FRIART ศิลป์ศุกร์สนุกดี Ep.11 กลับมาแล้ว… เข้าเดือนแห่งสตรีสากลเลยทำให้นึกถึงพลังของผู้หญิงในโลกโบราณ
ในเสวนา “เรื่องของจิ๋ม: สตรีนิยมในอดีต” บน Clubhouse เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เราได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานะของเหล่าเทพีในคณะโอลิมเปี้ยน เทพเจ้าทั้ง 12 องค์ของวัฒนธรรมกรีก-โรมันที่ดำรงสถานะสูงสุดในบรรดาเทพทั้งปวง
- เฮรา (Hera) เทพีแห่งการแต่งงาน การครองเรือนและการให้กำเนิด
- ดีมีเทอร์ (Demeter) เทพีแห่งธัญพืชและการเพาะปลูก
- อาธีน่า (Athena) เทพีแห่งการศึกและปัญญา
- อาร์เทมีส (Artemis) เทพีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์
- อะโฟรไดธี (Aphrodite) เทพีแห่งความรักและกามารมณ์
- เฮสเทีย (Hestia) เทพีแห่งเตาไฟและครอบครัว
แต่สถานะของเทพีทั้ง 6 ไม่ได้มีความสำคัญแต่เพียงในแง่ของเรื่องภายในบ้านหรือครอบครัวเท่านั้น สองเทพีองค์สำคัญอย่างอาธีน่าและอาร์เทมีสยังเป็นตัวแทนของกิจกรรมนอกบ้าน ได้แก่การล่าสัตว์และการศึกสงครามอย่างเด่นชัด ในกรณีของอาธีน่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่งยวดคือเธอทำหน้าที่ใกล้เคียงกับเอเรส (Ares) เทพแห่งสงครามอย่างชัดเจน

ความแตกต่างระหว่างเทพีแห่งการศึกและเทพสงครามทั้งสององค์คงอยู่ที่ผลแพ้ชนะของสงคราม เพราะตามตำนานต่างๆ เทพเอเรสแทบไม่เคยได้ประกาศชัยชนะกับเขาเสียเท่าไหร่ ในขณะที่อาธีน่ารบกับผู้ใดก็มักจะชนะเสมอ
อาธีน่ายังขึ้นแท่นเป็นลูกรักของเทพบิดรซุส (Zeus) แบบไม่มีใครเทียบ เพราะนับตั้งแต่การปรากฏตัวครั้งแรกของเทพีก็เหมือนจากได้ส่วนดีๆ จากพ่อไปเกือบหมด เริ่มตั้งแต่การกำเนิดที่พิสดารกว่าใคร เมื่อคราวหนึ่งซุสเกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรงจนต้องให้เทพวัลเคน (Vulcan) เทพแห่งการช่างมาผ่าหัวของตนออก ก็ปรากฏเป็นเทพีในร่างเจริญวัยออกมาพร้อมกับชุดศึก (เรียกว่าผ่ากบาลพ่อมาเกิดอย่างแท้จริง)

อาธีน่าเป็นเทพีแห่งการศึกสงครามรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ทั้งยังเป็นตัวแทนแห่งปัญญาอีกด้วย ทำให้ในการศึกนักรบจำต้องมีการบรวงสรวงขอชัยชนะจากเทพีองค์นี้ และเมื่อเป็นลัญญะแห่งปัญญาอาธีน่าจึงถุกนำมาใช้เพื่อการสื่อสารถึงความเจริญทางปัญญาอยู่เนืองๆ
ในช่วงการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) อาธีน่ามักถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความคิด ความรู้แจ้ง และปัญญาที่เอาชนะความเขลา ดังเช่นภาพของจิตรกรชาวอิตาเลียน Sandro Botticelli (c. 1445 – May 17, 1510) ที่วาดภาพชื่อว่า “Pallas and the Centaur” อาธีน่ายืนจับหัวของเซนธอร์ (คนครึ่งม้าในตำนานของกรีก) ที่กำลังจะง้างคันธนูเพื่อโจมตีเทพีแห่งการศึก เซนธอร์เหมือนภาพแทนของแรงขับทางธรรมชาติที่ขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณ ในขณะที่อาธีน่าคือปัญญา การฉุดรั้งเช่นนี้เป็นการสื่อถึงการเอาชนะกิเลสด้วยปัญญานั่นเอง บนชุดของอาธีน่ายังปรากฏสัญลักษณ์ตราประจำตระกูล Medici ชนชั้นสูงของฟลอเรนซ์ พร้อมลายเถาต้นลอเรน สัญลักษณ์แห่งชัยชนะ มีความหมายพ้องสื่อถึงชื่อของ Lorenzo de’ Medici ผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของแวดวงศิลปะในสมัยนั้นด้วย

Tempera on Canvas, 207 x 148 cm., Uffizi Gallery, Florence.
ผู้เขียน : MM [Editor] คอลัมภ์ FRIART ศิลป์ศุกร์สนุกดี เผยแพร่ทาง Archaeo GO |
Featured Image : Hercules and Minerva Expelling Mars (1630s -1640s) by Victor Wolfvoet

