อาเบะ โนะ เซย์เมย์ | ประวัติและตำนานนักเวทย์อนเมียวจิ

คนชอบวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ของญี่ปุ่นย่อมต้องเคยได้ยินชื่อ “อาเบะ โนะ เซย์เมย์” กันมาบ้าง เพราะเป็นบุคคลที่ถูกผลิตซ้ำในสื่อร่วมสมัยหลายครั้ง มีทั้งในรูปแบบของมังงะ อนิเมะ เกม และนิยาย แม้แต่ในปี 2023 ทางแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าใหญ่อย่าง Netflix ก็ปล่อย “อนเมียวจิ” อนิเมะที่มีตัวเอกเป็นจอมขมังเวทย์คนนี้ แต่อนเมียวจิและอาเบะ โนะ เซย์เมย์ เป็นใคร? บทความนี้จะพามารู้จักชายผู้มีหลายใบหน้า ท้าทายให้คุณมาค้นหาเรื่องราวความจริงในเอกสารประวัติศาสตร์ของเขากันแบบจุใจ

จอมขมังเวทย์ญี่ปุ่นนามว่าอาเบะ โนะ เซย์เมย์นี้เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ช่วงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 10 ของญี่ปุ่น ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมตำนานต่างๆ ว่าเป็นศิษย์ของคาโมะ โนะ ทาดายุกิ [賀茂忠行] และคาโมะ โนะ ยาสึโนริ [賀茂 保憲] ก่อนจะก้าวมาเป็นโหราจารย์แห่งราชสำนักญี่ปุ่น ดูแลเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ เวทมนตร์คาถา ศาสตร์การทำนายทายทัก โดยได้มีการเขียนตำราโหราศาสตร์กับการทำนายไว้จำนวนหนึ่ง

แต่แรกเริ่มชีวิตความเป็นมาของเขาถูกเขียนในลักษณะตำนานมากกว่าข้อเท็จจริงที่ผสมปนเปกันทำให้การจะแยกชีวิตของเขาออกจากตำนานเป็นเรื่องยาก แต่ทางเราสามารถจัดแบ่งช่วงชีวิตและประเด็นสำคัญของเขาออกมาเป็นหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้

ภาพอาเบะ โนะ เซย์เมย์ [ 安倍晴] วาดโดยโฮคุชิ [北紫] © The Trustees of the British Museum

อาเบะ โนะ เซย์เมย์เป็นใคร?

อาเบะ โนะ เซย์เมย์ [安倍 晴明] คือบุคคลในตำนานและประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่มีอายุอยู่ในระหว่างค.ศ.921-1005 ตรงกับยุคเฮอัน เขาเป็น “อนเมียวจิ” [陰陽師] หรือปรมาจารย์ด้าน “อนเมียวโด” [陰陽道] ซึ่งเป็นศาสตร์เกี่ยวกับการพยากรณ์และพิธีกรรม คำว่าอนเมียวโดหมายถึงวิถีของหยินและหยาง เราอาจมองว่าวิชาอนเมียวโดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดปรัชญาเต๋าและโหราศาสตร์ของชาวจีนก็ได้

แนวความคิดของวิชาอนเมียวโดนั้นครอบคลุมถึงศาสตร์ด้านโหราศาสตร์ (Astrology), ดาราศาสตร์ (Astronomy),พยากรณ์ศาสตร์ (Divination), กาลานุกรม (Almanac) คือการจัดทำปฏิทินเพาะปลูก พยากรณ์อากาศและคาดคะเนปรากฏการณ์ทางธรรมชาติโดยจัดทำเป็นตารางรายปี และแน่นอนคือเวทมนตร์คาถา (Magic)

งานต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นถูกรวมไว้เป็นหน้าที่ของกรมการพยากรณ์ (Bureau of Divination) เรียกว่า “อนโย-เรียว” [陰陽寮] แบ่งเป็นหน่วยงานย่อย 4 กลุ่มที่ทำหน้าที่ 1.การพยากรณ์ 2.งานปฏิทิน 3. งานดาราศาสตร์และอุตุนิยมวิทยา (meteorology) 4. การวัดและกำหนดเวลา (time measurement and scheduling) งานของคนในกรมการพยากรณ์ยังรวมถึงการตีความความฝันของข้าราชการในราชสำนัก การทำพิธีชำระล้างปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย (Purification ceremonies) กำหนดวันมงคล และทำพิธีไล่ภูตผี

คนในอนโย-เรียวนี้มักเป็นคนที่มาจากตระกูลอาเบะและคาโมะ ด้วยความเชื่อที่ว่าพวกเขามีความสามารถเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับ ภาพลักษณ์ทางความเชื่อของอนเมียวจิจึงถูกมองว่าเป็นพ่อมดหมอผีที่ทรงพลัง สามารถจัดการกับเหล่าโยไคและปราบวิญญาณชั่วร้าย ไปจนถึงสามารถร่ายเวทย์เพื่อทำร้ายหรือฆ่าคนก็ได้

บันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอาเบะ โนะ เซย์เมย์ให้ข้อเท็จจริงว่าเขาเป็นเพียงขุนนางระดับกลางในกรม ผู้ที่ทำหน้าที่รับใช้ราชสำนักจนค่อยๆ ไต่เต้ามาจนถึงการเป็นขุนนางและนักอนเมียวจิระดับสูง หนทางสู่อำนาจของเขาอาจไม่ได้ราบรื่นนัก แต่ด้วยอาศัยช่วงชีวิตอันยาวนานก็ทำให้เกิดเรื่องราวมากพอจะเป็นที่รู้จักกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

และเรื่องราวตลอดช่วงชีวิตของเขานั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวมหัศจรรย์พันลึกที่ถูกบันทึกลงในพงศาวดารที่เขียนโดยปราชญ์หลากหลายนาม ผู้รังสรรค์ตำนานขอองอาเบะ โนะ เซย์เมย์ตั้งแต่การเกิดจนถึงบั้นปลายชีวิตเลยทีเดียว

โฆษณา

เซย์เมย์ผู้มีมารดาเป็นจิ้งจอก

เราทราบจากข้อมูลพงศาวลีของตระกูลอาเบะที่ถูกเขียนไว้ในหนังสือซมปิบุนเมียะขุ [尊卑分脈] สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 ว่าอาเบะ โนะ เซย์เมย์เสียชีวิตเมื่ออายุ 85 ปีเมื่อค.ศ.1005 หากยึดเอาจากบันทึกการตายนี้ก็ประมาณได้ว่าเขาเกิดในปีเอนกิ [延喜] ที่ 21 (ค.ศ.921)

ภาพพิมพ์เล่าเรื่องอาเบะ โนะ ยาสุนะ มาพบร่างจริงของคุซุโนฮะ โดยมีเซย์เมย์สมัยเด็กอยู่มุมหนึ่ง ทำให้คุซุโนฮะจำใจต้องจากลูกที่ยังเด็กไปในที่สุด© The Trustees of the British Museum

เรื่องราวของอาเบะ โนะ เซย์เมย์ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารที่ดูมีความเป็นตำนานมากกว่าเรื่องจริง บันทึกที่พูดถึงอาเบะ โนะ เซย์เมย์มาจากต้นฉบับหนังสือคนจะกุ โมโนกาตาริชู [今昔物語集] ที่รวบรวมตำนานต่างๆ ของสมัยเฮอัน เขียนขึ้นราวค.ศ.794–1185 และเอกสารสมัยคามาคุระอย่างอุจิ ชูอิ โมโนกาตาริ [宇治拾遺物語] อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 13

หนึ่งในเรื่องราวที่โด่งดังเกี่ยวกับตัวเขาคือการที่มีมารดาเป็นนางจิ้งจอกหรือคิทสึเนะ ด้วยบิดาของเขาอาเบะ โนะ ยาสุนะ [安倍 保名] ได้เคยช่วยชีวิตจิ้งจอกตัวหนึ่ง และจิ้งจอกตัวนั้นได้กลายร่างเป็นหญิงงามนามว่า “คุซุโนฮะ” [葛の葉] พวกเขาทั้งสองได้ครองรักกันและให้กำเนิดเด็กชายลูกครึ่งมนุษย์กับโยไคนามว่า “โดจิ” ผู้ภายหลังจะได้ชื่อว่า “เซย์เมย์” นั่นเอง

วันหนึ่งเมื่อเขาอายุ 5 ปี โดจิหรือเซย์เมย์ได้ทันสังเกตเห็นหางของมารดาซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโยไคจิ้งจอก เมื่อความลับถูกเปิดเผย คุซุโนฮะจึงจำใจต้องบอกลาบุตรชายและได้ออกจากบ้านไป โดยทิ้งให้อาเบะ โนะ เซย์เมย์อยู่ในการดูแลของบิดา

ด้วยความเชื่อที่ว่ามีมารดาเป็นโยไค ทำให้เซย์เมย์มีความสามารถพิเศษในเรื่องการมองเห็นสิ่งเหนือธรรมชาติ ดังเรื่องราวในตอนเด็กอีกเรื่องที่มาจากคนจะกุ โมโนกาตาริชูเช่นเดียวกันได้เล่าถึงคราหนึ่งที่เขาได้เดินทางไปกับอาจารย์ของเขาที่มีนามว่า คาโมะ โนะ ทาดะยูกิ [賀茂忠行] ขณะที่พวกเขากำลังเดินทางผ่านเมืองหลวง ทาดะยูกินั้นได้ผล็อยหลับอยู่ภายในเกวียน เซย์เมย์ก็ได้มองเห็นกลุ่มโอนิกำลังตรงเข้ามาในทิศทางที่พวกเขาพักอยู่ จึงได้พยายามปลุกให้ทาดะยูกิรู้สึกตัวและได้ร่ายมนตร์บดบังไม่ให้โอนิเหล่านั้นมองเห็นพวกเขา หลังจากเหตุการณ์นั้นเอง คาโมะ โนะ ทาดะยูกิเกิดประทับในใจความสามารถพิเศษของเซย์เมย์และได้รับเข้ามาเป็นศิษย์ในการดูแลของตน

โฆษณา
ภาพวาดของอาเบะ โนะ เซย์เมย์ อายุราวคริสต์ศตวรรษที่15
Public domain, via Wikimedia Commons

ผู้แตกฉานในศาสตร์แห่งอนเมียวโด

หลังจากที่คาโมะ โนะ ทาดะยูกิเสียชีวิตลง ผู้ที่มารับช่วงต่อคือบุตรชายนาม คาโมะ โนะ ยาสุโนริ [賀茂 保憲] และกลายมาเป็นปรมาจารย์สั่งสอนเซย์เมย์ สำหรับยาสุโนรินั้นได้รับตำแหน่งในกรมอนโยเรียวเป็น “เท็นมง ฮากาเสะ” [天文博士] คือปราชญ์แห่งดาราศาสตร์ที่จะมีได้เพียงผู้เดียวเท่านั้นในแต่ละสมัย ทั้งยังถูกขนานนามว่าปรมาจารย์แห่งศาสตร์ทั้งสาม หรือ “ซันโด ฮากาเซะ” [三道博士] หมายถึงผู้ชำนาญวิชาหยิน-หยางในด้านการทำนาย, ดาราศาสตร์ และปฏิทิน เขายังถูกเชิดชูในบันทึกชื่อซาเซกิ [左経記] ของมินาโมโตะ โนะ ทสึเนโยริ [源経頼] ผู้มีชีวิตหลังสมัยของยาสุโนริราวๆ 50 ปี ว่า “ในญี่ปุ่นนั้น รากฐานของอนเมียวโดถูกวางไว้โดยยาสุโนริ” กล่าวได้ว่าคาโมะ โนะ ยาสุโนรินั้นเป็นที่รู้จักและยอมรับในหมู่ชนชั้นสูงว่าเป็นยอดคุรุอนเมียวจิแห่งยุคเฮอัน

การที่อาเบะ โนะ เซย์เมย์มีโอกาสเล่าเรียนกับยอดปรมาจารย์ส่งผลให้ในภายหลังเขาก็ได้รับตำแหน่งเท็นมง ฮากาเสะต่อจากอาจารย์อย่างคาโมะ โนะ ยาสุโนริในสิ้นปีเทนโรคุ [天禄]ที่ 3 (ค.ศ.972) และดูเหมือนว่าตำแหน่งดังกล่าวจะกลายเป็นสิ่งที่ส่งต่อสืบทอดกันต่อไปในตระกูลอาเบะ

บันทึกของขุนนางชื่อฟูจิวาระ โนะ ยูกินาริ [藤原行成] ชื่อว่า “กนกิ” [権記] ให้ข้อมูลว่าในปีโชโฮ [長保] ที่ 2 (ค.ศ.1000) อาเบะ โนะ เซย์เมย์ได้เข้ามารับหน้าที่ปลัดกระทรวงพิธีการ (Ministry of Ceremonies) เรียกว่า “ชิคิบุ ไทฟุ” [式部大輔] กระทรวงพิธีการหรือชิคิบุ-โช [式部省] มีหน้าที่ควบคุมดูแลพิธีการต่างๆ ของราชสำนักและพระจักรพรรดิ ตำแหน่งดังกล่าวของเซย์เมย์จัดว่าเป็นใหญ่รองลงมาจากเจ้ากระทรวงเท่านั้น และการเข้ามารับหน้าที่ก็เป็นไปเพราะเจ้ากระทรวงนั้นมิสามารถมาประกอบพิธีกรรมด้วยเหตุบางประการ ด้วยเฟตุนี้เองเซย์เมย์จึงไม่ได้มีชีวิตอยู่ในฐานะนักเวทย์อนเมียวจิแต่ยังเป็นข้าราชการด้วย

ในเมื่อเป็นข้าราชการ เซย์เมย์จึงได้รับผลตอบแทนเช่นเดียวกับขุนนางในระบอบริสึเรียวคนอื่นๆ ตามลำดับขั้น เอกสารเกี่ยวกับกรมภาษีอากรได้กล่าวว่าอาเบะ โนะ เซย์เมย์ในปีโชโฮที่ 4 (ค.ศ.1002) ดำรงตำแหน่งขุนนางอันดับสี่ชั้นโทระดับล่าง (Junior Fourth Rank, Lower Grade) ได้รับเงินรายปีเป็นข้าวจำนวน 361 โคคุ [石] นอกจากนี้แล้วยังมีรายได้จากศักดินา โดยระดับนี้จะได้รับที่นา 20 โจ [町] หรือราวๆ 50 เอเคอร์ ผลผลิตที่ได้จากที่นานี้ประมาณ 380 โคคุ ศักดินานี้อาจมีการเพิ่มขึ้นตามตำแหน่งและยศของขุนนางได้อีก อย่างเมื่อเซย์เมย์มีตำแหน่งเฉพาะอย่างเท็นมง ฮากาเสะ เขาก็จะได้รับที่นาเพิ่มอีก 4 โจ (ประมาณ 10 เอเคอร์) รวมๆ เฉพาะรายได้ 2 ทางนี้ก็ตกปีละ 741 โคคุ

อาเบะ โนะุ เซย์เมย์ทำพิธีปัดเป่าเทพแห่งโรคระบาด ด้านซ้ายบนของภาพคือรูปชิกิงามิของเขา, ภาพจากหนังสือนาคิ ฟุโด เอ็นกิ [泣不動縁起]
Credit : https://faculty.humanities.uci.edu/sbklein/images/RELIGION/taoism/abenoseimei.htm

การทำพิธี “เฮนไบ” [反閇] ครั้งแรก

หากยึดข้อมูลจากพงศาวลีตระกูลอาเบะ ในช่วงอายุประมาณกว่า 50 ปีของอาเบะ โนะ เซย์เมย์ มีการริเริ่มพิธีกรรมที่เรียกว่า “เฮนไบ” [反閇] ครั้งแรกที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ โดยปรากฏอยู่ในบันทึกกนกิ กล่าวถึงอาเบะ โนะ เซย์เมย์ผู้มีวิชาอนเมียวโดเป็นเอก [ 道ノ傑出者] ได้ประกอบพิธีกรรมนี้ในวันที่ 11 ของเดือน 10 ปีโชโฮที่ 2 รัชสมัยของจักรพรรดิอิจิโจ [一条天皇] เนื่องมาจากพระราชวังหลวงเกิดเพลิงไหม้จนเสียหาย ส่งผลให้พระจักรพรรดิต้องเสด็จแปรพระราชฐานในประทับที่อื่นเป็นการชั่วคราวระหว่างรอคอยการบูรณะสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ ครั้งเมื่อพระองค์จะเสด็จกลับมาประทับยังวังหลวงแห่งใหม่ ก็ได้มีการทำพิธีเฮนไบเป็นหนแรก โดยพิธีดังกล่าวประกอบด้วยการโปรยเมล็ดข้าวหรือซันกุ [散供] เป็นส่วนหนึ่ง

แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับพิธีเฮนไบนี้คือการเดินก้าวเท้าตามรูปแบบเฉพาะพร้อมกับการร่ายมนตร์คาถา ซึ่งอาจใช้เป็นการบวงสรวงปัดเป่าสิ่งไม่ดีก่อนการย้ายเข้ามาอยู่ในสถานที่ก่อสร้างใหม่ ไปจนถึงการทำเพื่อขจัดภัยที่อาจมากล้ำกรายผู้คนที่ต้องเดินทางไกลหรือย้ายไปอยู่ในที่มีชื่อเสียงในทางอโคจร เนื่องจากคนยุคเฮอันมองว่าสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ นั้นมักเต็มไปด้วยภูตผีปีศาจมาสิงสู่จึงต้องมีการปัดเป่าชำระให้บริสุทธิ์ก่อนเข้าอยู่ รวมถึงที่อยู่อาศัยที่เจ้าของบ้านนั้นจากไปหรือทิ้งร้างเอาไว้นานก็จำเป็นต้องมีการประกอบพิธีอย่างเดียวกันเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว

โดยปกติแล้วพิธีกรรมในลักษณะนี้ถือเป็นหน้าที่ของกรมอนโยเรียว แต่หนนี้กลับมีอาเบะ โนะ เซย์เมย์ผู้ที่ไม่ได้สังกัดกรมฯ ดังกล่าวแต่ได้เข้ามาเป็นผู้นำพิธีในฐานะปลัดกระทรวงพิธีการโดยฉับพลันเพื่อทำหน้าที่แทนเจ้ากระทรวง อาจเป็นเพราะเซย์เมย์มีสายสัมพันธ์ที่ขึ้นตรงต่อพระจักรพรรดิอันเนื่องมาจากการเป็นผู้ที่มีความสามารถโดดเด่นในด้านนี้จนเป็นที่ยอมรับ ทำให้เขามีโอกาสมาเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมนี้แม้ว่าเดิมตนเองจะยังไม่ได้อยู่ในสังกัดก็ตาม จนในที่สุดเขาก็มีที่ทางในฐานะนักเวทย์ที่ทำงานให้กับราชการตามที่ปรากฏบทบาทในช่วงสมัยหลัง

สำหรับองเมียวจิที่มีตำแหน่งทางราชการมีชื่อเรียกว่า “คันจิน อนเมียวจิ” [官人陰陽師] แต่ไม่ใช่นักเวทย์ทุกคนที่จะสังกัดหลวง ยังมีผู้ใช้วิชาอนเมียวอีกประเภทที่เรียกว่า “โฮชิ อนเมียวจิ” [法師陰陽師] เป็นสายนักพรตซึ่งมาจากกลุ่มนักบวชในพุทธศาสนา เพียงแต่ไม่ได้สังกัดกระทรวงอนเมียว หนึ่งในคู่ปรับคนสำคัญของอาเบะ โนะ เซย์เมย์เองก็เป็นนักบวชในกลุ่มโฮชิ อนเมียวจิอย่าง “ฮาชิยะ โดมัน

โฆษณา

การประชันฝีมือกับฮาชิยะ โดมัน และฮาชิฮิเมะ

ตำนานที่โด่งดังอย่างหนึ่งที่ถูกนำเสนอบ่อยครั้งในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับช่วงผู้ใหญ่ คือการปะทะกันของอนเมียวจิที่โด่งดังทั้งสองคืออาเบะ โนะ เซย์เมย์กับฮาชิยะ โดมัน คนหนึ่งคืออนเมียวจิสังกัดรัฐ อีกคนคือสายนักพรตที่ไม่มีสังกัด ฮาชิยะ โดมัน [蘆屋道満]

ตามเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งฮาชิยะ โดมันได้ยินกิตติศัพท์ของอาเบะ โนะ เซย์เมย์จึงได้ขอท้าประลอง หากฝ่ายใดแพ้ก็จะต้องฝากตัวเป็นศิษย์ของผู้ชนะ พระจักรพรรดิจึงรับสั่งให้มีการประลองโดยใช้วิธีนำผลส้ม 16 ผลไปซ่อนไว้ในกล่องใบหนึ่ง แล้วจึงให้ผู้ประลองตอบมาว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในกล่อง

ฮาชิยะ โดมันมองกล่องอยู่ชั่วเวลาหนึ่งก่อนจะตอบว่าในกล่องนั้นมีผลไม้อยู่ 16 ลูก แต่เซย์เมย์กลับตอบว่ามีหนูอยู่ในกล่อง 16 ตัว ทำให้พระจักรพรรดิและขุนนางที่ชื่นชมเขารู้สึกผิดหวัง แต่ในตอนที่เปิดกล่องออกมาทุกคนกลับต้องตะลึง เพราะแทนที่จะมีส้ม 16 ผล มันกลับกลายเป็นหนู 16 ตัว ทำให้รู้ว่านอกจากเซย์เมย์จะสามารถทำนายหรือมองเห็นของในกล่องลับแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ข้างในได้ด้วย แน่นอนว่าเมื่อผลเป็นเช่นนี้ฮาชิยะ โดมันจึงเป็นฝ่ายกลายเป็นศิษย์ของอาเบะ โนะ เซย์เมย์ไปโดยปริยาย

นอกจากเรื่องการปะทะกันกับฮาชิยะ โดมันแล้ว อีกเรื่องราวที่กล่าวอ้างถึงเขาก็ปรากฏในละครโนห์ (Noh) เรื่อง “คานาวะ” ซึ่งเล่าถึงฮาชิฮิเมะ หญิงสาวที่มีความแค้นคนรักจนกลายเป็นโยไคและต้องการเอาชีวิตของชายคนนั้น แต่ในที่สุดแล้วเซย์เมย์จอมขมังเวทย์ก็ได้มาช่วยเหลือและคลี่คลายเรื่องให้จบลงด้วยดี

หากใครต้องการอ่านเรื่องของโยไคโดยเฉพาะ “ฮาชิฮิเมะ” สามารถคลิกที่ลิ้งด้านล่างเพื่อไปอ่านเนื้อหาเต็มๆ ของทางเว็บเราได้เลย!


อ่านเรื่องตำนาน “ฮาชิฮิเมะ” ได้ที่…

ผู้ใช้ชิกิงามิ [式神]

ตามตำนานกล่าวว่าเซย์เมย์และองเมียวจิมีวิชาที่ใช้ควบคุมสิ่งเหนือธรรมชาติโดยนำมาเป็นข้ารับใช้เรียกว่า “ชิกิงามิ” [式神] ซึ่งจะนำเอาภูตผีปีศาจมาผูกกับเจ้านายเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจตามปรารถนาของผู้ใช้ ชิกิงามิสามารถทำตามคำสั่งของเจ้านายได้ตั้งแต่เรื่องดีๆ ไปจนถึงเรื่องที่เลวร้าย ทำได้ตั้งแต่เรื่องเล็กจนถึงเรื่องใหญ่ สามารถสร้างโรคภัยไข้เจ็บให้กับคนหรืออาจเรียกว่าเป็นภูติพิทักษ์ส่วนตัวของอนเมียวจิก็ได้

อนเมียวจิสามารถสร้างชิกิงามิขึ้นมาจากมนต์คาถาที่ซับซ้อน การเสกเป่าให้ยันต์กระดาษหรือไม้กลายเป็นภูติรับใช้ หรืออาจเป็นการจับเอาโยไคหรือโอนิที่ถูกปราบมาเป็นชิกิงามิ ว่ากันว่าอาเบะ โนะ เซย์เมย์มีชิงามิของตนเองถึง 12 ตน คนปกติไม่สามารถมองเห็นชิกิงามิได้ แต่การไปเยือนคฤหาสน์ของยอดนักอนเมียวจิคนนี้ก็อาจทำให้เรามีโอกาสได้สัมผัสการทำงานของภูติรับใช้เหล่านี้หรืออาจมีโอกาสมองเห็นในยามกลางคืน ว่ากันว่าภรรยาของอาเบะ โนะ เซย์เมย์รู้สึกว่าพวกมันน่ากลัวจึงขอให้เซย์เมย์นำพวกมันออกไป ชิกิงามิทั้ง 12 ตนจึงถูกบรรจุลงในกล่องหินและซ่อนไว้ใต้สะพาน “อิจิโจ โมโดริบาชิ” [一条戻橋] ซึ่งยังมีอยู่ในปัจจุบัน

ภาพเซย์เมย์ประกอบพิธีกรรมจากหนังสือ ฟุโด ริยาคุ เอ็นกิ [不動利益縁起], คริสต์ศตวรรษที่ 14
Public domain, via Wikimedia Commons

เราอาจกล่าวได้ว่าเรื่องราวของอาเบะ โนะ เซย์เมย์นั้นไม่เคยถูกลืมเลือนไปจากสังคมญี่ปุ่น ตำนานของเขายังเป็นที่นิยมและถูกนำมาสร้างศิลปะมากมาย รวมถึงนาฏกรรมแบบต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงยุคเอโดะที่ผู้คนชื่นชอบเรื่องราวของโยไคกับปรากฏการณ์ประหลาด แต่ไม่เคยมียุคไหนที่ความนิยมในตัวเขาจะพุ่งถึงจุดสูงสุดเท่าช่วงยุคเฮย์เซย์ ในทศวรรษ 1990s – 2000s เมื่ออาเบะ โนะ เซย์เมย์ถูกเล่าผ่านสื่อประเภทนวนิยายและมังงะในรูปแบบของจอมขมังเวทย์หนุ่มรูปงาม ไปจนถึงการถูกจับคู่จิ้นกับสหายขุนนางอีกคนคือมินาโมโตะ โนะ ฮิโรมาสะ [源 博雅] บุคคลทางประวัติศาสตร์สมัยเดียวกันในนิยายของยูเมมาคุระ บาคุ [夢枕 獏] เรื่องอนเมียวจิ ไปจนถึงผลงานมังงะแนวบิโชเน็นของโอคาโนะ เรย์โกะ [岡野 玲子] จากงานต่างๆ ในระยะหลังนี้ยังสร้างภาพจำใหม่เกี่ยวกับอาเบะ โนะ เซย์เมย์ที่ส่งผลให้เกิดกระแสความบูมเรื่องอนเมียวจิ สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเขาหลายแห่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังขึ้นมา เช่นศาลเจ้าอนเมียวโดต่างๆ โดยเฉพาะศาลเจ้าเซย์เมย์ [晴明神社] ที่แม้ไม่ได้อยู่ในย่านการท่องเที่ยวขอองเมืองเกียวโตก็กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เป็นแฟนคลับเซย์เมย์ได้หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย

ในช่วงปีค.ศ.2018 นักสเก็ตลีลาชายเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกคนดังอย่างฮานิว ยูซุรุ [羽生 結弦] ได้นำเพลงประกอบจากภาพยนตร์อนเมียวจิไปจัดแสดงในการแข่งขันโอลิมปิกที่เปียงยาง และได้รางวัลเหรียญทองประเภทชายเดี่ยวมาครอบครองอีกด้วย

ดังที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ปลายปีค.ศ.2023 แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งดังอย่าง Netflix ก็ยังปล่อยซีรีส์อนิเมชั่นแฟนตาซีเกี่ยวกับอาเบะ โนะ เซย์เมย์พร้อมคู่จิ้นมินาโมโตะ โยริมาสะออกมาให้แฟนๆ ได้รับชมกันอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ “Onmyoji” เป็นเสมือนอีกการชุบชีวิตให้เซย์เมย์ไม่ขาดไปจากกระแสโลกยุคใหม่ได้อย่างง่ายดาย

จนถึงทุกวันนี้แม้จะอยู่นอกประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับผู้สนใจในกระแสป๊อปคัลเจอร์โดยเฉพาะมังงะและอนิเมะญี่ปุ่นย่อมต้องเคยได้ยินชื่อของอาเบะ โนะ เซย์เมย์ติดหูกันมาบ้างแม้ว่าอาจจะไม่ได้สามารถเล่ารายละเอียดชีวิตของเขาที่ถูกบันทึกว่ามีชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10-11 ได้ชัดเจน แต่ก็ยังทราบดีว่าเขาคือตำนานจอมขมังเวทย์ที่มีชื่อเสียงในศาสตร์อนเมียวโด และยังคงมีเสน่ห์ในสายตาคนดูอยู่ไม่เสื่อมคลาย

References :

  • Foster, Michael Dylan.(2015). The Book of Yōkai: Mysterious Creatures of Japanese Folklore.Oakland: University of California Press.
  • Makoto, H., Hayek, M., & 林淳. (2013). Editors’ Introduction: Onmyōdō in Japanese History. Japanese Journal of Religious Studies, 40(1), 1–18. http://www.jstor.org/stable/41955528
  • Meyer, M. (2015).The Hour of Meeting Evil Spirits: An Encyclopedia of Mononoke and Magic (Yokai)
  • Miller, Laura. (2010). Extreme Makeover for a Heian-Era Wizard. Mechademia. 3. 30-45. 10.1353/mec.0.0034.
  • Shigeta, S., 繁田信一, & Thompson, L. (2012). Onmyōdō and the Aristocratic Culture of Everyday Life in Heian Japan. Cahiers d’Extrême-Asie, 21, 65–77. https://www.persee.fr/doc/asie_0766-1177_2012_num_21_1_1391
  • Shinʾichi, S., Sekimori, G., & 繁田信一. (2013). A Portrait of Abe no Seimei. Japanese Journal of Religious Studies, 40(1), 77–97. http://www.jstor.org/stable/41955531

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.