ซีซั่น 2 ของซีรีส์ที่สร้างจากนวนิยายชุด Bridgerton ของ Julia Quinn กำลังจะลง Netflix วันที่ 25 มีนาคมนี้แล้ว หลังจากที่ความโรแมนติกของยุครีเจนซี่ทำให้ทั่วโลกฟินจนอยากไปงานเต้นรำกันเป็นแถว แต่ยุคนี้มีอะไรดี? ทำไมนิยายโรแมนซ์มักชอบเซตติ้งอยู่ในยุคนี้กัน? เรามาลองหาคำตอบไปพร้อมกัน
นิยายโรแมนติกทั้งในอดีตและปัจจุบันหลายเรื่องล้วนชื่นชอบการใช้ยุคสมัยรีเจนซี่ของประเทศอังกฤษในการถ่ายทอดวิถีชีวิตอันรุ่งเรืองมั่งคั่งทางวัฒนธรรมของชนชั้นสูง เจน ออสติน (Jane Austen) เจ้าของวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง Pride and Prejudice (ค.ศ.1813) และ Emma (ค.ศ.1815) เองก็ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ศิลปะสุกงอมนี้่มานานพอจะทำให้เราหลงรักยุคนี้ผ่านปลายปากกาของเธอ ทั้งยังส่งผ่านความนิยมมายังนักเขียนรุ่นหลังอีกด้วย
แล้วยุครีเจนซีคืออะไร?
Regency Era
ยุคของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
1811-1820
ยุครีเจนซี่ (ที่ไม่ใช่เหล้า) นี้แปลตามตัวก็คือยุคสมัยของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของยุคจอร์เจี้ยน (Georgian era) ยุคที่จำกันได้ง่ายๆ คือมีกษัตริย์ชื่อจอร์จ (George) ติดกันถึง 4 พระองค์ โดยเป็นกษัตริย์จากราชสกุลฮันโนเวอร์ (Hanover) เชื้อสายจากเยอรมันเข้ามาปกครองอังกฤษและไอร์แลนด์

(Image credit : Royal Collection)
ในช่วงรัชสมัยของกษัตริย์จอร์จที่ 3 (King George III) แห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ ช่วงปลายพระชนม์ชีพทรงประชวรด้วยสุขภาพจิตจนไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ ทำให้ราชการแผ่นดินตกเป็นหน้าที่ของเจ้าชายจอร์จผู้ดำรงตำแหน่ง Prince of Wales กลายเป็นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการแทนและบริหารดูแลแผ่นดินร่วมกับพระมารดาคือราชินีชาร์ล็อต (Queen Charlotte) ตั้งแต่ปี 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1811 จนกระทั่งพระราชบิดาคิงจอร์จสิ้นพระชนม์ปีค.ศ.1820 เจ้าชายจอร์จจึงได้ขึ้นครองราชย์ในฐานะกษัตริย์จอร์จที่ 4 ต่อไป

Image credit : National Trust Collections
ฟังดูแล้วก็เหมือนเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมตั้งแต่งานศิลปะ วิถีชีวิต และแฟชั่นเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนกับภาพของเจ้าชายจอร์จที่ทรงเป็นเจ้าชายหนุ่มรูปงาม รสนิยมดี มีความรอบรู้ สมกับฉายา “First Gentleman of England” และเป็นแบบแผนของอุดมคติสุภาพบุรุษในขณะนั้น
เจ้าชายรูปงามทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานศิลปะจำนวนมาก และทรงใช้งบประมาณส่วนพระองค์ไปกับวังทั้งในลอนดอนและไบรตัน (Brighton) ซึ่งเป็นวังริมทะเลที่สวยงามและยังเป็นหัวใจของย่านนั้นจนถึงทุกวันนี้
ราชสำนักของควีนชาร์ล็อตเองก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ชนชั้นสูงในสังคมสามารถเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดได้ แต่ก็ถือข้อกำหนดที่แตกต่างไปจากราชสำนักทิวดอร์ (Tudors) พวกข้าราชบริพารไม่ได้ถูกจำกัดเสรีภาพด้วยพระเนตรพระกรรณมากนัก ส่งผลให้เหล่าขุนนางมีอิสระในการที่จะซุกซนบ้าง ซึ่งจะดูเปรี้ยวไปได้แบบไหนบ้าง ในซีรีส์เราก็น่าจะได้เห็นออกมาบ้างแล้ว
วิถีชีวิตของขุนนางโดยทั่วไปพวกเขาจะเข้ามาในลอนดอนที่เป็นเมืองหลวงในช่วงฤดูกาลงานสังคม (The Season) จากโดยปกติพวกเขาจะอาศัยอยู่ในคฤหาสน์ในดินแดนที่ตนดูแลปกครองอยู่ ช่วงฤดูสังคมนี้เองที่พวกเขาจะมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านงานเลี้ยงและการสมาคม และยังเสมือนเป็นหน้าหาคู่ครองของลูกหลานผู้ดีที่อายุถึงช่วงควรออกเรือน ในขณะที่ผู้ใหญ่เจรจาธุรกิจการงาน หนุ่มสาวก็ถูกนำมาเปิดตลาดกับเค้าด้วย ส่วนเด็กเล็กที่พ่อแม่ยังมองว่าโตไม่พอก็จะไม่ได้รับโอกาสในการมาปาร์ตี้กับเค้า
ภาพของชนชั้นสูงช่างแตกต่างราวกับฟ้าและเหว เพราะในขณะที่ขุนนางเจ้าที่ดินปาร์ตี้กัุนอย่างเพลิดเพลิน เหล่าประชาชนกลับประสบปัญหาวิกฤตแรงงานและเศรษฐกิจ สืบเนื่องมาจากการบริหารที่ขาดความเข้มงวด ภาวะการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ค่าครองชีพที่แพงขึ้นเพราะภัยสงคราม (เอ๊ะ ทำไมคุ้นๆ เหมือนเกิดมาแล้วหลายที่) ทำให้ประชาชนที่อดอยากต้องเกิดประท้วงและจราจลกันเป็นระยะ
ก็คงถือเป็นข้อดีที่นิยายและซีรีส์เลือกโฟกัสที่สังคมชนชั้นสูงซึ่งแทบไม่ต้องเจอความยากลำบาก ทำให้เรามองเห็นเพียงแต่ความสวยงามเท่านั้น เพราะหากไปโฟกัสที่สลัมก็คงไม่มีใครอยากเสพ แต่ในซีรีส์ทางผู้จัดเองก็สอดแทรกภาพความลำบากของแรงงานอยู่นิดหน่อยเมื่อคราวที่ความลำบากนั้นถูกนำเสนอในฐานะผลพวงจากความไม่รักนวลสงวนตัวของสาวคนชั้ืนสูงนั่นเอง
เหตุการณ์สำคัญในยุครีเจนซี่
1811
- เจ้าชายจอร์จเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
- Sense and Sensibility นิยายเรื่องแรกของเจน ออสเตนตีพิมพ์
- สงครามนโปเลียนกับทางฝรั่งเศสกำลังดำเนินอยู่
- สงครามคาบสมุทร (Peninsular War) ซึ่งดำเนินในคาบสมุทรไอบีเรียที่เป็นที่ตั้งของประเทศสเปนและโปรตุเกส
- กองเรืออังกฤษชนะฝรั่งเศสในยุทธการณ์ลิซซา (Battle of Lissa)
- เกิดกบฏ Luddites การประท้วงของแรงงานทอผ้าในภูมิภาคทางตอนกลางและทางเหนือของเกาะอังกฤษ โดยก่อการจราจลด้วยการทำลายเครื่องทอผ้าที่มาแย่งพื้นที่แรงงานในตลาด
- การก่อสร้างถนน Regent Street ในลอนดอน
1812
- สเปนเซอร์ เพอร์ซิวัล นายกรัฐมนตรีอังกฤษถูกลอบสังหาร
- Robert Banks Jenkinson เอิร์ลแห่งลิเวอร์พูลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์
- สหรัฐประกาศสงครามกับอังกฤษเนื่องจากข้อพิพาทเรื่องดินแดนและการค้า
- การลุกฮือของกลุ่ม Luddites ทวีความรุนแรงขึ้น เกิดการโจมตีใน West Yorkshire และ Lancashire
- ตรากฏหมาย Act.1812 ให้การกบฏทำลายเครื่องทอผ้าเป็นการต้องโทษประหารชีวิต
- สงครามคาบสมุทร (Peninsular War) ดำเนินในคาบสมุทรไอบีเรียที่เป็นที่ตั้งของประเทศสเปนและโปรตุเกส
- Gas Light & Coke Company ได้ดำเนินการติดตั้งแก๊สเพื่อสาธารณูปโภคครั้งแรกในลอนดอน
- Lord Byron ได้รับการสถาปนายศครั้งแรก
- Treaties of Örebro
- ทางรถไฟ Middleton เปิดใช้บริการรถจักรไอน้ำเป็นครั้งแรก
- Sir Richard Colt Hoare พิมพ์งานศึกษาชื่อว่า “The Ancient History of South Wiltshire” เป็นงานแรกๆ ที่เริ่มใช้หลักฐานทางโบราณคดีประกอบ
- สงครามนโปเลียนยังไม่สิ้นสุด
1813
- อังกฤษพัวพันกับสงครามในประเทศสเปนและอเมริกา
- สงครามคาบสมุทร (Peninsular War) ซึ่งดำเนินในคาบสมุทรไอบีเรียที่เป็นที่ตั้งของประเทศสเปนและโปรตุเกส
- สงครามนโปเลียนยังไม่สิ้นสุด
- แหลมกู๊ดโฮปกลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
- เจน ออสเตน ตีพิมพ์ Pride & Prejudice
- William Debenham ร่วมหุ้นกับ Thomas Clark ในกิจการห้างร้านขายเสื้อผ้าในลอนดอน ภายใต้ชื่อ Clark & Debenham
1814
- งานฟรอสต์แฟร์แห่งแม่น้ำเทมส์ที่จะจัดขึ้นตอนฤดูหนาวที่น้ำในแม่น้ำแข็งถูกจัดขึ้นเป็นปีสุดท้าย เนื่องมาจากภาวะโลกที่ร้อนขึ้นจนไม่เอื้อต่อการแข็งตัวของแม่น้ำเทมส์ในปีต่อๆ มา
- สงครามคาบสมุทร (Peninsular War) ซึ่งดำเนินในคาบสมุทรไอบีเรียที่เป็นที่ตั้งของประเทศสเปนและโปรตุเกส
- สงครามนโปเลียนใกล้ถึงจุดสิ้นสุด นโปเลียนถูกเนรเทศไปเกาะเอลบา (Elba)
- สนธิสัญญาปารีส (1814)
- Congress of Vienna การประชุมร่วมขนาดใหญ่ระดับทวีปแห่งแรกในประวัติศาสตร์
- Treaty of Ghent สนธิสัญญาสงบศึกระหว่างอเมริกากับอังกฤษ
- เดอะไทม์ติดตั้งเครื่องพิมพ์โรตารี่แบบ stop-cylinder printing press เป็นครั้งแรก ทำให้พิมพ์หนังสือพิมพ์ได้ถึงชม.ละ 1,100 หน้า
1815
- พระราชบัญญัติธัญญาหาร (corn law) ซึ่งตั้งกำแพงภาษีและจำกัดการนำเข้าธัญพืช
- The Antiquary and Guy Mannering ของวอลเตอร์ สก็อตถูกตีพิมพ์
- William Smith เผยแพร่แผนที่ภูมิศาสตร์ของสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก
- มีการสร้างวังไบรตันใหม่โดยใช้รูปแบบศิลปะจากราชวงศ์โมกุลของอินเดียมาแทนรูปแบบนีโอ-คลาสสิก
1816
- การเก็บภาษีเงินได้ถูกยกเลิก (ชั่วคราวและกลับมาปี 1842)
- การจราจล Ely / Littleport ที่เกิดขึ้นเพราะอัตราการว่างงานและค่าอาหารธัญพืชที่แพงขึ้น
- เจ้าหญิงชาร์ล็อตอภิเษกกับเจ้าชายลีโอโพล์ด (Leopold of Saxe-Coburg)
- ข่าวลือเกี่ยวกับชีวิตสมรสและพฤติกรรมในทางลบของลอร์ดไบรอนแพร่สะพัดจนทำให้ลอร์ดไบรอนต้องออกไปจากลอนดอนโดยไม่หวนกลับมาอีก
- กบฏ Luddites ขยับมาตรการในการเคลื่อนไหวอย่างรอบคอบขึ้น
- บริติชมิวเซียมนำเข้าประติมากรรมศิลา Elgin Marbles ด้วยงบ £35,000 มาจัดแสดงถาวร
- พิพิธภัณฑ์FitzWilliamถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดแสดงงานศิลปะในครอบครองของ Viscount FitzWilliam
- Stethoscope ถูกพัฒนาและสร้างขึ้น
1817
- เศรษฐกิจตกต่ำหลังเผชิญภาวะสงครามยืดเยื้อยาวนาน
- อัตราการว่างงานสูงขึ้นจนเกิดการจราจลโดยแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ
- เจน ออสเตนเสียชีวิต
- การจราจลครั้งใหญ่ของพวก Luddites ใน Loughborough
- กลุ่มม็อบผ้าห่ม (Blanketeers) เกิดจากการรวมตัวกันในแมนเชสเตอร์เพื่อเดินขบวนเรียกร้องไปที่ลอนดอน
- การลุกฮือที่เพนทริช (The Pentrich Rising) เป็นการจราจลด้วยแรงงานติดอาวุธจำนวนประมาณ 300 คนจาก Derbyshire
- การระบาดของไข้รากสาดใหญ่ในEdinburgh และ Glasgow
- เจ้าหญิงชาร์ล็อตเสียชีวิตระหว่างให้ประสูติ
- เจ้าหญิงคาราบู (Princess Caraboo) ราชนิกุลตัวปลอมเริ่มปรากฏตัวในอังกฤษ
- สะพานวอเตอร์ลูเปิดใช้ครั้งแรก
- แกลลอรี่ภาพดัลวิชทางตอนใต้ของกรุงลอนดอนเปิดบริการ
- ระบบไฟจากแก๊สถูกติดตั้งในโรงละคร Covent Garden
1818
- Frankenstein ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก
- สถาบันวิศวกรโยธา (Institution of Civil Engineers) ของอังกฤษถูกตั้งขึ้น
- จักรยาน 2 ล้อถูกประดิษฐ์โดยชาวเยอรมันและจัดแสดงขึ้นครั้งแรกในฝรั่งเศส
- Dr. James Blundell สามารถถ่ายเลือดมนุษย์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์
- ราชินีชาร์ล็อตสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 74 พรรษา
1819
- เหตุสังหารหมู่ปีเตอร์ลู (Peterloo massacre)
- สิงคโปร์อยู่ในการปกครองของอังกฤษ
- ภาคกฏหมายมีการออกกฏบังคับใช้เพื่อป้องกันและปราบปรามจราจลอันเนื่องมาจากเหตุที่วอเตอร์ลู 6 ฉบับ
- William Bullock นำวัตถุจัดแสดงในครอบครองเข้าตลาดประมูลยิ่งใหญ่
- ตลาดเบอร์ลิงตันอาร์เคด (Burlington Arcade) เปิดให้บริการในลอนดอน
- เจ้าหญิงวิคตอเรียประสูติ (ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นพระราชินีในยุควิคตอเรียน)
- John William Polidori ตีพิมพ์นิยาย The Vampyre.
- สำนักปรัชญาแคมบริดจ์ (Cambridge Philosophical Society) ก่อตั้งขึ้น
1820
- กษัตริย์จอร์จทื่ 3 สิ้นพระชนม์หลังครองราชย์นาน 59 ปี
- กษัตริย์จอร์จที่ 4 ขึ้นครองราชย์
- แผนลอบสังหาร Cato Street Conspiracy ถูกเปิดโปง แผนการดังกล่าวประกอบด้วยการก่อการคล้ายปฏิวัติฝรั่งเศส ดดยเกิดจากการรวมตัวกันของผู้ไม่พอใจต่อการสังหารหมู่ที่ปีเตอร์ลู ผู้ก่อการถูกประหารชีวิตในที่สุด
- วิลเลี่ยม เบรคตีพิมพ์ The Book of Job ส่วนของพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมในรูปแบบพร้อมภาพประกอบ
- รูปปั้น Venus de Milo ถูกพบที่เกาะไมลอส
อ่านเรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับ Bridgerton และยุครีเจนซี่…

References:
- Hern,C.”Regency Timeline” in Regency World.Candice Hern.Retrieved 24 March 2022, from https://candicehern.com/regency-world/regency-timeline/
- James,M.George IV.Historic UK.Retrieved 24 March 2022, from https://www.historic-uk.com/HistoryUK/HistoryofBritain/George-IV/
- Knowles, R. (September 25,2012). When is the Regency era?. Retrieved 23 March 2022, from https://www.regencyhistory.net/2012/09/when-is-regency-era.html
- Ming Panha.(December 5,2019).เที่ยวอังกฤษแบบคนคิดมาก: 200 ปี ประวัติศาสตร์การประท้วงทางชนชั้นที่แมนเชสเตอร์.The Matter.Retrieved 24 March 2022, from https://thematter.co/thinkers/manchester-and-peterloo-massacre/92913
- The Georgian era.Royal Museums Greenwich.Retrieved 23 March 2022, from https://www.rmg.co.uk/stories/topics/georgian-era
- The Regency period.The Regency Town House.Retrieved 24 March 2022, from http://www.rth.org.uk/regency-period
- Valentini, V. (November 23,2020). Everything You Wanted to Know About Regency London, the High-Society Setting of ‘Bridgerton’. Retrieved 23 March 2022, from https://www.shondaland.com/inspire/a34730007/everything-you-wanted-to-know-about-regency-london-bridgerton/