พระอินทร์: เมื่อ “จิ๋ม” เป็นส่วนทำให้เทพตกอันดับ

คนไทยต้องเคยได้ยินเรื่องของพระอินทร์มาไม่น้อย เพราะเป็นเทพที่มีความผูกพันกับวัฒนธรรมความเชื่อและศิลปกรรมของไทยมาอย่างยาวนาน และยังปรากฏในวรรณคดีหลายชิ้น ในฐานะสหัสนัยน์ หรือท้าวพันตา แต่เทพผู้นี้ถูกทำให้กลายเป็นเทพที่หมดความน่าเกรงขามลงคงเป็นเพราะการเคยมี “จิ๋ม” นับพันบนตัวก่อนจะเป็น “ตา”

รูปพระอินทร์บนพระปรางค์วัดอรุณฯ ทรงช้างเอราวัณในแบบสามเศียรตามคติไทย

อย่าเพิ่งปาหินใส่กัน ตำนานนี้มีปรากฏอยู่จริงๆ ในรามเกียรติ์หรือรามายณะ (Rāmāyaṇa) วรรณกรรมของอินเดียยุคมหากาพย์ที่ไทยรับเอามาเรียบเรียงเป็นแบบภาษาไทยเรียกว่ารามเกียรติ์ เหตุที่พระอินทร์มีจิ๋มอยู่บนพระวรกายเป็นเรื่องที่ใครรู้ก็คงต้องมุ่นคิ้ว เรื่องนี้มาจาก…เล่าว่าเมื่อพระอินทร์แปลงกายไปเล่นชู้กับนางอหาลยา (Ahalyā : अहल्या) ภรรยาของฤๅษีเกาทมะ (Gautama : गौतम) ซึ่งเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เมื่อเกาทมะกลับมาพบจึงโกรธมาก พระอินทร์จึงทำให้ถูกสาปให้มีโยนีผุดขึ้นรอบพระวรกายเต็มไปหมด สร้างความอับอายแก่พระอินทร์ยิ่งนัก สุดท้ายไม่รู้จะทำอย่างไรกับโยนีบนร่างกายจึงได้ไปขอให้พระพรหมช่วยแก้ให้โยนีกลายเป็นดวงตาแทน

แต่เรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นสมัยหลังยุคของการปรากฏครั้งแรกของ “พระอินทร์” ในวัฒนธรรมของอินเดีย เพราะพระอินทร์เดิมเป็นเทพองค์ใหญ่ในยุคพระเวท มีอำนาจดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ เป็นเทพแห่งสายฟ้าและสายฝน ไปจนถึงเป็นเทพแห่งสงครามมีฤทธิ์อำนาจมากมาย ชาวอินเดียในยุคพระเวทจึงบูชาพระอินทร์ในฐานะเทพองค์สำคัญเพราะเกี่ยวเนื่องมาจากการทำเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยเรื่องของฟ้าฝนความอุดมสมบูรณ์นี่เอง

ความเชื่อและภาพลักษณ์ของพระอินทร์ในชาวอารยันซึ่งมาตั้งรกรากในอินเดียแสดงออกถึงความคล้ายคลึงของเทพในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันอย่าง ซุส (Zeus), จูปิเตอร์ (Jupiter) หรือธอร์ (Thor) ไปจนถึงแสดงความคล้ายคลึงทางด้านวัฒนธรรมกับความเชื่อในดินแดนเก่าแก่อย่างเมโสโปเตเมีย

พระอินทร์ในตำนานเดิมยุคพระเวทนั้น เป็นโอรสแห่งพระเทยาส คือท้องฟ้า กับพระแม่ปฤถวี คือแผ่นดิน การมีอยู่ของพระอินทร์จึงเป็นการผสมผสานของอำนาจฟ้าและดินจึงอำนวยความอุดมสมบูรณ์เพราะเป็นสื่อกลางระหว่าง 2 สิ่งอันยิ่งใหญ่ คล้ายคลึงกับคติแห่งความอุดมสมบูรณ์ในหลายอารยธรรมโลกยุคโบราณที่มักจะกล่าวถึงการสังวาสของฟ้าและดินจนเกิดความอุดมสมบูรณ์ให้กับมนุษย์

การปรากฏตัวของพระอินทร์มักจะมีตาทั่วกายดังสมญาสหัสนัยน์ พบทั้งรูปแบบ 2 กรและ4 กร หากปรากฏในรูป 4 พระกรจะถือหอกสองหัตถ์ อีกหัตถ์ถือวัชระ (สายฟ้า) หัตถ์ที่เหลือปล่อยว่าง ส่วนที่เป็นแบบ 2 กร มักจะถือวัชระข้างหนึ่งและอีกข้างถือธนู ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งคติอินเดียจะเป็นช้างสีขาวที่มี 4 งา แต่ในคติไทยจะเป็นช้างสามเศียร พระอินทร์เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ พระนามของพระอินทร์มีตั้งแต่ เทวปติ (ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา), วัชรินทร์ (ผู้ถือวัชระ), วฤตระหา (ผู้สังหารวฤตตระคือความแห้งแล้งในดิน) และแน่นอนว่า “สหัสนัยน์” คือผู้มีพันตา

พระอินทร์ถูกลดความสำคัญลงในยุคมหากาพย์ซึ่งมีการปรากฏตัวของเทพองค์ใหม่อย่าง พระพรหม พระนารายณ์ และพระศิวะ เมื่อเทพ 3 องค์หลังถูกยกสถานะความสำคัญขึ้น การมองเรื่องของสวรรค์เปลี่ยนไปจากการอ้างอิงแนวคิดความอุดมสมบูรณ์เป็นภาวะทางจิตในแบบซับซ้อนขึ้นในเชิงปรัชญา โดยยุคมหากาพย์เริ่มมีแนวคิดสวยัมภูขึ้น คือผู้เกิดขึ้นเองในความว่างเปล่าขึ้นมาดลบันดาลสร้างสรรพสิ่ง พระอินทร์มิได้เป็นสวยัมภูจึงถูกลดอำนาจลงต่ำกว่าเทพทั้งสามซึ่งมีความเป็นสวยัมภู และเป็นตรีมูรติ และที่ยิ่งไปกว่าการกล่าวว่าพระอินทร์มิเป็นสวยัมภู คือเรื่องราวจากเอกสารอย่างมหาภารตะและรามายณะที่ยิ่งตอกย้ำว่าพระอินทร์กลายเป็นเทพผู้มัวเมาในโลกีย์ และจริงๆ ตาเป็นพันนั่นน่ะ หาใช่ตาไม่ แต่เป็นโยนีเพราะนิสัยมักมากในกามารมณ์ต่างหาก จะมีอะไรแรงกว่านี้ได้อีก หากคิดในรูปแบบปัจจุบัน อาการมีอะไรขึ้นทั่วตัวแบบนี้ก็ดูคล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เรียกว่า โรคออกดอกหรือ ซิฟิลิส (Syphilis) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มนุษย์รู้จักกันมาอย่างยาวนานแล้ว

ความเป็นสหัสนัยน์ผู้ยิ่งใหญ่จึงถูกป้ายด้วยโยนีและความผิดในเรื่องเพศจนดูเป็นตัวตลก นอกจากนี้บทบาทต่างๆ ในช่วงสมัยหลัง พระอินทร์ค่อยๆ ถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ ค่อยๆ กลายเป็นเทพชั้นรองในศาสนาฮินดู และจนมาถึงศาสนาพุทธ พระอินทร์จึงเหลือสถานะเพียงเทพผู้ครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากนั้นก็อาศัยไปแจมตามตำนานต่างๆ ของชาวบ้านแทน ไม่ได้มีบทบาทแข็งแกร่งเป็นวีรบุรุษอย่างตำนานแรกเริ่ม

คิดแล้วก็น่าเศร้านะ ถูกเอาเรื่องจิ๋มมาทำให้ดูแย่ น่าสงสารพระอินทร์จริงๆ ค่ะ

เทวรูปนัตตัจจาเมง (พระอินทร์ในแบบพม่า) ที่พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง. Image credit : http://www.flickr.com/photos/83555001@N00 Roger Pric

.

Featured image : Indra (alias Sakra) and Shachi riding the five-headed Divine Elephant Airaavatha, Folio from a Jain text, Panch Kalyanaka (Five Auspicious Events in the Life of Jina Rishabhanatha), circa 1670-1680, Painting in LACMA museum, originally from Amber, Rajasthan


References:

  • พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.(1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503).พระเป็นเจ้าของพราหมณ์. กรุงเทพฯ:กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์,กรมศิลปากร.Retrieved from https://vajirayana.org/พระเป็นเจ้าของพราหมณ์
  • ไรท์,ไมเคิล.(24 สิงหาคม พ.ศ.2563).“ไขปัญหา “พระอินทร์” จากเทพเจ้า-แม่ทัพสวรรค์ของชนเผ่าอารยัน สู่ความเสื่อมถอยในอินเดีย”.ศิลปวัฒนธรรม ออนไลน์.Available from : https://www.silpa-mag.com/history/article_54621[Cited 29/08/2020]
  • Söhnen, R. (1991). Indra and Women. Bulletin of the School of Oriental and African Studies, University of London, 54(1), 68-74. Retrieved August 29, 2020, from http://www.jstor.org/stable/617314

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.