เล่าขานตำนานสัตว์ประหลาดในตำนานและเทพนิยายญี่ปุ่น เตรียมพกกาวขณะขึ้นเครื่องเพื่อความประทับใจในความครีเอทีฟของพี่ญี่ปุ่น ตอนแรกนี้มาทำความรู้จักกับ “โยไค” แห่งแดนอาทิตย์อุทัยเบื้องต้นกันก่อน!
ก่อนจะหลอมรวมเป็นประเทศญี่ปุ่นภายใต้การปกครองเดียวกันอย่างปัจจุบัน ญี่ปุ่นเคยประกอบด้วยสังคมระบบชนเผ่า (Tribes) ที่มีความหลากหลายมาก่อน ด้วยระบบนี้ทำให้สิ่งเหนือธรรมชาติและปกรณัมต่างๆ ของญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันจำนวนมากตามแต่กลุ่มคนที่ให้ความสำคัญในระดับท้องถิ่น และเมื่อทุกความเชื่อถูกผนวกเข้ากับลัทธิชินโตภายหลัง ตำนานและเรื่องราวเหล่านั้นจึงถูกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อแบบชินโตซึ่งยังมีแนวคิดแบบศาสนาผีหรือคติวิญญาณนิยม (Animism) แบบเดียวกัน จนกระทั่งการเข้ามาของศาสนายุคหลังก็ยังไม่อาจลบล้างความเชื่อดังกล่าวที่ผสานกันอย่างแนบแน่นในวัฒนธรรม เช่นเดียวกับสิ่งที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ตอนนี้อย่างโยไค
คำว่า “โยไค” ในภาษาญี่ปุ่นเขียนเป็นตัวอักษรคันจิ 2 ตัวได้ดังนี้ 妖怪 มีความหมายว่า สิ่งแปลกประหลาด เหนือธรรมชาติ ภูตผีปีศาจ หรือเหตุการณ์ที่หาคำอธิบายไม่ได้ คันจิตัวเดียวกับอักษรในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “เยาไกว้” ส่วนเพื่อนบ้านอีกแห่งคือเกาหลีเรียกสิ่งนี้ว่า “โยเก” [요괴] ความหมายล้วนสื่อมาอย่างใกล้เคียงกันว่าไม่ได้หมายถึงเฉพาะปีศาจในความหมายเดียวกับคำว่า Demon ในภาษาตะวันตก แต่หมายรวมถึงสิ่งเหนือธรรมชาติที่มนุษย์ไม่อาจเข้าใจ อาจเป็นทั้งสิ่งที่มองเห็นไม่ได้หรือมองเห็นได้ มีทั้งที่เลวร้ายและไม่เป็นอันตราย เรียกได้ว่าคำนี้เป็นคำนิยามเพื่อเรียกพลังอำนาจลี้ลับชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่เฉพาะเพียงเป็นเทพเจ้า (God) และไม่เชิงว่าต้องเป็นมาร (Demon) เพราะบางครั้งโยไคเองก็ไม่ได้มีหน้าที่หรือบทบาทที่จะจองผลาญมนุษย์มนาจนถึงแก่ชีวิตอย่างเดียว แต่ยังมีบทบาทในมิติอื่นต่อสังคมมนุษย์ด้วย
คำว่าโยไคปรากฏในเอกสารเก่าแก่ของญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ในปกรณัมที่ชื่อว่า “โชกุ นิฮงกิ” [続日本紀] ซึ่งมีการระบุถึงพิธีกรรมแบบชินโตซึ่งกระทำขึ้นในราชสำนักเพื่อปดเป่าพวกโยไค นอกจากนี้แล้วในเอกสารยุคที่เก่ากว่าเพียงเล็กน้อยอย่าง “โคจิกิ” [古事記] หนังสือรวมเรื่องราวตำนานโบราณของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเขียนขึ้นในคริสต์ศตวรรษเดียวกับโชกุ นิฮงกิ โดยปรากฏเรื่องราวที่เรียกว่า “โยไค ไทจิ” [妖怪退治] แปลว่าการกำจัดโยไค ดังเช่นเรื่องของวีรชนที่มาปราบปรามสิ่งชั่วร้ายอย่างตอนซูซาโนะโอะ[須佐之男命] เทพแห่งวายุและท้องทะเลได้ปราบยามาตะ โนะ โอโรชิ [八俣遠呂智/八岐大蛇] สัตว์ประหลาดที่มีลักษณะเป็นสัตว์เลื้อยคลานมี 8 หัว
เหล่าโยไคเหล่านี้ถูกเล่าขานกันมานานจนกว่าจะมีรูปลักษณ์ปรากฏในงานศิลปะดังแบบปัจจุบันที่เราคุ้นเคยก็เป็นช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 17-19 ศิลปินโทริยามะ เซกิเอ็ง [鳥山 石燕] เป็นผู้ริเริ่มการวาดภาพของเหล่าสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้ลงบนม้วนภาพชุด ก่อนจะมีศิลปินอีกคนคือ ซาวากิ ซูชิ [佐脇 嵩之] สร้างสรรค์งานระดับตำนานในขนบเดียวกันเป็นภาพชุดที่มีชื่อว่า “เฮี๊ยกไก ซูกัง” [百怪図巻] หรือแปลเป็นภาษาไทยว่าชุดรวมภาพวาดของร้อยปีศาจ โดยทำการร่วมรวมตำนานของโยไคพร้อมวาดภาพประกอบ รวมเป็นเล่มในฉบับที่เราอาจเรียกว่างานเขียนปีศาจวิทยา (Demonology) แบบญี่ปุ่นก็ได้ แม้ว่าบางคนอาจมองว่างานของทั้ง 2 คนดูเป็นงานศิลปกรรมเชิงล้อเลียน (Parody) งานเขียนชุดอื่นๆ เช่น คัมภีร์ซานไห่จิง (山海经) ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องราวของสิ่งที่อาจเรียกว่าเป็นต้นแบบของโยไคก็ว่าได้
และนี่ก็คือการแนะนำนิยามและความหมายของคำว่า “โยไค” ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่เค้าก็ไม่ได้มีแค่โยไคคำเดียวที่ใช้เรียกอะไรแบบนี้ ตอนหน้าเราจะมาดูคำอื่นๆ ที่คนญี่ปุ่นเคยใช้เรียกสิ่งเหนือธรรมชาติในอดีต
แล้วพบกันใหม่ค่ะ

อ่านเรื่องราวของ “โยไค” อื่นๆ เพิ่มเติม

References :
- Foster, Michael Dylan.( 2009).Pandemonium and parade. Los Angeles, California: University of California Press
- Foster, Michael Dylan.(2015). The Book of Yōkai: Mysterious Creatures of Japanese Folklore.Oakland: University of California Press.
- Lillehoj, Elizabeth. Transfiguration: Man-made objects as demons in Japanese scrolls. Asian Folklore Studies 1995.

9 ความเห็นบน “ปฐมบท : ทำความรู้จักกับ “โยไค” แห่งแดนอาทิตย์อุทัย”