#โยไคอะไรเนี่ย EP9 YAMAMBA [山姥] แม่มดแห่งหุบเขา

ยามาอุบะหรือยามัมบะคือแม่มดเฒ่าที่อาศัยอยู่บนภูเขา สร้างที่พักอาศัยเป็นกระท่อม บ้างก็อาจอาศัยในถ้ำซึ่งอยู่ในป่าลึก ว่ากันว่ายามาอุบะเดิมเป็นมนุษย์ แต่ด้วยเหตุบางอย่างทำให้พวกนางกลายเป็นโยไคและกลายเป็นหนึ่งในโยไคที่มีตำนานเป็นที่รู้จักมากตนหนึ่ง

ชื่อของ “ยามัมบะ” แปลตรงตัวได้เป็น “แม่เฒ่าบนภูเขา” หรือ “แม่มดในหุบเขา” ซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะเด่นๆ ของพวกนางได้เป็นอย่างดีว่าเป็นหญิงแก่ที่พำนักอยู่ลำพังตามภูเขา ชื่อของยามัมบะหรือยามาอุบะไม่เคยปรากฏในเอกสารเก่ากว่าสมัยมุโรมาจิ ก่อนหน้านั้นชื่อของสตรีที่เกี่ยวกับไสยเวทหรือแม่มดจะถูกเรียกว่า “ยักษ์ผู้หญิง” หรือ “โอนิ” แต่หากค้นลึกไปในลักษณะร่วมว่าหญิงผู้มีอำนาจชั่วร้ายก็อาจพบได้ในเอกสารโบราณอย่างโคะจิกิและนิฮงโชกิ ตอนที่กล่าวถึงโยโมทสึ-ชิโกเมะ ผู้เป็นแม่มดอัปลักษณ์แห่งยมโลกที่ออกมาไล่ล่าเทพอิซานางิ นักคติชนวิทยาบางคนจึงมองว่าโยโมทสึ-ชิโกเมะอาจมีความสัมพันธ์กันหรืออาจเป็นอิทธิพลที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องยามัมบะในสมัยหลัง

Yama-uba (the mountain hag) from Hyakkai-Zukan by Sawaki Suushi (佐脇嵩之
日本語: 『百怪図巻』より「山うは」circa 1737

ภาพลักษณ์ที่มักบรรยายถึงลักษณะของยามัมบะตามเรื่องเล่าโดยทั่วไปจึงมักเป็นหญิงชราหน้าตาน่ากลัว ผมยาว มีริมฝีปากที่ฉีกกว้างถึงใบหู แววตาแหลมคมแข็งกระด้างดุดัน บางครั้งก็มีคำบอกเล่าว่าพวกนางมีเขาหรือเขี้ยวแหลมๆ นั่นอาจทำให้ยามาอุบะมีอีกชื่อคือ โอนิบาบา แต่บางตำนานก็ระบุว่าพวกนางดูไม่แตกต่างอะไรกับหญิงชราทั่วไป รับประทานอาหารเหมือนคนปกติ ทว่ามักจะชอบล่อลวงนักเดินทาง ผู้หญิงสาว หรือเด็กมาเป็นเหยื่อของตน

ความแตกต่างระหว่างยามัมบะกับยักษ์ผู้หญิงก็คงเป็นเพราะภาพของยักษ์สตรีมักจะถูกสร้างโดยมีเขางอกมาจากศีรษะในขณะที่ยามัมบะจะไม่มี อีกทั้งเรื่องของความพยาบาทก็แตกต่างกัน ยักษ์มักจะมีแรงผลักดันเป็นความริษยาหรือตัณหา ซึ่งเป็นคนละอย่างกับสาเหตุที่ทำให้เกิดยามัมบะ

Yamamba 山姥(やまんば)from Bakemono no e (化物之繪, c. 1700),
Harry F. Bruning Collection of Japanese Books and Manuscripts, L.
Tom Perry Special Collections, Harold B. Lee Library, Brigham Young University.https://archive.org/details/bakemonozukushie00

กำเนิดของยามัมบะนั้นมีหลายแบบหลายวิธี แต่โดยมากคือการที่มนุษย์ผู้หญิงแปรสภาพจากหญิงสาวหรือหญิงชรามาเป็นพวกที่มีอำนาจลึกลับ พวกหญิงสาวที่ปลีกตัวจากสังคมเข้ามาฝึกคุณไสย นักโทษหญิงซึ่งต้องคดีแล้วถูกนำมาโยนทิ้งให้ตายในหุบเขา ไปจนถึงเด็กและคนแก่ที่ถูกครอบครัวทอดทิ้งให้ตายเพราะไม่สามารถเลี้ยงดูได้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุให้เกิดยามัมบะขึ้น ในกรณีท้ายอันเนื่องด้วยพิษเศรษฐกิจและความยากแค้น ครอบครัวที่มีลูกมากก็อาจเลือกลูกคนเล็กที่เพิ่งเกิดไม่นานเพื่อนำไปทิ้งในเขา ถือเป็นการเสียสละเพื่ออีกหลายชีวิต ส่วนคนแก่หรือหญิงชราบางครั้งเมื่อครอบครัวไม่สามารถดูแลได้แล้ว ลูกหลานก็อาจตัดสินใจนำไปทิ้งให้ตายเพียงลำพังในป่าเช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อหญิงแก่ที่ถูกทิ้งเกิดความแค้นขึ้น พวกนางก็จะเกิดเป็นยามัมบะ แม่มดเฒ่าที่คอยหลอกหลอนดักจับคนเพื่อทรมานหรือกินเป็นอาหาร

ด้วยความที่นางพักอาศัยตามหุบเขาตามเส้นทางที่คนใช้สัญจร หลายครั้งยามัมบะจะเสนอที่พักและอาหารให้กับนักเดินทาง เมื่อผู้มาพักหลับใหล ยามัมบะก็จะคืนร่างกลับเป็นยายเฒ่าน่าเกลียดเตรียมตัวกินเหยื่อผู้โชคร้าย บางครั้งพวกนางก็จะใช้อำนาจเวทมนตร์เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการจับเหยื่อ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเสร็จยามัมบะ ไม่งั้นเราคงไม่มีใครรอดมาเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟังกัน

ตำนานส่วนมากมักกล่าวว่ายามัมบะหลอกหลอนมนุษย์ตามเส้นทางภูเขาเป็นหลัก แต่มีบางแห่งที่กล่าวถึงการเข้ามารังควานผู้คนในเมืองของนางด้วย นิทานท้องถิ่นในจังหวัดโทกุชิมะซึ่งถูกรวบรวมเอาไว้ตั้งแต่ราวช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 เล่าถึงเด็กน้อย 3 คนพี่น้องทื่จำเป็นต้องถูกทิ้งให้อยู่บ้านกันเองชั่วคราวระหว่างที่มารดาต้องเดินทางไปเคารพหลุมศพของสามีที่ล่วงลับ แม่เด็กได้เตือนเด็กๆ ว่า “นี่แน่ะ มียามัมบะอยู่ที่หุบเขา หากใครมาเรียกก็ห้ามเปิดประตูทั้งนั้น” ยกเว้นแต่เพียงมารดาจึงจะยอมให้เปิด แน่นอนว่าเมื่อลับหลังแม่ไปไม่นาน ยามัมบะก็มาที่บ้านหลังนี้จริงๆ

โยไคแม่มดเฒ่าอ้างว่าตนเองคือมารดาของเด็ก ทว่าเด็กๆ มองเห็นว่ามือของผู้มาเยือนนั้นเต็มไปด้วยขนรุงรังจึงไม่ยอมเปิดประตู ยามัมบะยังไม่ลดละ ยังคงกลับมาใหม่หลังโกนเส้นขนจนเรียบ คราวนี้เด็กน้อยก็ยังจับผิดสังเกตจากเสียงของนางได้ แต่ไม่ทันการ…ยามัมบะสามารถเข้ามาในบ้านได้สำเร็จแล้วจึงจับน้องคนเล็กกิน เรื่องราวชุลมุนจบลงที่มีเทพจากบนฟ้ามาช่วยเหลือ ยามัมบะถูกฆ่า เด็กอีก 2 คนจึงสามารถรอดชีวิตได้ เรื่องนี้อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เหล่าผู้ใหญ่มักจะใช้ยามัมบะเป็นข้ออ้างจัดการความดื้อซนของเด็กๆ โดยการขู่ว่า “ถ้าเป็นเด็กไม่ดี ยามัมบะจะมาพาตัวไป”

นอกจากนิทานเหล่านี้แล้วยังมีความเชื่ออื่นอีกว่าการได้พบหรือเข้าไปในบ้านของยามัมบะจะทำให้เกิดโชคร้ายหรือเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ก็มีบางท้องถิ่นซึ่งมีความเชื่อในลักษณะดีปนร้าย โดยมองว่าการไปที่บ้านหรือภูเขาที่นนางอาศัยอาจทำให้เกิดโชคร้ายก็จริง แต่ก็เปิดโอกาสให้ยามัมบะสามารถเข้ามามอบความมั่งคั่งให้กับบ้านของผู้ที่เคยไปเยี่ยมเยียนนางเช่นกัน ทำให้ยามัมบะไม่ได้มีแค่ด้านชั่วร้ายเพียงอย่างเดียว

อีกตำนานจากจังหวัดกิฟุช่วงสมัยเดียวกับตำนานของจังหวัดโทกุชิมะ กล่าวกันมามีหินก้อนหนึ่งชื่อว่า “ยามัมบะ-อิวะ” หรือ “หินยามัมบะ” ซึ่งมีขนาดสูง 4 เมตร บนหินมีใบหน้าของยามัมบะซึ่งมีตาปิดอยู่หนึ่งข้าง ไม่มีจมูก แต่มีปากกว้างที่ปราศจากฟัน ตำนานเดิมเล่าว่าครั้งหนึ่งมียามัมบะใช้ชีวิตในภูเขาโดยดื่มเลือดและกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร นางมีหน้าตาน่ากลัวทว่าเป็นมิตร นางอาจลงมาช่วยงานไร่คนในหมู่บ้านโดยมีแรงมากเท่ากับชาย 4-5 คน ทุกๆ เดือนธันวาคมนางจะซื้อสาเกจากในตลาดเอาขึ้นเขาไปโดยจะไม่กลับลงมาหมู่บ้านอีกตลอดหน้าหนาว และเมื่อยามัมบะตายลง คนในหมู่บ้านจึงฝังนางเอาไว้ใต้หินดังกล่าว หลังจากนั้นใบหน้าจึงค่อยๆ ผุดขึ้นบนหิน ตำนานยังกล่าวต่อไปอีกว่าหากใบหน้าของนางยิ้มวันนั้นท้องฟ้าจะปลอดโปร่ง หากนางร้องไห้วันนั้นฝนจะตก ส่วนถ้าหญิงใดมาขอพรกับหินยามัมบะผู้นั้นก็จะมีน้ำนมสำหรับเลี้ยงดูลูกอย่างสมบูรณ์

ดังที่กล่าวว่าในความน่ากลัวก็ยังมีด้านที่อ่อนโยน เรื่องเล่าที่ผ่านการบอกต่อตีความกันมาอย่างยาวนานก็ส่งผลให้เรื่องราวและตัวตนของยามัมบะแตกต่างไปจากอดีต บ้างมองว่ายามัมบะเองก็เป็นหญิงชราผู้ผ่านความยากแค้นต่างๆ นานา นางอาจจะแวะเข้ามาทำงานในหมู่บ้านหรือนำของเข้ามาขาย ว่ากันว่าเงินที่ได้รับจากนางจะเป็นโชคดีแก่ผู้รับ มุมมองที่ดูโอนอ่อนและแสดงมนุษยธรรมต่อกันเช่นนี้ทำให้ตำนานของแม่มดเฒ่าอาจเป็นเพียงความเชื่องมงายในการมองผู้หญิงแก่ไร้ญาติขาดมิตรที่ต้องอาศัยลำพังหรือถูกกีดกันออกจากหมู่บ้านเท่านั้นเอง

ยามัมบะยังคงมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นแม่และการให้กำเนิด ในตำนานที่นิยมเล่าต่อกันมากที่สุดยังกล่าวว่านางเป็นมารดาของ “คินทาโร่” ผู้ที่จะกลายมาเป็นวีรบุรุษนาม “ซากาตะ โนะ คินโทคิ” เรื่องนี้เป็นที่นิยมมากในสมัยเอโดะและถูกผลิตซ้ำในหลายรูปแบบทั้งละครโนห์ คาบูกิ หุ่นกระบอกบุนรากุ ไปจนถึงถูกรังสรรค์เป็นภาพวาดด้วยฝีมือจิตรกรชื่อดัง

Yamauba blackening Her teeth and Kintoki by Kitagawa Utamaro (ca. 1795)

กล่าวได้ว่ายามัมบะหรือยามาอุบะนั้นเป็นโยไคที่ไม่ร้ายที่สุดแต่ก็ยังมีด้านที่อ่อนโยน ทั้งให้โชคและคำสาป ลักษณะดังนี้คล้ายกับความเป็นภูเขาในความคิดความเชื่อของคนญี่ปุ่น ภูเขาเป็นแหล่งกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์แต่ก็ยังเป็นสถานที่อันตรายอีกด้วย นักคติชนอย่างโอริคุชิ ชิโนบุ (折口 信夫) เสนอว่ายามัมบะอาจเกี่ยวข้องกับเทพแห่งขุนเขาอย่าง “ยามะ โนะ คามิ” (山の神) โดยอาจมาจากการเป็นชายาของเทพองค์ดังกล่าวในศาสนาดั้งเดิมอย่างชินโตก่อนจะค่อยๆ ถูกเปลี่ยนแปลงความหมายลงเรื่อยๆ แต่ยังคงสัญญะสำคัญคือความเป็นแม่ ความเป็นหญิงผู้คงแก่วิชาอาคม ผู้มีทั้งความชั่วร้ายและความสมบูรณ์พูนสุขเหมือนดังเช่นขุนเขาที่เป็นบ่อเกิดของชีวิต

References :

  • Foster, Michael Dylan.(2015). The Book of Yōkai: Mysterious Creatures of Japanese Folklore. Oakland: University of California Press.
  • Meyer, M. (2015). The night parade of one hundred demons (2nd ed.).

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.