ทู่เอ๋อเสิน | เทพกระต่ายผู้อุปถัมภ์ชาวเกย์

ใครจะเชื่อว่่าในดินแดนที่ปัจจุบันพยายามปกปิดเรื่องเพศ โดยเฉพาะรักร่วมเพศ จะมีเทพองค์หนึ่งที่เกิดจากชาวเกย์และกลายเป็นเทพหนึ่งเดียวที่คอยดูแลชาวชุมชนสีรุ้ง เขาคนนั้นคือเทพกระต่ายแห่งมนฑลฟูเจี้ยน “ทู่เอ๋อเสิน

ทู่เอ๋อเสิน (兔兒神) แปลตรงตัวคือเทพกระต่าย แต่อย่่าจำสลับกับ ทู่เอ๋อเย่ (兔兒爺) ของชาวปักกิ่ง เพราะเป็นคนละองค์กันและดูแลคุ้มครองคนละเรื่องแม้จะมีรูปลักษณ์คล้ายกันมากก็ตาม ทู่เอ๋อเย่มักจะสร้างเป็นรูปเคารพโดยเป็นกระต่ายที่มีพาหนะเป็นเสือ ม้าหรือมังกร และเชื่อกันว่าเป็นบริวารของเทพีฉางเอ๋อ (嫦娥) ที่เป็นเทพีแห่งดวงจันทร์

ในประเทศจีน รักร่วมเพศ (Homosexual) เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในปีค.ศ.1997 และถูกนำออกจากการเป็นโรคจิตเวชปีค.ศ.2001 แม้จะไม่ถือว่าผิดข้อห้ามทางกฎหมาย แต่จีนก็ไม่ได้มีกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิของ LGBT+ ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับการเห็นชอบการจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกันพบว่ามีผู้สนับสนุนกฎหมายนี้คิดเป็น 67% (อเมริกาคือ 61%) ที่แย่ไปกว่านั้นคือเสรีภาพในการทำสื่อเกี่ยวกับรักร่วมเพศยังคงถูกปิดกั้น เทศกาล Pride ในนครเซียงไฮ้ถูกยกเลิกโดยไม่มีเหตุผล

ครั้งโบราณกาลของแผ่นดินจีนมีปรากฏเรื่องราวของรักร่วมเพศมากมาย คล้ายกับเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปตั้งแต่ระดับชาวบ้านไปจนถึงชนชั้นปกครอง มากที่สุดคือเป็นรสนิยมของจักรพรรดิเองเสียด้วย ทว่าในแต่ละยุค แต่ละสมัย จักรวรรดิจีนก็มีมุมมองแตกต่างกันไปในเรื่องของรักร่วมเพศ บางสมัยอาจมองว่าสามัญกระทำได้ ทว่าบางสมัยก็ถึงกับมีออกกฎห้ามเลยด้วยเช่นกัน

เรื่องราวโด่งดังที่ทำให้เกิดคำสแลงใช้เรียกชายรักร่วมเพศ คือเรื่องของจักรพรรดิฮั่นอ้ายตี้ (漢哀帝) แห่งราชวงศ์ฮั่น ผู้มีชายคนรักชื่อว่าต่งเสียน (董賢) จักรพรรดิฮั่นอ้ายตี้มักจะลอบมาหาชายเสน่หายามค่ำคืนเป็นประจำ คืนหนึ่งต่งเสียนนอนหลับทับชายแขนเสื้อของจักรพรรดิ แต่ด้วยว่าพระองค์จะต้องรีบเสด็จออกไปก่อนย่ำรุ่ง เมื่อไม่อยากปลุกคนรักพระองค์จึงคว้ากระบี่ (กระบี่จริงๆ ไม่ใช่คำเปรียบเปรย!) ขึ้นมาฟันชับเอาชายแขนเสื้อขาด ก่อนจะดำเนินออกไปข้างนอกในสภาพแขนเสื้อขาดวิ่น แม้จะทรงพยายามถึงเพียงนี้ก็ยังไม่รอดพ้นสายตาคนในวังไปได้ เหตุการณ์นี้จึงถูกพูดถึงกันต่อมาหลายสมัย และวลีที่กล่าวว่า “ต้วนซิ่วจือผี่” (斷袖之癖) ก็กลายมาเป็นสำนวนเรียกพฤติกรรมชายรักชายไป

ภาพลายเส้นเล่าเรื่องจักรพรรดิฮั่นอ้ายตี้กับต่งเสียน ฝีมือของเฉินหงโซ่ว ( 陳洪綬)

นอกจากนิยามตัดแขนเสื้อแล้ว จีนยังเรียกเกย์ว่า “ทู่จื่อ” (兔子) แปลว่ากระต่าย เป็นคำที่นิยมใช้เรียกคู่รักชายที่นิยมมากช่วงราชวงศ์หมิง-ชิง

เรื่องราวของเทพกระต่ายฟูเจี้ยนไม่ได้แพร่หลายมากนักในดินแดนอื่น แต่มีบันทึกถึงในเอกสารยุคราชวงศ์ชิงคือ “รวมเรื่องที่อาจารย์ไม่ได้สอน” หรือ “จื่อปู้อวี่” (子不語) เป็นหนังสือรวมเรื่องเหนือธรรมชาติ เขียนขึ้นโดยหยวนเหมย (袁枚) บัณฑิตนักกวีผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปีค.ศ. 1716-1798 (พ.ศ.2259-2341)

Image found in Reddit

ตามจดหมายเหตุของหยวนหมิงเล่าว่า “ในช่วงต้นราชวงศ์ชิง มีผู้ตรวจการณ์มากความสามารถ สอบผ่านเคอจวี่1 (科举) ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อนั้นเขาได้เดินทางไปยังมณฑลฟูเจี้ยน ที่นั่นเองเขาได้ต้องตาของหูเทียนเป่า (胡天保) ผู้หลงความงามของเขา

ไม่ว่าผู้ตรวจการณ์คนนี้จะเดินทางด้วยเกี้ยวไปที่ใดหรือยามไหนที่เขาออกราชการในศาล หูเทียนเป่าจะต้องพยายามหาโอกาสไปติดตามคอยแอบมองเสมอ ฝ่ายผู้ตรวจการเองก็รู้สึกไม่สบายใจและประหลาดใจกับการกระทำของหูเทียนเป่า เหล่าข้ารับใช้ของเขาเองก็เลือกไม่พูดอะไรออกมา พฤติกรรมคลั่งรักของหูเทียนเป่าทำให้เขาลอบติดตามคนที่เขาแอบรักไปว่าราชการที่ต่างพื้นที่ด้วย

ความอดทนของผู้ตรวจการสิ้นสุดลงเมื่อจับได้ว่าหูเทียนเป่าลอบแอบดูเขาทำกิจกรรมส่วนตัวในห้องน้ำ ส่งผลให้เกิดเป็นคดีไต่สวนขึ้นมา แรกเริ่มหูเทียนเป่ายังไม่ยอมพูดอะไร พอถูกโบยไป 3 ครั้ง เขาจึงเริ่มสารภาพความในใจออกมากลางศาล

“ความจริงคือข้าหลงรักในความงดงามโดดเด่นของท่าน และไม่สามารถนำภาพท่านออกไปจากความคำนึงได้ ข้ารู้ดีว่าท่านเป็นดั่งดอกหอมหมื่นลี้ที่อยู่เกินเอื้อมปักษาสามัญ แต่หัวใจของข้าได้โบยบินออกไปจากร่างเสียแล้ว ข้าจึงไม่มีเหตุผลอื่นใดมานิยามการกระทำอันมิชอบนี้”

ผู้ตรวจการโกรธจัดจนสั่งให้โบยเขาจนขาดใจตายใต้ไม้ตายซากต้นหนึ่ง กลายเป็นว่าเวลาผ่านไปราวหนึ่งเดือน วิญญาณของหูเทียนเป่าก็ท่องเที่ยวไปตามความฝันของคนในมณฑลเพื่อจะมาบอกคำพิพากษาที่เจ้าบาดาลได้พูดถึง

“เนื่องจากการกระทำของข้าถูกชักนำจากความคิดไม่บังควรจนได้ล่วงเกินเจ้าหน้าที่ระดับสูง ข้าจึงได้รับโทษอันสมควรจากการล่วงเกินนั้นเป็นความตาย แต่เจตนาของข้าเป็นความบริสุทธิ์ของความรัก ตกอยู่ในห้วงความลุ่มหลง มิได้เป็นเจตนาอันชั่วร้าย ยมบาลนั้นเยาะเย้ยหยอกล้อกับเหตุการตายของข้า แต่มิมีผู้ใดโกรธเคือง ตอนนั้นเองที่เจ้าแห่งใต้พิภพจึงแต่งตั้งข้าเป็นเทพกระต่าย ทำหน้าที่ปกป้องดูแลบุรุษผู้รักชอบบุรุษ ดังนั้นจึงโปรดสร้างศาลของข้าเพื่อให้ประชาชนได้มีที่สักการะตามสมควรเถิด”

หลังจากนั้นมีศาลทู่เอ๋อเสินเกิดขึ้นในแถบมณฑลฟูเจี้ยน ในการบรรยายเรื่องราวของหูเทียนเป่าทางผู้ประพันธ์ก็ไม่ได้แสดงออกถึงความเกลียดชังต่อพฤติกรรมชายรักชาย แต่เรื่องของหูเทียนเป่าเองก็ถูกมัดรวมอยู่ในหนังสือที่หยวนเหมยเขียนเรื่องตำนานต่างๆ ตลอดจนผีสาง นักเขียนบางคนจึงมองว่าเป็นไปได้ที่หยวนเหมยก็ไม่ได้มองว่านี่เป็นสิ่ง “ปกติ”

จากการศึกษาของไมเกิล ซนยี (Michael Szonyi) ศาสตราจารย์ประจำวิชาประวัติศาสตร์จีน คณะอารยธรรมและภาษาเอเชียตะวันออก ม.ฮาร์วาร์ด (Harvard) ผู้ทำการศึกษากลุ่มลัทธิความเชื่อของหูเทียนเป่า พบว่าจากหลักฐานทั้งหมดเรื่องราวของหูเทียนเป่าน่าจะเกิดขึ้นในปลายราชวงศ์หมิงจนถึงต้นราชวงศ์ชิง ซ้ำยังกล่าวอีกว่าต้นแนวคิดอาจจะเป็นตัวหยวนเหมยเองที่เสนอเรื่องเทพกระต่าย เพราะในสมัยก่อนที่หยวนเหมยจะเขียนเรื่องนี้ก็ไม่ได้ปรากฏเรื่องของเทพกระต่ายในวัฒนธรรมของชาวฟูเจี้ยน

ต่อมาทางรัฐเริ่มมองว่าลัทธิเทพกระต่ายนี้ไม่เหมาะสมกับศีลธรรมอันดีงามของต้าชิง หลักฐานอย่างหนึ่งที่พูดถึงลักษณะของลัทธิ รูปเคารพ และแสดงถึงความไม่เหมาะสมในสายตาของรัฐคืองานเขียนของจูกุย (朱珪) ผู้เก็บภาษีธัญพืชเขียนขึ้นปีค.ศ.1765 เขาได้บรรยายรูปเคารพของหูเทียนเป่าว่า

“เป็นชายสองคนโอบกอดกัน หนึ่งมีหน้าเปี่ยมรอยอายุ อีกใบหน้านวลขาวซีด เหล่าชายผู้หวังจะได้ครอบครองคนรักเพศเดียวกันพากันมากราบไหว้ขอพร และเจิมปากของรูปเคารพด้วยไส้หมูกับน้ำตาลแทนคำขอบคุณ”

จูกุยนั้นมองว่าลัทธิของเทพกระต่ายในฟูเจี้ยนเป็นลัทธิที่มอมเมาให้คนหลงในกาม เป็นลัทธินอกลู่นอกทางที่จะปล่อยไว้ไม่ได้ เขาจึงร่างกฎหมายปราบปรามลัทธิอนาจารออกมา นับว่านี่คือกฎหมายแรกๆ ที่แสดงออกต่อต้านการร่วมเพศระหว่างชายรักชายในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ทำให้ศาลบูชาเทพกระต่ายดั้งเดิมในฟูเจี้ยนถูกทำลายทิ้งในช่วงเวลาดังกล่าว

ศาลเจ้าเทพกระต่ายที่เหลืออยู่ในไต้หวัน

Photo from Queerious Taiwan

“ทู่เอ๋อเมี่ยว” (兔儿庙 tù’er miào) ศาลของเทพกระต่ายที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน ตอนนี้อยู่ในพื้นที่หยงเหอ ชานเมืองนิวไทเป ประเทศไต้หวัน สถานที่แห่งนี้ไม่ได้สร้างร่วมสมัยกับตำนานของหูเทียนเป่า เป็นเพียงการรื้อฟื้นลัทธิความเชื่อของเทพกระต่ายภายหลัง

ศาลแห่งนี้สร้างเมื่อปีค.ศ. 2006 โดยลู่เว่ยหมิง (盧威明) นักบวชลัทธิเต๋า ด้วยความตั้งใจว่าจะสร้างพื้นที่สักการะของชาว LGBT+ ให้บริการจัดพิธีแต่งงานตามประเพณีให้กับคู่รักร่วมเพศ ศาลแห่งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นศาลเจ้าหรือวิหารสำหรับเทพรักร่วมเพศแห่งแรกในโลกที่ยังเปิดให้คนเข้าไปประกอบพิธีกรรมได้

แม้ขนาดศาลเจ้าจะเล็ก แต่เหตุผลของการสร้างก็เรียกว่ายิ่งใหญ่ไม่แพ้ใครทีเดียว สำหรับคู่รักร่วมเพศที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไต้หวัน สถานที่แห่งนี้อาจเรียกว่าเป็นเมกกะของเหล่า LGBT+ (โดยเฉพาะสายมู) ที่จะพลาดไม่ได้


科举 : การสอบขุนนางในระบบราชการจีนโบราณ คนไทยคุ้นเคยมาจากคำว่า “จอหงวน” ซึ่งเป็นชื่อเรียกผู้สอบได้อันดับหนึ่งในการแข่งขัน

Reference :

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.