แฟชั่นเผ่า #1 การแต่งกายของชาวทิเบต

ทิเบตยังคงดูเป็นแดนลึกลับในสายตาบ้านเรา แม้ว่าจะมีสถานการณ์การต่อสู้รุนแรงเพื่อเอกราชอยู่เนืองๆ ให้รับรู้กันบ้าง แต่เรากลับแทบจะไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับทิเบตเลย เอาล่ะ! เพราะงั้นมาเริ่มทำความรู้จักวัฒนธรรมทิเบต ที่ไม่ใช่เป็นแค่ลูกปัดและมันตรากันเหอะ รับรองว่าคุณอาจจะรักวิถีแห่งท้องทุ่งบนหลังคาโลกขึ้นมาไม่มากก็น้อย

ไม่คิดว่าจะได้เขียนเรื่องนี้ แต่ก็คิดว่าไหนๆก็อ่าน ก็ค้นแล้ว เขียนหน่อยแล้วกัน จะได้ให้คนอื่นหาอ่านได้ง่ายขึ้น เพราะตอนที่เราเคยเขียนนิยายเกี่ยวกับชนเผ่าทิเบตโบราณช่วงสมัยราชวงศ์ถังตอนต้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นช่วงเวลาที่ศาสนาพุทธเพิ่งเข้าไป และวัฒนธรรมท้องถิ่นยังไม่ถูกรบกวนหรือผสมผสานกับความเชื่อของพุทธศาสนาแบบที่เห็นในปัจจุบัน มันแทบไม่มีข้อมูลเท่าไรว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์ทิเบตก่อนอิทธิพลจีนเป็นอย่างไร พวกเขากินนอนไปจนถึงแต่งกายกันอย่างไร มีข้อแตกต่างด้านวัฒนธรรมและสังคมอย่างไรบ้าง

สรุปคือ…จากการหาข้อมูลเพื่อจะเขียนนิยายแล้วแทบไม่เจอ (โดยเฉพาะเมื่อ 3-5 ปีก่อนล่ะมั้ง ดองเค็มนิยายไป) เลยคิดว่าบางเรื่องก็ยังไม่เห็นมีคนแปล หรือเขียนถึงเท่าไหร่ งั้นเราจะขอแบ่งปันข้อมูลที่ผ่านตามาเล่าสู่กันฟัง ส่วนการถอดทับศัพท์ชื่อต่างๆ กรณีคำทิเบตเราใช้ระบบการถอดเสียงแบบไวลี ในขณะที่ภาษาจีนอาศัยปรึกษาเอาจากคนที่ใช้ภาษาจีนได้ อาจจะผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ทีนี้

ก่อนจะเจาะลึก เรามาเท้าความก่อนว่า ทิเบต เป็นประเทศหรือกลุ่มชาติพันธุ์ในที่ราบสูงทิเบต ประกอบด้วยกลุ่มชนเผ่าท้องถิ่นที่ถูกรวบให้เป็นอาณาจักรและมีการเรืองอำนาจขึ้นในพื้นที่เอเชียกลางเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11 (เอาเป็นว่าช่วงเวลาใกล้เคียงกับตอนที่จีนเปลี่ยนเป็นราชวงศ์ถังนั่นล่ะ) หลังจากปกครองด้วยระบบกษัตริย์ด้วยหัวหน้าเผ่ามาสักระยะ ก็เปลี่ยนผู้นำประเทศมาเป็นทะไลลามะ (ཏཱ་ལའི་བླ་མ་ | Dalä Lama) ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ชั้นสูงแทน จนกระทั่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีนในปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองทำให้ทิเบตมีปัญหาในการเรียกร้องเอกราชในการปกครองตนเองอยู่เนืองๆ ส่งผลให้แม้แต่องค์ทะไลลามะก็ต้องเสด็จลี้ภัยไปอยู่ในอินเดียตอนนี้

ปัจจุบันประเทศจีนได้เรียกทิเบตว่า “ซีจ้าง” (西藏) เป็นคำที่เริ่มใช้ตั้งแต่ยุคปลายราชวงศ์ชิงเป็นต้นมา ชื่อเรียกของทิเบตเปลี่ยนแปลงกันไปในแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์จีน กล่าวคร่าวๆ ได้แก่ ถูปัวหรือถูฟ่าน [吐蕃] อันมาจากชื่อยุคจักรวรรดิทิเบตที่เรียกว่า “บดเชินโป” (བོད་ཆེན་པོ) แปลว่ามหาทิเบตคือทิเบตใหญ่, ซวนเจิ้งเอวี้ยน [宣政院] ในเอกสารของราชวงศ์หยวน, ส่วนสมัยราชวงศ์หมิงคืออูซือจ้าง [乌思藏] และสุดท้ายคือเว่ยจ้าง [衛藏] เริ่มประมาณช่วงราชวงศ์ชิงเป็นต้นมาก่อนใช้คำว่าซีจ้างดังที่กล่าวข้างต้น

เนื่องจากทิเบตนั้น แต่เดิมประกอบด้วยชนเผ่าเร่ร่อนในทุ่งหญ้าหลายๆกลุ่มมารวมกัน ทำให้ค่อนข้างจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมพอตัว ในที่นี่เราจะขอแบ่งภูมิภาคทางวัฒนธรรมของทิเบตตามแคว้นใหญ่ๆ ได้แก่ แคว้นอัมโด (ཨ་མདོ | Amdo), แคว้นขาม (ཁམས | Kham) และ แคว้นอูจ้าง (དབུས་གཙང | Ü-Tsang) คือแคว้นทางตอนกลางค่อนไปทางใต้ มีที่ตั้งเมืองหลวงลาซา (Lhasa) เรียกว่าเป็นทิเบตกลางหรืออู่วัฒนธรรมของชาติพันธุ์ทิเบตก็ว่าได้

ก่อนจะรับเอาศาสนาพุทธจากราชวงศ์ถังเข้าไป กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบตมีศาสนาเดิมที่เรียกว่า “เบิน” (བོན) หรือ เปิ่นเจี้ยว (苯教) ในภาษาจีน ศาสนาเบินหรือที่บางแห่งแปลตามอังกฤษว่า “บอน” (Bon) มีลักษณะเข้ากับกลุ่มคติศาสนาผี/วิญญาณนิยม (Animism) เชื่อว่าสิ่งต่างๆ นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ มีการสื่อสารผ่านหมอผี (Shaman) ต่อมาเริ่มมีการจัดการระบบความเชื่อเป็นระบบเทวราชา (Divine kingship) ที่เชื่อว่ากษัตริย์คือตัวแทนอำนาจของสวรรค์บนผืนดิน

ทิเบตเป็นดินแดนแห่งศรัทธาทุกย่อมหญ้าตั้งแต่ยุคโบราณ เมื่อรับเอาศาสนาพุทธเข้ามาก็หลอมรวมกับแนวปฏิบัติเดิมจนกลายเป็นสถานที่ที่เคร่งครัดและมีความเชื่อมั่นในหลักธรรมทางพุทธศาสนาแบบทุกลมหายใจเลยทีเดียว…

แต่เดิมวิถีชีวิตของคนทิเบตเป็นลักษณะของชนเผ่าเร่ร่อน (Nomad) มีการเลี้ยงฝูงปศุสัตว์จำพวกแพะแกะและจามรี ใช้ม้าเป็นพาหนะ ล่าสัตว์ชนิดอื่นเพื่อเป็นอาหาร ลักษณะใกล้เคียงกับคนมองโกลหรือชาติพันธุ์อื่นๆ ในทุ่งหญ้าแถบเอเชียกลางที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน การแย่งชิงพื้นที่ระหว่างอพยพทำให้ชนเผ่าเร่ร่อนมักต้องมีเทคนิคทางการต่อสู้บนหลังม้าเพื่อปกป้องเขตแดนกับสมบัติล้ำค่า นั่นคือฝูงสัตว์ของพวกเขานั่นเอง จำนวนของสัตว์เป็นตัวบ่งบอกฐานะของเผ่าและครอบครัวนั้นๆ ทั้งยังถูกใช้เพื่อเป็นสินสอดหรือสินเดิมของบ่าวสาวในการออกเรือนด้วย

แม้จะถูกเรียกว่าทิเบตเหมือนกัน แต่ในกลุ่มชาติพันธุ์ทิเบตก็ยังมีแยกออกเป็นเผ่าต่างๆ แต่ถ้าจะต้องอธิบายแยกย่อยลงไปก็จะยืดยาวเสียเปล่า ดังนั้นเราจะมาพูดถึงวัฒนธรรมร่วมของพวกเขาเป็นหลัก การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ทิเบตอาจมีความแตกต่างไปตามสภาพแวดล้อมกับฤดูกาล วัสดุที่นิยมนำมาทอผ้าคือใยขนสัตว์อย่างแกะและจามรี พวกเส้นใยจากพืชเป็นสิ่งที่มีไม่มากเนื่องจากภูมิประเทศของพวกเขาเป็นเทือกเขาสูงที่มีทุ่งหญ้าจำกัด เส้นใยได้มาจากการเก็บเกี่ยวจากปศุสัตว์ที่เลี้ยงกันเอาไว้ ปั่นออกมาเป็นเส้นด้าย อาจมีการนำไปย้อมสีต่างๆ ก่อนจะนำมาถักทอด้วยวิธีการที่แตกต่างกันเกิดเป็นผ้าหลากชนิดเรียกว่านามบู (སྣམ་བུ་|Nambu་)

Tibetan refugee self help center Darjeeline
(Photo by (Tapestry) kaushik, June 10, 2016 via Flickr)

สำหรับวัสดุที่นิยมนำมาทำเครื่องแต่งกายแบ่งออกเป็น 5 ประเภท

  1. ผ้าปูลู (ཕྲུག |Pulu་) เป็นผ้าทอจากขนสัตว์ที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่โบราณ มีความหนาและทอขึ้นได้ง่าย มีราคาถูก ใช้ตั้งแต่ทำเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวบ้านไปจนถึงพระ ทั้งยังซักทำความสะอาดได้ง่ายจึงเป็นวัสดุที่ใช้ทำรองเท้าบูทซัมบา (Sumba) และผ้ากันเปื้อนปังเทนของผู้หญิง สร้างลวดลายด้วยการเอาแผ่นผ้าหลากสีมาเย็บรวมกันเป็นแพทเทิร์นลายเรขาคณิตต่างๆ ปัจจุบันก็นิยมนำมาทำกระเป๋าและของที่ระลึกจากทิเบตที่หาได้ตามท้องตลาดทั่วไป
  2. ผ้าเชทมา (ཤད་མ་|Shedma) เป็นผ้าทอขนสัตว์ที่ยกระดับมาจากผ้าปูลูอีกที มีราคาแพงมากกว่า ใช้ทั้งเวลาและแรงงานที่มากกว่าการทอผ้าปูลู เมื่อทอเสร็จแล้วตัวเนื้อผ้าจะนุ่ม มีความมันเงาขึ้นมา ผ้าชนิดนี้จึงมักใช้ในครอบครัวที่มีฐานะดี ไปจนถึงใช้ตัดจีวรพระลามะชั้นสูง เพื่อทำความสะอาดกับรักษาเนื้อผ้าให้เงางาม ชาวทิเบตจะปั้นก้อนพัค (Pak) คือก้อนแป้งซามปา (རྩམ་པ་|Tsampa) ดิบๆ ที่ยังไม่คั่ว ใช้ก้อนซามปากลิ้งไปตามเนื้อผ้าเพื่อซับฝุ่นและสิ่งสกปรกอื่นให้ออกจากผ้า ผ้าเชทมายังใช้ทำผ้ากันเปื้อนของสตรีในลาซากับรองเท้าของผู้สูงศักดิ์ด้วย
  3. ผ้าบูเรหรือผ้าไหมดิบ (འབུ་རས་|Bure) เป็นผ้าที่นิยมทำเสื้อเชิ้ตแบบทิเบต ลักษณะเป็นผ้าไหมดิบนำเข้าจากภูฏาน (ฺBhutan) และอินเดีย
  4. ผ้าไหม (གོས་ཆན་|Silk) เดิมเป็นผ้าชนิดที่แพงมากที่สุด นำเข้าจากประเทศจีน ทำให้เป็นผ้าที่ปกติชนชั้นสูงและผู้มีฐานะสวมใส่ ทำให้ผ้าไหมกลายเป็นวัสดุในการสร้างงานพุทธศิลป์อย่างผ้าทังกา (ཐང་ཀ་|Thangka) ซึ่งเป็นจิตรกรรมเกี่ยวกับศาสนาซึ่งวาดหรือประดิษฐ์ลงบนผ้า นอกจากนี้อาจใช้ทำเครื่องนุ่งห่มของรูปเคารพสำคัญๆ และใช้ประทับเทวสถานบางแห่ง
  5. หนังสัตว์ เป็นอีกวัสดุที่นิยมใช้กันในพื้นที่สูงและเขตเร่ร่อนอพยพ เพราะหนังสัตว์มักจะรักษาความอบอุ่นและป้องกันความหนาวเย็นได้ดี หนังสัตว์ที่นิยมนำมาใช้กันคือหนังแพะ แกะ และอื่นๆ ที่หาได้จากพื้นที่ บางครั้งการสวมใส่เสื้อชูปาที่ทำจากหนังสัตว์ของคนท้องถิ่นมักเป็นช่วงเทศกาลหรือพิธีกรรมสำคัญ
    หนังแกะอาจแบ่งเกรดตามความยาวและความโค้งงอของขน ไปจนถึงคุณภาพของหนัง ช่วงเวลาโดยแบ่งเป็นหนังแกะฤดูหนาว, ฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง หนังลูกแกะเป็นวัสดุที่ดีในการทำเสื้อชูปา สีของหนังลูกแกะแบ่งเป็นสีขาวและสีดำหลักๆ ปัจจุบันถือว่าหนังลูกแกะสีดำมีราคาสูงกว่าสีขาว ในการทำเสื้อชูปาของชนชั้นกลางทั่วไปเพียงตัวหนึ่งต้องใช้หนังลูกแกะประมาณ 40 ชิ้น
A man sewing Tibetan traditional clothes 店先でチベットの布を縫っている男性
(Photo by travelingmipo, December 31, 2016 via Flickr)
 Tibet (62)
(Uploaded by Sodo Soduo,March 9, 2014 via Flickr)

ประเภทของเครื่องแต่งกายทิเบต

The big south entrance of Sershul Temple, Tibet 2014
South entrance of Sershul Temple, Tibet (Photo by reurinkjan, July 27, 2014 via Flickr)

โดยปกติแล้วเครื่องแต่งกายต่างๆ ของชาติพันธุ์ทิเบตอาจมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และชนเผ่าหรือตระกูล แต่จะมีรายละเอียดที่ตรงกันหลักๆ อยู่บางประการ

การแต่งกายของชาวทิเบตก็เหมือนวัฒนธรรมอื่นๆ คือแบ่งตามกาลเทศะและบทบาทหน้าที่ ประมาณชุดสำหรับใส่ในชีวิตประจำวัน ชุดงานเทศกาล ชุดในโอกาสพิเศษอย่างงานแต่งงาน เสื้อผ้าเคยเป็นตัวบ่งชี้สถานะของผู้สวมใส่ ปัจจุบันค่านิยมดังกล่าวได้จางหายไป คนทิเบตจึงสวมใส่ชุดประจำชาติตามจริต ไม่ใช่เป็นเครื่องชี้บทบาททางสังคม เว้นแต่กลุ่มอาชีพบางอาชีพกับลามะ (พระสงฆ์ทิเบต)

ภาพวาดชาวทิเบตโดย Antonio Zeno Shindler (ค.ศ.1893), Public domain, via Wikimedia Commons
ภาพถ่ายเก่าจากหนังสือของ Hedin, Sven Anders, 1865-1952,, via Wikimedia Commons

เสื้อ “ชูปา” เอกลักษณ์ของชุดทิเบต

ชูปา (ཕྱུ་པ་ནི|Chuba) คือเสื้อนอกแบบชาวทิเบต มีลักษณะเป็นเสื้อคลุมตัวยาว มีแขนโคร่งๆ บางแห่งอาจนุ่งแบบทำเป็นเสื้อมีแขนซ้ายข้างเดียว แขนอีกด้านใช้พาดมัดเอวอยู่ใต้รักแร้ขวา บางทีก็ไม่มีแขน ชูปาจะผ่าเปิดข้างหน้าแล้วเวลาสวมใส่จะคาดยึดด้วยผ้าคาดเอวหรือเข็มขัด ด้านในเสื้อบุด้วยขนสัตว์เวลาอากาศเย็น ด้านนอกอาจประดับด้วยหนังสัตว์  ผ้าไหม หรือลูกปัด แล้วแต่ความนิยม ฐานะ ภูมิภาค และชนเผ่าของผู้สวมใส่

ส่วนจุดเริ่มต้นในการทำเสื้อชูปาสันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลมาจากเครื่องแต่งกายของชนเผ่ามองโกล ก่อนจะพัฒนาจนเป็นอัตลักษณ์เฉพาะขึ้น การนุ่งเสื้อชูปาแบบแขนเดียวบ้างก็เล่าว่าเป็นแบบที่สตรีมักสวมใส่แล้วจะสะดวกต่อการทำงานและให้นมบุตร แต่บางพื้นที่ผู้ชายก็ใส่เสื้อชูปาแบบแขนเดียวเช่นกัน ทำให้ปัจจุบันเราไม่สามารถระบุได้ว่าเสื้อรูปแบบนี้เป็นของเพศสภาพใดสภาพหนึ่ง แต่กับเสื้อชูปาที่ไม่มีแขนจะเป็นของผู้หญิงใส่ช่วงฤดูร้อน

Christopher Michel, CC BY 2.0, via Wikimedia Commons

ความแตกต่างอีกประการระหว่างชูปาของชายกับหญิงคือความยาวของเสื้อ ชูปาของผู้ชายจะมีความยาวถึงแค่ช่วงหัวเข่า ด้านในสวมกางเกงหลวมๆ กับเสื้อ ส่วนผู้หญิงชูปาจะมีความยาวคลุมจนถึงข้อเท้าทับตั้งแต่เสื้อและกระโปรง/กางเกงชั้นใน

TN08-23
ภาพหญิงชาวทิเบตสวมชูปาไม่มีแขนบนหลังจามรี
(Photo by Sergio Pessolano, December 13, 2008 via Flickr)
Taking the Queen for a ride....
หญิงสวมชูปาแบบแขนเดียว (Photo by Boaz, November 8, 2004 via Flickr)

สำหรับกลุ่มที่ทำอาชีพเกษตรกรรมและฟาร์มในพื้นที่ต่ำซึ่งมีความอบอุ่น เสื้อชูปาจะทำจากผ้าใยขนสัตว์บางๆ หรือฝ้าย หนังสัตว์ก็มีการใช้บ้างในหมู่ผู้หญิงโดยใช้หนังแพะ ผู้หญิงมักสวมชูปาแขนกุดในหน้าร้อน ขณะในกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ซึ่งอาศัยบนพื้นที่สูงและมีสภาพอากาศที่เย็นกว่าจะสวมชูปาหนังสัตว์เป็นประจำในฤดูหนาว อาจมีการทำชูปาด้วยผ้าขนสัตว์ที่มีความโปร่งไว้สวมยามอากาศอบอุ่น

เสื้อชูปาที่ใช้ผ้าปูลูหลากสีเดิมเป็นของที่นิยมกันในหมู่หัวหน้าชนเผ่าและชนชั้นสูง ใช้สวมใส่แตกต่างตามโอกาสพิเศษ ผ้าปูลูแบบนี้มีถิ่นผลิตจากบริเวณรอบๆ เมืองลาซา คุณภาพของผ้ากับลายและสีอาจแตกต่างตามพื้นที่ผลิต อย่างผ้าปูลูของแคว้นอัมโดมักเป็นโทนสีแดงเข้ม รักษาความอบอุ่นดี มีความทนทาน ป้องกันฝนกับละอองน้ำได้ ทำให้ผ้าปูลูของแคว้นอัมโดสามารถสวมใส่ได้ทุกฤดูกาล

เอบา เกลู กยาล (Aba Gelu Gyal) ในชุดพื้นเมืองทิเบต
จากหมู่บ้านโซนัค (Sonak) มณฑลชิงไห่ (Qinghai)
Photo by Lhamo Drolma,Tsehua,and Puhua,Ralph Rinzler Folklife Archives

สไตล์ของเสื้อชูปาแบบดั้งเดิมที่สตรีของแคว้นขามและอัมโดจะมีความคล้ายคลึงกับชูปาของผู้ชาย แค่จะมีการใส่แตกต่างกัน ขอบพื้นของตัวผ้าประดับด้วยลายสี่เหลี่ยมต่างๆ คละกันไป เมื่อก่อนนอกจากจะประดับแถบผ้าสีต่างๆ แล้วยังนิยมใช้ผ้าไหมกับขนสัตว์ แต่หลังจากรัฐบาลเริ่มมีมาตรการควบคุมการค้าสัตว์ป่าทำให้เสื้อชูปาที่ประดับด้วยขนสัตว์จะคงเหลือแต่ในกลุ่มผู้ใหญ่ หนุ่มสาวก็หันมาใช้ผ้าไหมตกแต่งขอบเสื้อแทน ช่วงหน้าหนาวสตรีในเมืองลาซาก็นิยมสวมผ้าคลุมไหล่ทับชูปาที่มีความยาวถึงหัวเข่าด้วย

เราอาจกล่าวรวมๆ ได้ว่าเสื้อชูปาของผู้ชายนั้นจะเน้นความทนทานต่อการทำงานกลางแจ้งและสภาพอากาศที่หนาวเย็น ต้องมีความโคร่งโล่งสบาย แขนเสื้อต้องใหญ่และยาวพอที่จะใช้เป็นเหมือนถุงมือในช่วงฤดูหนาวได้ ในขณะที่เสื้อชูปาของผู้หญิงเน้นความกระชับคล่องตัวสำหรับทำงานในพื้นที่ปิดอย่างในครัวเรือน กระโจม คอกปศุสัตว์ และการทำหัตถกรรมพื้นบ้าน

เสื้อ

ตัวเสื้อซึ่งสวมอยู่ใต้ชูปาแทบไม่ค่อยมีความแตกต่างกันเท่าไรในเรื่องวัสดุ ทั้งกลุ่มเร่ร่อนและชาวนาต่างสวมเสื้อที่ทำจากไหมดิบ มักนำเข้าจากภูฏาน เสื้อของผู้ชายจะมีความโคร่งโครงใหญ่และแขนยาว ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อที่ตัวเล็กและสั้นกว่าภายใต้เสื้อชูปาที่กระชับเข้ารูป สวมใส่ง่าย สำหรับโอกาสสำคัญเสื้ออาจใช้ผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายที่บุด้านในด้วยใยขนสัตว์ ความหนาบางอยู่ที่สภาพอากาศในช่วงนั้น เช่น อากาศเย็นหน่อยก็บุขนสัตว์ ช่วงไหนร้อนก็ใช้แค่ผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศดี

หญิงสาวสวมชุดพื้นเมืองทิเบตจากหมู่บ้านโซนัค (Sonak) มณฑลชิงไห่ (Qinghai)
Photo by Lhamo Drolma,Tsehua,and Puhua,Ralph Rinzler Folklife Archives

รูปแบบของเสื้อแบ่งเป็น 2 ประเภท คือเสื้อที่กลัดกระดุมทางด้านข้าง มักจะเป็นฝั่งขวา กับแบบที่เป็นกระดุมผ่าทางด้านหน้า สีสันไม่ได้ตายตัวอะไรมากนัก ส่วนพระสงฆ์หรือคนที่ข้องเกี่ยวกับพุทธศาสนาจะสวมเสื้อที่เป็นสีส้มหรือเหลือง

Amdo Tibetan Girl and Her Lamb Photo by kuo_ming_sung (© copyrighted 2003 by Kuo-ming Sung)
ภา่พถ่ายพระสงฆ์ครองจีวรทิเบตกับหญิงสวมชูปาไม่มีแขน ทับด้วยผ้ากันเปื้อน
Pedro Szekely from Los Angeles, USA, CC BY-SA 2.0, via Wikimedia Commons

ผ้ากันเปื้อน (Pangden | པང་གདན་)

ผ้ากันเปื้อนของทิเบตมีชื่อเรียกว่า “ปังเทน” (Pangden | པང་གདན་) เป็นเครื่องแต่งกายของสตรี เป็นการใช้ผ้าปูลูเย็บเป็นแพทเทิร์นหลากสีแล้วใช้พันทับเสื้อชูปาตั้งแต่ช่วงเอวลงมาอีกที มีหลากหลายรูปแบบและโทนสีสดใสเสมือนสายรุ้ง

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏว่าหญิงทิเบตเริ่มต้นใส่ผ้าปังเทนตั้งแต่เมื่อไร บางแหล่งข้อมูลบอกว่าเป็นค่านิยมที่เริ่มจากแคว้นอูจ้าง ข้อมูลจากการสอบถามผู้อาวุโสกล่าวว่าการสวมผ้าปังเทนเป็นสัญลักษณ์ของหญิงที่แต่งงานแล้ว ซึ่งผ้าปังเทนเองก็มีความสำคัญด้านความเชื่อด้วย เนื่องจากต้องใส่ตลอดหากหญิงใดทำผ้าปังเทนหายอาจเป็นลางว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีกับสามีได้ บางทีฝ่ายภรรยาอาจถึงขั้นต้องทำพิธีเพื่อตามหาผ้าปังเทนเลย

แม้ในอูจ้างจะมีความเชื่อว่าผ้ากันเปื้อนเป็นของสตรีที่ออกเรือนแล้ว ความเชื่อเกี่ยวกับผ้าปังเทนเองก็ค่อนข้างมีข้อแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ บางหมู่บ้านในทิเบตก็มีธรรมเนียมให้เด็กผู้หญิงสวมใส่ผ้ากันเปื้อนด้วยเช่นกัน บางเผ่าก็ถือกันว่าการสวมปังเทนใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงว่าเด็กสาวเริ่มก้าวสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว เรียกได้ว่าเป็นเครื่องแต่งกายที่มีหลากหลายความเชื่อที่แตกต่างกันในอดีต ส่วนปัจจุบันปังเทนกลายเป็นเครื่องแต่งกายที่สตรีสวมใส่เป็นแฟชั่นกันได้ทุกวัย ไม่ได้จำกัดที่อายุและสถานะเหมือนอย่างอดีต

ผ้าที่นำมาทำปังเทนเป็นแบบเดียวกับผ้าปูลูที่ใช้ทำเสื้อชูปา แต่จะมีความบาง เล็ก และประณีตกว่าปูลู นอกจากทำเป็นผ้ากันเปื้อนแล้วก็ยังใช้เย็บถุงย่ามใส่ของของสาวๆ ด้วย คนรุ่นใหม่ยังชอบนำผ้าปังเทนมาประดับผนังห้องรับแขกเพราะความสวยงามละลานตาของมัน

Tibetans
(Photo by Rishi Prasad Nepal, May 23, 2005 via Flickr)

การทำผ้าปังเทนจะเริ่มจากการปั่นเส้นใยขนสัตว์เป็นเส้นด้าย นำไปย้อมสีก่อนจะนำมาทอเป็นแถบผ้า จากนั้นนำแถบผ้าสีๆ มาเย็บรวมกันเป็นผืนใหญ่ สิ่งที่ถือว่าเป็นเสน่ห์ของปังเทนคือสีสันละลานตา การนำเอาสีในกลุ่มเดียวกันมาประชันเรียงกันอย่างแยบยลกลมกลืน การเลือกชุดสีที่มาประกอบอาจจัดแบ่งเป็นกลุ่มสีไล่จากมืดไปสว่าง หรือจะแยกเป็นกลุ่มๆ อย่างไม่เน้นแบบแผนก็ได้ ซึ่งอย่างหลังจะมีภาพรวมในความหลากหลายของสีสันมากกว่า เพราะอาจจะได้เจอทั้งสีที่เจิดจ้าและสีที่ดูแล้วอ่อนโยนก็ได้

บางคนอาจนำผืนสีกว้างๆ คนละโทนประกอบให้ตัดกันอย่างฉูดฉาดดึงดูดความสนใจ ส่วนหากอยากดูละเอียดบาดตามากขึ้น ก็ลดขนาดของแถบสีให้แคบลงแต่วางเรียงถี่ขึ้นโดยยังเล่นสีสันที่ขัดกันอยู่ สำหรับคนที่ไม่เน้นความโดดเด่นก็อาจใช้แถบสีแคบๆ ของสีโทนเดียวกันทว่าเป็นคนละเฉดเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ

สาวในเขตเมืองมักจะชอบโทนแบบอย่างหลัง คือการใช้แถบผ้าชั้นดีที่มีสีกลมกลืนกันเพื่อสื่อถึงความสง่างามและนุ่มนวล ส่วนหญิงในพื้นที่เพาะปลูกและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์จะนิยมปังเทนที่ประกอบด้วยสีสันตัดกันมากกว่า มีความกล้าที่จะเลือกใช้สีฉูดฉาดบาดตามากกว่าสาวในเมืองที่ต้องเน้นความสุภาพเรียบร้อย

น่าแปลกที่ผ้าปังเทนไม่ค่อยนิยมในหมู่สาวๆ แคว้นอัมโดและแคว้นขาม เป็นการยากที่จะพบสาวๆ หรือสตรีสูงวัยที่สวมปังเทนในย่านนั้น แม้เผินๆ การแบ่งลวดลายของผ้าอาจใช้การจำแนกด้วยการใช้สี แต่ก็มีวิธีแบ่งอีกแบบคือจากประเภทของวัสดุผ้าทอที่ใช้ แบบที่ดีที่สุดคือการใช้ผ้าเชทมา (เนื้อผ้าจะขึ้นเงา) รองลงมาคือผ้าปูลู ที่ถูกมากกว่านี้คือผ้านามบู บางครั้งก็ใช้ผ้าทอจากตะวันออกกลางบ้างก็มี เรียกว่าซีเซน (སི་ཤན་|Sishen) เพราะผ้าจากแถบนั้นมีสีสดและนุ่มสบาย

tibetan woman
(Photo by katontour, September 2, 2004 via Flickr)
Nepalese / Tibetan woman
(Photo by Beaches Marley…..iPad art , February 11, 2011 via Flickr)

ฮาริ (Hari)

Ornate, massive, pure gold ornaments worn by bejewelled girls at Lithang Horse Festival
ภาพพาเหรดแฟชั่นของสาวจากงานแข่งม้า
(Photo by BetterWorld2010, August 1, 2006 via Flickr)

ฮาริคือเครื่องประดับชิ้นสำคัญที่สืบทอดกันในครอบครัวคนทิเบตในแคว้นอัมโดและขาม มักสวมใส่ในงานพิธีและเทศกาลสำคัญต่างๆ มีลักษณะเป็นสายคาดแผ่นหลังประดับด้วยของมีค่าหลากชนิด ตั้งแต่เพชรพลอย หินมีค่า ไปจนถึงทองคำและเงินหนักหลายกิโลกรัม บางครอบครัวอาจมีฮาริที่ทิ้งชายยาวตั้งแต่บั้นเอวลงมาตลอดชายผ้านุ่งจนระพื้น

สายคาดฮาริเป็นสมบัติที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เกิดจากการสะสมจากบรรพบุรุษ ทั้งยังเป็นเครื่องแสดงฐานะและความมีหน้ามีตาของตระกูลชาวขาม ฮาริยังเป็นเครื่องรางที่เชื่อกันว่าป้องกันสิ่งชั่วร้ายได้ มณีที่นิยมนำมาประดับฮาริก็ได้แก่อำพัน เทอร์ควอยซ์ และหินปะการัง ส่วนโลหะก็นิยมทองและเงินซึ่งสามารถหากับถลุงได้ในพื้นที่ทิเบต สายฮาริของบางบ้านอาจรวมประวัติศาสตร์อันเก่าแก่มากกว่าร้อยปีของครอบครัว จากหลักฐานทางโบราณคดีย้อนไปไกลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 1 ปรากฏว่ามีการพบเครื่องประดับในเขตแคว้นขามที่ยังมีหน้าตาอย่างเดียวกับชิ้นที่คนรุ่นหลังสวมใส่ออกงานกันตอนนี้

อัญมณีทุกชิ้นจึงแฝงความหมาย
ลวดลายของโลหะทำหน้าที่เล่าตำนาน

หินปะการังที่มีสีสวยงามจัดว่าเป็นสินค้านำเข้ามาช้านาน ทิเบตในยุคประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่สูงที่ห่างไกลทะเลอย่างมาก วัสดุบางอย่างจึงอาศัยการค้าทางไกลกับชุมชนอื่น การอวดเครื่องประดับที่ทำจากหินปะการังสีสดจึงถือว่าดูแพงในย่านนี้

เมื่อมีการรับเอาศาสนาพุทธเข้ามา ชาวทิเบตก็เริ่มนำเอารูปแบบศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของการประดับฮาริด้วย เช่นการนำหอยสังข์มาประดับ หรือการใช้เครื่องรางต่างๆ

Gold Covered Beauties at Litang
ภาพฮาริของสาวๆ ที่ประดับแผ่นทองขนาดใหญ่ น้ำหนักรวมหลายสิบกิโลฯ
(Photo by BetterWorld2010, May 6, 2011 via Flickr)
Ornate, massive, pure gold ornaments worn by bejewelled girl at Lithang Horse Festival
รายละเอียดของฮาริจากภาพดบน (Photo by BetterWorld2010, August 1, 2006 via Flickr)

เรื่องของหมวก

ปัจจุบันหมวกทรงคาวบอยเป็นที่นิยมกันมากในหมู่ชาวทิเบตทั้งชายหญิง โดยเฉพาะในแคว้นขามและอัมโด แต่จริงๆ แล้วหมวกในวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ทิเบตค่อนข้างมีความหลากหลาย บางครั้งก็เป็นเครื่องบอกสถานะทางสังคมและบทบาทด้วย เช่นหมวกของลามะแบบต่างๆ หมวกของพวกศิลปิน ไปจนถึงหมวกของคนเลี้ยงสัตว์แห่งท้องทุ่ง สไตล์การตกแต่งก็อาจบ่งบอกภูมิลำเนาของผู้สวมว่ามาจากหมู่บ้านหรือแคว้นไหนได้อีกด้วย

หมวกสักหลาด (Felt) เป็นหมวกแบบที่เก่าแก่สุดในทิเบตที่ยังมีคนสวมใส่กันอยู่ถึงปัจจุบัน คนในมณฑลกานซูและชิงไห่ยังคงนิยมหมวกแบบนี้ เพราะทำง่ายไม่ซับซ้อน ชาวแคว้นอัมโดจึงนำทรงหมวกสักหลาดสีขาวพื้นๆ มาประดับด้วยสีสันจากวัสดุประเภทอื่นเติมเข้าไปให้ดูสวยงามมากยิ่งขึ้นดังที่เราจะพบเห็นได้ตามงานเทศกาล

In front of Sershul temple, Tibet 2014
(Photo by reurinkjan, July 28, 2014 via Flickr)

ลักษณะของหมวกแม้จะมีความหลากหลายไปตามแต่ละเผ่า แต่โดยทั่วไปหมวกของชาวทิเบตจะมีอยู่ 4 แบบหลักๆ คือ หมวกสี่ปีก, หมวกขนจิ้งจอก, หมวกทรงกะลาคว่ำ และหมวกหนังแกะ โครงหลักของหมวกจะใช้วัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น แล้วประดับตกแต่งด้านนอกตามแต่ฐานะและทรัพยากรจะอำนวย ทรงหมวกของผู้ชายอาจจะมีความกลมและสูงกว่าหมวกของผู้หญิงที่จะเป็นทรงต่ำๆ ประดับด้วยหินมีค่าต่างๆ เพื่อเน้นความสวยงาม บางที่อาจตกแต่งด้วยด้ายทองปักรูปใบไม้หรือวงคลื่น

หมวกหนังลูกแกะ

หมวกหนังลูกแกะนิยมกันมากในกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ มักเลือกใช้หนังลูกแกะคุณภาพดีสีเดียวมาขึ้นรูปทรงตามสะดวก ปกติอาจใช้เป็นปีกหมวกหรือปิดทับโครงหมวกอีกที เช่นใช้เป็นปีกของหมวกนาซีที่จะนิยมพับปีกทั้งสี่ด้านขึ้น

หมวกสี่ปีก (four-flaps-hats)

ภาษาทิเบตเรียกว่า “นาซี” (Naxi)หมวกแบบนี้จะสวมใส่กันโดยทั่วไป ลักษณะจะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีตามไซต์ก่อสร้างบ้านเรา หรือมนุษย์เดินป่า คือเป็นหมวกทรงระฆังคว่ำแล้วมีปีกออกมา 4 ด้าน ปิดด้านหลัง ด้านหูทั้ง 2 ข้าง และมีผ้าปิดรูปตัว U ด้านหน้า ปีกจะพับขึ้นได้ ตัวหมวกมักทำจากผ้าใยขนสัตว์สีดำ มีการตกแต่งแล้วแต่ความชอบ

Indigenous Peoples: India
(Photo by
United Nations Photo
, August 1, 1992 via Flickr)
 tibet
ภาพหญิงสวมหมวกสี่ปีก (Upload by Sodo Soduo , March 24, 2014 via Flickr)

หมวกสี่ปีกปักทองหรือซาโม ไกยเซ (Xamo Gyaise)

หมวกสี่ปีกของผู้ชายทิเบต , Museum of Applied Arts & Sciences

หมวกสี่ปีกแบบนี้เย็บด้วยผ้าสักหลาด แล้วจึงตกแต่งยอดด้วยไหมสีทอง ขอบหมวกประดับด้วยริบบิ้นไหม ตัวปลายปีกทุกด้านนิยมเดินขอบด้วยขนสัตว์ หมวกซาโม ไกยเซมีผู้สวมใส่ทั้งชายหญิงจึงสามารถพบเห็นกันตามท้องถนนทั่วไป ถ้าสวมโดยผู้หญิงปีกหมวกทางด้านหน้าและหลังจะถูกพับเข้าด้านใน ส่วนสองข้างซ้าย-ขวาปล่อยห้อยปิดหู ช่วงไหนหิมะตกปีกทุกด้านจึงจะถูกปล่อยออกมาเพื่อป้องกันหิมะกับความหนาวเย็น ส่วนผู้สูงอายุมักชอบปล่อยปีกทั้งสี่ไว้ด้านนอก ไม่พับเข้าข้างในหมวกเหมือนหนุ่มสาว

Tibetan woman
ภาพหญิงทิเบตสวมหมวกสี่ปีกประดับผ้าไหมและขนสัตว์
(Photo by Jano Escuer , August 11, 2011 via Flickr)

หมวกซางเกซีโยว (Sang-Ge-Si-You)

หมวกซางเกซีโยว Sang Ge Si You สำหรับหน้าร้อน (Credit : www.cntkdb.com)

หมวกซางเกซีโยวเป็นหมวกเฉพาะผู้หญิงสวมใส่ในฤดูร้อน มีรูปทรงเป็นกระบอกกรวยแหลม (คล้ายที่ตักผง | dustpan shape) โครงของหมวกขึ้นรูปด้วยซีกไม้ไผ่, กิ่งหลิว หรือตะเกียบไม้ แล้วหุ้มด้วยผ้าสีดำ แต่งทับด้วยผ้าลายดอกหรือผ้าไหมสีสดใส ปีกหมวกด้านหน้าอาจใช้ประดับห้อยปิดส่วนหน้าผากได้

tibet   tibetan
(Photo by Sodo Soduo , March 20, 2014 via Flickr)

หมวกขนจิ้งจอก

เมื่อพูดถึงชนเผ่าในแถบนี้จะไม่มีหมวกขนจิ้งจอกได้อย่างไร ช่วงหน้าหนาวหมวกขนจิ้งจอกจะได้รับความนิยมอย่างมาก กระบวนการเตรียมหนังและขนจิ้งจอกดั้งเดิมจะใช้กรรมวิธีธรรมชาติ ใช้สมุนไพรแบบไม่มีการใช้เคมี ในพื้นที่เพาะปลูกจิ้งจอก 1 ตัวสามารถแบ่งหนังมาทำหมวกได้ 2 ใบ ความสูงของหมวกจะอยู่ที่ราว 30 ซม. นิยมสีดำ ความยาวของปีกหมวกจะสามารถพับขึ้นด้านบนได้ บางครั้งก็อาจใช้เย็บเป็นส่วนปีกของหมวกผ้าทรงกะลาคว่ำ โดยเป็นส่วนที่สามารถม้วนพับขึ้นได้เช่นกัน

ในเขตทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ชนเผ่าเร่ร่อนจะใช้ทั้งหนังและขนจิ้งจอกทั้งแผ่นทำหมวก ทำให้หมวกของกลุ่มนี้จะมีความสูงมากๆ เป็นกรวยแหลมขึ้นไปและไม่มีการพับ ปลายยาวด้านบนมักจะใช้วิธีปล่อยลงไปตามด้านหลังศีรษะยาวลงไปมากกว่าจะม้วนขึ้นแบบชาวนา บางที่อาจจะดิบกว่านี้คือใช้หนังจิ้งจอกม้วนบนศีรษะเลย โดยส่วนหัว หาง และแขนขาจะถูกมัดรวมกันที่ด้านหลัง เคล็ดสำคัญคือต้องเหลือส่วนหางออกมาห้อยข้างหลังหูของผู้สวมด้านใดด้านหนึ่ง

หมวกขนจิ้งจอกจะเป็นที่นิยมอย่างมากในแคว้นอัมโดที่จะมีความหนาวเย็น หมวกคุณภาพดีจะเลือกใช้ขนจิ้งจอกสวยๆ เย็บประดับกับผ้าไหม หมวกแบบนี้คนทิเบตมองว่าใส่แล้วดูหล่อเท่สำหรับหนุ่มสาว แถมปลายยาวๆ ก็ยังช่วยปิดไหล่ป้องกันลมหนาวได้ดี

เครื่องทรงองค์ประดับ

เครื่องประดับถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุดพื้นเมืองทิเบตแบบที่ขาดไม่ได้ เพราะนอกจากจะมีไว้เพื่อความสวยงามแล้ว ยังแสดงถึงความหมายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านความเชื่อเอาไว้ด้วย ถึงแม้จะอยู่ในถิ่นทุรกันดารและเขตทุ่งหญ้าก็ยังคงต้องมีเครื่องประดับบางชิ้นปรากฏอยู่ทั้งในการแต่งกายของชายและหญิง

อย่างตามขอบเสื้อชูปาหรือเสื้อตัวในเองก็ยังอาจตกแต่งด้วยขนสัตว์หลายประเภท ผ้าหลากสีสัน ไปจนถึงอัญมณีและหินปะการัง ชาวทิเบตนิยมชมชอบในหินมีค่าอย่างคาร์นีเลียนและเทอร์ควอยซ์ หินเหล่านี้ถูกนำมาเจียระไนและใช้เป็นส่วนประกอบของสร้อยคอ ต่างหู เข็มขัดผ้าคาดเอว ไปจนถึงเครื่องประดับศีรษะของหญิงสาวที่มักทำมาเพื่ออวดประชันกันยามออกงาน

สาวๆ แคว้นอัมโดชอบใช้หินปะการังสีสดกับเทอร์ควอยซ์เม็ดใหญ่เป็นยอดของจี้สร้อยคอ เพราะถือว่ายิ่งใหญ่มากก็จะยิ่งแสดงถึงความมั่งคั่ง แถมยังใส่ร่วมกับสร้อยคอทำจากลูกปัดหินสีสดหลายเฉดแน่นขนัดเต็มไปหมดอย่างไม่กลัวจะหนักอกหนักใจกันเลยทีเดียว

เครื่องประดับแบบจารีตยังเน้นสอดแทรกคติทางพุทธศาสนาวัชรยาน เช่นการทำกำไลเงินสลักคาถา “โอม มณี ปัทเม หุม” หรือจี้ที่ทำเป็นทรงวัชระ เครื่องรางทั้งสองแบบคนทิเบตเชื่อว่าใช้ขับไล่สิ่งชั่วร้าย กิเลส บาป เรียกสิ่งดีๆ ความกล้าหาญและปัญญามาสู่ผู้สวมใส่

เครื่องรางบางชิ้นอาจอยู่ในรูปกรอบเลี่ยมพระหรือรูปเคารพทางศาสนาเรียกว่า “กาอู” (གའུ|Ga’u,จีน : 嘎烏) ทำจากโลหะอย่างเงินหรือทอง ด้านในใส่พระพุทธรูปขนาดเล็ก อารมณ์ทำนองพระเครื่องแบบไทยเรา ประดับด้วยเพชรพลอยอัญมณี ใช้ห้อยประดับที่สายรัดเอว

สำหรับผู้หญิง พวกเธอจะถักเปียอยู่ในหลายโอกาส ทำให้ต้องมีเครื่องประดับสำหรับตกแต่งผมเปียด้วย โดยเฉพาะสตรีที่อยู่ในเขตเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ เธอเหล่านั้นจะให้ความสำคัญกับการประดับเปียมากที่สุด ในขณะที่หญิงชาวนามักเน้นการทำเครื่องประดับศีรษะที่เป็นผ้าโพกหัวหรือกะบังผมขนาดใหญ่ใช้แทน ซึ่งกะบังผมเหล่านั้นอาจมีขนาดกว้างได้ถึงประมาณ 12-13 ซม.

เครื่องประดับผมของหญิงในเขตทุ่งหญ้าแบ่งได้เป็น 2 แบบ อย่างแรกคือแบบขนาดใหญ่ที่เป็นกระบังทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าประดับแผ่นเงินทรงถ้วย 6 ชิ้นตรงกลาง ล้อมด้วยแผ่นเงินขนาดเล็กกว่าแต่ทรงเดียวกันอีก 23 ชิ้น ตรงปลายขอบด้านล่างห้อยพู่ระบายสีแดง ส่วนอีกแบบจะเล็กกว่า ทำเป็นฐานทรงจัตุรัสแล้วแต่งด้วยแผ่นหินโมรา ปะการัง เทอร์ควอยซ์ และหินมีค่าชนิดอื่นๆ ส่วนปลายยังคงใช้การแต่งพู่ระบายสีแดงเช่นกัน

ผู้หญิงทางตอนเหนือของแคว้นอัมโดนิยมประดับทรงผมเปียด้วยหินปะการังและโมราชิ้นใหญ่วางเรียงกันเป็นระยะๆ ลงไปตามเปีย แล้วคั่นด้วยเครื่องประดับทองและเงิน สาววัยรุ่นมักชอบสวมใส่กะบังผมที่ตกแต่งด้วยหินปะการังและอำพันสีสดด้วยถือว่าดูสวยดีที่สุด

(Photo/people.cn)
pretty khampa ladies dressed up
Photo by : BetterWorld2010 via https://www.flickr.com/photos/49138391@N06/5062097933/in/faves-xoomij/

วันนี้ก็คงต้องขอตัดบทจบลงที่ตรงนี้เสียก่อน อย่างไรเรายังเหลือเรื่องของ “ทรงผม” และ “เครื่องแต่งกายพิเศษ” ที่ยังไม่ได้เอามารวมอยู่ในบทความนี้ ก็ขอฝากติดตามตอนต่อไปกับ #แฟชั่นเผ่า ด้วยนะคะ

ทิ้งท้ายกันที่คลิปแนะนำการแต่งกายทิเบตแบบสั้นๆ ของทาง Smithsonian ค่ะ


Featured photo : Romeo_Luo


References:


Advertisement

2 ความเห็นบน “แฟชั่นเผ่า #1 การแต่งกายของชาวทิเบต”

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.