Seth x Horus ตำนานคู่ไม่จิ้น แต่ไม่ได้ฟินขนาดนั้น

เคยเป็นประเด็นดราม่ากับพล็อตแนวๆ Incest, Rape ของมังฮวาเรื่อง Ennead ของ Mojito ซึ่งยืมเค้าโครงจากปกรณัมอียิปต์ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องแต่ง ทว่าแท้จริงแล้วหลายอย่างในเรื่องนำเอาเค้าโครงมาจากตำนานของโฮรัสและเซธ เทพอียิปต์องค์สำคัญ

ตอนแรกทางเพจอยากจะลงปกรณัมอียิปต์เรื่องนี้ตั้งแต่มิถุนายนซึ่งเป็น #PrideMonth แต่ดันเขียนไม่ทัน พอเห็นมังฮวาเรื่องนี้ลอยผ่านมาเลยคิดว่า เอออออ ขอสักหน่อยเถอะ มังฮวาหรือการ์ตูนเกาหลีเรื่องที่เรากำลังพูดถึงคือ Ennead ซึ่งเป็นแนว Yaoi (ชายรักชาย) มีเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานเทพอียิปต์โบราณ โดยอ้างอิงคาร์แรคเตอร์และตำนานบางส่วนมาจากจารึกและเอกสารโบราณ

ตัวละครหลักคือโฮรัส (Horus) เทพแห่งท้องฟ้า ผู้มีศีรษะเป็นเหยี่ยว กับเซธ (Seth) เทพแห่งทะเลทรายและสงคราม ผู้มักจะมีศีรษะเป็นอาร์ดวาร์ก (Aardvark) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอันมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ลักษณะคล้ายหมูที่มีจมูกยาวแบบตัวกินมด

คำว่า Ennead เป็นชื่อเรียกเทพอียิปต์โบราณ 9 องค์ที่นับถือกันในเมือง Heliopolis  นครหลวงของอียิปต์สมัยราชวงศ์ที่ 12 เทพกลุ่มนี้อยู่ภายใต้การปกครองของเทพรา (Ra) หรืออะตุม (Atum) เทพแห่งตะวันอันเป็นเทพสูงสุด ตามมาด้วยบุตรอย่างเทพชู (Shu), เทฟนุต (Tefnut), เกบ (Geb), นุต (Nut), โอซิริส (Osiris), ไอซิส (Isis), เซธ (Seth), และเนฟทีส (Nephthys) บางครั้งเทพชุดนี้อาจมีการรวมเทพโฮรัสซึ่งเป็นบุตรของเทพโอซิริสและไอซิสเข้ามาด้วย

มังฮวาเรื่องนี้ได้เลือกเอาความขัดแย้งและการต่อสู้ของเทพโฮรัสและเทพเซธมาเล่าใหม่ โดยความขัดแย้งระหว่างเทพทั้งสององค์เริ่มต้นจากการที่เซธ เทพผู้เป็นอนุชาของโอซิริสเกิดประสงค์อยากได้บัลลังก์แห่งอียิปต์ เซธได้ฆ่าโอซิริสและหั่นศพเป็นชิ้นๆ นำไปทิ้งทั่วอียิปต์ ก่อนจะขึ้นครองบัลลังก์ซึ่งควรเป็นของโฮรัส บุตรของโอซิริสกับเทพีไอซิส ทำให้โฮรัสต้องออกมาทำสงครามกับอาของตน ก่อนที่จะปราบเซธและได้บัลลังก์กลับมาเป็นของตน กลายเป็นปฐมกษัตริย์ของอียิปต์โบราณและสืบทอดสายเลือดมาในหมู่ฟาโรห์ต่างๆ

ภาพเทพโฮรัสและเซธจากบัลลังก์ของSenwosret II ราชวงศ์ที่ 12/ Wikimedia.

แต่เนื้อหาของตำนานเหล่านี้กลับมีมุมเรื่องเพศสภาวะที่น่าสนใจเอามากๆ และกลายเป็นหลักฐานที่นักวิชาการหยิบยกนำมาวิเคราะห์และอธิบายเพศสภาวะของอียิปต์โบราณ ว่ามีการปรากฏของรสนิยมทางเพศในแบบรักร่วมเพศ (Homosexual) ไปจนถึงการกระทำความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence) จากผู้ใหญ่กระทำต่อเด็ก มีเอกสารโบราณจำนวนหนึ่งที่เล่าเรื่องราวของโฮรัสที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและในบางคราวการกระทำในแบบเดียวกันเกิดขึ้นโดยโฮรัสเป็นฝ่ายกระทำกับเซธ เฉกเช่นจารึกจากพีระมิดยุคราชอาณาจักรเก่ามีการระบุความว่า….  

“โฮรัสได้สอดแทรกน้ำกามเข้าไปทางด้านหลังของเซธ เซธได้แทรกน้ำกามเข้าไปทางด้านหลังของโฮรัส”

ข้อความดังกล่าวมีการอ้างอิงมาจากการถอดความและอ้างอิงในบทความวิชาการโดย J. G. GRIFFITH แม้จะไม่ระบุถึงที่มาของประโยคนี้ชัดเจน แต่ปรากฏความสอดคล้องกันในเรื่องการล่วงละเมิดในวรรณกรรมชื่อที่เล่าถึงการต่อสู้ของโฮรัสกับเซธในสมัยหลังอย่างยุคราชอาณาจักรใหม่ โดยระบุคล้ายคลึงกันว่า  “เซธได้ปฏิบัติกามกิจทางทวาร (Sodomy) หลังจากเสร็จสิ้นงานเลี้ยง แล้วจึงได้อ้างต่อว่าเขาได้ทำสิ่งที่เป็น ‘กิจของบุรุษเพศ (หรือนักรบ)’ ในการนั้น”

จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่ามีการอ้างถึงนิยามความเป็นเพศชาย (Macho) เหนืออีกฝ่าย ทำให้ดูคล้ายว่าการล่วงละเมิดดังกล่าวเป็นการกระทำในเชิงเหยียดหยามมากกว่าเป็นไปด้วยความพึงพอใจทางเพศ และยังเป็นการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์ เพราะในเอกสารระบุถึงกายภาพของโฮรัสในฐานะเด็กหรือผู้ที่ยังอ่อนวัย แสดงภาพการเป็นเหยื่อของตัวเซธซึ่งถูกทำให้กลายเป็นพวกใคร่เด็ก (Paedophilia) เรื่องราวนี้ยังปรากฏอยู่ใน Ramesside calendar ส่วนที่มีการกล่าวถึงการต่อสู้ของโฮรัสและเซธ ในปฏิทินดังกล่าวยังระบุอีกถึงความแตกต่างระหว่างเทพ 2 องค์นี้ โดยเรียกโฮรัสว่าเป็นเทพเยาว์วัยที่ไม่ได้แข็งแกร่งมาก แต่มีความฉลาดเฉลียว ส่วนเซธเป็นเทพที่สูงวัยกว่า มีความแข็งแรงมาก แต่ไม่มีปัญญามากเท่ากับโฮรัส เท่ากับว่าตำนานนี้เป็นที่รับรู้และแพร่กระจายโดยทั่วไปในอียิปต์โบราณตั้งแต่ช่วงยุคราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) อีกทั้งมุมมองต่อการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศชายกลายเป็นความรุนแรงทางเพศมากกว่าความสุขสม

อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนปกรณัมอียิปต์โบราณจะแสดงภาพของการร่วมเพศระหว่างเพศเดียวกันในทางลบและไม่เป็นไปด้วยความสุขสมทางเพศ แต่การปรากฏของพฤติกรรมรักร่วมเพศของอียิปต์โบราณไม่ได้ถูกปิดบังหรือเป็นสิ่งต้องห้าม เพียงแต่อาจข้องเกี่ยวกับการเดินทางไปสู่โลกความตายเช่นกัน มีข้อความบางข้อที่ระบุถึงความไม่เหมาะสมในการร่วมเพศแบบเพศเดียวกันในพื้นที่บางพื้นที่ อาทิ วิหาร หรือที่สาธารณะ

ภาพเทพโฮรัสและเซธให้พรแก่รามเสสที่ 2 จากวิหารอาบู ซิมเบล (Abu Simbel, Egypt)
Original image by Dennis Jarvis. Uploaded via worldhistory by Ibolya Horvath

กล่าวได้ว่าตำนานที่ถูกนำมาสร้างเป็นมังฮวาเรื่อง ENNEAD ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปมากนักจากความเข้าใจของคนในอดีต โดยยังคงแสดงถึงความขัดแย้ง การต่อสู้ การแก้แค้น และความกดขี่ที่เกิดขึ้นระหว่างเทพอียิปต์โบราณ ซึ่งมิได้เป็นสิ่งที่ควรถูกมองในทางบวก แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าบางคราวการเสพเรื่องราวที่เป็นโศกนาฏกรรมก็เป็นอีกรสวรรณกรรมและภาพสะท้อนมุมมองทางด้านพัฒนาการทางสังคมได้เช่นกัน

หากสนใจ ท่านสามารถอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับรักร่วมเพศอีก 1 บทความของทาง ArchaeoGO ; “#PrideMonthมันมีเรื่อง Queer Egypt หลากความคิด หลายเพศ ต่างมุมมอง” ได้ทางลิ้งนี้

และติดตามมังฮวาถูกลิขสิทธิ์ไทยเรื่อง ENNEAD เทวาบัลลังก์สวาท ได้ที่ #wecomicsth https://www.wecomics.in.th/comics/16256

References :

  • Gabrielle Goodwin, University of Idaho, undergraduate student, “Changes in the Relationship Between the Horus and Seth: Set-tling the Score”
  • Oden, R.. “The Contendings of Horus and Seth” (Chester Beatty Papyrus No. 1): A Structural Interpretation.” History of Religions 18 (1979): 352 – 369.
  • Parkinson, R. B. “‘Homosexual’ Desire and Middle Kingdom Literature.” The Journal of Egyptian Archaeology 81 (1995): 57-76. Accessed August 30, 2021. doi:10.2307/3821808.
  • Porceddu, Sebastian & Jetsu, Lauri & Markkanen, Tapio & Lyytinen, J. & Kajatkari, Perttu & Lehtinen, Jyri & Toivari-Viitala, Jaana. (2018). Algol as Horus in the Cairo Calendar: the possible means and the motives of the observations.
  • Sebastian Porceddu, Lauri Jetsu,Tapio Markkanen & Jaana Toivari-Viitala. (2008). “Evidence of Periodicity in Ancient Egyptian Calendars of Lucky and Unlucky Days”.Cambridge Archaeological Journal 18:3, 327–39.McDonald Institute for Archaeological Research. doi:10.1017/S0959774308000395
  • Tobin, V. (1993). Divine Conflict in the Pyramid Texts. Journal of the American Research Center in Egypt, 30, 93-110. doi:10.2307/40000229.

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.