แต่งสวยด้วยเครื่องสำอางแบบอียิปต์โบราณ

เครื่องสำอางเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมอียิปต์มาอย่างยาวนาน และถูกมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันทั้งของชายและหญิง วันนี้เรามาทำความรู้จักกับเครื่องสำอางโบราณและค่านิยมด้านความงามอันเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

Ancient Egyptian cosmetics; National Museum of Egyptian Civilization, Cairo
Ancient Egyptian cosmetics; National Museum of Egyptian Civilization, Cairo.Photo : Richard Mortel

ร่องรอยของเครื่องสำอางในวัฒนธรรมอียิปต์พบได้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์/ก่อนราชวงศ์ และเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวอียิปต์โบราณ นอกเหนือไปจากการตกแต่งรักษาความงามตามค่านิยมแล้ว การแต่งหน้าก็เกี่ยวข้องกับความเชื่อด้วย พวกเขาเชื่อว่าการเขียนและตกแต่งดวงตาเป็นการปกป้องสิ่งไม่ดีไปพร้อมๆ กับการถนอมตาจากความร้อน

ในสุสานจึงมีการจัดเครื่องสำอางสำหรับให้ผู้ตายนำไปใช้ในโลกหลังความตายด้วย จากหลักฐานที่พบร่วมกับการฝังศพนี้เองที่ทำให้นักอียิปต์วิทยาสามารถเรียนรู้ถึงส่วนผสมและองค์ความรู้ด้านการแพทย์ของพวกเขา อีกทั้งสารต่างๆ จะเป็นสารสกัดจากพืชหรือแร่ก็สามารถช่วยบอกถึงความหลากหลายและการติดต่อค้าขายที่รุ่งเรืองในอดีตได้อีกทางหนึ่ง

โฆษณา

ปกติแล้วเครื่องสำอางของอียิปต์จะอยู่ในรูปแบบของวัตถุดิบที่ต้องอาศัยการบดให้เป็นผงก่อนจะนำมาผสมกับตัวทำละลายหรือสารที่ช่วยในการยึดเกาะ ตั้งแต่การผสมกับน้ำไปจนถึงยางไม้บางประเภท น้ำมันหรือน้ำผึ้งก็เป็นอีกชนิดที่นิยมกันอย่างมาก เพราะช่วยในการยึดเกาะและปกป้องผิวจากแสงแดด

ในเมื่อต้องมีการบดวัตถุดิบต่างๆ นักโบราณคดีจึงพบโบราณวัตถุแบบที่เรียกว่า “แท่นสี” (Palette) มีหลักฐานการค้นพบตั้งแต่ยุควัฒนธรรมบาดาเรียน (Badarian period) ราว 5,500 – 4,000 ปีก่อนคริสตกาล อุปกรณ์ชิ้นนี้มีหน้าที่ใช้บดผงสีและเครื่องสำอางจึงเป็นสิ่งของจำเป็นของคนทุกชนชั้น โบราณวัตถุที่พบบางชิ้นยังมีร่องรอยของผงสีหรือเครื่องสำอางหลงเหลืออยู่บนพื้นผิวที่ชี้ให้เห็นถึงหน้าที่ของมันอย่างชัดเจนด้วย

Naqada III 3300–3100 B.C.© The Met

แท่นสีนิยมทำจากหินเกรย์แวก ( greywacke ) เป็นหินตะกอนชนิดหินทรายแบบหนึ่ง มีสีเทาแก่ และมีเนื้อแบบหินทรายเนื้อหยาบเหมาะสำหรับการบด พบในโบราณวัตถุตั้งแต่ช่วงบาดาเรียนและนาคาดา มักทำเป็นแผ่นเรียบรูปทรงสัตว์ต่างๆ โดยที่พบมากปรากฏเป็นรูปของปลา ก่อนจะเริ่มมีความประณีตในรูปทรงและการแกะสลักลวดลายขึ้นในช่วงยุคต้นราชวงศ์ (Early Dynastic period)

โบราณวัตถุชิ้นเด่นจากยุคราชวงศ์ที่ 1 คือแท่นสีของนาร์เมอร์ (Narmer) แสดงให้เห็นถึงบทบาทของเครื่องสำอางที่มีต่อชนชั้นผู้นำในสังคมอย่างกษัตริย์

นอกจากวัสดุที่เป็นหินแล้วก็อาจพบที่ทำจากไม้ด้วยเช่นกัน แต่พบในปริมาณที่น้อยกว่า ด้วยวัสดุที่ทำจากไม้มักเป็นอุปกรณ์เพื่อการจัดเก็บผงสี เครื่องประดับหรือทำเป็นกล่องเก็บอุปกรณ์เสริมความงามเสียมากกว่า มีการขุดพบกล่องเครื่องสำอางเหล่านี้จากสุสานขุนนางและราชวงศ์ที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่บ้าง โดยมักพบภาชนะบรรจุเครื่องสำอาง กระจก เครื่องมือในการดูแลร่างกายต่างๆ ไปจนถึงวิกผมหรือช่อผมสำหรับใช้ตกแต่งทรงผมของชนชั้นสูง

กล่องเครื่องสำอางของคีมีนี (Kemeni) และกระจกของเรนิเซเนบ (Reniseneb).อายุราว 1814–1805 ก่อนคริสตกาล©The Met

ถึงการแต่งหน้าจะเป็นเรื่องของทุกคนในอียิปต์ แต่สำหรับสิ่งของเครื่องใช้รวมถึงวัตถุดิบในการทำเครื่องสำอางก็อาจมีข้อแตกต่างกันไปตามฐานะ คนมั่งมีก็อาจจะมีกล่องเครื่องสำอางหรูหรามีการตกแต่งอย่างสวยงาม ในขณะที่ย่อมลงมาหน่อยอาจใช้เป็นกล่องไม้ธรรมดากับเครื่องจักสานอย่างง่ายๆ เท่านั้น

เครื่องสำอางที่พบจากสุสานสตรีไม่ทราบชื่อ อายุราว 1479–1458 ปีก่อนคริสตกาล
มีช่อผมใส่อยู่ในตระกร้าสานมีฝาปิด กล่องไม้ที่สำหรับใส่เครื่องประดับ
และขวดอลาบาสเตอร์ที่ใส่ผงทาขอบตา (kohl)©The Met
Cosmetic set of Kohl Tube and Applicator, Razor, Tweezers, Whetstone, and Mirror.New Kingdom ca. 1550–1458 B.C.©The Met

วิธีการแต่งหน้าแบบชาวอียิปต์

รูปสลักและภาพจิตรกรรมจำนวนมากแสดงภาพของชาวอียิปต์ที่มีการตกแต่งใบหน้า แม้จะปรากฏสีผิวที่แตกต่างกันตั้งแต่สีขาวนวล สีทองแดง ไปจนถึงสีดำ อาจเป็นเพราะความหลากหลายทางเชื้อชาติตลอดเวลาหลายพันปีที่ทำให้เกิดความแตกต่างดังกล่าว แต่ที่เหมือนกันคือทุกคนมีการตกแต่งใบหน้าทั้งสิ้น โดยจุดเด่นเน้นที่ดวงตา ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ไม่ได้มีความสำคัญหรือถูกเน้นมากนัก

Picture of the Nefertiti bust in Neues Museum, Berlin.Photo : Philip Pikart, CC BY-SA 3.0 via Wikimedia Commons

ภาพสลักครึ่งบนของราชินีเนเฟอร์ตีติอันโด่งดังก็แสดงถึงการแต่งหน้าอันละเมียดละไม มีการเขียนขอบตา ทาสีแดงระเรื่อที่แก้มและริมฝีปาก เป็นความงามอันโดดเด่นเหนือกาลเวลา และจากหลักฐานที่หลงเหลือมาทั้งในบันทึกและหลักฐานทางโบราณคดีทำให้เราสามารถสรุปวิธีการแต่งหน้าของชาวอียิปต์โบราณได้ดังนี้

งานผิว (Facial Care)

หลักฐานของเครื่องสำอางสำหรับใช้กับใบหน้าพบร่องรอยหลักฐานผ่านข้อความในกระดาษพาไพรัสกับภาพเขียนและประติมากรรมต่างๆ แม้ว่าเราจะไม่ทราบว่าชาวอียิปต์โบราณมีการใช้แป้งทาหน้า (Facial Powder) กับรองพื้นหรือไม่ และหากมีจะใช้เป็นวัตถุดิบอย่างไร แต่เราพบภาพเขียนที่แสดงภาพของหญิงสาวถืออุปกรณ์คล้ายๆ พัฟแป้ง (Powder puff) ซึ่งอาจใช้กับแป้งทาหน้าหรือผงบรัชทาแก้มจากภาพสลักหินปรากฏอยู่บ้าง แต่อาจพบไม่มากเท่ากับท่าทางการใช้พายหรือแปรงในการทาปากหรือตกแต่งดวงตา

ภาพส่วนหนึ่งจากแผ่นจารึก No.EA1658 (CC BY-NC-SA 4.0) © The Trustees of the British Museum

จากงานวิจัยปี 2018 ที่นำเอาตัวอย่างจากภาชนะใส่เครื่องสำอางที่ได้จากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) ซึ่งพบจากอียิปต์และกรีกเพื่อนำเลดคาร์บอเนต (Lead carbonate) มาคำนวณหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วย Carbon-14 ทำให้ทราบว่าอียิปต์นั้นมีการใช้สารตะกั่วขาว (Cerussite) ที่เก่าแก่กว่ากรีก โดยไม่ได้ทำการสังเคราะห์ขึ้นแต่ใช้วัตถุดิบของเลดคาร์บอเนตที่พบจากแหล่งแร่ธรรมชาติ เช่น ฟอสจีไนต์ (phosgenite) เป็นต้น

ตะกั่วขาวหรือเลดคาร์บอเนตเป็นส่วนผสมหลักในเครื่องสำอางหลายชนิดของอียิปต์โบราณ ตั้งแต่ผงทาขอบตา ผงบรัชทาแก้มและลิปสติก ในสมัยหลังการใช้ตะกั่วเนื้อสีขาวนี้ได้รับความนิยมในการทำเป็นแป้งทาหน้าในสมัยกรีกซึ่งมีค่านิยมความขาว ยุคนี้เกิดการสังเคราะห์เซรุสไซต์หรือตะกั่วขาวเพื่อใช้งานภายใต้ชื่อ “psimythium” (ละตินเรียก cerussa) ปรากฏหลังจากยุคของตะกั่วขาวอียิปต์ราว 1000 ปี และยังคงความนิยมในทั้งวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกจนถึงการเสื่อมความนิยมลงเมื่อราวๆ คริสต์ศตวรรษที่ 18

เป็นไปได้หรือไม่ว่าหากมีการพบเซรุสไซต์ในส่วนประกอบอื่นๆ ของเครื่องสำอางแล้ว อาจมีการใช้ความเป็นรงควัตถุสีขาวสำหรับตกแต่งใบหน้าแทนแป้งให้ขาวด้วย อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดด้านหลักฐานที่กล่าวไปข้างต้นจึงเป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่ามีการใช้เซรุสไซต์ในลักษณะนี้หรือไม่ จนกว่าที่จะมีการพบหลักฐานเพิ่มเติมในอนาคต

โฆษณา

แม้จะยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับรองพื้นและแป้งของชาวอียิปต์โบราณ แต่ข้อมูลจากพาไพรัสที่บันทึกเรื่องการแพทย์ก็ยังปรากฏสูตรประทินผิวหน้า ตัวอย่างดังข้อความที่พบจากม้วนพาไพรัสเอ็ดวิน สมิธ (Edwin Smith Papyrus) ในตำรายาหมายเลข 3 ด้านหลังม้วนกระดาษ (Verso, column XXI 6-8) ระบุส่วนผสมและการใช้ตามนี้

“Alabaster powder, powder of natron, northern salt and honey are mixed together into a compound and the face is massaged with it
ผงอลาบาสเตอร์, ผงนาตรอน, เกลือทางเหนือและน้ำผึ้ง ผสมให้เข้ากันและนำมานวดใบหน้า”

(Brested, 1999, as cited in El-Kilany & Raoof, 2017)

การตกแต่งดวงตา (Eyes paint)

ภาพวาดเลียนแบบจิตรกรรมสุสานรูปเคนามุน (Qenamun) กับภรรยา ca. 1390–1352 B.C.
ทั้งสองถูกวาดโดยที่ใช้เครื่องสำอางเขียนรอบดวงตา ©The Met

การตกแต่งดวงตาเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับชาวอียิปต์โบราณ พวกเขามองว่ามันเป็นเรื่องของสุขภาพและโชคลาง การทาเปลือกตาและขอบตาถือเป็นการปกป้องดวงตาจากแสงแดด ทั้งยังช่วยป้องกันสิ่งไม่ดีให้เข้ามากล้ากรายอีกด้วย ดังนั้นทั้งชายหญิงจึงนิยมตกแต่งดวงตาเสมอ โดยปรากฏเป็นหลักฐานตามจิตรกรรมและรูปบุคคลต่างๆ

Mesedjmet หรือ Kohl (ผงทาขอบตา)

ชาวอียิปต์โบราณถือว่าดวงตายาวรีทรงอัลมอนด์เป็นส่วนสำคัญและเป็นจุดเด่นของการแต่งหน้า จึงมีการใช้ “ผงทาขอบตา” (Kohl) ตกแต่งขอบตา ขนตาและขนคิ้ว การเขียนอายไลเนอร์ (Eyeliner) กับการใช้อายแชโดว์ (Eyeshadow) จึงเป็นกิจวัตรของทั้งชายและหญิงด้วยเหตุผลด้านความเชื่อและความสวยงาม

วัตถุดิบแรกที่ถูกนำมาใช้ทำผงทาขอบตาคือแร่มาลาไคต์ (Malachite) แร่ธรรมชาติสีเขียว เนื้ออ่อนกว่ามรกต (Emerald) สีเขียวเดิมเป็นสีนิยมในช่วงยุคอาณาจักรเก่า ใช้ทาตั้งแต่หัวคิ้วลงมาถึงฐานจมูก

รูปสลักทาสีของ Nésa สมัยราชวงศ์ที่ 3 ยังปรากฏสีเขียวที่ทาตกแต่งขอบตาล่าง
©Musée du Louvre / Christian Larrieu

ภายหลังในเวลาต่อมาสีดำกลายเป็นสีที่นิยมกันมากกว่า โดยส่วนผสมของผงทาขอบตามีความหลากหลายแล้วแต่สูตร มักพบวัตถุดิบเป็นกาลีนา (galena), มาลาไคต์, ลาพิสลาซูรี่ (lapis lazuli), น้ำผึ้ง และดินเทศ (ochre) นำหินแร่ต่างๆ มาบดเป็นผงบนแท่นสีหรือหินที่มีพื้นเรียบ ก่อนจะนำมาผสมกับน้ำหรือยางไม้ เขม่าถ่าน (soot) เองก็เป็นวัตถุดิบที่ใช้กันโดยทั่วไปและยังพบอยู่ในผงมาสคาร่าของชาวอียิปต์ในยุคปัจจุบันด้วย

กาลีนา (galena) Photo : Ivar Leidus, CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons

“มาลาไคต์” (Malachite) Photo : malachit-obchod

มาลาไคต์ถูกพบการใช้งานตั้งแต่ยุควัฒนธรรมบาดาเรียน (Badarian culture) และยุคก่อนราชวงศ์จนถึงสมัยราชวงศ์ที่ 19 ในขณะที่กาลีน่าเริ่มพบตั้งแต่ปลายยุคก่อนราชวงศ์และใช้ต่อเนื่องจนถึงยุคคอปติค (Coptic period) เราจึงพบวัตถุดิบของแร่ทั้งสองชนิดบรรจุในห่อผ้าลินินหรือถุงหนังสัตว์และใส่เป็นเครื่องอุทิศในสุสาน ส่วนที่แปรรูปเป็นผงแล้วอาจพบในฝาหอย, ลำต้นกก ไปจนถึงภาชนะขนาดเล็กที่อาจมีการตกแต่งลวดลายของต้นกก

Galena
ตัวอย่างผงกาลีนาที่ทำขึ้นเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์  Rosicrucian Egyptian Museum, San Jose Photo : helloandyhihi via Flickr

โฆษณา

แก้มและริมฝีปาก (Cheek and Lip)

ภาพหญิงสาวกำลังทาปากด้วยไม้พาย จากพาไพรัสอีโรติกแห่งตูริน
(Turin Satirical-Erotic Papyrus).© MUSEO EGIZIO

ดินเทศ (red ochre) เป็นส่วนประกอบหลักของสีแดงในอียิปต์ มีบทบาทสำคัญทั้งในงานศิลปะ เป็นยา และยังเชื่ออีกว่าดินเทศช่วยรักษาปัญหาด้านสายตา แผลไหม้ แมลงสัตว์กัดต่อย แน่นอนว่ารวมถึงการใช้เป็นเครื่องสำอางด้วย อียิปต์โบราณมีแหล่งขุดดินเทศในอัสวานและโอเอซิส ด้วยการขุดดินเทศซึ่งมีลักษณะเป็นโคลนขึ้นมาล้างและตากแดดกให้แห้ง เพื่อจะได้นำไปบดเป็นผงสำหรับการใช้งานต่อไป

ภาพสลักของ Nefertiti ส่วนริมฝีปากและแก้มบางส่วน  แสดงการทาปากและปัดแก้มอย่างชัดเจน
© Staatliche Museen zu Berlin, Ägyptisches Museum und Papyrussammlung / Sandra Steiß

เครื่องหอมจรุงใจ (Perfume)

ชาวอียิปต์มีการใช้เครื่องหอมหลากชนิด มีบางอย่างที่นำเข้ามาจากต่างแดนที่ไกลถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังที่ปรากฏจากงานวิจัยภาชนะดินเผาจากสถานปลงศพในซัคคารา ที่ต่างจากยุคปัจจุบันคือพวกเขานิยมใช้น้ำมันหอมมากกว่าการผสมสารที่มีความหอมกับแอลกอฮอล์ เพราะในอดีตนั้นยังไม่รู้จักกระบวนการกลั่นของเหลว

สารที่ให้ความหอมต่างๆ จึงจะถูกผสมเก็บรวมกับไขมันจากพืชหรือสัตว์ กลิ่นหอมต่างๆ ที่ได้มามักเป็นกลิ่นที่มาจากดอกไม้ เมล็ดพืช ยางไม้ และไม้หอม แต่ไม่พบผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์อย่างอำพันทะเล (ambergris) ชะมดเช็ด (civet) หรือมัสค์ (musk) นำเอามาผสมกับน้ำมันเพื่อใช้ทาผิวหรือชโลมเส้นผม น้ำมันหอมเหล่านี้จะถูกบรรจุอยู่ในภาชนะที่ทำจากหินต่างๆ หรือภาชนะดินเผาเคลือบ

สำหรับสตรีมีฐานะยังมีเครื่องหอมอีกประเภทที่นิยมกันและพบตามจิตรกรรมมากมาย นั่นคือ “โคนหอม” (perfume cone) ซึ่งเป็นการผสมเครื่องหอมกับไขมันปั้นเป็นโคนใช้วางบนศีรษะเหนือวิก โคนหอมนี้จะค่อยๆ ละลายตามสภาพอากาศไปเรื่อยๆ คอยส่งกลิ่นหอมกำจายอบอวล

A fragment of the frescoes on the wall of the tomb chapel of Nebamun, depicting guests, servants, musicians, and dancers at a funerary banquet.British Museum, Public domain, via Wikimedia Commons

แต่เนื่องมาจากก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการค้นพบตัวโคนน้ำหอมจริงๆ จึงมีเพียงข้อสันนิษฐานต่างๆ ไปจนถึงว่าโคนดังกล่าวอาจเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ในงานศิลปะเฉยๆ เมื่อมีการค้นพบใหม่ในสุสานที่อามาร์นา (Amarna) ปี 2019 กลับพบว่าโคนดังกล่าวมีอยู่จริง เพียงแต่หากไม่ใช่เป็นโคนหอมแบบความเข้าใจเดิม เพราะวัสดุที่พบมีลักษณะเป็นโคนกลวงที่ห่อพอกเนื้อในที่มีลักษณะเป็นสารอินทรีย์สีน้ำตาลดำ นักโบราณคดีสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นผ้า โดยทำการทดสอบพบการหลอมละลายของขี้ผึ้งปรากฏบนโคน แต่ไม่พบบริเวณเส้นผมของเจ้าของร่าง ทำให้แนวคิดที่ว่าโคนบนผมเป็นโคนน้ำหอมนั้นอาจจะต้องมีการรื้อขึ้นมาถกเถียงถึงบทบาทหน้าที่ของโคนดังกล่าวใหม่ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับสถานะทางสังคมมากกว่าการเป็นเครื่องหอมอีกประเภท

Tomb of Menna
The Tomb of Menna, Theban Tomb TT69.Photo : kairoinfo4u

สิ่งเหล่านี้คือหนึ่งในวิถีแห่งโลกยุคโบราณที่ยังคงมนต์เสน่ห์มาจนถึงยุคปัจจุบัน เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความร่ำรวยทางวัฒนธรรมของชาวลำน้ำไนล์ ที่เมื่อมองย้อนกลับไปก็ทำให้เห็นความเป็นเมืองและอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ เป็นความสวยงามเหนือกาลเวลาดังรูปสลักของเนเฟอร์ตีติที่สะกดทุกสายตาเอาไว้ในความงามเหนือกาลเวลา


Featured Image : Scene from daily life, Tomb of Nakht, Luxor, TT52

โฆษณา

References :

โฆษณา

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.