เบาะแสจากภาพถ่ายเก่าตั้งแต่ทศวรรษ 1960s ที่ถูกพบหลังจากสูญหายไปหลายปีชี้ให้เห็นถึงร่องรอยพิธีกรรมการฝังศพที่ไม่เหมือนไซต์ยุคหินที่ผ่านมา หลักฐานที่เน้นให้นักโบราณคดีตั้งคำถามว่านี่อาจจะเป็นมัมมี่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
หลังจากที่อียิปต์เสียมงฯ ให้เปรูกลายเป็นประเทศที่มีมัมมี่โดยฝีมือมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุด แต่หนนี้นักโบราณคดีในโปรตุเกสขอเสนอแนวคิดที่อาจจะหักล้างอายุอันเก่าแก่ของเปรูลงได้ เมื่อพบเบาะแสสำคัญเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีที่หุบเขา Sado ซึ่งเป็นไซต์ยุคหินกลาง ( Mesolithic) ถูกค้นพบตั้งแต่ช่วงปี ’60s
การขุดค้นครั้งแรกดำเนินการโดยพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติลิสบอน (Lisbon) ช่วงปีค.ศ.1954-1964 โดยพบแหล่งโบราณคดี 2 จุดที่หุบเขา Sado ได้แก่ Arapouco และ Poças de S. Bento รวมทั้งหมดพบโครงกระดูกมากกว่า 100 ร่าง เมื่อนำตัวอย่างมาหาค่าอายุด้วยวิธีการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (Radiocarbon dating) พบว่าเก่าแก่ตั้งแต่ช่วง 8150-7900 ปีก่อน
ปัญหาของแหล่งโบราณคดีนี้คือข้อมูลเก่าบางอย่างสูญหายไปจากพิพิธภัณฑ์ฯในลิสบอน ซึ่งนั่นรวมถึงภาพถ่ายบางชิ้น ผังของแหล่งโบราณคดี และภาพบันทึกลายเส้น ทำให้ข้อมูลไม่ปะติดปะต่อ เมื่อมีการค้นพบภาพถ่ายเก่าจากคอลเลคชั่นส่วนตัวของอดีตนักโบราณคดีที่เคยทำงานขุดค้น การเชื่อมโยงเพื่อรื้อฟื้นภาพอดีตจึงเริ่มต้นขึ้น
ในการศึกษาแหล่งโบราณคดีในรอบนี้อาศัยข้อมูลจากการขุดค้นบริเวณอื่นเพิ่มเติมร่วมกับบันทึกข้อมูลเก่าๆ โดยอาศัยแนวคิดโบราณคดีความตาย (Archaeothanatology) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์บริบทของหลักฐานร่วมกับศึกษาการเปลี่ยนแปลงหลังการตายของศพที่ถูกฝัง แต่เนื่องจากสภาพของแหล่งฯ ไม่ได้อยู่ในสภาพไม่ถูกรบกวน (in situ) และข้อมูลที่กระจัดกระจาย งานแรกของนักโบราณคดีจึงเป็นการพยายามนำภาพถ่ายเก่าที่เพิ่งพบเปรียบเทียบกับผังหรือภาพลายเส้นที่ยังเหลือ นอกจากนี้ยังมีโครงกระดูก 2 ร่างซึ่งถูกรักษาไว้ด้วยพาราฟินในสภาพเดียวกับตอนที่พบเหลืออยู่ในพิพิธภัณฑ์ฯ ทว่าสภาพของการเก็บรักษาไม่ค่อยดีนักจึงทำให้ไม่สามารถศึกษาข้อมูลจากกระดูกได้ดีเท่าไร
หลังจากทำการศึกษาในขั้นต้นและสามารถจำแนกรูปแบบการฝังศพของสุสานใน Sado Valley แล้ว นักโบราณคดีได้มองเห็นเบาะแสผิดปกติบางอย่างจากภาพถ่ายของ 2 โครงกระดูก โครงแรกคือที่ Arapouco หมายเลขกำกับ ARA1962, unknown 3 ซึ่งแสดงให้เห็นท่าทางที่ผิดปกติของกระดูกผู้ใหญ่ที่ถูกฝังเอาด้านหลังขนาบพื้น แขนสองข้างถูกดึงยืดมากอดพาดร่างกายอย่างผิดธรรมชาติ แขนขวางอเกินไป ส่วนแขนข้างซ้ายก็ถูกหมุนบิดตรงข้อศอกเข้าด้านในแล้วดึงมาพาดผ่านกระดูกซี่โครง แม้จะไม่เห็นชัดเจนจากภาพขาวดำแต่ก็พอเห็นร่องรอยการกดทับที่ซี่โครง ส่วนกระดูกแขนส่วนบนของทั้งสองข้างนั้นมีร่องรอยของการกดหรือรัดแน่นอย่างชัดเจน

ส่วนอีกโครงมาจากหลุมขุดค้น Poças de S. Bento ให้หมายเลขกำกับว่า PSB1960, XII มี่สภาพค่อนข้างจะ “แบน” เป็นอย่างมากและถูกจับงอในท่าผิดธรรมชาติ ดูจากภาพถ่ายจะเห็นว่าโครงกระดูกค่อนข้างกระจุกตัวแน่นอยู่ตรงช่วงล่างในท่าทางพับงอตัวแบบเดียวกับ ARA1962, unknown 3 ตามข้อต่อมีความชิดแน่นกันอย่างมาก แทบไม่มีช่องว่างให้ตะกอนอินทรีย์จากสิ่งแวดล้อมแทรกเข้าไประหว่างรอยต่อที่ควรจะมีเนื้อเยื่ออันสูญสลายกลายเป็นช่องว่างได้หลังการเน่าสลายโดยธรรมชาติ ลักษณะดังกล่าวทำให้พอกล่าวได้ว่าโครงกระดูกทั้งสองถูกมัดพันเอาไว้แน่นตั้งแต่ร่างกายยังมีเนื้อหนังซึ่งเป็นรูปแบบการปลงศพอย่างหนึ่ง

แม้ว่าบางครั้งการหดหรืองอของข้อต่อกระดูกอาจเกิดขึ้นในระยะของการเน่าสลายได้ แต่ช่องว่างระหว่างข้อซึ่งควรเกิดขึ้นหลังเนื้อเยื่ออ่อนย่อยสลายไปแล้วก็ไม่ปรากฏในภาพถ่ายของทั้ง 2 โครงนี้ มีทางเดียวที่โครงกระดูกทั้งสองจะมีสภาพแบบดังกล่าวได้ก็คือการถูกฝังทั้งๆ ที่อยู่ในท่าดังกล่าวนั่นเอง
เพื่อศึกษาในประเด็นของการเน่าสลายและตรวจสอบทฤษฎีเกี่ยวกับพิธีกรรมฝังศพ ทางทีมวิจัยร่วมกับสถาบันนิติมานุษยวิทยาที่รัฐเท็กซัส (Forensic Anthropology Center at Texas State) ทำการทดลองด้วยตัวอย่างมนุษย์ 2 ร่าง โดยนำศพตัวอย่างทดลองฝังเลียนแบบบริบทในอดีต ร่างหนึ่งใช้วิธีการทำมัมมี่ด้วยวิธีธรรมชาติ (์Natural mummification) ทำการมัดศพให้อยู่ในท่างอตัว ก่อนจะฝังลงในหลุมเมื่อศพนั้นแห้งดีแล้ว ส่วนอีกร่างใช้ทำการฝังเลยโดยจับงอตัวและเอาหลังวางลงบนพื้นหลุม ทิ้งเอาไว้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี โดยมีการขุดเพื่อบันทึกลักษณะการเน่าสลายเป็นระยะห่างที่ไม่รบกวนกระบวนการเน่าสลายมากเกินไป
ผลการศึกษาพบว่าศพที่ถูกฝังลงในท่างอตัวโดยไม่ผ่านกระบวนการเตรียมมีความคงตัวของท่าทางมากกว่าศพที่ผ่านการทำมัมมี่แล้ว แต่ลักษณะของการเน่าสลายและช่วงรอยต่อของข้อกระดูกมีความเหมือนกับโครงกระดูก ARA1962 เพียงแต่ลักษณะท่าทางค่อนข้างผิดไปจากที่พบในหลุมขุดค้น โดยที่ยังตอบไม่ได้ว่าบริบทใดที่ส่งผลให้โครงกระดูกโบราณดังกล่าวยังคงท่าทางเหมือนกับตอนฝังโดยไม่กระจายตัวเหมือนตัวอย่างทดลองยุคปัจจุบัน ในขณะที่อีกโครงกระดูกมีความสอดคล้องกับการทดลองใหม่ ยังคงอยู่ในท่างอตัวแบบเดียวกับที่ฝังลงไป

แถวล่าง : ตัวอย่างทดลองที่ผ่านกระบวนการทำมัมมี่และฝังลงในท่าเดิม (Image credit: Peyroteo-Stjerna et al/European Journal of Archaeology)
อย่างไรก็ตามผลการทดลองอาจคลาดเคลื่อนไปด้วยความแตกต่างของดินและอากาศได้ และด้วยสภาพอากาศของตอนใต้ประเทศโปรตุเกสอันเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีมีภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งจะมีช่วงฤดูร้อนค่อนข้างยาวนานก็อาจเป็นตัวช่วยในกระบวนการทำมัมมี่ได้ ซึ่งลมและความร้อนจะเป็นตัวช่วยทำให้ศพแห้ง ลักษณะของกระดูกซี่โครงที่มีรอยกดทับอย่างหนักก็อาจบ่งชี้ถึงการห่อหรือมัดร่างจนแน่น แต่ในระหว่างรอธรรมชาติช่วยให้ศพแห้งก็อาจต้องอาศัยมนุษย์เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการด้วย และเพื่อไม่ให้ของเหลวคั่งค้างในตัวศพ ผู้ตายอาจถูกนำไปผูกกับเสาในลักษณะลอยตัวจากพื้นโดยของเหลวจากกระบวนการเน่าสลายจะไหลออกจากร่าง ทำให้ศพถูกทำให้แห้งโดยคงสภาพเนื้อเยื่อ การที่ต้องผูกลอยกับเสานี้เองที่เป็นเหตุให้ต้องมีการพันหรือมัดศพให้แน่น ส่งแรงกดจำนวนมากเข้าไปยังแขนขาและกระดูกซี่โครงจนเกิดรอยกดทับดังข้างต้น
แม้ว่าจะยังมีข้อกังขาในผลการทดลอง แต่งานวิจัยใหม่หนนี้ก็ช่วยเติมเต็มความหลากหลายของพิธีกรรมฝังศพยุคหินกลางของโปรตุเกส และไม่ใช่หนแรกที่มีการค้นพบกระบวนการทำมัมมี่ในยุโรป เพราะยังเคยมีการค้นพบพิธีการทำมัมมี่ช่วงยุคสำริดในอังกฤษ หรือกระทั่งที่ในโปรตุเกสเองก็ยังเคยพบที่ Vale de Romeiras มาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตามหากมีความสนใจ สามารถอ่านบทความวิจัยเพื่อดูกระบวนการศึกษาและผลวิจัยอย่างละเอียดได้ทาง ลิ้งนี้
References :
- Metcalfe,T.(March 16,2022).World’s oldest mummy found in Portugal.livescience.Retrieved 21 March 2022,https://www.livescience.com/oldest-human-mummy-found-portugal
- Peyroteo-Stjerna, R., Nilsson Stutz, L., Mickleburgh, H., & Cardoso, J. (2022). Mummification in the Mesolithic: New Approaches to Old Photo Documentation Reveal Previously Unknown Mortuary Practices in the Sado Valley, Portugal. European Journal of Archaeology, 1-22. doi:10.1017/eaa.2022.3