อุซะจังบนเสื้อของ “บุดด้า” ศากยมุนี #มหาศึกคนชนเทพ

สงสัยมั้ยว่าทำไมตัวละครพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในมังงะกับอนิเมะเรื่อง Record of Ragnarok ถึงได้ใส่เสื้อกล้ามที่มีลายกระต่ายน้อยปิดตาข้างเดียวที่เขียนว่า “USA CHAN” ทำไมต้องกระต่าย…กระต่ายมีนัยยะอะไรในพุทธด้วยเหรอ…? บอกเลยว่า “มี”

หนึ่งในตำนานที่โด่งดังมากที่สุดคงจะไม่พ้นส่วนที่เกี่ยวกับตัวบุดด้าเองนั่นแหละ เรื่องอดีตชาติของศากยมุนีหรือกระโคตมพุทธเจ้าถูกบันทึกลงเป็นเรื่องเล่าหลายตอนที่เรียกว่า “ชาดก” ในภาษาบาลี ซึ่งจะมีการกล่าวถึงการเสวยชาติ (การไปเกิด) เพื่อสะสมแต้มบุญของพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะได้ทรงเดบิ้วในฐานะเซ็นเตอร์ของวง นั่นคือการได้มาเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย จากบรรดาชาติภพต่างๆ พระพุทธองค์จะไปเกิดเป็นหลายสิ่งบนโลก ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสวยชาติเป็น “กระต่าย” ปรากฏอยู่ในสสบัณฑิตชาดก เรื่องที่ 6 ในพระไตรปิฎกไทยได้มีอรรถกถาเพื่ออธิบายเล่าชาดกนี้ว่า


ครั้งหนึ่งมีสัตว์ทั้ง 4 ตัวได้แก่กระต่าย ลิง สุนัขจิ้งจอก และนากอาศัยในป่าเชิงเขา มีแม่น้ำและชายหมู่บ้านมาบรรจบกัน สัตว์ 4 ตัวนั้นจะอาศัยอยู่คนละถิ่นเป็นเขตหาอาหาร จะออกมาประชุมกันทุกยามเย็น โดยกระต่ายนั้นจะเป็นผู้สอนธรรมแก่สัตว์อื่นๆ ให้หมั่นให้ทาน รักษาศีล และกระทำอุโบสถกรรม (คือการตั้งในศีลในธรรม ไม่ใช่ชื่อเรียกของโบสถ์ในภาษาไทย อย่าไปคิดว่าพวกสัตว์ไปสร้างวิหารล่ะ)

กิจวัตรเช่นนี้ดำเนินไปทุกวันจนถึงวันหนึ่ง กระต่ายมองดวงจันทร์ก็เห็นว่าวันพรุ่งนี้เป็นวันอุโบสถ จึงได้เตือนให้สัตว์อื่นๆ ว่าพรุ่งนี้ให้สมาทานศีล รักษาอุโบสถ ทานที่ผู้ถือศีลแล้วให้ ย่อมมีผลมาก หากวันพรุ่งนี้มียาจกผ่านมา ให้มอบทานด้วยการให้อาหารที่มีแก่ผู้มาเยือนกิน แล้วจึงค่อยกินของตน

วันรุ่งขึ้นสัตว์ต่างๆ ก็รีบออกหาอาหารแต่เช้า ทุกตัวล้วนได้อาหารแล้วคาดจะรอกินทีหลัง ต่างนอนสมาทานศีลอยู่ แต่กระต่ายนั้นกินแต่หญ้า หากยาจกมาถึงที่แล้วก็คงจะให้หญ้านั้นไม่ได้ เห็นคงจะต้องทำทานด้วยการสละตนเป็นอาหาร คิดได้แบบนั้นก็สมาทานศีลอยู่ในโพรง

ด้วยเดชแห่งความตั้งมั่นในศีลของกระต่าย ทำให้ภพของท้าวสักกะรุ่มร้อน ภพนี้จะร้อนได้ก็ต่อเมื่อท้าวสักกะเองสิ้นบุญหรือมีผู้มีอานุภาพมากในศีลและธรรมต้องการภพนั้น ท้าวสักกะจึงคิดจะลองเชิงกระต่ายดู จึงได้แปลงกายเป็นพราหมณ์เดินทางมายังป่านั้น และไปหาสัตว์ทั้งสี่เพื่อเสนอตัวเป็นผู้รักษาศีล

แน่นอนว่าทั้งนาก จิ้งจอก และลิงต่างก็เสนออาหารของตนแก่พราหมณ์นั้น แต่พราหมณ์ก็ยังไม่รับ แล้วจึงผลัดไปจนถึงที่พำนักของกระต่าย ซึ่งกระต่ายนั้นมีเพียงหญ้า จึงเสียสละตนเองเป็นอาหารแก่พราหมณ์ โดยกล่าวว่าพราหมณ์นั้นเป็นผู้มีศีล ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ จึงขอให้พราหมณ์นั้นก่อกองไฟขึ้น ตนนั้นพร้อมจะกระโจนเข้ากองเพลิง ให้พราหมณ์กินเนื้อตนที่สุกแล้วจากกองไฟ

ท้าวสักกะเนรมิตไฟนั้นขึ้น ครั้นเมื่อกระต่ายจะกระโจนเข้ากองไฟ ก็กังวลจึงสัตว์เล็กๆ ที่อาจอาศัยอยู่ในขนตัวเอง กระต่ายจึงตั้งจิตขอให้สัตว์เหล่านั้นออกไปพ้นจากตัว อย่าไปตายพร้อมกันเลย แล้วก็สะบัดตัว 3 ครั้งก่อนโดดลงกองไฟ แต่ปรากฏว่าไฟนั้นเย็น ไม่ร้อน พราหมณ์จึงได้ประกาศตนว่าแท้จริงแล้วนี่คือท้าวสักกะมาเพื่อทดสอบ แล้วท้าวสักกะจึงบีบเอาเทือกเขาจนเป็นของเหลวแล้วเอาไปแต้มเป็นรูปกระต่ายบนดวงจันทร์ เพื่อจะได้ประกาศถึงคุณธรรมของกระพุทธองค์ในชาติที่ทรงเป็นกระต่ายเอาไว้เป็นพยานบนท้องฟ้า


ชาวญี่ปุ่นที่เมื่อมีการรับศาสนาพุทธผ่านทางจีนมา ก็มีการนำเอาเรื่องชาดกนี้มาเผยแพร่ในเกาะด้วยเช่นกัน โดยเอกสารที่กล่าวถึงชาดกสสบัณฑิตชาดกฉบับเก่าที่สุดปรากฏในคนจากุ โมโนกาตาริ [今昔物語集] เขียนปลายสมัยเฮอัน ประมาณราวค.ศ.794–1185 ซึ่งเป็นการบันทึกถึงเรื่องเล่าตำนานต่างๆ สำหรับชาดกดังกล่าวญี่ปุ่นยึดเอาจากคัมภีร์สันสกฤต แต่มีความแตกต่างออกไปจากพระไตรปิฏกบางประการ ทั้งยังมีการผนวกเอาตำนานท้องถิ่นเข้ามาผสม

ฉบับญี่ปุ่นนั้นมีสัตว์ 3 ตัวคือจิ้งจอก ลิง และกระต่ายเดินทางไปยังภูเขา พบกับชายชรามอซอผู้หนึ่งซึ่งกำลังอ่อนล้าจากการเดินทาง สัตว์เหล่านั้นจึงพยายามช่วยชายชราด้วยความสงสาร ลิงนั้นปีนขึ้นไปหาผลไม้บนต้น จิ้งจอกไปจับปลาจากแม่น้ำ นำเอาของมาเป็นอาหารแก่ชายแก่แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น กระต่ายเมื่อเห็นว่าไม่มีหนทางใดจะช่วยได้ เลยขอให้สัตว์อีกสองตัวช่วยก่อกองไฟเพื่อให้ตนได้กระโจนลงไปปิ้งตัวเองเป็นอาหาร เมื่อชายชราเห็นความตั้งใจของกระต่ายจึงได้เผยตัวว่าตนนั้นเป็น “ไทชะคุเตน” [帝释天] หรือพระอินทร์ เจ้าแห่งสวรรค์ ร่างของกระต่ายจึงถูกพระอินทร์ยกขึ้นไปวางบนดวงจันทร์เพื่อประกาศถึงความเสียสละอันหาค่าไม่ได้ของกระต่าย ว่ากันว่าบางครั้งที่เรามองไม่เห็นรูปกระต่ายบนดวงจันทร์ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเป็นเพราะควันจากร่างที่มอดไหม้ของกระต่ายที่ยังลอยออกมาเป็นระยะ

จริงๆ แล้วตำนานความเชื่อเกี่ยวกับกระต่ายปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมทั่วโลกจำนวนมาก ทางทวีปเอเชียเองก็มีเรื่องราวทางด้านความเชื่อมากมายหลากหลาย นอกเหนือไปจากชาดกแล้ว คนจีน เกาหลี ญี่ปุ่น จนถึงเขมรโบราณก็ยังนิยมสร้างศิลปะที่่เกี่ยวข้องกัลความเชื่ออันมีกระต่ายน้อยเป็นสัญลักษณ์ด้านความน่ารัก อ่อนโยน กตัญญ และเฉลียวฉลาด (หะ…)

กล่าวโดยสรุปคือในการออกแบบรูปลักษณ์และคาแรคเตอร์ของพระพุทธเจ้าในมังงะและอนิเมะนั้นอาศัยการทำการบ้านเพื่อที่จะสร้างภาพของพระพุทธองค์ให้มีมิติ มีเรื่องราว และมีภาพจำที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างง่าย ส่วนประกอบอื่นๆ มีหลายเพจที่เริ่มกล่าวถึงไปบ้างแล้ว เช่นในเรื่องของมหาบุรุษลักษณะของทาง MAD Literature เป็นต้น

หรือจะฟังแบบพอดแคสต์

หากใครที่ผ่านมาแล้วสนใจอยากซึ้งรสพระธรรมและยำเทพ สามารถชมอนิเมะได้ผ่านทาง Netflix แบบถูกลิขสิทธิ์พร้อมเสียงไทยสนุกๆ กันได้เลย ส่วนฉบับมังงะสามารถอุดหนุนที่ถูกลิขสิทธิ์ผ่านทางสำนักพิมพ์ PHOENIX-ฟีนิกซ์

และขอยืนยันว่าภาษานั้นเป็นเพียงการอธิบายสัจธรรมของธรรมเท่านั้น อภินิหารต่างๆ เป็นเพียงองค์ประกอบเพื่อให้เราได้คิดและละทิ้งซึ่งการยึดเหนี่ยวทางโลก ภาษาที่ใช้ในบทความแม้จะดูลำลอง ดูเป็นการยืมบริบททางโลกอย่างวัฒนธรรมไอดอลมาใช้ แต่กฺ็เป็นเพียงเปลือกไม่ใช่แก่นของศาสนา หากท่านยังยึดเปลือกมากยิ่งกว่าธรรม ท่านก็เหมือนไปญี่ปุ่นแต่ไม่เห็นภูเขาฟูจิ ไปปารีสแต่ไม่ได้เช็คอินประตูชัย เช่นนั้นแล…

สาาาาาาาาาธุ

References :

Advertisement

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.