#โยไคอะไรเนี่ย EP5 Nue [鵺] เสียงหวีดร้องยามราตรีที่หลอกหลอนชาวเฮอัน

“นูเอะ” ตำนานโยไคที่มีความเกี่ยวพันกับสถานที่ต่างๆ ในญี่ปุ่น ปรากฏอยู่ในหลากหลายเอกสารทางประวัติศาสตร์ การหลอกหลอนคุกคามกระทั่งจักรพรรดิทำให้ผู้คนสมัยโบราณผวาเมื่อได้ยินเสียงร้องแปลกๆ ตอนกลางคืน

นูเอะคือหนึ่งในโยไคที่มีหลักฐานการปรากฏเก่าแก่ที่สุด โดยมีการกล่าวถึงในหนังสือโคะจิกิ [古事記] ซึ่งเป็นหนังสือโบราณที่เล่าถึงความเป็นมาของญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการพูดถึงปกรณัมต่างๆ, มันโยชู [万葉集] หนังสือรวมบทกลอนโบราณสมัยนาระ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 8 กับหนังสือ “วาเมียว รุยจุโช” [倭名類聚抄] เขียนในปีค.ศ.938 และใน “เฮเคะ โมโนกาตาริ” [平家物語] พงศาวดารตำนานของเฮเคะ (ตระกูลไทระ) เขียนขึ้นในปีค.ศ.1371

ภาพชื่อ “จุดจบ” (The end) รูปนูเอะบนท้องฟ้าเหนือวังหลวง วาดโดยอุตากาวะ คุนิโยชิ (歌川 国芳) c.1852

ชื่อของนูเอะไม่มีความหมายตรงตัว โดยอักษรคันจิของนูเอะมาจากการร่วมอักษร 2 ตัวที่มีความหมายถึง “กลางคืน” และ “นก” มักปรากฏตัวบนท้องฟ้าโดยมาพร้อมเมฆสีดำ ลักษณะเป็นสัตว์ผสมมีศีรษะเป็นวานร ร่างกายเป็นทะนุกิ มีหางของงู และมีแขนขาของเสือ คนโบราณเชื่อว่ามันเป็นนกหากินกลางคืนประเภทหนึ่งที่มีเสียงร้องคล้ายกับ “โทสึกุมิ” [トツグミ] หรือนกเดินดงลายเสือ (White’s thrush) นกพื้นถิ่นในเอเชียตะวันออก บ้างก็ว่ามันคือนกไก่ฟ้าเขียวญี่ปุ่นซึ่งเป็นนกพื้นถิ่นเฉพาะญี่ปุ่น

นกเดินดงลายเสือ

เรื่องราวของนูเอะปรากฏในบันทึกโบราณมักอธิบายลักษณะนูเอะว่าเป็นเหมือนนกกลางคืน มีเสียงร้องน่ากลัวและฟังดูโศกเศร้า ในหนังสือ วาเมียว รุยจุโช กล่าวว่าเสียงของนกชนิดนี้เป็นเสียงของลางร้าย ความเชื่อทำนองเดียวกับคนไทยที่เชื่อว่าเสียงของนกแสกซึ่งก็เป็นนกกลางคืนที่มีเสียงร้องแหบห้าวโหยหวนเป็นลางไม่ดี ถ้าไปร้องบนหลังคาบ้านใด บ้านนั้นจะมีเรื่องไม่ดีหรือที่แย่ไปกว่านั้นคือจะมีคนตาย

หนึ่งในเรื่องที่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยคือเรื่องที่บันทึกในพงศาวดารเฮเคะ [平家物語] กล่าวว่าในปีค.ศ.1153 รัชสมัยของจักรพรรดิโคโนเอะ [近衛天皇] ณ เมืองเฮอันเคียวหรือเมืองเกียวโตในปัจจุบัน พระจักรพรรดิมีอาการสุบินฝันร้ายติดต่อกันหลายคืนจนเริ่มล้มป่วย ไม่มียาหรือบทสวดใดสามารถทำให้พระพลานามัยแข็งแรงขึ้นได้เลย ผู้คนจึงเชื่อว่าพระองค์น่าจะตกอยู่ในอำนาจชั่วร้ายบางอย่าง ทุกอย่างเริ่มดูมีเค้าลางมากขึ้นเมื่อปรากฏเมฆหมอกสีดำคล้ายพายุก่อตัวเหนือพระราชวัง คืนหนึ่งสายฟ้าก็ผ่าลงมายังหลังคาจนเกิดเพลิงไหม้ เพื่อจัดการภัยดังกล่าวพระจักรพรรดิได้รับสั่งให้มินาโมโตะ โนะ โยริมาสะ [源 頼政] เข้ามาจัดการ นักรบหนุ่มพร้อมกับสหายคู่ใจอย่างอิโนะ ฮายาตะ [猪早太 หรือ井早太] ได้นำธนูยิงเข้าไปในก้อนเมฆสีดำเหล่านั้น จึงเกิดเสียงหวีดร้องน่าหวาดหวั่นขึ้นก่อนจะพบร่างของนูเอะซึ่งร่วงลงมายังพื้นดิน

ภาพอิโนะ ฮายาตะกับการสังหารนูเอะ วาดโดยโยชิโตชิ c.1890

ทว่าเมื่ออิโนะ ฮายาตะเดินเข้าไปสำรวจร่างของโยไคตนนั้นก็พบว่ามันยังมีลมหายใจ จึงได้จัดการสังหารนูเอะให้สิ้นใจในที่สุด ทันใดนั้นพระจักรพรรดิจึงหายจากพระประชวรทันที จักรพรรดิโคโนเอะจึงได้มอบดาบชิชิโอเป็นรางวัลแด่ทั้งสอง

ถึงจะปราบเจ้านูเอะลงได้ ชาวเมืองเฮอันก็ยังกลัวว่าอาจต้องคำสาปจากการฆ่าสัตว์ประหลาดตนนี้ จึงได้นำร่างของตัวนูเอะใส่ลงในเรือแล้วล่องไปตามแม่น้ำคาโมะเพื่อให้ลอยไปพ้นจากเมืองหลวง เรือลำดังกล่าวไปเกยตื้นที่ชายฝั่งของหมู่บ้านอาชิยะ[芦屋] ตรงระหว่างแนวบรรจบของแม่น้ำอาชิยะและแม่น้ำสุมิโยชิ ในจังหวัดเซ็ทสุ [摂津国] ชาวบ้านได้ช่วยนำร่างของนูเอะขึ้นมาทำพิธีฝังศพอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ปัจจุบันเนินสุสานแห่งนี้ยังปรากฏอยู่ในชื่อ “นูเอะซุกะ” [鵺塚] หรือเนินเขานูเอะ ใกล้กับสถานีรถไฟอาชิยะ บริเวณนั้นยังมีสะพานซึ่งตั้งชื่อตามหลุมฝังศพว่าสะพานนูเอะซุกะอีกด้วย

เนินเขานูเอะ สถานีรถไฟอาชิยะ จังหวัดเซ็ทสุ
ที่มา : https://yokaitourbus.blogspot.com/2016/04/xv-grave-of-nue-in-ashiya-or-dead-nue.html

ในประเทศญี่ปุ่นปรากฎชื่อและตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับนูเอะกระจายตัวอยู่ ทั้งหมดล้วนมีความไม่ชัดเจนเท่าไรนัก ทำให้เราอาจเห็นสถานที่ที่เรียกว่าเนินนูเอะนี้หลายแห่ง โดยมักจะกล่าวถึงตำนานอย่างเดียวกันคือเป็นหลุมฝังศพของโยไคชนิดนี้หรือเป็นที่ตั้งศาลเจ้าโบราณเพื่อสะกดให้วิญญาณของโยไคดังกล่าวไม่กล้ำกรายผู้คน ตัวอย่างเช่น วัดบุนจิ [母恩寺] เมืองโอซาก้า มีศาลเจ้าของนูเอะตั้งอยู่โดยมีตำนานเล่าว่าหลังจากที่นูเอะถูกปราบในเฮอัน ศพของมันไหลตามแม่น้ำโยโดมาเกยตื้นที่นี่ ชาวบ้านกลัวความแค้นของนูเอะจะพยาบาทจึงได้นำร่างขึ้นมาฝังและตั้งศาลเจ้าไว้ ใช้ชื่อนูเอะซุกะหรือเนินเขานูเอะเหมือนกับที่อาชิยะ

วัดแห่งนี้มีประวัติว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิโก-ชิราคาวะ ทำให้ค่อนข้างเป็นที่สับสนกันเองจากเอกสารในพงศาวดารเฮเคะว่าจักรพรรดิในเรื่องราวควรเป็นองค์ใดกันแน่ แต่ทุกตำนานล้วนเล่าตรงกันถึงที่มาที่ไป การหลอกหลอน และการปราบนูเอะ ทำให้เราพอจะทราบถึงโยไคชนิดนี้ว่าเป็นตัวนำพาโชคร้ายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังมีตำนานเมืองเกี่ยวกับวัดบุนจิอีกว่าเมื่อวัดถูกเผาทำลายลงช่วงต้นยุคเมจิ วิญญาณของนูเอะจึงออกมาอาละวาดอีกครั้งจนต้องมีการรีบสร้างศาลกลับขึ้นใหม่เหมือนเดิม นับแต่นั้นนูเอะก็ไม่ออกมาหลอกหลอนทำอันตรายใครอีกเลย


References :

  • Foster, Michael Dylan.(2015). The Book of Yōkai: Mysterious Creatures of Japanese Folklore. Oakland: University of California Press.
  • Meyer, M. (2015).The Hour of Meeting Evil Spirits: An Encyclopedia of Mononoke and Magic (Yokai)

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.