ประเทศเปรูอาจเป็นประเทศที่ชาวโลกรู้จักจากอารยธรรมอินคาและลายเส้นนาซคา งานศิลปะที่ต้องมองมุมสูงจากท้องฟ้า ราวกับว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อสารกับคนบนฟ้า เช่น สิ่งมีชีวิตนอกโลก มันคงไม่แปลกถ้าจะมีสิ่งที่คนเรียกว่า “กะโหลกเอเลี่ยน” ถูกค้นพบที่นี่
ปาราคัส (Paracas) เป็นคาบสมุทรทะเลทรายทางชายฝั่งด้านทิศใต้ของประเทศเปรู แหล่งโบราณคดีดังกล่าวอยู่ในเขตปิสโค (Pisco) มีอายุสมัยเก่าแก่ที่สุดถึง 3,000 ปีมาแล้ว และยังจัดว่าเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่พบกะโหลกมนุษย์ที่มีลักษณะยาวกว่าปกติ (Elongated skulls) มากที่สุดในโลก ทำให้ผู้คนรู้จักและเรียกชื่อกะโหลกแบบนี้ว่า “กะโหลกปาราคัส” (Paracas skulls)

Credit : Marcin Tlustochowicz
วัฒนธรรมปาราคัสถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวเปรูนามว่าจูลิโอ เทลโล (Julio Tello) เมื่อปีค.ศ.1928 ยังมีการศึกษาและขุดค้นพบสุสานที่มีกะโหลกลักษณะนี้ต่อมาเรื่อยๆ ปัจจุบันสันนิษฐานว่ามีพบมากกว่า 300 ชิ้น และชิ้นที่เก่ามากสุดอาจมีอายุประมาณ 3,000 ปีดังที่ได้กล่าวข้างต้น

การปรับรูปทรงของกะโหลกศีรษะคนโบราณพบได้หลายแห่งในโลก ซึ่งกะโหลกยาวก็ถือเป็นประเภทที่นิยมปฏิบัติกันมาก สันนิษฐานว่าการทำกะโหลกให้ยาวนี้อาจทำได้ด้วยการรัดศีรษะหรือการใช้แผ่นไม้ประกบด้านข้างและรัดให้แน่นด้วยผ้า การรัดกะโหลกแม้ว่าจะส่งผลต่อรูปทรงของกะโหลกแต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบต่างๆ ของกะโหลก

Credit : Brien Foerster via hiddenincatour
วิธีการเช่นนี้จำเป็นต้องเริ่มทำตั้งแต่ยังเป็นทารกเพื่อที่การเจริญเติบโตของกะโหลกจะยังสามารถพัฒนาไปตามการรัดได้ โดยอาจเริ่มตั้งแต่ทารกอายุราว 1 เดือนหลังคลอด และใช้เวลามัดต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนหรืออาจนานกว่านั้น แต่การค้นพบทารกที่เพิ่งคลอดมีรูปทรงของกะโหลกที่ยาวก็ทำให้เกิดคำถามมากมายว่าหรือจริงๆ กะโหลกของชาวปาราคัสอาจจะมีทรงนี้โดยธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากการพยายามรัดแบบวัฒนธรรมอื่นๆ

แนวคิด “เอเลี่ยน” เกิดขึ้นเพราะกระดูก?
กระโหลกยาวแห่งปาราคัสเป็นที่พูดถึงในฐานะ “เอเลี่ยน” เพราะลักษณะของส่วนท้ายกะโหลกที่ยืดยาวจนดูคล้ายเอเลี่ยนที่เป็นมนุษย์ต่างดาวที่ปรากฏในสื่อกับภาพยนตร์ และนอกจากส่วนท้ายของกะโหลกแล้ว ลักษณะทางกายภาพอื่นๆ ก็มีความแตกต่างจากมนุษย์ปกติ อาทิบริเวณฟอราเมน แมกนัม (Foramen Magnum) ซึ่งคือรูขนาดใหญ่ที่เป็นช่วงต่อของกะโหลกกับกระดูกสันหลัง จุดนี้กะโหลกปาราคัสก็จะมีขนาดรูที่เล็กกว่าและค่อนไปทางด้านหลังเล็กน้อยเพื่อประคองกะโหลกที่ยาวกว่าปกติ

ซ้าย : กะโหลกมนุษย์ปกติ/ขวา : กะโหลกยาวปาราคัส
จุดสังเกตที่รูฐานกะโหลกนี้เป็นของ Rick Woodward นักมานุษยวิทยาที่เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกะโหลกปาราคัส ที่นอกจากจะชี้ว่าฟอราเมน แมกนัมนี้มักจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนตำแหน่งไม่ได้ในแง่ของการพยายามปรับปรุงแก้ไขกะโหลกด้วยการใช้การรัดเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปร่างของกะโหลกศีรษะ จะต้องเป็นการถ่ายทอดกันผ่านพันธุกรรมเท่านั้น
โครงสร้างอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอีกของกะโหลกก็แสดงออกผ่านกระดูกโหนกแก้ม (zygomatic arch/cheek bone) ทรงของกระดูกเบ้าตาและไม่มีรอยประสานกระดูกข้างขม่อม (sagittal suture) ที่เป็นรอยต่อคล้ายรอยเย็บบนกะโหลกมนุษย์

DNA และพันธุกรรมเอเลี่ยน?
การตรวจตัวอย่าง DNA ที่อ้างว่าทำขึ้นในปี 2014 โดยได้ข้อมูลว่าดีเอ็นเอที่พบนั้น “มีไมโตรคอนเดรีย ดีเอ็นเอ* (mitochondrial DNA) ที่ไม่ตรงกับที่เคยพบในมนุษย์, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ชนิดอื่นๆ
นายฮวน นาวาโร (Juan Navarro) ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชื่อว่าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปาราคัส (Paracas History Museum) ที่มีกะโหลกยาวจำนวน 35 ชิ้น ได้อนุญาตให้มีการเก็บตัวอย่างจากกะโหลกไป 5 ชิ้น โดยในแต่ละตัวอย่างประกอบด้วยเส้นผมที่มีราก, ฟัน, เศษผิวหนัง และผงกระดูกที่เก็บด้วยการเจาะบริเวณฟอราเมน แมกนัมซึ่งเป็นบริเวณที่จะส่งผลต่อความเสียหายของกะโหลกน้อยที่สุด
ทั้งหมดทำอย่างระมัดระวังด้วยการสวมใส่ชุดป้องกันและมีการบันทึกภาพวิดีโอและภาพนิ่งขณะเก็บตัวอย่างเอาไว้ด้วย หลังจากนั้นจึงนำตัวอย่างส่งให้นักพันธุศาสตร์ทำการศึกษาวิเคราะห์โดยไม่ได้ให้รายละเอียดถึงที่มาอย่างแน่ชัดเพียงแต่ระบุว่าเป็นตัวอย่างที่เก็บมาจากมัมมี่โบราณ เพื่อป้องกันการจำกัดกรอบแนวคิดในการศึกษา และได้เลือกส่งตัวอย่างไปยังห้องแล็บที่แคนาดา 1 แห่ง และอีก 2 แห่งในสหรัฐอเมริกา
ทำให้ผลที่ออกมาในระยะแรกนักพันธุศาสตร์ยังไม่พบความเชื่อมโยงของตัวอย่างจากปาราคัสว่าตรงกับดีเอ็นเอในสายวิวัฒนาการชาติพันธุ์ (Evolutionary tree/Phylogenetic tree) ที่มีอยู่ แต่หากดีเอ็นเอของชาวปาราคัสโบราณไม่ได้มีความเป็นเครือญาติกับมนุษย์ พวกเขาจะไม่สามารถสืบทอดสายพันธุ์กันกับมนุษย์ชนิดอื่นได้

ช้าก่อน! ท่านผู้รักเอเลี่ยน ยังมีข้อเท็จจริงรออยู่ตรงนี้

ในความตื่นตัวที่ทีมนักวิจัยพยายามอย่างมากที่จะนำเสนอว่ากะโหลกยาวปาราคัสเป็นสิ่งที่เกิดจากพันธุกรรมมากกว่าการพยายามดัดแปลงมันในระยะที่กระดูกกำลังเติบโต ก็มีข้อโต้แย้งมากมายที่ฝ่ายเชื่อต้องตอบให้ได้ อย่างแรกคือการเปลี่ยนแปลงของกระดูก เรื่องของฟอราเมน แมกนัมนั้นก็เคยมีรายงานศึกษาวิจัยว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งจากการรัดและจากการบูรณะรักษากระดูกของเทคโนโลยีอนุรักษ์ของคนรุ่นหลัง และรอยประสานกระดูกข้างขม่อมก็สามารถแนบสนิทและหายไปได้ในกรณีของวัฒนธรรมที่นิยมรัดกะโหลกเช่นกัน
โดยนักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดีที่ศึกษาประเพณีการทำกะโหลกยาวในยุโรปเคยศึกษาไว้หลายปี และเส้นรอยประสานกระดูกข้างขม่อมก็ถูกทำให้หายได้เนื่องจากการกดบีบด้านข้างกะโหลกเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อรอยประสานตามแนวนั้นจนทำให้เกิดการแนบสนิทเร็วกว่าปรากฏการณ์ปกติที่กะโหลกมนุษย์เป็น (ต้องอายุมากรอยประสานนี้จะยิ่งแนบเนียนและหายไป)
ทั้งผลการศึกษาเพิ่มเติมก็อาจจะทำให้คนที่คิดถึงเอเลี่ยนในฐานะมนุษย์ต่างดาวอาจจะผิดหวังนิดหน่อย เมื่อการตรวจจากกะโหลกที่มีอายุราว 2000 ปีพบว่าชาวปาราคัสมีจุดกำเนิดจากยุโรปและตะวันออกกลาง
หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ากะโหลกของชาวปาราคัสมีเชื้อสายจากชาวยุโรปคือตัวอย่างเส้นผมที่เก็บไป โดยสามารถนำดีเอ็นเอมาเทียบเคียงลำดับพันธุกรรมได้ 3 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่ามีกลุ่มพันธุกรรมเครือญาติที่มี Haplogroup อยู่ในกลุ่ม H2A ซึ่งเป็นยีนที่มักพบในยุโรปตะวันออก แต่พบน้อยในยุโรปตะวันตก

ส่วนตัวอย่างผงกระดูกที่เก็บได้นั้น ผลออกมาไปในทางว่าชาวปาราคัสมีดีเอ็นเอกลุ่ม T2B ที่มีจุดกำเนิดอยู่ในแถบตะวันออกกลาง อาทิในบริเวณที่เกิดอารยธรรมเมโสโปเตเมียหรือพื้นที่แถวซีเรียในปัจจุบัน ผลการตรวจนี้ค่อนข้างจะไปในทิศทางเดียวกับการที่มัมมี่ของปาราคัสที่พบเส้นผมสีแดงซึ่งเป็นลักษณะทางพันธุกรรมของชาวตะวันออกกลางและยุโรป แต่ไม่ใช่กลุ่มของชนพื้นเมืองทางอเมริกาใต้
เรื่องสีผมเองก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการยังหาคำตอบไม่ได้ชัดเจนว่ามัมมี่ของปาราคัสที่บางร่างมีผมสีแดงหรือทองเกิดจากอะไรกันแน่ ข้อสันนิษฐานเดิมคือเป็นการฟอกสีผมหรืออาจเป็นเพราะกระบวนการในการทำศพบางอย่างที่ทำให้สีผมเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีที่อ่อนลง แต่นอกจากเม็ดสีผมที่เปลี่ยนแล้ว ลักษณะความหนาของเส้นผมยังมีความบางกว่าเส้นผมของชาวพื้นเมืองอีกประมาณ 30%
ผลการศึกษานี้แม้จะทำให้เกิดความตื่นตัวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มนุษย์ในทวีปอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องแนวคิดของช่วงเวลาการเดินทางของมนุษย์โบราณเข้ามาในทวีปอเมริกา แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เพราะนักมานุษยวิทยาบางคนก็ยังไม่ซื้อแนวคิดนี้ และแม้ว่าเราจะพยายามคิดนอกกรอบไปว่าเหตุผลที่ชาวปาราคัสมีลักษณะดีเอ็นเอที่แปลก แถมยังมีเสี้ยวของรหัสพันธุกรรมที่ไม่สามารถระบุได้ อาจเป็นเพราะพวกเขาเป็นเอเลี่ยนจริงๆ
แต่ในฐานข้อมูลเรื่องพันธุศาสตร์ก็ยังต้องอาศัยการศึกษาและเก็บตัวอย่างตลอดเวลา ซึ่งการที่บางแล็บบางพื้นที่อาจยังมีตัวอย่างไม่มากพอ ทำให้อาจต้องมีการพยายามเก็บตัวอย่างและส่งตรวจเพิ่มในห้องแล็บที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจึงจะสามารถเทคะแนนไปโน้มน้าวนักมานุษยวิทยาว่านี่อาจเป็นการค้นพบสายพันธุ์ย่อยของมนุษย์อีกสายพันธุ์หนึ่ง
*mitochondrial DNA คือดีเอ็นเอหรือรหัสพันธุกรรมที่ได้รับผ่านทางมารดา
References:
- Colavito, J.(2018).L. A. Marzulli’s Skull Expert Speaks Out about Paracas “Sub-Species”.Jason Colavito.Retrieved 3 October 2022, from https://www.jasoncolavito.com/blog/l-a-marzullis-skull-expert-speaks-out-about-paracas-sub-species
- Gontcharov, Igor. (June 2, 2021).Elongated Skulls in utero: A Farewell to the Artificial Cranial Deformation Paradigm?.Ancient – Origins.Retrieved 4 October 2022, from https://www.ancient-origins.net/unexplained-phenomena/elongated-skulls-utero-002526
- Gontcharov, Igor. (2014). The Story Of Elongated Skulls And The Denied History Of Ancient People: An Interview With Mark Laplume. Ancient Origins.
- Holloway,A.(Febuary 5, 2014).Initial DNA analysis of Paracas elongated skull released – with incredible results.Ancient-Origins.Retrieved 3 October 2022, from https://www.ancient-origins.net/news-evolution-human-origins/initial-dna-analysis-paracas-elongated-skull-released-incredible
- Holloway,A.(July 23, 2016).New DNA Testing on 2,000-Year-Old Elongated Paracas Skulls Changes Known History.Ancient-Origins.Retrieved 2 October 2022, from https://www.ancient-origins.net/news-history-archaeology/breaking-new-dna-testing-2000-year-old-elongated-paracas-skulls-changes-020914
- Perez, S. (2007). Artificial cranial deformation in South America: a geometric morphometrics approximation. Journal Of Archaeological Science, 34(10), 1649-1658. doi: 10.1016/j.jas.2006.12.003
