อียิปต์เค้าสร้าง “พีระมิด” ไว้ทำไม?

ตอบง่ายๆ ก็คือเขาสร้างไว้เป็น “สุสาน” ของเหล่าฟาโรห์ ประมุขสูงสุดของพวกเขา แต่เหตุผลที่ทำให้ชาวอียิปต์เชื่อจนสามารถสร้างสถาปัตยกรรมขนาดมหึมาที่กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกต่างหากที่ทำให้พีระมิดนั้นมีมนต์ขลังและน่าค้นหาในสายตาของคนรุ่นหลัง

โฆษณา

พีระมิดที่พวกเราเห็นกันบ่อยๆ คือกลุ่มพีระมิด 3 หลังแห่งกีซา สร้างขึ้นในยุคอาณาจักรเก่า (Old Kingdom) สมัยราชวงศ์ที่ 4 ซึ่งมีมหาพีระมิดของฟาโรห์คูฟูเป็นพีระมิดหลังที่ใหญ่ที่สุด ตามมาด้วยเครือญาติวงศ์วานของพระองค์อีก 2 หลัง แต่ก่อนการสร้างมหาพีระมิดแห่งกีซา อียิปต์โบราณได้มีการพัฒนารูปแบบของการสร้างสุสานจากมาสตาบา (Mastaba), พีระมิดขั้นบันได (Step pyramid) และพีระมิดโค้ง/หักมุม (Bent Pyramid) มาก่อน แล้วจึงมีความสามารถในการสร้างอนุสรณ์รูปทรงสามเหลี่ยมทรงที่เราเห็นในปัจจุบัน

พีระมิดหลังแรกที่สร้างขึ้นในกีซาคือมหาพีระมิดของฟาโรห์คูฟู (Khufu) ตั้งแต่ราว 2550 ก่อนคริสตกาล มีความสูง 147 เมตร ใช้ก้อนหิน 2.3 ล้านก้อน มีน้ำหนักแต่ละก้อนราว 2.5 – 15 ตัน ต่อมาฟาโรห์คาเฟร (Khafre) โอรสของคูฟูจึงได้สร้างพีระมิดหลังที่ 2 ตั้งแต่ราว 2550 ปีก่อนคริสตกาล โดยส่วนสุสานของพระองค์มีขนาดรวมถึงตัวสฟิงซ์ที่สร้างจากหินปูน โดยสฟิงซ์นี้มีศีรษะเป็นใบหน้าฟาโรห์และลำตัวของสิงห์ สร้างขึ้นเพื่อครอบคลุมปกป้องบริเวณนครแห่งความตายของฟาโรห์ ส่วนพีระมิดหลังสุดท้ายคือของฟาโรห์เมนคาอูเร จัดว่าเป็นพีระมิดหลังที่เล็กที่สุด สร้างเมื่อ 2490 ปีก่อนคริสตกาล แต่ถึงจะมีขนาดเล็กทว่าก็มีโครงสร้างซับซ้อนที่สุด

เหตุที่ต้องมีการสร้างพีระมิดขนาดใหญ่เพื่อเป็นที่ฝังศพนี้ก็เพราะความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณที่มองว่าการตายเป็นการเดินทางไปเพื่อใช้ชีวิตในอีกโลกใบหนึ่ง ผู้ตายจะยังคงฟื้นคืนชีพได้ ดังนั้นจึงมีการนำร่างไร้วิญญาณมาทำเป็นมัมมี่ เมื่อคนตายกลับมาพวกเขาย่อมต้องการสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่เคยใช้ในตอนมีชีวิต การสร้างสุสานจึงเป็นเสมือนการสร้างบ้านในโลกความตายของผู้วายชนม์ที่จะต้องมีข้าวของเครื่องใช้อย่างเพียบพร้อม ภายในสุสานจึงมักจะเจอทั้งเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ประจำวัน ไปจนถึงอาหารต่างๆ เป็นเครื่องอุทิศอยู่ร่วมด้วย ส่วนความหรูหราโอ่อ่าก็ย่อมลดหลั่นกันไปตามฐานะของเจ้าของสุสาน

อาจกล่าวได้ว่าพีระมิดก็คือบ้านหลังสุดท้ายของฟาโรห์นั่นเอง”

หากต้องการอ่านเรื่องการทำมัมมี่แบบไอยคุปต์…

แต่เหล่าพีระมิดก็ไม่ได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยว มันถูกรายล้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ตั้งแต่วิหาร กำแพงและทางเดินยาวที่สันนิษฐานว่ายื่นออกมาถึงบริเวณท่าน้ำซึ่งอาจเป็นทั้งเส้นทางลำเลียงข้าวของและยังเป็นที่อัญเชิญพระบรมศพด้วยเช่นกัน จากการค้นพบในสมัยหลังยังพบการฝังเรือขนาดใหญ่กับหมู่บ้านของแรงงานผู้สร้างพีระมิดอยู่บริเวณเดียวกันด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวน่าจะเพียงพอในการอธิบายความสำคัญของโลกแห่งผู้วายชนม์ได้ไม่ยาก และเมื่อผู้ตายนั้นมีความร่ำรวยและอำนาจมาก ไม่แปลกที่ขนาดของสุสานจะยิ่งใหญ่ขึ้น มีความหรูหราทั้งด้านศิลปกรรมและข้อมูลทางด้านวัฒนธรรมอันถูกบรรจุปิดตายเอาไว้ภายในชั้นของหินหลายก้อน ห่อหุ้มด้วยหินปูนสีขาวเคลือบให้ทั้งพีระมิดกลายเป็นสีขาวที่มองเห็นได้แต่ไกล น่าเสียดายที่ชั้นหินด้านนอกได้ชำรุดจนเหลือเพียงหินแกรนิตที่ใช้เป็นโครงสร้างหลักอย่างที่เห็นปัจจุบัน

ภาพสันนิษฐานสภาพเดิมของมหาพีระมิดกีซา
(Credit : Studios, N.: World History Encyclopedia.)

โครงสร้างของมหาพีระมิดของคูฟูที่คาดว่าของเดิมคงสูงประมาณ 450 ฟุต ปริมาตรจากฐานราว 52609.1 ตารางม. ตรงมุมฐานแต่ละจุดทำมุม 51 องศา 52 นาที นักอียิปต์วิทยาสันนิษฐานว่านวัตกรรมที่ใช้สร้างพีระมิดนี้ฟาโรห์คูฟูได้รับบทเรียนจากพีระมิดโค้ง/หักมุมของฟาโรห์สเนเฟอรู (Sneferu) ผู้ที่เป็นบิดา ดัดแปลงแบบแผนเพื่อให้โครงสร้างดูสมบูรณ์ขึ้น

ภายในพีระมิดอาจจะมีจำนวนห้องต่างกันบ้าง แต่โดยหลักการมักจะต้องมีโถงพระศพ (Burial chamber) อยู่ภายใน สำหรับมหาพีระมิดของคูฟูนั้นมีโถงพระศพจำนวน 3 ห้อง โดยมีทางเดินลาดที่เรียกว่าเฉลียงใหญ่ (The Grand Gallery) พาไปหาโถงพระศพ 3 ห้อง ประกอบด้วยโถงราชินี (Queen’s Chamber), โถงกษัตริย์ (King’s Chamber) และโถงใต้ดิน (The Subterranean Chamber.)

โฆษณา

ทางเข้าหลักที่นักโบราณคดีใช้ในการเดินทางเข้าไปภายในของพีระมิดปัจจุบันคือทางเดินของโจนปล้นสุสานที่เคยเจาะเข้ามาปล้นของมีค่าไปในอดีต สุสานกษัตริย์และขุนนางมักเป็นเป้าหมายของโจนปล้นสุสานมาตั้งแต่สมัยโบราณ กระทั่งเฮโรโดทัส บิดาของวิชาประวัติศาสตร์ยังเคยบันทึกถึงโจรที่ลอบเข้าไปขโมยสมบัติภายในพีระมิดตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล

ส่วนพีระมิดของคาเฟรนั้นมีเพียงทางเข้า 2 ทางเข้าไปหาโถงพระศพ รูปแบบของโครงสร้างอาจจะดูไม่อลังการเท่ามหาพีระมิด แต่เทคนิคของการตัดหินแกรนิตเพื่อนำมาก่อสร้างไปจนถึงการเจาะหินเป็นช่องคูหาสำหรับวางพระศพโดยมีเพดานเป็นหินปูนสีขาวย่อมทำให้เรารู้สึกได้ถึงความพยายามในการสร้างที่พักพิงของฟาโรห์ขึ้นมาด้วยเทคนิคของช่างที่ละเมียดขึ้น

โฆษณา

พีระมิดหลังสุดท้ายของเมนคาอูเรนั้นเรียกได้ว่าภายนอกดูเล็กแต่ข้างในซ่อนความพิถีพิถันในการออกแบบและมีความซับซ้อนมากขึ้นอีกระดับ โดยพีระมิดของฟาโรห์เมนคาอูเรมีโถง 3 ห้องสร้างขึ้นต่างระดับกันภายใน มีการแกะสลักหินตกแต่งเป็นซุ้มประตูหลอกเข้าไปหาโถงขนาดใหญ่ที่จะมีทางเดินแยกไปโถงพระศพและโถงชั้นล่างที่มีการเจาะช่องคูหาไว้ 6 ช่อง  

เมื่อมองเลยผ่านความอลังการยิ่งใหญ่ของพีระมิดกับสุสานอื่นๆ แล้ว สิ่งที่มีคุณค่าต่อมนุษยชาติอีกอย่างคือสิ่งที่ถูกบันทึกเอาไว้ทั้งบนผนังของห้องสุสานและบนเครื่องอุทิศ นักโบราณคดีสามารถเข้าใจความเป็นอยู่ของคนอียิปต์โบราณผ่านรูปจิตรกรรมฝาผนังที่อาจบันทึกภาพวิถีชีวิตของคนในอดีตทั้งเรื่องการเกษตร ปศุสัตว์ การรบ ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้คือจารึก โดยจารึกนั้นยังเป็นฐานข้อมูลที่นักอียิปต์วิทยาใช้ศึกษาโครงสร้างไวยากรณ์และพัฒนาการของตัวอักษรของแต่ละสมัยได้

ในการบริหารจัดการงานก่อสร้างสุสานหลวง มักเป็นหน้าที่ของวิเซียร์ อุปราชผู้ถืออำนาจรองจากฟาโรห์ หน้าที่ของเขาคือเป็นหัวหน้าใหญ่ควบคุมหน่วยงานย่อยหลายส่วน ตรวจตรางานเอกสารและงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด เอกสารต่างๆ ที่เป็นทั้งจดหมาย บันทึก รายงานราชการและใบเสร็จที่ส่งเข้าไปยังพระราชวังเป็นหลักฐานที่ทำให้เราสามารถเข้าใจการวางแผนทำงานอันเป็นระบบระเบียบได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งเกี่ยวกับการสร้างพีระมิดที่ไม่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ข้อมูลสำคัญบางอย่างยังคงมีแต่ข้อสันนิษฐานเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากท่านมีความสนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแรงงานและเทคโนโลยีการก่อสร้างพีระมิดกับสถาปัตยกรรมโบราณของชาวอียิปต์ สามารถติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับอียิปต์ได้ตามช่องทางด้านล่าง

พีระมิดไม่ได้สร้างด้วยเอเลี่ยนหรือทาส!

ความยวนใจในเรื่องของมนุษย์ต่างดาวจากหนังไซไฟทำให้คนมักม…

โฆษณา

สำหรับคนที่อยากมีโอกาสเดินทางเข้าไปในมหาพีระมิดแห่งกีซา นอกจากการเดินทางไปเยือนอียิปต์แล้ว อาจทำการรับชมเรื่องราวของพีระมิดและโบราณคดีอียิปต์ได้ในสารคดีชุด Lost Treasure of Egypt ของช่อง National Geographic หาดูได้ทางแอพพลิเคชั่น Disney+ อีกช่องทางหนึ่ง

https://www.hotstar.com/th/tv/lost-treasures-of-egypt/1260053030

References :

One thought on “อียิปต์เค้าสร้าง “พีระมิด” ไว้ทำไม?”

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.