ใครคือราชินีชาร์ล็อต? พระนางเป็นราชินีผิวดำแห่งอังกฤษจริงหรือ? ภาพที่ปรากฏจากซีรีส์จักรวาล Bridgerton ใกล้เคียงข้อเท็จจริงแค่ไหน วันนี้เรามาทำความรู้จักพระนางอย่างสั้นๆ พร้อมกัน
หากกล่าวถึงปลายรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ซึ่งทรงพระสติฟั่นเฟือนเสียพระจริต บุคคลที่มีบทบาทในทางสังคมและการเมืองการปกครองนอกเหนือไปจากเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) ที่จะเข้ามาสำเร็จราชการแทนพระองค์ก็คือพระราชินีชาร์ล็อต ทรงเป็นทั้งคู่ครองและคู่คิดของกษัตริย์จอร์จที่ 3 จวบจนวันที่ความวิปลาสและความตายพรากพวกเขาจากกัน
ความรักของทั้งสองพระองค์ถูกนำมาถ่ายทอดกลายเป็นซีรีส์ของทาง Netflix เรื่อง Queen Charlotte : A Bridgerton story ภาคต่อจากเรื่องราวหลักแยกจากนวนิยายชุดบริดเจอตันของจูเลีย ควินน์ (Julia Quinn) ที่ยืมเอาเค้าโครงพื้นหลังประวัติศาสตร์ยุครีเจนซี่ (Regency Era) ซึ่งมีระยะเวลาสั้นๆ เพียง 10 ปีก่อนการสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่ 3 จนถึงการครองราชย์ของจอร์จที่ 4 มาเป็นฉากดำเนินเรื่องราวโรแมนซ์ชวนฝัน

ภาพของราชินีใบหน้าลูกครึ่งอาฟริกัน-ยุโรปรวมถึงสีผิวที่เข้มเกินกว่ามาตรฐานของค่านิยมในยุคนั้นโดดเด่นกระแทกตาคนดูนับตั้งแต่บริดเจอตัน ซีซั่น1 เริ่มการฉายออนไลน์ ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สีผิว หลายอย่างปรากฏอยู่ในลักษณะสังคมจารีตที่ดู “แปลกตา” ตามที่ทีมผู้สร้างอยากทดลองการสร้างสังคมชนชั้นสูงในลอนดอนที่มีภาพของคนดำและคนเอเชียอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
แต่สังคมอังกฤษตอนนั้นโอบกอดคนผิวดำในฐานะขุนนางหรือเจ้านายจริงหรือไม่ เป็นคำถามที่พอยกข้อเท็จจริงบบางประการมาตอบได้ ช่วงยุคดังกล่าวภาพของคนดำอาจไม่ได้แปลกมากนัก หากเรามองดูกลุ่มชนชั้นแรงงานซึ่งในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 อังกฤษมีประชากรผิวดำอยู่ราว 15,000 คน ทำงานในฐานะข้ารับใช้หรือเป็นแรงงานทาส ก่อนที่อังกฤษจะยกเลิกการค้าทาสตอนปีค.ศ.1807 กลับกันขุนนางผิวดำกลับพบในปริมาณน้อยมาก กว่าราชสำนักเริ่มสนับสนุนชนชั้นสูงที่เป็นคนผิวดำอย่างเด่นชัดก็เลยมาจนถึงรัชสมัยของพระราชินีวิคตอเรีย ผู้ที่เป็นหลานของราชินีชาร์ล็อตเสียมากกว่า
ก่อนจะนำไปสู่ข้อถกเถียงว่าพระราชินีชาร์ล็อตเป็นคนดำหรือไม่ เราควรเริ่มทำความรู้จักพระองค์เสียหน่อยว่าเหตุใดเจ้าหญิงจากแคว้นเล็กๆ ในเยอรมันถึงกลายมาเป็นราชินีแห่งสหราชอาณาจักรได้ทั้งที่อายุยังน้อย

พระราชินีชาร์ล็อตที่ 1 เดิมมีชื่อว่าโซเฟีย ชาร์ลอตต์แห่งเมคเลนบูร์ก-สเตรลิตซ์ (Sophia Charlotte of Mecklenburg-Strelitz) พระนางเป็นบุตรสาวคนเล็กของดัชชีแห่งเมคเลนบูร์ก-สเตรลิตซ์ ปัจจุบันเป็นเขตเขตหนึ่งในพื้นที่การปกครองรัฐเมคเลินบวร์ค-ฟอร์พ็อมเมิร์น (Mecklenburg-Vorpommern) ตอนเหนือของประเทศเยอรมัน พระบิดาคือดยุคชาร์ลส์ หลุยส์ เฟรเดอริกแห่งเมคเลนบูร์ก-สเตรลิตซ์ (Duke Charles Louis Frederick of Mecklenburg-Strelitz) กับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ อัลเบอร์ตินาแห่งแซ็กซ์-ฮิลด์บูร์กเฮาเซิน (Princess Elizabeth Albertina of Saxe-Hildburghausen) โดยมีพระประสูติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ.1744 ณ ปราสาทอุนเทอเร ชลอสส์ (Untere Schloss)

เนื่องมาจากความจำเป็นเร่งด่วนบางประการทำให้การตามหาคู่ครองของพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งอังกฤษต้องเกิดขึ้นขณะที่กษัตริย์แห่งบริเตนมีอายุ 22 ปี หลังจากเลือกเฟ้นรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมและวัยถึงพร้อม เจ้าสาวชาวโปรแตสแตนท์จากเยอรมันจึงถูกหมั้นหมาย คณะเดินทางรับเจ้าสาวนำโดยเอิร์ลแห่งฮาร์คอร์ท (Earl of Harcourt) ที่เดินทางถึงเยอรมันวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1761 ทะเบียนสมรสจึงถูกลงนาม ตามมาด้วยงานฉลองอยู่ 3 วัน ชาร์ล็อตขณะนั้นมีอายุเพียง 17 ปี ก็ถูกส่งตัวมายังอังกฤษ การเดินทางค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะติดพายุ แต่ทันทีที่ก้าวเหยียบพื้นดินในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1761 ชาร์ล็อตก็ได้เข้าพิธีแต่งงานใน 6 ชม.ต่อมาในวิหารหลวง พระราชวังเซนต์เจมส์ (Chapel Royal, St James’s Palace) ่อนจะเข้าพิธีราชาภิเษกในฐานะกษัตริย์กับราชินีพร้อมกันภายหลังเมื่อวันที่ 22 กันยายนปีเดียวกัน
กล่าวกันว่าเมื่อตอนที่พระนางชาร์ล็อตพบกับพระเจ้าจอร์จที่ 3 ครั้งแรก พระนางทรุดตัวลงที่พื้นหน้าพระบาท ทำให้พระเจ้าจอร์จช่วยพยุงขึ้นและโอบอุ้มเธอผ่านอุทยานไป เรื่องเล่าที่ดูโรแมนติกนี้เหมือนหลุดมาจากนิยาย แต่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความรักที่สองพระองค์มีต่อกันอย่างลึกซึ้ง พยานความรักของทั้งคู่มีมากถึง 13 ชีวิตที่เติบโตขึ้นมาจนถึงวัยผู้ใหญ่
ปกติแล้วพระราชวังเเซนต์เจมส์เป็นวังหลวงสำหรับประมุข แต่พระเจ้าจอร์จที่ 3 เพิ่งทำการซื้อคฤหาสน์ใกล้เคียงอย่างบักกิ้งแฮมเฮ้าส์ที่ต่อมาถูกพัฒนากลายเป็นพระราชวังบักกิ้งแฮม เริ่มเป็นที่ประทับตั้งแต่ปีค.ศ.1762 พระราชินีทรงโปรดพระราชวังแห่งนี้มาก ทำให้วังบักกิ้งแฮมถูกเรียกว่า “บ้านพระราชินี” (The Queen’s House) และยังทรงให้กำเนิดพระโอรสธิดาที่วังนี้เกือบทุกพระองค์ด้วย

เราคงไม่อาจคอนเฟิร์มเชื้อชาติของราชินีชาร์ล็อตได้อย่างเต็มที่ แต่มีร่องรอยหลักฐานแวดล้อมต่างๆ ที่พอจะเป็นตัวช่วยในการมองเห็นภาพชีวิตของราชินีพระองค์นี้ บางหลักฐานจึงถูกยกมานำเสนอเป็นทฤษฏีที่ว่าควีนชาร์ล็อตอาจเป็นราชินีผิวดำคนแรกของอังกฤษ ตั้งแต่บันทึกคำบอกเล่าและพระรูปเหมือนหรือสาทิสลักษณ์ที่ถูกวาดขึ้น
แนวคิดที่ว่านี้เริ่มตั้งแต่ค.ศ.1940 นักเขียนลูกครึ่งจาไมก้า-อเมริกันนามว่า JA Rogers ได้ลงเนื้อหาพูดถึงพื้นหลังของคนดำแห่งอังกฤษ (Britain’s Black Background) ในนิตยสาร The Crisis กล่าวถึงการที่ราชินีชาร์ล็อตสืบเชื้อสายคนผิวดำจากราชสกุลโปรตุเกส อ้างอิงจากหลักฐานเปรียบเทียบว่าราชนิกุลมัวร์มีผิวดำหรือผิวสีน้ำตาลแบบผสมกันระหว่างคนดำกับชาวยุโรปอย่างที่เรียกว่า “มูลาโต้” (Mulatto) สอดคล้องกับรูปวาดบางชิ้นของพระนางที่แสดงกายภาพของชนผิวดำออกมาผ่านทางโครงสร้างใบหน้า ดังเช่นที่สะท้อนผ่านงานของศิลปินอัลลัน แรมซีย์ (Allan Ramsay) ซึ่งบางรูปยังให้สีผิวที่ค่อนข้างเข้มกว่าชาวยุโรปโดยทั่วไปด้วย

ทฤษฎีนี้ถูกยกระดับความแมสขึ้นเมื่อสารคดีของ PBS นำเสนอเรื่องนี้เมื่อปีค.ศ.1997 โดยใช้ข้อมูลจาก Mario de Valdes y Cocom นักประวัติศาสตร์ที่อ้างว่าได้ทำการค้นคว้าเรื่องราวของราชินีชาร์ล็อตและพบว่าพระนางมีเชื้อสายคนผิวดำมาจากญาติฝั่งพระมารดาชาวโปรตุเกส ซึ่งคือ Margarita de Castro y Sousa สตรีสูงศักดิ์ใในราชสำนักโปรตุเกสช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15
Margarita de Castro y Sousa สืบสายสกุลมาจากกษัตริย์อัลฟองโซที่ 3 (Afonso III) ผู้ปกครองโปรตุเกสเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13 กับหญิงชาวมัวร์ชื่อว่ามาดรากานา (Madragana) นิยามของชาวมัวร์ในภาพจำทั่วไปคือคนผิวดำ แต่แท้จริงแล้วชาวมัวร์นั้นก็มีความหลากหลายทางเชื้อชาติกับสีผิว จึงยากจะการันตีว่ามาดรากานามีผิวดำหรือไม่ และหากมีผิวดำจริง ระยะห่างของสายเลือดกว่า 500 ปี จะยังคงลักษณะทางพันธุกรรมของอาฟริกันมากพอจะแสดงออกได้หรือ จุดนี้จึงยังเป็นที่กังขาด้วยเงื่อนไขทางด้านพันธุศาสตร์
หรือหากเราจะเจียระไนไปที่คำว่า “ผิวดำ” ว่าใช้มาตรฐานใดในการวัด หากเป็นในสายตาของชาวยุโรปเพียงแค่ลักษณะผิวสีน้ำตาลก็อาจถูกมองได้ว่า “เข้ม” หรือ “ดำ” ไปได้แล้ว ซ้ำอุดมคติของความงามในช่วงยุคของควีนชาร์ล็อตก็ยังสนับสนุนความผุดผ่องของผิวขาวนวล ทำให้รูปลักษณ์ของพระนางไม่เป็นที่ดึงดูดต่อค่านิยมของชาวอังกฤษและชาติอื่นที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน เอกสารทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยจึงมีไม่น้อยที่ระบุว่าความงามของชาร์ล็อตนั้นออกจะดู “ไม่สวย” หรือ “น่าเกลียด” ไปเลย ข้าราชสำนักคนหนึ่งถึงกับพูดไปในทำนองหลัง ส่วนกลุ่มที่ปากร้ายน้อยหน่อยก็อาจจะใช้คำว่าดูธรรมดา ไม่โดดเด่นไป แต่มีผู้ที่บรรยายถึงความเป็นลูกผสมผิวดำ-ผิวขาวของราชินีชาร์ล็อตคือนายแพทย์หลวง บารอนสต็อกมาร์
พระชนนี (ชาร์ล็อต, พระราชีนีของจอร์จที่ 3) ตัวเล็กและหลังค่อม มีใบหน้าผสมระหว่างคนผิวดำและขาวชัดเจน
–Memoirs of Baron Stockmar VOL. I. E pp. 50.

ลอร์ดฮอเรซ วัลโพล (Horace Walpole) เป็นอีกคนที่บรรยายลักษณะของราชินีชาร์ล็อตไปในทางไม่ชื่นชมเสียเท่าไร เพราะยังบอกว่า “จมูกนั้นบานเกินไปและปากก็ดูจะไม่ดีกว่ากันเลย” ซึ่งคำบรรยายเรื่องทรงของจมูกกับปากก็เป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ พิจารณาว่าดูคล้ายมีเชื้อแบบชาวแอฟริกัน แต่ว่าลอร์ดวัลโพลยังกล่าวว่าพระนางดูตัวขาวซีด ทั้งสองส่วนค่อนข้างที่จะชี้ไปคนละทิศทางโดยสิ้นเชิง
แม้ว่าจะถูกถ่ายทอดมาในพระรูปเหมือนว่ามีผิวขาวตามมาตรฐานความงามยุคนั้น ก็มีภาพบางส่วนที่ใส่สีผิวของพระนางดู “เข้ม” อย่างในงานของอัลลัน แรมซีย์ (Allan Ramsay) ซึ่งเป็นจิตรกรที่วาดภาพราชินีชาร์ล็อตตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการอภิเษกสมรส แรมซีย์มีจุดเด่นเรื่องฝีไม้ลายมือกับความซื่อตรงในการถ่ายทอดอย่างสมจริง ภาพบางชิ้นของเขาจึงถูกนำไปเป็นหลักฐานสนับสนุนแนวคิดที่ว่าพระนางเป็นคนดำอย่างบ่อยครั้ง


ไม่ว่าพระองค์จะมีสีผิวอย่างไร ก็ไม่อาจลดบทบาทของผู้อุปถัมภ์ด้านศิลปะได้ พระนางและกษัตริย์จอร์จที่ 3 ชื่นชอบดนตรีเหมือนกัน ราชินีชาร์ล็อตมีครูดนตรีคือโยฮันน์ คริสเตียน บาช (Johann Christian Bach) บุตรคนที่ 11 ของยอดนักประพันธ์เพลงโยฮันน์ เซบาสเตียน บาช (Johann Sebastian Bac) พระนางอุปถัมภ์ศิลปินเยอรมันหลายคน รวมถึงวูล์ฟกัง อะมาเดอุส โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) ผู้มีโอกาสแสดงต่อหน้าพระพักตร์ในงานฉลองครองราชย์ปีที่ 4 ของพระเจ้าจอร์จ ขณะนั้นโมสาร์ทมีอายุเพียง 8 ปี และยังประพันธ์เพลง Opus III อุทิศแด่พระราชินีชาร์ล็อต
นอกจากรสนิยมด้านศิลปะ พระนางยังสนใจด้านพฤษศาสตร์ ทรงใช้เวลาไปกับอุทยานพระราชวังคิว (Kew Palace) หรือที่เรียกอีกชื่อว่าวังดัตช์ (Dutch House) พระนามของราชินีชาร์ล็อตถูกนำไปใช้ตั้งชื่อพรรณไม้ดอกที่มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ โดยเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ของปักษาสวรรค์ (Bird of Paradise) คือ Strelitzia reginae
ด้านการกุศลราชินีชาร์ล็อตได้ก่อตั้งสถานกำพร้าหลายแห่ง ปีค.ศ.1809 พระนางยังเป็นผู้อุปถัมภ์โรงพยาบาลที่ปัจจุบันถูกเรียกว่า The Queen Charlotte’s and Chelsea Hospital โดยไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับพระประชวรของพระเจ้าจอร์จที่สามหรือไม่ แต่ช่วงเวลานั้นคาบเกี่ยวในช่วงรีเจนซี่ซึ่งพระนางและมกุฎราชกุมารได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ราชินีชาร์ล็อตก้าวมาทำหน้าที่ก่อนในการป่วยครั้งแรกของพระสวามีตั้งแต่ปี 1765 จนกระทั่งถึงปี 1788 ปัญหาคาราคาซังเรื่องราชการกับอาการป่วยของจอร์จที่ 3 ถูกยกขึ้นมาจัดการอีกครั้ง ส่งผลให้มีการรับรองว่ากษัตริย์ไม่สามารถสำเร็จราชการด้วยพระองค์เองได้อีกต่อไป จึงแต่งตั้งเจ้าชายแห่งเวลส์มาดูแลการบริหาร โดยราชสำนักและราชวงศ์อยู่ในการดูแลของราชินี
แม้ว่าอาการป่วยของพระเจ้าจอร์จที่ 3 จะทำให้ราชินีชาร์ล็อตแตกสลาย แต่ก็ยังทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลพระเจ้าจอร์จที่ 3 จวบจนถึงวันที่พระนางเสด็จสวรรคตขณะอายุ 74 พรรษา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1818 ณ พระราชวังคิว ในสายพระเนตรของมกุฎราชกุมารผู้เป็นพระโอรสองค์โต ก่อนพระศพจะถูกฝังยังโบสถ์เซนต์จอร์จ ในพระราชวังวินเซอร์ (Windsor Castle) กว่าพระสวามีจะได้พักผ่อนเคียงข้างกันก็ต้องรออีก 2 ปี พระเจ้าจอร์จที่ 3 จึงสิ้นพระชนม์ เริ่มรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งราชสกุลฮันโนเวอร์ (Hanover) อย่างเป็นทางการ
ท่ามกลางการอภิเษกสมรสที่มักมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์และสัมพันธไมตรี เป็นการยากที่จะพบรัก ยิ่งเป็นความรักแท้ยิ่งยากลำบากกว่าการตามหาเพชร แต่ความรักของพระเจ้าจอร์จและราชินีชาร์ล็อตเป็นตำนานแห่งรักแท้ที่ยังถูกกล่าวขานกันถึงปัจจุบัน
#BRIDGERTONS : London’s Gas lights โอ้เมื่อมีไฟ…ไฟ…ไฟลุกขึ้นแจ่มจ้า
ฉากเด่นในตอนท้ายของ Episode I ของซีซั่นแรก คือการแสดงไฟ…
Keep reading#BRIDGERTONS : ฤดูสังคม? ฤดูไหน? ใครเริ่ม?
1 ในฉากหลักของซีรีส์บริดเจอตันคงไม่พ้น “หน้าฤดูสังคม” ห…
Keep reading#Bridgertons : ดูBridgertonแล้ว ย้อนส่องประวัติศาสตร์ยุคRegencyกันหน่อย
ซีซั่น 2 ของซีรีส์ที่สร้างจากนวนิยายชุด Bridgerton ของ …
Keep reading
References:
- de Valdes y Cocom, Mario.Queen Charlotte.Frontline. Retrieved 12 May 2023, from http://www.shoppbs.pbs.org/wgbh/pages/frontline/shows/secret/famous/royalfamily.html
- Jeffries, S. (2009, March 12).Was this Britain’s first black queen?. The Guardian. https://www.theguardian.com/world/2009/mar/12/race-monarchy
- Kantor,G.(2021, January 25).The Great British Art Tour: a portrait of Britain’s first black queen?.The Guardian.Retrieved 12 May 2023, from https://www.theguardian.com/artanddesign/2021/jan/25/the-great-british-art-tour–st-johns-college-oxford-queen-charlotte-sophia-
- Queen Charlotte (19 May 1744 – 17 November 1818).The Royal Household.Retrieved 12 May 2023, from https://www.royal.uk/queen-charlotte
- “QUEEN CHARLOTTE” in Georgian Papers Programme.The Royal Collection Trust.Retrieved 12 May 2023, from https://www.rct.uk/collection/georgian-papers-programme/queen-charlotte
- Queen Charlotte of the United Kingdom (1744-1818).The Royal Collection Trust.Retrieved 12 May 2023, from https://www.rct.uk/collection/people/queen-charlotte-of-the-united-kingdom-1744-1818
- Rogers, J. A. (1940, February). Britain’s black background. The Crisis, 47(2), 39–40.
- Solly, M.(2023, May 5).The Real History Behind ‘Queen Charlotte: A Bridgerton Story’.Smithsonian magazine. Retrieved 12 May 2023, from https://www.smithsonianmag.com/smart-news/the-real-history-behind-queen-charlotte-a-bridgerton-story-180982130/

One thought on “Queen Charlotte | หรือนี่จะเป็นราชินีผิวดำแห่งอังกฤษ?”