จริงจังนะ เพราะไม่ว่าตรงหน้า CTW จะเป็นเทพปางใด องค์ใด ก็ดูจะ “ไม่ตรงฟังก์ชั่น” ของการขอความรักเท่าไรในสายตาของฮินดู ตรีมูรตินั้นก็ไม่ใช่ภาคที่จะบูชากันในรูปแบบดังกล่าว ส่วนถ้าจะเป็น “สทาศิวะ” อา…ก็ดูเหมือนจะหวานชื่นกับพระแม่อุมาดี แต่เดี๋ยวก่อน! พระศิวะท่านดันเคยเป็นผู้แผดเผา “กามเทพ” เทพเจ้าด้านความรักตัวจริงจนมอดไหม้มาแล้ว และเรากำลังจะไปขอความรักจากคนที่เคยเผาเทพอำนวยความรักมันก็คงดูแปลกๆ เนอะ
เรื่องของกามเทพกับการถูกเผานี้มีบันทึกเอาไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาพอสมควร กามเทพนั้นเดิมเป็นเทพหนุ่มรูปงาม สามารถแผลงศรให้คนเกิดความรักความสิเน่หาได้ หน้าที่และประติมานใกล้เคียงกับ “อีรอส” หรือ “คิวปิด” ของศาสนากรีกและโรมันซึ่งจัดเป็นชาติพันธุ์อินโด-ยูโรเปี้ยน ญาติสายเดียวกับชนอารยันซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาฮินดู
ตำนานของกามเทพมีความหลากหลายในที่มา ในคัมภีร์หริวงศ์ (Harivamsa, สันสกฤต: हरिवंश) กล่าวว่าเป็นบุตรของพระวิษณุ เทพแห่งการรักษากับพระนางลักษมี เทพีแห่งโชคลาภและความรุ่งเรือง บ้างก็ว่าเป็นเทพที่เกิดจากธรรม และมีพระมารดาคือศรัทธา โดยระบุไว้ในคัมภีร์ชื่อไตรติริยะ พราหมณะ (Taittiriya Brahmana) ส่วนในคัมภีร์ของพระศิวะผู้ที่จะมีบทความสำคัญในเรื่องนี้ คัมภีร์ศิวะปุราณะ (Shiva purāna)กล่าวว่าพระพรหม เทพผู้สร้างเป็นผู้ให้กำเนิด แต่ทุกแหล่งข้อมูลให้ความตรงกันว่ากามเทพนั้นอภิเษกกับนางรตี (Ratī)ซึ่งเป็นธิดาของท้าวทักษะ (Daksha) ผู้เกิดจากพรหมา มีศีรษะเป็นแพะ และมีนางประสูติ (Prasuti) เป็นผู้ให้กำเนิด

ลักษณะประติมานของกามเทพโดยทั่วไปนั้นก็เป็นหนุ่มหน้าตาดี มีธนูซึ่งคันทำจากต้นอ้อย สายร้อยจากตัวผึ้ง และมีลูกศรเป็นดอกไม้เรียกว่าบุษปศร พาหนะของพระองค์คือนกแก้ว พลังวิเศษของเทพองค์นี้ก็คือมอบความรัก ความใคร่ และความลุ่มหลงด้วยการแผลงศร ทำนองเดียวกับอีรอสของชาวกรีกเป๊ะๆ
แล้วพระศิวะเผากามเทพทำไม? เรื่องนี้ต้องย้อนไปตอนที่พระสตี อวตารหนึ่งของพระแม่อุมาเทวีสิ้นพระชนม์ พระศิวะซึ่งเสียพระทัยหนักจึงตัดสินใจละทางโลกไปบำเพ็ญตบะ ตั้งจิตมุ่งอยู่ตรงปรพรหมและนฤพาน ส่งผลให้สรรพสิ่งและเหล่าทวยเทพประสบความเดือดร้อน เมื่อพระสตีกลับมาเกิดใหม่เป็นอวตารชื่อว่านางปารวตี ผู้ได้ตามไปรับใช้พระศิวะที่ทรงพระเซอร์อยู่ในป่า แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแล พระวิษณุจึงออกอุบายให้กามเทพมาช่วยแผลงศรให้พระศิวะนั้นตกหลุมรักนางปารวตี ทว่าพอถึงคราวจริงๆ พระศิวะนั้นก็ได้เบิกพระเนตรที่สามขึ้น ส่งผลให้กามเทพนั้นถูกเผาทำลายมอดไหม้กลายเป็นจุณ สิ้นชีวิตลงไปส่งผลให้เทพรตีต้องโศกเศร้าจนบางตำนานกล่าวว่าตัวนางเองกระโจนลงไปในกองเถ้าของสวามีด้วย

เหตุที่พระศิวะทรงลืมตาที่สามซึ่งเป็นดวงตาที่เปิดแล้วสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจะกลายเป็นเถ้าถ่านนั้น มีให้รายละเอียดไม่ตรงกันบางจุด บางที่มากล่าวว่าเป็นเพราะพระองค์ต้องการสังหาร “มาร” ซึ่งมาขัดขวางการบำเพ็ญตบะของพระองค์ หรืออีกทางหนึ่งก็ว่าเป็นเพราะความตกอกตกใจของจอมเทพเฉยๆ ไม่ได้ตั้งใจนะ ด้วยเหตุที่ถูกเผาจนเป็นเถ้านั้นทำให้กามเทพมีอีกชื่อว่า อนังคะ (ไม่มีร่างกาย) หลังจากที่ถูกเผาตายในหน้าที่ พระศิวะก็หลงรักปารวตี ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น หลังงจากนั้นพระศิวะจึงได้ยอมให้กามเทพยังมีการดำรงอยู่ต่อไปแบบไร้รูปตามฉายาอนังคะที่กล่าวไปข้างต้น แต่บางตำนานก็ระบุว่ากามเทพนั้นได้กลับมาเกิดเป็นพระประทยุมน์ (Pradyumna) บุตรของพระกฤษณะ อวตารของพระวิษณุกับพระแม่รุกมิณี (Rukminī) ซึ่งคืออวตารหนึ่งของพระแม่ลักษมี
เรียกได้ว่าแม้แต่จอมเทพอย่างพระศิวะก็ยังตกอยู่ในอำนาจของศรรักของกามเทพได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยร่างกายของเทพแห่งความรักนั่นแหละ การที่เห็นคนไปกราบไหว้ขอพรเรื่องคู่ครองกับเทวรูปต้องหน้า CTW ซึ่งมีประติมานเป็นพระสทาศิวะก็ชวนให้รู้สึกจั๊กจี้หน่อยๆ อย่างไรก็ตามศรัทธาก็เป็นเรื่องที่ขัดกันไม่ได้ บางคนอาจจะได้พบพานความรักจากพระศิวะที่เป็นคนเผากามเทพตายไปก็ได้ ใครจะรู้
References :
- Hinduaesthetic(Apr 12, 2021). Kāma Deva and Madana-Bhasma. Retrieved 14 February 2022, https://hinduaesthetic.medium.com/madana-bhasma-and-k%C4%81ma-deva-caf7b7570ceb
- Sherline Pimenta K., Phd,(). “Kamadeva” in Iconography in Hinduism. D’source. Retrieved 14 February 2022, https://www.dsource.in/resource/iconography-hinduism/kamadeva
- Wilkins, W. (1882). Hindu Mythology. New Delhi: Rupa. co. Retrieved 14 February 2022, https://www.newworldencyclopedia.org/entry/Kama ผุสชา การะเกตุ.(August 11,2021).ทำไม “มาร” ของคนอินเดียคือ “กามเทพ” ผู้พลีชีพเพื่อความสุข-ความรักแห่งทวยเทพ.ศิลปะ-วัฒนธรรม.Retrieved 14 February 2022, https://www.silpa-mag.com/culture/article_10928
Featured Image :
Madan-Bhasma (Shiva Turns to Ashes).theMET. Retrieved 14 February 2022, https://www.metmuseum.org/art/collection/search/78255