียิปต์ทั่วไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นคู่รักกันแต่กลับมีร่องรอยว่าทั้งสองต่างก็มีภรรยาและลูกด้วย ทว่ากลับไม่พบรูปที่พวกเขาจุมพิตภรรยาในลักษณะเดียวกัน

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าทั้งสองอาจจะเป็นพี่น้องที่สนิทสนมกันมาก อาจเป็นฝาแฝดหรือกระทั่งแฝดที่มีร่างกายติดกันบางส่วน กระนั้นก็ยังไม่มีร่องรอยปรากฏในภาพอื่นๆ ที่สอดคล้องกับประเด็นหลังสุดมาอธิบายปรากฏการณ์นี้ แต่หากเราพิจารณาจากมุมมองของนักโบราณคดีตะวันตกซึ่งยังปราศจากความเข้าใจความหลากหลายทางเพศและเลือกที่จะวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีด้วยแนวคิดแบบมองเพศเป็นระบบสองขั้วอย่างเรียบง่ายคือ “รักต่างเพศ” (Heterosexual) กับ “รักร่วมเพศ” (Homosexual) แบบหลวมๆ ไปจนถึงการเพิกเฉยในการขยับมุมมองจากเพศสภาวะของยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20 กลับไปพิจารณาตามบริบทสมัยของอียิปต์ช่วงดังกล่าว ทำให้การทำงานด้านการวิเคราะห์ยังคงเจือปนด้วยอคติทางเพศบางอย่าง ทำให้พวกเขาพยายามที่จะอธิบายภาพปรากฏไปตามอุดมคติของตน มีการจัดแบ่งพื้นที่ของวัฒนธรรมออกเป็นส่วนที่แยกขาดออกจากกัน มองในเรื่องของความเป็นโบราณคดีกระบวนการ (Processual Archaeology) ที่ทุกอย่างถูกจัดลงใส่กล่องเป็นชิ้นๆ ซึ่งกว่าแนวคิดในการมองว่าเพศเป็นส่วนประกอบทางวัฒนธรรมและมีความแตกต่างอันเป็นผลผลิตเฉพาะ ไปจนถึงการเลื่อนไหลจนเป็นนิยามเพศสภาวะจะปรากฏก็ในช่วงราวทศวรรษที่ 1970s อันจัดว่าเป็นอีกทศวรรษถัดมาจากการค้นพบมาสตาบาแห่งนี้และกว่าจะมีการนำมาประยุกต์ใช้ในการตีความจนเกิดโบราณคดีหลังกระบวนการ (Post-processual Archaeology) ก็ต้องใช้เวลาอีกเท่าตัว
ตัวอย่างที่สนับสนุนข้อกังขาเรื่องอคติดังกล่าวอีกชิ้นคือศิลาของฮอร์ (Hor) และซูตี (Suty) ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม (British Museum) ซึ่งถูกตีความไปว่าทั้งสองคนในศิลานั้นควรเป็นพี่น้องฝาแฝดกันมากกว่าสิ่งอื่น กระนั้นคำที่ใช้ในการบรรยายถึงทั้งสองซึ่งออกเสียง SN (ตามระบบเสียงภาษาอังกฤษ) มีความหมายในการใช้งานค่อนข้างกว้าง คือจะแปลว่าพี่น้องชายก็ได้ สหายก็ดี คนรัก ไปจนถึงสามีก็ยังได้ ทำให้เมื่อปราศจากพยานหลักฐานทางชีววิทยาอย่างมัมมี่ก็ย่อมยากจะสรุปว่าพวกเขาเป็นพี่น้องฝาแฝดหรือสิ่งอื่นสิ่งใด
แล้วเราจำเป็นที่จะต้องมองเพียงแค่ความสัมพันธ์ทางเครือญาติเพื่อแสดงถึงเพศสภาวะของทั้งสองว่าเป็นรักต่างเพศหรือเป็นไปทางตรงข้ามแบบรักร่วมเพศอย่างเดียวหรือไม่? คำตอบที่ได้อาจจะทำให้ทุกคนยิ่งสับสนกว่าเก่า เมื่อเราจะบอกว่าเราสามารถนิยามเพศสภาพของพวกเขาว่า Queer ก็ได้ และนั่นเป็นผลพวงมาจากการพยายามรื้อแนวคิดการตีความเรื่องเพศในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20
นิยามของ “เควียร์” (Queer) หมายถึงเพศสภาวะอันไม่ระบุขั้ว เป็นพื้นที่เปิดกว้างทางเพศที่ไม่ตกอยู่ในกลุ่มของรักต่างเพศหรือรักร่วมเพศ ไม่เป็นเพียงเกย์ เลสเบี้ยน ไบฯ หรือใดๆ ที่จำเป็นต้องมีคู่ตรงข้าม แต่เป็นเพศที่ไร้สีและพร้อมจะพลิกเปลี่ยนไปได้ตลอด แนวคิดของความเป็นเควียร์เลยไม่มีข้อจำกัดในการนิยาม ณ ขณะนี้ และมักจะถูกหยิบยกมาใช้ในการพยายามเข้าใจความหลากหลายทางเพศของคนในอดีตจนมีสาขาย่อยในสายโบราณคดีด้วยเช่นกัน
เมื่อเราพบว่าทั้ง Niankhkhnum และ Khnumhotep สะท้อนรูปแบบชีวิตด้วยการสามารถอนุมานความเป็นคู่รักร่วมเพศ แต่ในขณะเดียวกันก็ปรากฏร่องรอยของรักต่างเพศด้วยการมีภรรยา ในทีนี้ใช้คำว่า “รัก” ในลักษณะแฝงกิจกรรมทางเพศ นั่นหมายความว่าทั้งสองคนอาจจะไม่จำกัดการมีคู่รักเป็นเพศใดเพศหนึ่ง ไปจนถึงการอาจจะมีความสัมพันธ์แบบเปิด (Open Relationship) ตามภาพสะท้อนบนผนังสุสานของพวกเขาก็ว่าได้
อย่างไรก็ตามทั้งกรณีของ Niankhkhnum/Khnumhotep และ Hor/Suty ก็ยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียงในการตีความหลักฐานอยู่ขณะนี้ เมื่อเรื่องของอดีตเป็นเพียงการประกอบสร้างจากการตีความของคนรุ่นหลัง ดังนั้นเมื่อมีการหยิบแนวคิดและมุมมองอื่นเข้ามานิยามความเป็นเพศ มันจึงก่อให้เกิดภาพสะท้อนที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน
แล้ววันนี้พวกคุณใส่รองเท้าของใครเดินออกจากบ้านกันนะ? รองเท้าของคนอียิปต์หรือรองเท้าของอินเดียน่า โจนส์?

Featured Image : This image was first published on Flickr. Original image by kairoinfo4u. Uploaded by Arienne King, published on 31 May 2021 under the following license: Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike. This license lets others remix, tweak, and build upon this content non-commercially, as long as they credit the author and license their new creations under the identical terms. When republishing on the web a hyperlink back to the original content source URL must be included. Please note that content linked from this page may have different licensing terms.
References:
- kairoinfo4u, . (2021, May 31). Mastaba of Niankhkhnum & Khnumhotep. World History Encyclopedia. Retrieved from https://www.worldhistory.org/image/14159/mastaba-of-niankhkhnum–khnumhotep/ [cited 11 June 2021]
- Reeder, Greg. (2000). Same-sex desire, conjugal constructs, and the tomb of Niankhkhnum and Khnumhotep. World Archaeology. 32. 193-208. 10.1080/00438240050131180.
- เทพพิทักษ์ มณีพงษ์.(2017, Feb 23).โปรดเรียกฉันว่า ‘เควียร์’. the101.world. Retrieved from https://www.the101.world/call-me-queer/ [cited 11 June 2021]
One thought on “Queer Egypt หลากความคิด หลายเพศ ต่างมุมมอง”