24 ฤดูกาลของจีนโบราณพร้อมเทศกาลกับอาหารการกิน

ฤดูกาลแบบจีนโบราณดูเผินๆ แบ่งออกได้เป็น 4 ฤดูกาลใหญ่ๆ อย่างฤดูใบไม้ผลิ, ฤดูร้อน, ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว แต่จริงๆ คนโบราณแบ่งช่วงเวลาต่างๆ ของปีแยกออกเป็น 24 ปักษ์หรือฤดูกาลย่อย วันนี้เรามาทำความรู้จักฤดูกาลทั้ง 24 ของจีนกันดีกว่า

ปฏิทินจีนโบราณมีการแบ่งปีออกเป็นช่วงๆ เพื่อเป็นการกำหนดช่วงเวลาในการเพาะปลูกทำเกษตรกรรม นักดาราศาสตร์โบราณได้ทำการศึกษาเรื่องฤดูกาลเพื่อจัดทำปฏิทิน โดยชาวจีนพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างโลก ดวงอาทิตย์ และพระจันทร์ล้วนส่งผลต่อปี เดือน และฤดูกาลโดยที่เดือนนั้นเกิดจากอิทธิพลของดวงจันทร์ที่โคจรรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 29 ½ วัน ปฏิทินจีนจึงประกอบด้วยเดือนใหญ่ 30 วัน และเดือนเล็กมี 29 วัน

ฤดูกาลนั้นโลกได้รับอิทธิพลจากพระอาทิตย์ เกิดจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ทำมุมองศาแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงปี ทำให้ส่วนต่างๆ ของโลกหมุนเวียนกันรับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์มากน้อยต่างกันจนเกิดเป็นฤดูกาล ส่วนปีนั้นแบ่งเป็นรอบปีจันทรคติหรือสุริยคติ อาจกล่าวได้ว่าปฏิทินจีนโบราณนี้เกิดจากการผสมระบบปฏิทินทั้งสองเข้าไว้ด้วยกัน

ฤดูกาลของจีนที่อยู่ในเขตอบอุ่นเหนือนั้นแบ่งเป็น 4 ฤดูกาลใหญ่ คือฤดูใบไม้ผลิ, ฤดูร้อน, ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว โดยในแต่ละฤดูยังแบ่งเป็นสภาวะอาการอีก 6 ช่วงย่อย รวมกันแล้วได้ 24 ปักษ์ ซึ่งแต่ละช่วงก็จะุแสดงถึงภาวะของดินฟ้าอากาศที่แตกต่างกัน ทั้งที่เอื้อต่อการเพาะปลูกไปจนถึงช่วงที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อการกสิกรรม

โฆษณา

ชุนเทียน [春天] | ฤดูใบไม้ผลิ

หนึ่งปีของจีนเริ่มจากฤดูใบไม้ผลิ โดยมีเทศกาลตรุษจีนหรือชุนเจี๋ย [春节] ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ในเดือนเดียวกันยังมีเทศกาลสำคัญอีกอย่างคือเทศกาลหยวนเซียว [元宵节] เทศกาลโคมไฟในวันขึ้นขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ฤดูใบไม้ผลิสามารถแบ่งสภาวะทางอากาศได้เป็น 6 ช่วงดังนี้

1. ลี่ชุน [Chinese: 立春, Pīnyīn: lìchūn] | ช่วงเริ่มฤดูใบไม้ผลิ

ตรงกับปฏิทินปัจจุบันคือราววันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ เมื่ออากาศหนาวคลายตัวลง สรรพสัตว์ที่ไม่ได้จำศีลเริ่มออกหากิน พืชต่างๆ เริ่มแตกกิ่งก้านและใบ จัดเป็นวันเริ่มต้นปีนักษัตรใหม่ ในช่วงนี้ดอกเหมยยังคงเบ่งบานตั้งแต่ช่วงเดือน 12 จนถึงเดือน 2 ของจีน คนจึงนิยมมีกิจกรรมชมดอกเหมยเพื่อความสำราญใจ

ในสมัยราชวงศ์ถังชาวบ้านจะมีกิจกรรมแต่งกลอนหรือเขียนอักษรภาพคำว่า “ชุน” [春] ไว้ที่ผนังประตูเพื่อเป็นการต้อนรับฤดูใบไม่ผลิและเป็นการขอให้โชคดี นอกจากการแต่งกลอนและเขียนอักษรภาพแล้ว ยังมีธรรมเนียมการตั้งไข่อีกอย่าง ชาวจีนเชื่อว่าผู้ที่สามารถนำไข่ไก่มาตั้งได้ในวันลี่ชุน วันชุนเฟินและชิวเฟินจะมีโชค

2. อวี๋สุ่ย [Chinese: 雨水, Pīnyīn: yǔshuǐ] | ฝนส่งท้ายฤดูหนาว

คำว่าอวี๋สุ่ยแปลว่าน้ำฝน ในช่วงนี้ฝนจะเริ่มตกในประเทศจีน ตรงกับปฏิทินใหม่ประมาณวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ ชาวจีนโบราณมองว่าฝนเป็นสิ่งมีค่าเพราะช่วยอำนวยให้มีการเจริญเติบโตของพืชต่างๆ มากขึ้น ช่วงเวลานี้ทัศนียภาพจึงเริ่มเต็มไปด้วยสีเขียว

ตามธรรมเนียมแล้วช่วงเวลานี้คู่สามีภรรยาจะพากันไปเยี่ยมเยียนครอบครัวของฝ่ายหญิงโดยมีของขวัญติดไม้ติดมือไปด้วย สำหรับเด็กๆ แล้วช่วงนี้ยังเป็นช่วงหาพ่อแม่ทูนหัวให้ ซึ่งมักเกิดขึ้นเพราะความเชื่อว่าเด็กที่ไม่ค่อยแข็งแรงหรือเลี้ยงยากนั้นชะตาอาจไม่ถูกกับพ่อแม่ที่ให้กำเนิดจึงอาจมีการแต่งตั้งหรือมอบเด็กให้อยู่ในการอุปถัมภ์ของญาติสนิทมิตรสหายที่ไปมาหาสู่กันบ่อย

โฆษณา

3. จิงเจ๋อ [Chinese: 惊蛰, Pīnyīn: jīngzhé] | แปลว่าตื่นจากฤดูจำศีล

ฝนตกฟ้าร้องชุกขึ้น ชาวจีนจึงมองว่าเสียงฟ้าร้องปลุกให้สัตว์จำศีลสะดุ้งตื่น ตรงกับช่วงวันที่ 5-7 มีนาคมในปฏิทินสากล สัตว์ต่างๆ เริ่มออกมาใช้ชีวิตตามปกติ ช่วงเวลานี้ยังถือว่าเป็นช่วงที่เหมาะกับการหว่านไถพืชพันธุ์จึงมักเป็นวันเริ่มการเพาะปลูก

อากาศช่วงนี้จะอุณหภูมิและความชื้นสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนอง สภาพลมที่เกิดขึ้นในระยะวันจิงเจ๋อสามารถพยากรณ์อากาศที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปีได้ ชาวจีนเชื่อว่าหากมีฟ้าร้องก่อนเข้าวันจิงเจ๋อในปีไหน ปีนั้นจะมีสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้นนี้เองจึงมีประุเพณีกินสาลี่ที่เป็นผลไม้มีน้ำเยอะในวันนี้เพื่อเป็นการเพิ่มความชื้นให้กับร่างกาย

ชาวกวางตุ้งและฮ่องกงมีประเพณีปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายโดยการตัดกระดาษเป็นรูปคนให้เป็นตัวแทนของภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้าย แล้วใช้รองเท้าหรือสิ่งต่างๆ ตีกระดาษรูปคนนี้เป็นการแก้เคล็ด นอกจากนี้แล้วในช่วงจิงเจ๋อยังมีประเพณีบูชาเสือขาวที่เชื่อกันว่าจะออกมาหากินล่าสัตว์ในวันนี้ โดยจะนำเอาภาพของเสือมาตั้งบูชาและนำเลือดหรือเนื้อหมูมาป้ายปากเพื่อเป็นพิธีป้องกันภัยไม่ให้เสือมาทำอันตรายต่อผู้คน

โฆษณา

4. ชุนเฟิน [Chinese: 春分, Pīnyīn: chūnfēn] | วันวสัตวิษุวัต

วันชุนเฟินหรือวสันตวิษุวัต (Spring/Vernal Equinox) เป็นวันกลางฤดูใบไม้ผลิที่กลางคืนและกลางวันยาวเท่ากันเกิดจากการที่พระอาทิตย์โคจรมาถึงทำมุม 0o เรียกว่าวันราตรีเสมอภาค ตรงกับวันที่ 20-21 มีนาคม อากาศไม่หนาวแล้วแต่ยังเย็นสบาย

ในช่วงของวันชุนเฟินยังแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือช่วงที่นกทางใต้ซึ่งเคยอพยพหนีความหนาวเย็นลงไปเริ่มบินกลับทิศเหนือ, ช่วงทีมีเสียงฟ้าร้อง และช่วงที่มีฟ้าผ่า สภาพอากาศในช่วงนี้อบอุ่นขึ้นแต่ก็มีความแปรปรวนจึงอาจมีฝนตกฟ้าร้องได้ หลังผ่านวันชุนเฟินไปแล้วอากาศจะเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเตรียมจะเข้าสู่หน้าร้อนต่อไป

5. ชิงหมิง [Chinese: 清明 , Pīnyīn: qīngmíng] | ช่วงสว่างใส

ชิงหมิง [Chinese: 清明 , Pīnyīn: qīngmíng] แปลว่าแจ่มใส เป็นช่วงเวลาที่อากาศดี ใบไม้เขียวขจี ดอกไม้เบ่งบาน คนจีนจะไปไหว้บรรพบุรุษกัน ในระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน ความเชื่อของชาวจีนมองว่าวันชิงหมิงเป็นช่วงเวลาสามวันที่โลกมนุษย์และโลกวิญญาณอยู่ใกล้กันที่สุด จึงทำให้เกิดประเพณีไปทำความสะอาดและกราบไหว้บรรพชนกันในช่วงนี้ ยังมีประเพณีของการพกกิ่งหลิวติดตัวหรือเสียบไว้ที่ประตูบ้านเพื่อความสิริมงคลและขับไล่สิ่งชั่วร้าย

นอกจากเทศกาลไหว้บรรพบุรุษแล้ว ช่วงอากาศแจ่มใสนี้ยังเหมาะแก่การเพาะปลูกหรือเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ด้วย สภาพอากาศช่วงนี้ถือว่าสบายๆ ภูมิทัศน์ดูเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ กิจกรรมที่นิยมทำกันในช่วงนี้คือการเล่นว่าว, การเตะบอลชู่จฺวี [蹴鞠]

มีการรับประทานขนมตามฤดูกาล สำหรับชาวจีนใต้มีการนิยมรับประทานขนมที่เรียกว่าชิงถวนจื่อ [青团子] ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำอ้ายเฉ่า [艾草] ซึ่งเป็นพืชที่มีสีเขียวแล้วปั้นเป็นก้อนกลม ส่วนทางภาคเหนือนิยมกินพุทรากวนและแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นลูกกลมๆ อย่างเดียวกัน นอกจากนี้แล้วขนมประจำเทศกาลชิงหมิงอีกอย่างคือจูชังเปี๊ยะ [芝葱饼] เป็นคำภาษาแต้จิ๋วหมายถึงขนมที่ทำสำหรับใช้ในเทศการชิงหมิงเฉพาะ โดยมีไส้เป็นต้นหอม มันหมู และงา นำมาห่อด้วยแป้งอีกทีหนึ่ง

6. กู๋อวี่ [Chinese: 谷雨, Pīnyīn:gǔyǔ] | ช่วงฝนข้าว

กู๋อี่ว์ [Chinese: 谷雨, Pīnyīn:gǔyǔ] แปลว่าฝนธัญพืชหรือฝนช่วยเพาะปลูกเริ่มประมาณวันที่ 19-21 เมษายน ฝนตกมากจึงช่วยให้พืชพรรณเจริญเติบโต หน้ากู๋อวี่นี้จัดเป็นช่วงปลายของฤดูใบไม้ผลิ น้ำฝนที่ตกลงมาช่วงนี้จึงเป็นการช่วยให้ต้นกล้าที่เคยเพาะหว่านเอาไว้ก่อนหน้าเจริญเติบโตได้ดีขึ้นจึงเป็นที่มาของชื่อช่วงฝนข้างหรือฝนช่วยเพาะปลูก ช่วงนี้ดอกโบตั๋นกำลังบานสะพรั่งจึงเรียกมีการเรียกดอกโบตั๋นในอีกชื่อว่าดอกกู๋อวี่ เทศกาลนี้จึงจัดว่าเป็นเวลาสำหรับการชมดอกไม้ชนิดนี้ด้วย

สัญลักษณ์อื่นๆ ที่ช่วยบอกว่าเข้าหน้ากู๋อวี่แล้วคือเหล่าจอกแหนเริ่มเจริญเติบโต นกกาเหง่าเริ่มกระพือปีกร้องสะท้อนในป่าเขา และนกหัวหขวานเริ่มเกาะจับต้นมัลเบอร์รี่ กิจกรรมที่นิยมทำกันช่วงนี้คือการดื่มชาที่เก็บจากช่วงฤดูใบไม้ผลิโดยเฉพาะที่เก็บในหน้าเทศกาลกู๋อวี่ เรียกว่าใบชาก่อนฝนหรือเรียกอีกชื่อว่าชาเอ้อร์ชุน มีคุณสมบัติอุดมไปด้วยวิตามินและกรดอะมิโน กลิ่นหอมเย้ายวน เชื่อกันว่าการดื่มชากู๋อวี่จะช่วยเรื่องคลายความร้อนบำรุงร่างกาย และยังถือว่าคนที่ดื่มชาในวันนี้จะปราศจากโรคร้าย อีกด้วย

ส่วนคนจีนทางเหนือนิยมบริโภคยอดของต้นทูนจีนหรือเซียงชุน[ 香椿] ที่ออกจำหน่ายสู่ตลาดช่วงก่อนหน้ากู๋อวี่ ซึ่งในฤดูกาลนี้เหล่าเซียงชุนต้นจะมีกลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อม ดังที่มีคำกล่าวที่ว่า “ต้นเซียงชุนก่อนฝนตกนุ่มละมุนราวกับเส้นไหม” เมนูสูตรอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นเซียงชุนที่มีความนิยมที่สุดคือ “ต้นเซียงชุนผัดไข่” โดยจะนำต้นเซียงชุนไปล้างน้ำแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ตอกไข่ ใส่เกลือแล้วตีให้เข้ากัน จากนั้นนำไปทอดในลักษณะเครปไข่ เซียงชุนเป็นสมุนไพรที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย บำรุงกระเพาะอาหาร ป้องกันท้องร่วง ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบได้

โฆษณา

เซี่ยเทียน [夏天] | ฤดูร้อน

1. ลี่เซี่ย [Chinese: 立夏, Pīnyīn: lìxià] | วันเริ่มต้นฤดูร้อน

เริ่มประมาณวันที่ 5-7พฤษภาคม วันลี่เซี่ยถือว่าเป็นเทศกาลสำคัญในอดีต นอกเหนือไปจากการเป็นวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ยังเคยมีพระราชพิธีที่จักรพรรดิและขุนนางระดับสูงเดินทางไปทางใต้ของเมืองหลวงเพื่อทำพิธีต้อนรับฤดูร้อน มีการชิมธัญพืชที่เก็บเกี่ยวใหม่ มีการพระราชทานรางวัลแก่ขุนนาง และส่งขุนนางไปตรวจสอบไร่นาดูแลเกษตรกร

ช่วงเทศกาลลี่เซี่ยจะมีธรรมเนียมของการชิมของใหม่ 3 อย่างโดยนำไปถวายแก่เทพเจ้าเซ่นไหว้กับบรรพบุรุษก่อนนำมาบริโภค สำหรับของใหม่ 3 อย่างอาจใช้ของกินที่ไม่เหมือนกันตามภูมิภาค บางพื้นที่อาชใช้เป็น เชอร์รี่ ลูกพลัม ข้าวสาลี่ บางพื้นที่หมายถึงหอยโข่ง ผักจี้ไช่ ผักกาดหอม ไข่เค็ม เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมการกินไข่ เรียกว่า “ไข่ลี่เซี่ย” ผู้คนมักจะใช้ใบชาและเปลือกผลวอลนัทในการต้มไข่ มีการนำเอาด้ายหลากสีถักทอเป็นถุงห่อไข่ใช้แขวนคอเด็กหรือแขวนไว้ตรงมุ้งเป็นเครื่องราง ตามสำนวนโบราณว่า “เทศกาลลี่เซี่ยกินไข่ต้ม กำลังวังชาเพิ่มขึ้นเป็นกอง”

ไข่เทศกาลลี่เซี่ย ภาพจาก China Cultural Center in Bangkok
(Credit : https://www.facebook.com/100064573305972/posts/3312765928742810/)

การชั่งน้ำหนักก็เป็นอีกธรรมเนียบที่กระทำกันในช่วงนี้ โดยในระหว่างการชั่งน้ำหนักก็จะมีการให้พรให้โชคกันด้วย ประเพณีสุดท้ายอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “งานแต่งงานหนอน” บางที่อาจเรียกว่าเป็นเทศกาลบูชาแม่ย่า เป็นประเพณีดั้งเดิมในมณฑลเสฉวน ในพิธีจะมีการตัดกระดาษเป็นรูปที่คีบตัวหนอนและใช้กระดาษสีแดงทำเป็น “ชั้นตัวหนอน” (หน้าตา่อย่างตัวเลขสิบของจีน) ด้านบนชั้นตัวหนอนเขียนคำสาปแช่งต่างๆ ติดกลับหัวไว้ เป็นการขอให้เหล่าหนอนไม่มาทำร้ายพิชผลทางการเกษตร

2. เสียวหม่าน [Chinese: 小满, Pīnyīn: xiǎomǎn] | ต้นข้าวออกรวง

แปลว่าเมล็ดพันธุ์อุดมข้าวเริ่มออกรวงเริ่มประมาณวันที่ 20-22 พฤษภาคม นอกจากเป็นช่วงที่ต้นข้าวออกรวงแล้ว ยังเป็นช่วงเริ่มฤดูแห่งการประมงด้วย เพราะช่วงเสี่ยวหม่านจะเป็นช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อนจนเกิดน้ำฝนปริมาณมาก เมื่อน้ำมีปริมาณมากขึ้นสัตว์น้ำจึงมีขนาดใหญ่ขึ้น แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ

ฤดูนี้ยังเป็นฤดูของต้นหม่อนหรือมัลเบอร์รี่ ชาวจีนเรียกว่า ซางซู่ [桑树] ผลของต้นหม่อนเริ่มสุกเปลี่ยนเป็นสีดำ ในช่วงนี้จึงถือว่าเป็นเทศกาลกินหม่อนของคนจีน ไม่ใช่เพียงแค่ผลเท่านั้นที่นิยมบริโภค ส่วนประกอบต่างๆ ทั้งลำต้น เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบและผลยังมีสรรพคุณทางยาทั้งสิ้น หากนำส่วนประกอบข้างต้นมาผสมกันก็จะได้ยากรักษาอาการปวดข้อและถ่ายพยาธิ ชาใบหม่อนช่วบขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้เจ็บคอ และยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ชาใบหม่อนหากต้มเสร์จทิ้งไว้ให้เย็นยังสามารถนำมาใช้ล้างหน้าแก้โรคตาแดง ตาแฉะ สายตาพร่าได้อีกด้วย

วันเสียวหม่านในความเชื่อของคนในทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี แถบมณฑลเจียงซูและเจ้อเจียงมองว่าวันนี้เป็นวันเกิดของเทพธิดาไหม จึงมีการสักการะเทพธิดาแห่งไหมเพื่อขอพรให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงไหม ซึ่งอาจสอดคล้องกับที่ว่าต้นหม่อนซึ่งใช้เป็นอาหารหลักของหนอนไหมเจริญงอกงามดีในช่วงดังกล่าว

โฆษณา

3. หมางจ้ง [Chinese: 芒种, Pīnyīn: mángzhòng] | ช่วงเก็บเกี่ยวและปลูกข้าว

เริ่มประมาณวันที่ 4-6 มิถุนายน หมางจ้ง [Chinese: 芒种, Pīnyīn: mángzhòng] แปลว่าหว่านเพาะข้าว ช่วงเวลานี้ข้าวสุกหลังจากออกรวง พอข้าวเริ่มแก่ชาวจีนก็จะเตรียมตัวเก็บเกี่ยวและปลูกข้าวใหม่ หรืออาจปลูกเป็นธัญชาติที่มีเมล็ดหรือฝักเป็นขนอย่าง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวฟาง เกาเหลียง และข้าวโพด และควรปลูกให้ทันในช่วงหมานจ้งเพราะเลยไปแล้วการปลูกอาจไม่ได้ผลดีนัก

ปลูกธัญชาติที่มีเมล็ดหรือฝักเป็นขน ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ที่ออกรวงในปักษ์ก่อนหน้าสุกแล้วให้รีบเก็บเกี่ยว และปลูกธัญชาติที่มีขน เช่น ข้าวฟ่าง, ข้าวฟ่างแดงเกาเหลียง [高粱], ข้าวโพด เพราะถ้าปลูกไม่ทันปักษ์นี้จะไม่ได้ผล

ช่วงเวลาหมางจ้งยังจัดอยู่ในช่วงฝนเดือนห้าหรือฝนพลัมที่จะมีฝนตกฉุกระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมจึงเหมาะเป็นช่วงดำหน้า ส่วนที่เรียกว่าฝนพลัมนั้นเกิดจากการที่ลูกพลัมสุกพร้อมเก็บเกี่ยว จึงมีการเรียกช่วงวันนี้ว่าช่วงฝนพลัมหรือเหมยหยี่จี้ [梅雨季] นั่นเอง

สำหรับลูกพลัมที่เก็บเกี่ยวสามารถนำไปผลิตสุรา นอกจากใช้ลูกพลัมผลิตสุรารสดีได้แล้ว ข้าวฟ่างเกาเหลียงยังเป็นอีกวัตถุดิบที่นำไปผลิตสุราชื่อเดียวกันด้วย

4. เซี่ยจื้อ [Chinese: 夏至, Pīnyīn: xiàzhì] | วันครีษมายัน

เซี่ยจื้อ [Chinese: 夏至, Pīnyīn: xiàzhì] แปลว่าวันยาวที่สุดในฤดูร้อนตรงกับวันครีษมายันตามดาราศาสตร์สากลเป็นวันที่กลางคืนสั้นที่สุดกลางวันยาวที่สุดในซีกโลกเหนือเริ่มประมาณวันที่ 21-22มิถุนายน

วันเซี่ยจื้อมีเทศกาลสำคัญคือวันไหว้ขนมบ๊ะจ่างและเทศกาลแข่งเรือมังกรหรือตวนอู่ นอกจากเทศกาลเหล่านี้แล้วคนจีนยังมีคติที่ว่า “กินเกี๊ยววันตงจื้อ กินเส้นหมี่ในวันเซี่ยจื้อ เป็นการฉลองกลางวันอันยืนนานและการเก็บเกี่ยว ทำให้หลายพื้นที่นิยมบริโภคอาหารที่ทำจากเส้นหมี่

5. เสียวสู่ [Chinese: 小暑, Pīnyīn: xiǎoshǔ] | ร้อนน้อย

เสียวสู่ [Chinese: 小暑, Pīnyīn: xiǎoshǔ] แปลว่าร้อนเล็กน้อยเริ่มประมาณวันที่ 6-8 กรกฎาคมอากาศเริ่มร้อน จัดว่าวันนี้เป็นวันบ่งบอกว่าช่วงที่ร้อนที่สุดกำลังมาถึงแล้ว ช่วงนี้อากาศค่อนข้างแปรปรวน อาจเกิดภัยแล้งหรือพายุฝน ต้องคอยระวังเรื่องน้ำท่วม พายุ และฟ้าผ่า อาจเกิดลูกเห็บขึ้นในบางพื้นที่

ช่วงนี้เป็นฤดูของดอกบัว เหมาะแก่การปลูกดอกบัวอย่างมาก ช่วงนี้ทัศนียภาพตามห้วยหนองคลองบึงจึงเต็มไปด้วยบัวบานสะพรั่งสวยงาม นอกจากบัวงามแล้วช่วงนี้จึงอาจพบเจอหิ่งห้อยในหลายพื้นที่ของจีน

อาหารที่นิยมบริโภคในช่วงนี้คือผลไม้ประเภทแตงที่เริ่มสุกกัน เช่นการกินแตงโมซึ่งจะช่วยคลายความร้อนให้ร่างกายสู้กับสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้

6. ต้าสู่ [Chinese: 大暑 , Pīnyīn: dàshǔ] | ช่วงร้อนมาก

ต้าสู่ [Chinese: 大暑 , Pīnyīn: dàshǔ] แปลว่าช่วงที่อากาศร้อนที่สุด เริ่มประมาณวันที่ 22-24 กรกฎาคม อากาศร้อนที่สุดในรอบปี สภาพอากาศใกล้เคียงกับช่วงเสียวสู่คือร้อนจัด อุณหภูมิค่อนข้างสูง ช่วงระยะนี้จีนอาจเกิดพายุหรือไต้ฝุ่นจนส่งผลให้อาจน้ำท่วมในบางพื้นที่หรือภัยแล้งในบางจุด เกษตรกรจึงต้องระวังเรื่องการเพาะปลูกในช่วงเวลานี้ ฤดูนี้สามารถพบจิ้งหรีดได้มาก จึงมีประเพณีแข่งกัดจิ้งหรีดที่เป็นกิจกรรมนิยมกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง

ด้านอาหารการกิน คนจีนจะนิยมรีบประทานอาหารอย่างซุปเนื้อแกะ ผลไม้อย่างสัปปะรดที่ถือว่ามีรสชาติดีในช่วงนี้ ลิ้นจี่ที่ช่วยเรื่องให้ความหวาน และขาดไม่ได้คือเฉาก๋วยที่ช่วยให้ดับกระหายคลายร้อนได้ดี

โฆษณา

ชิวเทียน [秋天] | ฤดูใบไม้ร่วง

1.ลี่ชิว [Chinese: 立秋, Pīnyīn: lìqiū] | วันเริ่มใบไม้ร่วง

ลี่ชิว [Chinese: 立秋, Pīnyīn: lìqiū] คือเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง จะเริ่มประมาณวันที่ 7-9 สิงหาคม ช่วงนับ30 วันหลังวันลี่ชิวถูกเรียกว่าช่วงเสือฤดูใบไม้ร่วง [秋老虎] โดยช่วงเช้าและกลางคืนจะมีอากาศเย็น ส่วนกลางวันนั้นร้อน

สัญลักษณ์ 3 อย่างของช่วงลี่ชิวคือการสัมผัสสายลมเย็น, มองเห็นน้ำค้าง, ฟังเสียงจั๊กจั่น อาหารการกินที่นิยมกินกันในช่วงนี้ได้แก่ลูกท้อ สัญลักษณ์ของอายุยืนยาว, ลูกบัวเพื่อช่วยให้สดชื่น แก้อ่อนเพลีย ดับกระหาย และน้ำเต้าที่มีสรรพคุณเป็นยาเย็น นอกจากนี้ยังนิยมทานเกี๊ยวกันในช่วงเทศกาลเช่นเดียวกับช่วงเทศกาลอื่นๆ

2. ชู่สู่ [Chinese: 处暑 , Pīnyīn: chǔshǔ] | สิ้นร้อน

คำว่า ชู่สู่ [Chinese: 处暑 , Pīnyīn: chǔshǔ] แปลว่าอากาศร้อนสิ้นสุดเริ่มฤดูใบไม้ร่วงอย่างเป็นทางการ ตรงกับช่วงประมาณวันที่22-24 สิงหาคม ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสี มีเทศกาลสำคัญคือเทศกาลจงหยวนหรือสารทจีนซึ่งจัดขึ้นในหลังวันชู่สู่ เป็นเทศกาลทำบุญอุทิศให้กับผู้ล่วงลับจึงมีอีกชื่อเรียกว่าเทศกาลผีหรือกุ่ยเจี๋ย [Chinese:鬼节, Pīnyīn: guǐjié] เพราะเดือน 7 ในความเชื่อของชาวจีนคือเดือนผี การทำบุญในช่วงนี้ไม่ใช่เพียงจัดขึ้นเพื่ออุทิศแก่ญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังรวมถึงการทำทานให้กับผีไม่มีญาติอีกด้วย

ช่วงวันชู่สู่ชาวจีนนิยมทานเป็ดกัน ด้วยเชื่อว่าเป็ดนั้นเป็นสิ่งที่ให้หยิน สรรพคุณด้านความเย็น การแพทย์จีนจึงถือว่าเป็ดเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับคนที่ร่างกายอ่อนแอ หัวเป็ดช่วยขับปัสสาวะ ลดอาการบวม เลือดเป็ดยังช่วยบำรุงเลือดอีกด้วย

3. ไป๋ลู่ [Chinese: 白露, Pīnyīn: báilù] | ช่วงน้ำค้างขาว

ไป๋ลู่ [Chinese: 白露, Pīnyīn: báilù] แปลว่าน้ำค้างสีขาวน้ำค้างเริ่มปรากฏบนใบไม้อากาศเริ่มเย็นลงเริ่มประมาณวันที่ 7-9 กันยายน ในช่วงนี้นกจะเริ่มบินลงใต้เพื่อหนีอาการเย็นที่กำลังก่อตัวขึ้นทางเหนือ

อาหารการกินในช่วงไป๋ลู่ สำหรับชาวนานิยมรับประทานมันเทศ คนจีนยิยมทานมันเทศเนื่องมาจากประโยชน์ในการต้านมะเร็ง บำรุงม้ามและช่วยป้องกันโรค จัดว่าเป็นอาหารที่เหมาะทานในช่วงเปลี่ยนแปลงอากาศจากร้อนเป็นเย็นขึ้น ส่วนผลไม้นิยมทานองุ่นและลำไย การกินองุ่นช่วนลดความร้อนในร่างกาย ส่วนลำไยนั้นช่วยบำรุงม้ามและเลือด

มีการดื่มชาไป๋ลู่ซึ่งจะเป็นใบชาที่ผ่านฤดูร้อนและเติบโตมาอย่างดี ทำให้มีรสหวานและมีกลิ่นหอม ต่างจากชาในฤดูใบไม้ผลิที่จะมีรสชาติอ่อน ส่วนชาฤดูร้อนมีรสชาติแห้งและขม

4. ชิวเฟิน [Chinese: 秋分, Pīnyīn: qiūfēn] | วันศารทวิษุวัต

แปลว่าคืนและวันในฤดูใบไม้ร่วงที่ยาวเท่ากันตรงกับวันศารทวิษุวัตตามดาราศาสตร์สากลดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรครั้งที่สองของปีเริ่มประมาณวันที่ 22-24 กันยายน เมื่อผ่านวันชิวเฟินไปอากาศจะหนาวเย็นขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่ฤดูหนาวต่อไป

ในช่วงชิวเฟินมีเทศกาลสำคัญคือเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ ตามเรื่องเล่าตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวระบุว่ากษัตริย์จะบวงสรวงพระอาทิตย์ในวันชุนเฟินและบวงสรวงพระจันทร์ในวันชิวเฟิน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเหมือนกับวันชุนเฟินคือประเพณีการตั้งไข่ที่ใครสามารถตั้งไข่ให้ตั้งตรงได้จะถือว่าโชคดี

ดอกเบญจมาศหลากสี (Credit : _Alicja_ via Pixabay)

ดอกไม้ประจำฤดูกาลนี้คือดอกเบญจมาศหรือจวี๋ฮวา [菊花] ตามปฏิทินสมัยโบราณวันที่ 9 เดือน 9 จะเป็นเทศกาลชมดอกเบญจมาศที่บานสะพรั่งไปทั่ว นอกจากดอกเบญจมาศแล้ว ดอกหอมหมื่นลี้หรือกุ้ยฮวา [桂花] เองก็เป็นดอกไม้ประจำเทศกาลด้วยเช่นกัน ต้นหอมหมื่นลี้ยังไปปรากฏในตำนานเกี่ยวกับพระจันทร์เรื่องอู๋กังตัดกิ่งหอมหมื่นลี้ สามารถเข้าอ่านต่อได้ทาง Facebook Post ด้านล่าง

ดอกกุ้ยฮวาหรือหอมหมื่นลี้ (Credit : https://www.wonderfulpackage.com/article/v/427/)

5. หานลู่ [Chinese: 寒露 , Pīnyīn: hánlù] | น้ำค้างหนาว

หานลู่ [Chinese: 寒露 , Pīnyīn: hánlù] แปลว่าน้ำค้างหนาว เริ่มประมาณวันที่ 8-9 ตุลาคม อากาศเริ่มหนาวมีน้ำค้างตกมาก ความชื้นในอากาศสูงจนเกิดหมอกปกคลุมในตอนเช้า ช่วงวันหานลู่เป็นอีกช่วงที่เหมาะแก่การหาปลา เนื่องมาจากแสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องลึกลงไปในน้ำได้ ปลาจึงต้องแหวกว่ายขึ้นมาปรากฏตัวใกล้ผิวน้ำที่มีอุณหภูิอุ่นกว่ามากขึ้น จึงทำให้การประมงตกปลาทำได้ง่ายขึ้นด้วย

ในวันที่ 9 เดือน 9 ถือเป็นช่วงเทศการฉงหยางหรือเทศกาลชมดอกเบญจมาศที่กำลังบานอย่างงดงามละลานตา กิจกรรมในเทศกาลฉงหยางได้แก่การดื่มเหล้าดอกเบญจมาศหรือจวี๋ฮวาจิ่ว [菊花酒] มีประเพณีขึ้นเขา ติดใบจูอวี๋ [茱萸] ซึ่งเป็นพืชมีกลิ่นฉุน มีสรรพคุณช่วยไล่แมลงไว้กับตัวเพื่อป้องกันปีศาจร้ายตามตำนานสมัยราชวงศ์ฮั่นคือเรื่องของเหิ่งจิ่ง ซึ่งในเรื่องทั้งเหล้าเบญจมาศ และใบจูอวี๋เป็นสิ่งที่ช่วยเหลือเหิ่งจิ่งและชาวบ้านให้รอดพ้นจากปีศาจที่มารังควานได้

ขนมประจำเทศกาลฉงหยางคือขนมฉงหยางฮัวเกา [重阳花糕] เป็นขนมนึ่งทำด้วยแป้งข้าวตกแต่งด้วยธัญพืชเช่น พุทราจีน ถั่ว เป็นต้น แล้วปักธงเล็กๆ 5 สี คำว่า “เกา” [糕] ที่หมายถึง “ขนม” นี้พ้องเสียงกับคำว่า “เกา” [高] ที่แปลว่า “สูง” จึงถือเป็นขนมมงคลในเทศกาลฉงหยาง

นอกจากนี้อาหารการกินในช่วงฤดูหานลู่นี้ยังมีทับทิมที่จะติดผลในช่วงดังกล่าว รวมถึงยังเป็นเทศดาลเก็บเกี่ยวผลซานจา [山楂] หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Chinese Hawthorn ซานจาเป็นสิ่งที่คนจีนนิยมนำมาแปรรูปทำอาหารหลายอย่าง ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยเรื่องการย่อยอาหาร การขับเคลื่อนลมลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ย่อยไขมันให้กับคนที่มีไขมันในเลือดสูง

6. ซวงเจี้ยง [Chinese: 霜降, Pīnyīn: shuāngjiàng] แปลว่าน้ำค้างแข็ง

วันซวงเจี้ยงเป็นช่วงที่พบน้ำค้างแข็งต้นฤดูหนาวบนใบไม้ โดยเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ในช่วงประมาณวันที่ 23-24 ตุลาคม ผลไม้ในช่วงวันซวงเจี้ยงนี้คือลูกพลับที่เชื่อกันว่าทานช่วงนี้จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ต้านทานความหนาวเย็น บำรุงกระดูก คนจีนยังเชื่อว่าการกินลูกพลับจะช่วยไม่ให้ริมฝีปากแห้งแตกจึงนิยมกินกันมากในหน้าที่อากาศเริ่มเย็นจนเกิดน้ำค้างแข็ง

ส่าลี่จีนหรือลูกแพร์เป็นผลไม้เส้นใยสูง ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในร่างกาย, เกาลัด ช่วยบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร ทำให้การไหลเวียนของโลหิตดี ยังมีแอปเปิ้ลที่เชื่อกันว่ากินหลังอาหารจะช่วยบำรุงให้สุขภาพแข็งแรง ห่างไกลความเจ็บป่วย และช่วยย่อยอาหาร ทั้งยังช่วยดับกระหาย บำรุงปอดอีกด้วย

โฆษณา

ตงเทียน [冬天] | ฤดูหนาว

1. ลี่ตง [Chinese:立冬, Pīnyīn: lìdōng] | เริ่มฤดูหนาว

ลี่ตง [Chinese:立冬, Pīnyīn: lìdōng] แปลว่าเริ่มฤดูหนาว เริ่มประมาณวันที่ 7 -8 พฤษจิกายน วันลี่ตงจัดเป็นวันที่้เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการในสายตาคนจีน ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจมีสภาพการเข้าสู่หน้าหนาวที่แตกต่างกันไป หลักๆ ที่คล้ายคลึงกันคือประเพณีเกี่ยวกับการรับประทานอาหารในช่วงวันลี่ตง

อย่างแรกคือเกี๋ยวซึ่งเป็นอาหารหลักๆ ที่คนจีนนิยมรับประทานกันแพร่หลายไม่ใช่แค่เพียงช่วงเทศกาล ถ้าเป็นพื้นที่แถบทางเหนือนิยมกินเกี๋ยวห่อฟักทองกันในช่วงนี้ อาหารอีกอย่างคือเนื้อสัตว์ตุ๋นสมุนไพรที่นิยมกันในพื้นที่มณฑลฟูเจี้ยนและกวางตุ้ง โดยวัตถุดิบอาจเป็นได้ทั้งไก่ เป็ด วัว แกะและเนื้อปลา ถือเป็นการบำรุงร่างกาย

ขนมที่นิยมกินกันคือถวนจื่อ [团子] ขนมทำจากแป้งข้าวคล้ายขนมโมจิที่คนไทยรู้จักกัน ความท้าทายและแปลกใหม่ในการทำขนมถวนจื้อในช่วงนี้คือการหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาปรุงใส่ เพราะพืชพรรณธัญญาหารถูกเก็บเกี่ยวไปหมดแล้ว

ขนมถวนจื่อ [团子] (Credit : https://baike.sogou.com/v3270068.htm)

2. เสียวเสวี่ย [Chinese:小雪, Pīnyīn: xiǎoxuě] | หิมะเล็กโปรยปราย

เสียวเสวี่ย [Chinese:小雪, Pīnyīn: xiǎoxuě] แปลว่าหิมะโปรยปราย หิมะเริ่มตกในจีนเริ่มประมาณวันที่ 22-23 พฤศจิกายน อุณหภูมิทางภาคเหนือเย็นจัด อากาศค่อนข้างแห้ง

ช่วงนี้จะเริ่มมีการถนอมอาหารทั้งเนื้อสัตว์และผักดองเพื่อให้มีรับประทานไปตลอดฤดูกาล ทั้งยังต้องเตรียมเผื่อวันตรุษจีนด้วย มีธรรมเนียมการกินเค้กข้าวในเดือนสิบซึ่งจะตรงกับช่วงวันเสียวเสวี่ยของชาวจีนใต้ ทำให้ในวันนี้บางพื้นที่มีประเพณีกินเค้กข้าว ซึ่งเค้กขาวเองก็เป็นหนึ่งในเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าแห่งการเพาะปลูกด้วย

อาหารการกินในวันเสียวเสวี่ยจะเป็นอาหารที่ช่วยทำให้พลังความร้อนในการร่างกายในรับการถ่ายเทที่ดี คนจีนเชื่อว่าในช่วงฤดูหนาวคนเราไม่สามารถระบายความร้อนในร่างกายออกมาได้ง่ายเหมือนฤดูอื่น ส่งผลให้ปากและจมูกแห้ง มีการเกิดร้อนในขึ้นในร่างกาย ช่วงหนาวนี้จึงนิยมรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงและให้ความอบอุ่นอย่างการดื่มน้ำอุ่น กินซุปร้อนๆ เช่น เมนูกะหล่ำปลีกับซุปเต้าหู้ ผักโขมกับซุปเต้าหู้ หรือเนื้อแกะกับซุปหัวไชเท้า

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในฤดูหนาวคืออาหารที่มีรสเผ็ดจัดจนเกินไป คนจีนบางกลุ่มคิดว่ากินเผ็ดในช่วงนี้จะุดี แต่จริงๆ จะเพิ่มความร้อนในร่างกายที่ระบายออกได้ยากมากขึ้น การแสวงหาของกินเผ็ดๆ ในหน้าหนาวจึงไม่ดีต่อร่างกายนักตามความเชื่อของคนจีน

3. ต้าเสวี่ย [Chinese:大雪, Pīnyīn: dàxuě]| หิมะใหญ่

คำว่าต้าเสวี่ย [Chinese:大雪, Pīnyīn: dàxuě] แปลว่าหิมะตกหนัก จะเริ่มประมาณวันที่ 6 – 8 ธันวาคม ดอกหล้าเหมย [腊梅] เริ่มผลิบานท่ามกลางหยาดหิมะที่โปรยปราย ดอกหล้าเหมยเป็นหนึ่งในสามสหายแห่งเหมันต์ที่ประกอบด้วยหล้าเหมย สน และไผ่

ช่วงวันต้าเสวี่ยผู้คนจะใส่ใจเรื่องโรคทางเดินหายใจเป็นพิเศษ อากาศที่หนาวและแห้งส่งผลให้ต้องมีการจิบน้ำอุ่นให้มากขึ้นแต่ไม่ควรมากเกินไปในครั้งเดียว มีการเพิ่มเครื่องนุ่งห่มที่ศีรษะและลำคอเพื่อปกป้องอวัยวะจากอากาศที่เย็นจัด

ชาวจีนทางใต้อย่างนานกิง หังโจว เหอเฟย และฉงชิ่งนิยมทำไส้กรอกเตรียมสำหรับฉลองปีใหม่ โดยนิยมใช้เนื้อสะโพกหมู และนำไปตากไว้ในที่ร่มประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะสามารถนำไปประกอบอาหารได้

วันต้าเสวี่ยเป็นวันที่ชาวจีนนิยมบริโภคเนื้อแกะที่มีสารอาหารบำรุงร่างกายและเลือด ชาวจีนในฉงชิ่งนิยมทานซุปเนื้อแกะหรือเนื้อแกะตุ๋นร่วมกันกับคนในครอบครัว ส่วนคนนานกิงนิยมทำสตูเนื้อแกะกับมันเทศหรือโกจิเบอร์รี่

นอกจากนี้แล้วคนจีนยังนิยมกินโจ๊กในช่วงฤดูหนาวเพื่อเพิ่มความอบอุ่น อาจเป็นโจ๊กข้าวสาลี โจ๊กงา โจ๊กหัวไชเท้า และุโจ๊กถั่ววอลนัท เป็นต้น ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติมีเทศกาลล่าปาจะมีธรรมเนียมกินโจ๊กธัญญาหาร 8 ชนิดด้วย

โจ๊กล่าปา [CN : 腊八粥, EN : Laba congee]
(Credit : https://pandacheffy.medium.com/laba-congee-%E8%85%8A%E5%85%AB%E7%B2%A5-d422e4a0e609)

4. ตงจื้อ [Chinese:冬至, Pīnyīn: dōngzhì] | วันเหมายัน

ตงจื้อ [Chinese:冬至, Pīnyīn: dōngzhì] แปลว่าช่วงกลางคืนยาวที่สุดในฤดูหนาวตรงกับวันเหมายัน (เห-มา-ยัน ) ตามดาราศาสตร์สากลเป็นวันที่กลางคืนยาวที่สุดกลางวันสั้นที่สุดในซีกโลกเหนือ เริ่มประมาณวันที่21-23 ธันวาคม

ในยุคโบราณคนจีนให้ความสำคัุญของเทืศกาลตงจื้อมากพอๆ กับเทศกาลปีใหม่หรือตรุษจีน จึงมีการหยุดงาน ผู้คนจะปิดร้าน ทำบุญตามวัดหรือไหว้เจ้ากันทั้งคืน ทั้งยังมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษและผู้ล่วงลับไปแล้ว คนจีนถือว่าเทศกาลตงจื้อเป็นเทศกาลใหญ่ของปี จึงต้องมีการพบปะของคนในครอบครัว ทำการไหว้เทพเจ้ากันตลอดคืนจนถึงเช้า

มีเทศกาลไหว้ขนมบัวลอยเป็นวันเทศกาลต้มขนมบูชาเทพเจ้าและร่วมกันรับประทานขนมที่ปั้นแป้งเป็นก้อนกลมๆ ชาวจีนเรียกว่าขนมอิ๋ ทำจากแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นลูกกลมเล็กๆ ต้มกับน้ำตาลทราย ให้รสสัมผัสเหนียวนุ่มและมีความหวานของน้ำตาลทรายที่กลายเป็นน้ำเชื่อม หน้าตาหลากสีที่ดูแล้วคล้ายบัวลอยน้ำกะทิแบบของไทย เทศกาลนี้ถือว่าเป็น 1 ใน 8 ของเทศกาลไหว้เจ้าทั้งแปดของจีนในรอบหนึ่งปี

สำหรับขนมหรืออาหารที่กินกันในเทศกาลตงจื้ออาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทางภาคเหนือนิยมทานเกี๋ยวกัน ส่วนจีนทางใต้จะกินขนมทังหยวน [汤圆 ] หน้าตาคล้ายขนมอิ๋แต่ปั้นเป็นลูกใหญ่กว่า ภายในอาจมีไส้หวานหรือไส้เค็ม มีสองสีคือสีแดงและสีขาว

ขนมทังหยวนนี้มีความสำคัญเพราะุเชื่อกันว่าหากไม่ได้กินทังหยวนทอง (ลูกสีแดง) กับทังหยวนเงิน (ลูกสีขาว) ก็จะไม่แก่เพิ่มอีกหนึ่งปี การกินขนมทังหยวนจึงเป็นการฉลองอายุของเราที่เติบโตขึ้น เนื่องจากคนจีนนิยมทานอาหารร่วมกันเป็นครอบครัวคล้ายกับวันรวมญาติในวันตงจื้อเพราะถือว่าครอบครัวจะอบอุ่นแน่นแฟ้นหากได้รับประทานทังหยวนร่วมกัน จำนวนทังหยวนที่เหลืออยู่ก็ทำนายถึงอนาคตของผู้มีรับประทานด้วย หากในชามเหลือทังหยวน 2 ลูก หญิงแต่งงานก็จะมีความสุขสมปรารถนาทุกประการ แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่แต่งงานและเหลือทังหยวน 1 ลูก แสดงว่าตลอดปีนั้นจะมีความสำเร็จลุล่วงไม่ติดขัด

5. เสี่ยวหาน [Chinese:小寒, Pīnyīn: xiǎohán] แปลว่าหนาวเล็ก

เสี่ยวหานจัดอยู่ในช่วงเทศกาลซานจิ่วคือช่วงเวลานับจากเทศกาลตงจื้อไปทีละ 9 วัน วนไป 3 รอบ ประกอบด้วยฤดูเสี่ยวหานและฤดูต้าหานจึงจะเป็นช่วงเย็นที่สุดของปี วันเสี่ยวหานจะเริ่มประมาณวันที่ 5-7 มกราคมแล้วแต่ปี

ตามตำราแพทย์แผนจีนแนะุนำให้รับประทานอาหารที่มีพลังหยางช่วยบำรุงร่างกาย ซึ่งมักจะเป็นเมนูผัดหรืออบ ในช่วงเสี่ยวหานคนจีนจึงนิยมกินหม้อไฟ, เกาลัด, มันอบ, เนื้อวัว, สาหร่าย, ลูกเกด, อาหารประเภทถั่วต่างๆ พริกไทย, อบเชย และกระุเทียม แน่นอนว่าตามตำราแล้วก็ไม่ควรกินอาหารรสเผ็ดเกินไปในช่วงหน้าหนาวเช่นนี้

กิจกรรมในวันเสี่ยวหานคือการออกกำลังกายเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น สุขภาพแข็งแรงและุปลอดโรคภัยในช่วงอากาศหนาว เนื่องจากว่าไม่นานก็จะุไปถึงเทศกาลตรุษจีน จึงเริ่มมีการเตรียมความพร้อมเพื่อการเฉลิมฉลองปีใหม่ เช่นการตัดกระดาษมงคล โคลงคู่ กลอนมงคล และทำโคมไฟไว้ประดับบ้านเรือน

6. ต้าหาน [Chinese:大寒, Pīnyīn: dàhán] | หนาวใหญ่

อากาศหนาวมากเริ่มประมาณวันที่ 20-21 มกราคม โค้งสุดท้ายของฤดูหนาวและปักษ์สุดท้ายของปีที่อากาศในจีนจะหนาวจัด มีคำกล่าวโบราณว่าไว้ “หากได้ผ่านวันต้าหานก็ถือว่าผ่านไปอีกปี” [过了大寒,又是一年] เมื่อผ่านช่วงนี้ไปอากาศก็จะเย็นน้อยลงแล้ว

ด้านอาหารการกินชาวจีนแต่ละภูมิภาคจะต่างกันไปเช่นผู้คนในกรุงปักกิ่งมีธรรมเนียมที่จะต้องกิน “เค้กคลายหนาว” หรือ “เซียวหานเกา” 消寒糕 ซึ่งเป็นเค้กข้าวชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมหลักเป็นข้าวเหนียว ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น

ในอันชิ่ง มณฑลอันฮุย นิยมกินเป๊าะเปี๊ยะทอดในวันต้าหาน ส่วนคนนานจิงนิยมรับประทานต้มซุปไก่ใส่โสมกับปลาหมึก ขนมมงคลในช่วงนี้คือขนมเข่งหรือเหนียนเกา [年糕] ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า 年高 ที่แปลว่าปีที่สูงขึ้น ขนมเข่งยังเป็นขนมมงคลที่ใช้เซ่นไหว้กันในช่วงตรุษจีนด้วย

กิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องอาหารการกินแล้ว ช่วงนี้ก็ยังเป็นฤดูที่เหมาะเล่นกีฬาหน้าหนาวอย่างสกีหรือสเก็ตน้ำแข็ง เพราะภูมิทัศน์เต็มไปด้วยหิมะและุน้ำในแหล่งน้ำแข็งตัวจึงเหมาะกับการเล่นกีฬาฤดูหนาวอย่างมาก นอกจากนี้แล้วก็ยังเป็นช่วงที่คนจีนเตรียมเก็บบ้านเพื่อเตรียมต้อนรับปีใหม่


และทั้งหมดนี้คือ 24 ปักษ์หรือฤดูกาลย่อยของจีนโบราณซึ่งยังมีธรรมเนียมประเพณีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน หวังว่าเพื่อนๆ จะได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนมากขึ้นจากบทความของเรา

References :

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.