รอบนี้ขอเกาะกระแสสาดสี ป้ายสีกับเค้าสัดหน่อย ก็แหม…การสาดสี ป้ายสีไม่ใช่ของใหม่ในการแสดงออกหรือเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองนี่นา แถมบางวัฒนธรรมยังเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองและปีใหม่อีกด้วย เช่นประเพณีโฮลี (อาจออกเสียงโหลี) หรือ Holi (होली) ของประเทศอินเดีย
เทศกาลโฮลีเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่แบบฮินดู โดยมีขึ้นช่วงรอยต่อระหว่างฤดูหนาวกับฤดูใบไม้ผลิตามปฏิทินวิกรมสัมวัตของศาสนาฮินดู โดยเป็นวันแรม1 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมตามปฏิทินสากล เช้าวันโฮลีจะเป็นวันเดือนเพ็ญสุดท้ายของฤดูหนาว และเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูวสันต์ซึ่งเป็นฤดูแห่งการเพาะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ ชาวอินเดียยังไม่ทราบชัดเจนว่าที่มาของเทศกาลนี้มีเริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคใดกันแน่ แต่มีการปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปุราณะของชาวฮินดูบทหนึ่งว่ามีเทศกาลนี้อยู่ตั้งแต่ยุคก่อนพุทธกาล
ก่อนวันที่จะมีพิธีโฮลีนั้น จะมีการทำพิธีก่อกองไฟใกล้กับเทวสถาน เรียกว่า “โหลิกาทหนะ” (Holika Dahan) เป็นการจำลองพิธีเผานางโหลิกา ซึ่งเป็นปีศาจที่มาจาก เรื่องราวเดียวกันกับอสูรหิรัญยกศิปุ ผู้มีน้องสาวชื่อนางโหลิกา ทั้งสองเป็นอสูรที่มีฤทธิ์มาก พระกฤษณะจึงต้องอวตารลงมาปราบ โดยได้ทำการสังหารนางโหลิกาได้สำเร็จในเปลวเพลิง เป็นการปราบพลังชั่วร้ายให้สิ้นไปด้วยพระเพลิงอันบริสุทธิ์ ชาวฮินดูจะสวดภาวนารอบกองไฟหรือทำการปัดฝุ่นผงจากตัวเข้ากองไฟเหมือนเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายลงไปในเปลวเพลิงในพิธีนี้เป็นการระลึกถึงพระกฤษณะ

เมื่อมาถึงเช้าวันถัดมาซึ่งเป็นวันเล่นโฮลี ชาวฮินดูเรียกวันนี้ว่า “ธุลันฐี” (Dhulandi) ศาสนิกชนจะนำผงสีชนิดต่างๆ มาถวายเทพที่นับถือและสวดมนต์ เทพส่วนใหญ่ที่จะได้รับการสักการะจะเป็นเทพที่เกี่ยวกับตำนานการปราบนางโหลิกาซึ่งคือพระวิษณุกับพระนางราธา

ส่วนของตำนานพระวิษณุกับนางราธานี้ซึ่งอาจเป็นที่มาของการเริ่มเล่นสาดสี เล่าขานกันว่าพระวิษณุหรือพระกฤษณะหลงรักนางราธา สตรีผู้มีกายขาวผ่อง แต่พระวิษณุมีวรกายสีดำ เป็นเหตุให้ทรงตัดพ้อกับพระมารดาว่าไฉนโลกถึงไม่ยุติธรรมไม่ทำให้พระองค์กับนางราธามีความแตกต่างกัน พระมารดาเลยบอกว่าไม่ยากเลย ก็นำสีไปป้ายนางราธาให้เป็นสีเดียวกับตนเสีย ทีนี้ก็สีเดียวกันแล้ว ง่ายป่ะ จบปิ๊ง เรื่องการป้ายสีเพื่อให้เกิดความทัดเทียมกันนี้จึงกลายเป็นตำนานรักที่แสดงถึงความไม่แบ่งแยกชนชั้นและสีผิว

ผงสีซึ่งนำมาใช้สาดกันนั้นเป็นภาพแทนของความงามสะพรั่งของดอกไม้ สีสันอันละลานตานี้ก็ดังทุ่งซึ่งเต็มไปด้วยบุปผชาตินานาพันธุ์ และยังผลิตด้วยกรรมวิธีธรรมชาติทั้งสิ้น ทำให้ผงสีของเทศกาลโฮลีไม่เป็นอันตราย อย่างสีเหลืองจากขมิ้น สีส้มมาจากทองกวาว สีเขียวมาจากเฮนนา แก่นจันทน์ให้สีแดง เป็นต้น
เรียกว่าปลอดภัย ซักง่าย (บางอย่างนะ) และยังแสดงถึงความ “เสมอภาค” ของกันและกันด้วยอีกต่างหาก เพราะมีตำนานที่ว่าด้วยการปราบสิ่งชั่วร้าย มองข้ามเชื้อชาติสีผิวและความต่าง ไปจนถึงการฉลองของความอุดมสมบูรณ์ แถมยังสาดได้ไม่ละเมิดใคร สาดไปก็ไม่มีใครเจ็บ ใครจะสาดสีอะไรใคร เลือกโอกาสและสีที่เหมาะสมเถอะค่ะ จะได้เป็นเรื่องที่ดูไม่หมางใจกันจนลำบากทั้งสองฝ่าย
ArchaeoGO สนับสนุนการแสดงออกในทางสร้างสรรค์ รอบหน้าผงสีแดงแบบออแกนิกส์น่าจะเวิร์ก เอ๊ะ! นี่ไม่ได้ชี้เป้านะ
References:
กิตินัย นุตกุล.(5 March 2012). “โฮลี่ (Holi) – เทศกาลสาดสีเทสี”. เรื่องเล่าจากอินเดีย สารพันบทความจากสถานทูต. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี. Available from: http://newdelhi.thaiembassy.org/th/2012/03/โฮลี่-holi-เทศกาลสาดสีเทสี/ [Cited 28/08/2020]
ปัทมน ปัญจวีณิน.(19 March 2018). “สาดสีเทสี ฟังดนตรี สาดสี เมาบังและสัมผัสนานาความบันเทิงในเทศกาลเฉลิมฉลองใหญ่ของอินเดียที่ซิตี้พาเลซเมืองชัยปุระ”. The Cloud. Available from: https://readthecloud.co/masala-9/ [Cited 28/08/2020]
ปัทมน ปัญจวีณิน.(25 April 2018).“โฮลี: เทศกาลแห่งสีสันแดนภารตะ”. National Geographic ฉบับภาษาไทย. Available from: https://ngthai.com/cultures/10026/the-story-of-holi-festival/ [Cited 28/08/2020]