เงือกแห่งอะเมซอน…ตำนานที่(อาจ)ทำให้เกิด “ฆีบาโร”

ไม่มีอะไรจะร้อนแรงในซีซั่นที่ 3 ของ Love, Death and Robots เท่ากับ “ฆีบาโร” ซึ่งกลายเป็นไวรัลทันทีที่ได้ฉายบนแพลตฟอร์มของ Netflix หลังจากที่ผู้สร้างเคยฝากผลงานรางวัลใน Vol.1 เรื่อง The Witness แม้จะดูเป็นงานแฟนตาซีที่ไม่ได้อิงบนวัฒนธรรมใด แต่ก็ยังพอสืบค้นที่มาและแรงบันดาลใจที่ใกล้เคียงกันได้จากตำนานท้องถิ่นของแถบละตินอเมริกา

ไซเรนและนางเงือกเป็นตำนานที่พบเป็นวัฒนธรรมร่วมกันทุกทวีป แตกต่างกันไปในรายละเอียดและมุมมองของท้องถิ่น แต่มักพบลักษณะร่วมคือเป็นอมนุษย์ที่อาศัยในน้ำ อาจมีหางปลา มีพลังวิเศษในการใช้เสียงที่ล่อลวงผู้คน สำหรับทวีปอเมริกาโดยเฉพาะภูมิภาคละตินอเมริกายังปรากฏเรื่องเล่าเกี่ยวกับนางเงือกมากมาย นั่นทำให้ใครที่อาจเคยได้ยินอาจจะสัมผัสได้จากความคล้ายคลึงบางอย่างจากแอนิเมชั่นตอนหนึ่งจากแพลตฟอร์มเนตฟลิกซ์ “Love, Death and Robots” (กลไก หัวใจ ดับสูญ) Volume 3 ชื่อเรื่อง “ฆีบาโร” (Jibaro)

© Netflix

ความงดงามของเทคนิค CGI Animation สร้างความตกตะลึงและมนต์สะกดผู้ชมให้หลงในความงามของไซเรนสาวผู้มีกายแต่งแต้มไปด้วยอัญมณีและของล้ำค่ามากมาย ยังไม่นับท่วงท่าที่ทำเอาเราต้องคอยจับจ้องว่าเธอจะพาเราไปพบเรื่องราวอย่างไรต่อ และเมื่อชมจนจบแล้วก็อดคิดต่อไปไม่ได้ว่าที่มาของไอเดียในการสร้างเรื่องราวของผู้กำกับได้รับอิทธิพลจากสิ่งใด จึงได้ลองเขียนมาเล่าให้อ่านกันดู

© Netflix

ก่อนอื่นเราควรทวนเนื้อเรื่องย่อกันสักนิด ฆีบาโรเป็นเรื่องราวของกองอัศวินที่กำลังเดินทางผ่านป่าแห่งหนึ่ง เมื่อผ่านน้ำตกสูงซึ่งมีบึงน้ำขนาดใหญ่ก็ปรากฏสตรีแต่งกายคล้ายชุดชนเผ่าที่ประดับด้วยทองคำและอัญมณี ไม่นานเธอก็กรีดร้องส่งเสียงเรียกให้เหล่าอัศวินและนักบวชคลุ้มคลั่งจนเกิดการฆ่าฟันและตายตกลงมาในบึงนั้นเอง ทว่าฆีบาโร อัศวินหูหนวกผู้ไม่อาจได้ยินเสียงจึงรอดพ้นจากภัยดังกล่าวด้วยเงื่อนไขที่ไซเรนสาวไม่อาจเข้าใจได้ ทำให้เธอเริ่มพิศวงสงสัย

© Netflix

ความแตกต่างดึงดูดให้ทั้งสองเข้าหากัน ทว่าเมื่อฆีบาโรค้นพบว่ายิ่งสัมผัสร่างกายเธอยิ่งเกิดความเจ็บปวด แต่ในความเจ็บปวดนั้นมีความร่ำรวยและอำนาจแฝงอยู่ เขาสังหารไซเรนสาวระหว่างชุลมุนกัน บรรจงถอดของมีค่า แม้แต่เกล็ดทองบนผิวก็ยังถูกขอดออกไปจนหมด ร่างของไซเรนถูกโยนทิ้งลงน้ำตกเสมือนปลาตัวนึง

อัศวินขนทรัพย์สินจำนวนหนักอึ้งหมายจะออกไปสร้างฐานะ แต่ทันใดผลของการสัมผัสเลือดของไซเรนทำให้หูเขาสามารถได้ยินได้ เขารับมือกับเสียงที่เพิ่งเคยได้ยินอย่างสับสน ทันใดนั้นไซเรนก็ฟื้นจากความตาย เธอร่ำร้องด้วยความโศกเศร้าและผิดหวัง ในที่สุดเสียงที่เธอพยายามร้องให้เขาได้ยินก็กลายเป็นเสียงสุดท้ายที่ฆีบาโรจะสดับก่อนลาลับจากโลก ทิ้งกายอยู่กองอยู่กับซากศพบนกองสมบัติใต้บึงนั้น

ฟังดูก็ไม่ต่างอะไรกับตำนานนางเงือกหรือไซเรนของทางยุโรป แม้ว่าทางผู้สร้างจะยืนยันว่าเป็นการผูกเรื่องราวเพื่ออธิบายความสัมพันธ์แบบ Toxic Relationship ผ่านความแฟนตาซีและสื่อสารด้วยการเต้นแทนการสนทนา แต่พอเรามองลึกลงไปในฉาก เราจะพบว่าหนังเรื่องนี้มีความน่าสนใจในการถ่ายทอดความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการล่าอาณานิคม

“ฆีบาโร” คืออะไร?

“ฆีบาโร” (Jibaro) คือคำเรียกชนเผ่าท้องถิ่นในประเทศเปอร์โต ริโก้ (Puerto Rico) ที่ถูกหยิบมาใช้เป็นชื่อเรียกอัศวินหูหนวก มีความหมายว่าคนที่อาศัยบนภูเขา ประกอบการทำอาชีพเกษตรกรรมและเป็นคนท้องถิ่นเดิมก่อนการเข้ามาของเจ้าอาณานิคมสมัยหลัง

ไม่แน่ชัดว่าเหตุใดจึงนำคำเรียกดังกล่าวมาใช่เป็นทั้งชื่อเรื่องและชื่ออัศวินซึ่งคาดว่าเป็นชาวสเปน มีนักบวชสวมชุดคลุมแดงร่วมขบวนอยู่ด้วย บริเวณทางแถบหมู่เกาะบางส่วนและทางทวีปอเมริกาใต้เคยตกอยู่ในอาณานิคมของประเทศสเปนอยู่เนิ่นนาน ทุกอย่างดูสอดคล้องกับลักษณะทางธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นหลังของเรื่องราว ทว่าเรื่องชื่อนั้นก็ยังเป็นที่สนทนากันอยู่ว่าเหตุใดจึงเลือกใช้ฆีบาโรมาเป็นชื่อของตัวละครและเรื่องราวนี้

Las Sirenas, Iala และตำนานเงือกแห่งอะเมซอน

ภาพนางเงือกจากหนังสือ Poissons, Ecrevisses et Crabes ของ Louis Renard (c.1754)
Available online at State Library Victoria

นางเงือกที่เราคุ้นตามักมาจากทางโซนยุโรปเช่นเดียวกับงานเขียนหลายชิ้นที่ระบุถึงการค้นพบนางเงือกด้วย แต่ในทวีปอเมริกานั้นตำนานของนางเงือกและไซเรนยังพบแพร่หลายทั้งในแถบหมู่เกาะคาริบเบียนจนถึงอเมริกาใต้

ภูมิภาคทางละตินอเมริกาเองในบริเวณชุมชนที่อาศัยอยู่ติดกับลุ่มน้ำต่างๆ มักมีตำนานเล่าถึงนางเงือกหรือสิ่งเหนือธรรมชาติที่สิงสู่อยู่ใต้ผืนน้ำ โดยเฉพาะทางตลอดแม่น้ำอะเมซอนเองก็ปรากฏเรื่องเล่าว่ามีนางเงือกผู้มีผมสีทองอาศัยอยู่ใต้น้ำพร้อมทั้งคอยอารักขาขุมสมบัติอันอลังการที่ก้นแม่น้ำ ใครก็ตามที่พยายามจะนำสมบัติเหล่านั้นออกมาอาจต้องพบกับจุดจบด้วยฝีมือของนาง

Iara หรือ Uirara คือชื่อของภูตที่อาศัยในแม่น้ำอะเมซอนตามตำนานพื้นเมืองของชนเผ่าในบราซิล อาทิชาวทูปิ (Tupi) และกัวรานิ (Guaraní) ชื่อของเธอแปลว่า “เจ้าแม่แห่งน้ำ” (yîara) ในภาษาถิ่น ตามเรื่องเล่าระบุว่า อิยาร่าเป็นหญิงสาวสวยที่มีผมสีมรกต ผิวสีน้ำตาลอ่อนหรือสีทองแดงเช่นเดียวกับสีผิวของชนพื้นเมือง ดวงตามีสีน้ำตาล และมีหางคล้ายๆ กับโลมาน้ำจืด, มานาที หรือหางปลา

อิยาร่าจะนั่งสางเส้นผมและอาบแสงแดดอยู่บนโขดหิน หากนางรู้ว่ากำลังมีคนเข้ามาใกล้ก็จะเริ่มร้องเพลงสะกดให้คนเหล่านั้นอยู่ใต้มนต์ของเธอจนมนุษย์ยอมละทิ้งทุกอย่างเพื่อลงไปอยู่ใต้น้ำกับเธอตลอดไป บางตำนานกล่าวว่าอิยาร่าอาจเป็นคู่รักที่พร้อมจะมอบทุกสิ่งทุกอย่างให้กับชายที่หมายปอง แต่ในขณะเดียวกันบางตำนานก็ว่าเธอเพียงหลอกล่อชายเหล่านั้นเพื่อสังหารด้วยการจับกดน้ำ

อีกเรื่องราวของนางเงือกในแม่น้ำอะเมซอนก็คือ “ยาร่า” (Yara) ตามตำนานเล่าคล้ายคลึงกับตำนานของอิยาร่าคือเป็นเงือกสาวที่อาศัยอยู่ในน้ำ คนท้องถิ่นจึงมักจะเอ่ยเตือนกันว่ายามเดินทางกลางค่ำกลางคืนจะพายเรือก็ดี เดินเลาะตลิ่งก็ดี ให้คอยระวังหญิงสาวผมสีอ่อน ผิวสีขาว เธอจะร้องเพลงได้อย่างไพเราะเพื่อล่อลวงให้คนหลงใหล สุดท้ายก็พบจุดจบเดียวกับเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา

สังเกตได้ว่าทั้งตำนานของอิยาร่าและยาร่าจะมีความคล้ายกันในรายละเอียดของเรื่องราว แต่ที่แตกต่างคือการบรรยายลักษณะทางกายภาพของสิ่งมีชีวิตในตำนานชนิดนี้ ซึ่งอาจเป็นเพราะการได้รับอิทธิพลตำนานนางเงือกและไซเรนจากทางยุโรปเข้ามาผสมปนเปกับเทวตำนานเดิมของท้องที่ก็เป็นได้

นอกจากนี้คำว่า “y-” ในชื่อของอิยาร่าจากภาษาดั้งเดิมนั้นไม่ได้มีความหมายเฉพาะ แต่ใช้สำหรับเรียกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับน้ำ จึงยากจะระบุได้ว่าเธอมีลักษณะอย่างไรแน่ชัด ในทางหนึ่งเธออาจเป็นอมนุษย์ครึ่งคนครึ่งปลาหรือเป็นเพียงภาพลวงตาจากการปรากฏตัวของโลมาน้ำจืดและมานาทีก็ได้

ภาษาสเปนซึ่งเป็นภาษาราชการของเปรูเรียกนางเงือกว่า “Las Sirena” เช่นเดียวกับที่เรียกพวกไซเรน นี่ก็ทำให้ชวนสับสนว่าตอนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ผู้ “เคย” ได้รับเครดิตว่าค้นพบทวีปอเมริกาเขียนระบุว่าเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.1493 ใกล้กับ Rio del Oro ที่ปัจจุบันคือประเทศเฮติ เคยได้พบกับไซเรน 3 ตนที่ไม่ได้สวยเหมือนภาพวาดแต่ก็ยังพอเห็นเหมือนใบหน้ามนุษย์บ้าง คงเป็นเรื่องน่าผิดหวังอยู่พอสมควร

หากค้นลงไปในเอกสารยุคเก่ากว่า คำว่า Sirena ยังเคยถูกใช้เรียกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำตระกูลพะยูน ตั้งแต่วัวทะเล (vaca marina),พะยูน (Dugong) และมานาที (manatee ) ในบางบันทึกช่วงคริสต์ศตวรรษ 13 บรรยายลักษณะของสัตว์ชนิดนี้ว่า “เป็นสัตว์เลื้อยคลานสีขาวที่เขาเรียกกันว่า Serenas” (“a kind of white serpent that they call serenas”)

สิ่งที่ยิ่งหลอมรวมความหมายของ Sirena และ Manatee อาจพบได้จากพจนานุกรมภาษาสเปนเอง โดยเริ่มมองเห็นเค้าลางผ่านการแปรเปลี่ยนความหมายของคำ เช่นเดิมเคยมีการบัญญัติคำว่า pexemuller แปลได้ว่า fish-woman or fish-wife คือเป็นคำผสมระหว่างคำว่าปลากับสตรี/ภริยา ในพจนานุกรมฉบับแรกอย่าง Diccionario de autoridades (1726–1739) ปรากฏเป็น 2 คำแยกความหมายออกจากกัน โดยมีคำว่า manato สำหรับใช้เรียกมานาที

คำ 2 คำนี้มีพัฒนาการทั้งรูปแบบและความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฉบับของพจนานุกรม จนในที่สุดราชวิทยาลัยสเปน (Real Academia Española 1737) จึงได้ให้นิยามคำว่า Pexemuller ผ่านกา่รบรรยายว่า

เป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีช่วงบนเหมือนมนุษย์โดยมีแขนขา มีความเหมือนสตรีเป็นพิเศษโดยเฉพาะส่วนที่มีทรวงอกและยังใช้ให้นมลูกหลานของพวกมัน มันมีแขนแต่ไม่มีมือ มีแต่ครีบยาวตั้งแต่ข้อศอก ใบหน้ากลมแบนดูเสียรูป ปากคล้ายกระเบนและมีฟันอยู่เต็มเหมือนสุนัข มีเขี้ยวยาว 4 ซี่เหมือนหมูป่า รูจมูกใหญ่เหมือนกระทิง หลังจากเอวลงมามีหางยาว เมื่อมีคนฆ่ามันส่งเสียงร้องราวกับคน"

ฟังดูแล้วถ้าไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในตระกูลพะยูน ก็ดูจะคล้ายพวกแมวน้ำด้วยอีกทางหนึ่ง หากเราตัดจินตนาการของเทพนิยายออกไป เราคงกล่าวได้ว่าตัวตนที่แท้จริงของนางเงือกที่เป็นลักษณะครึ่งคนครึ่งปลานั้นก็คงไม่พ้นเป็นเจ้าตัวเหล่านี้

นางเงือกแห่งน้ำตกก็อกต้า (Gocta)

อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าว่าตำนานเกี่ยวกับนางเงือกในอเมริกาใต้มักพบปรากฏเกือบทุกแหล่งน้ำ ภายหลังจากรับชมแอนิเมชั่นเรื่องนี้จบทางเราจึงได้ลองค้นหาตำนานท้องถิ่นเกี่ยวกับไซเรน/นางเงือกที่เชื่อมโยงกับน้ำตกบ้าง จึงได้พบสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเข้าเค้าในหลายทาง นั่นคือน้ำตกก็อกต้า (Gocta)

น้ำตกแห่งนี้ตั้งอยู่ในประเทศเปรู มีรายงานการค้นพบเมื่อปีค.ศ.2002 โดยนักเดินทางชาวเยอรมันและเปรู มีความสูงถึง 771 เมตร การค้นพบอย่างเป็นทางการนี้ค่อนข้างจะแตกต่างไปในความรับรู้ของชาวท้องถิ่นที่ทราบที่ตั้งของน้ำตกแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถมองเห็นน้ำตกได้ชัดเจนจากหมู่บ้านโคคาชิมบา (Cocachimba) ที่อยู่ไม่ไกล

สาเหตุที่น้ำตกก็อกต้าเพิ่งจะถูกเปิดเผยต่อสายตาชาวโลกได้ไม่นานคงเพราะตำนานท้องถิ่นที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าน้ำตกแห่งนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้คน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนที่หายไปในน้ำตกแห่งนี้เพราะนางเงือกผมทองที่สิงสถิตย์อยู่ที่นี่

กล่าวกันว่าบริเวณใต้น้ำตกก็อกต้ามีนางเงือกผมสีทองคอยเฝ้าสมบัติอยู่ นางจะสาปทุกคนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับลำน้ำของตน เมื่อเวลาที่กระแสน้ำตกแหวกเป็นวงคลื่นตรงปลายสายเราอาจเห็นเป็นเส้นผมยาวสลวยของนาง หรือแย่ไปกว่านั้นคือการมาเยือนของงูใหญ๋ ผู้อารักขาของนางเงือกแห่งบึงนั้น

ภาพสายน้ำตกซึ่งตรงปลายแหวกเป็นวงโค้งรูปตัว U คล้ายเส้นผม (Photo by Mikey Blount of Peru for Less.)

ชาวบ้านเล่าถึงการหายตัวไปอย่างลึกลับของคนในหมู่บ้านไว้ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องเกรกอริโอ ชาวประมงที่เดินทางไปที่น้ำตกและพบกับนางเงือกแสนสวยผู้มีผมสีทอง เธอถือแจกันทองโดยมีพญางูคอยอารักขาอยู่ เกรกอริโอคงจะพูดจาได้น่าฟัง เงือกสาวจึงตอบแทนไมตรีด้วยการยินดีจะอำนวยพรให้สิ่งที่เขาต้องการสมดังหวัง เขาขอเพียงแค่ให้เขาได้จับปลาดีๆ มากพอที่จะเอากลับไปฝากภรรยาได้ เกรกอริโอได้ตามนั้น เขาหอบตะกร้าใส่ปลากลับไปให้ภรรยาในหมู่บ้าน และเมื่อเธอเอาปลาออกจึงพบกับแหวนทองวงหนึ่งอยู่ก้นตะกร้า ภรรยาของเกรกอริโอเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับไม่ยอมบอกสามี

วันต่อมาเกรกอริโอกลับไปที่น้ำตกอีกครั้งและยังคงได้ปลากลับมาจำนวนมาก คราวนี้ภรรยาเขาพบกำไลทอง คราวนี้เธอคิดว่าสามีคงจะขโมยสมบัติที่ใดมาเป็นแน่ ในการเดินทางรอบที่ 3 ภรรยาของเกรกอริโอตัดสินใจแอบตามสามีไปจับปลาเงียบๆ เธอจึงได้เห็นว่าสามีของเธอกำลังสนทนากับเงือกสาวที่มีหางสีทองแวววาว เมื่อนางเงือกเห็นผู้มาเยือนคนใหม่จึงตกใจและดำดิ่งลงไปในเวิ้งน้ำสีมรกตพร้อมกับตัวของเกรกอริโอ นับแต่นั้นมาไม่เคยมีใครได้พบเกรกอริโออีกเลย

อีกเรื่องก็ยังเป็นตำนานที่เล่ากันจากหมู่บ้านนี้ เป็นเรื่องของฮวน เมนโดซ่า ชายผู้ปรารถนามากกว่ามิตรภาพกับนางเงือก ฮวนตกหลุมรักเงือกสาวแห่งน้ำตกก็อกต้าเป็นอย่างมาก…มากเสียจนยอมดำลงไปในกระแสน้ำที่เย็นจัดราวกับน้ำแข็ง การตอบแทนความรักที่เงือกมอบให้แก่ฮวนคือการสาปให้เขากลายเป็นก้อนหิน หินก้อนนี้ที่เรียกกันว่า “หินเมนโดซ่า” (Mendoza’s rock ) ว่ากันว่ายังปรากฏอยู่ที่ตีนน้ำตกจนถึงปัจจุบัน

ภาพบึงน้ำตกจาก Jibaro เทียบกับ Gocta Falls

แม้จะไม่ได้พ่วงเรื่องเสียงอันไพเราะมีมนต์ขลังมาด้วย แต่เงื่อนไขทางด้านภูมิศาสตร์และตำนานเกี่ยวกับเงือกเฝ้าทรัพย์ก็ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของก็อกต้าอย่างชัดเจน ทั้งเมื่อลองค้นดูภาพมุมสูงของบึงน้ำตกก็อกต้าเทียบกับภาพจากแอนิเมชั่นก็ถือว่าใกล้เคียงกัน และจะคล้ายคลึงมากขึ้นหากดูภาพถ่ายอากาศจาก Google Earth ในช่วงกลางปีหรือหน้าร้อน

References :

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.