มีคนส่งมาถามเยอะ ก็เลยเขียนถึงสักหน่อย จากความเชื่องมงายว่าฝรั่งไม่ค่อยอาบน้ำ สุขอนามัยแย่ ไปจนถึงต้องแต่งงานในเดือนที่หอมที่สุดเพราะฝนชะเอาสิ่งปฏิกูลไปจากเมือง มากไปกว่านั้น…เจ้าสาวต้องถือช่อดอกไม้ซ่อนกลิ่นจิ๊ แล้วความจริงเป็นยังไง มาลองดูหลักฐานไปพร้อมกันค่ะ
เราเข้าใจว่าสุขอนามัยของเมืองอาจจะเรียกว่าแย่เพราะการจัดการของเสียที่ไม่เป็นระบบในบางพื้นที่ ทว่าหากเมืองนั้นพัฒนามาจากระบบผังเมืองยุคโรมัน มีโอกาสสูงที่มรดกของชาวโรมันที่มีทั้งท่อส่งน้ำและทางระบายน้ำเสียจะยังคงถูกใช้งานสืบเนื่องมาในสมัยหลัง
แต่สำหรับสุขลักษณะส่วนบุคคลนั้นมีข้อมูลออกมาหลายชิ้นแล้วที่ลบล้างความเชื่อเดิมเรื่องการอาบน้ำของชาวยุโรป เดี่ยวก่อน! เรารู้ว่าท่านคิดอะไรอยู่ เราไม่ได้หมายความว่าตลอดช่วงไทม์ไลน์อันยาวนานตั้งแต่วัฒนธรรมเคลท์จนถึงยุคแห่งการปฏิวัติการดูแลร่างกายและความสะอาดจะเป็นอย่างเดียวกันหมด ทว่าในกลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ๆ ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันก็ไม่ได้เป็นยุคที่สกปรกกันถึงขนาดไม่อาบน้ำเลยตลอดปี โดยมาอาบแค่ปีละครั้ง ไปพูดแบบนี้ใส่ไวกิ้งกับคนยุคกลางล่ะก็…มีหวังหัวแบะ เพราะคนในช่วงยุคดังกล่าวมีความรักสะอาดมากกว่าภาพที่เราเห็นจากหนังและซีรีส์

มีการระบุว่าคนเราควรอาบน้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งด้วย
(Photo by AKG-Images via History Extra)
อย่างการออกจากบ้านโดยไม่ชำระร่างกาย คนยุคกลางถือว่าเป็นบาป การคิดค้นสบู่ก็เกิดขึ้นในดินแดนกอลตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว (ยังไม่นับการที่ชาวมุสลิมคิดค้นมันขึ้นมาในตะวันออกกลางอีกนะ) การใช้สบู่เริ่มแพร่หลายตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 โรงอาบน้ำสาธารณะก็ยังมีความนิยม แม้ว่าบางแห่งจะเป็นที่นัดพบและทำงานของโสเภณีอย่างลับๆ ด้วยก็ตาม เพราะงั้นความเชื่อที่ว่าคนโบราณอาบน้ำแค่ปีละครั้งและเจ้าสาวถือช่อดอกไม้เพื่อกลบกลิ่นไม่พึงประสงค์จึงไม่ยืนอยู่บนข้อเท็จจริงและเป็นแค่ความเชื่อที่ล้าหลัง

ถ้ายุคโบราณพวกเขาไม่ได้ซกมกจริงๆ แล้วทำไมเขาถึงแต่งงานกันในเดือนมิถุนายน? พวกเขาไม่ได้รอให้มีฝนตกล้างของเสียในเมืองออกไปหรอก ลมมรสุมทางทวีปยุโรปนั้นคนละชุดกับมรสุมที่ส่งอิทธิพลต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นหมายถึงเขาไม่ได้มีฝนตกในระดับเดียวกับเรา แถมโลกเราก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด สภาพภูมิอากาศก็เช่นกัน จากข้อมูลการศึกษาบรรพภูมิอากาศ (Paleoclimatology) ซึ่งเป็นการศึกษาสภาพอากาศของโลกยุคโบราณก็ชี้ว่าในยุคกลางนั้นยุโรปมีสภาพอากาศที่อุ่นกว่าช่วงอื่นๆ

ตัวอย่างเอกสารยุคกลางฉบับหนึ่งจาก The British Library เขียนขึ้นโดยโรเจอร์ เบคอน (Roger Bacon) ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีอยู่ 12 หน้าที่กล่าวถึงปฏิทินเดือนมีนาคม ค.ศ. 1269 – กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1270 ตามปฏิทินปัจจุบัน แต่สำหรับคนยุคกลางแล้วช่วงนี้ถือเป็นช่วงปีใหม่ กำกับด้วยภาษาละตินเพื่อเล่าถึงสภาพอากาศตอนนั้น
“ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม อากาศเย็นขึ้นและมีฝนตกบ่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
-The manuscript Royal 7 F viii 13th century
ดังจะเห็นว่าเอกสารชั้นต้นระบุว่ามีฝนตกช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นคนละช่วงกับที่ระบุว่าเป็นหน้าฝนในเดือนพฤษภาคม ยังห่างกันถึงเกือบราวๆ 3 เดือนด้วย นอกจากการรายงานภูมิอากาศในเดือนสิงหาคมแล้ว ยังมีการพูดถึงช่วงฝนตกต่อไปอีกตลอดเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ก่อนจะตามมาด้วยหิมะแรก
สำหรับสังคมกสิกรรมแล้ว การแต่งงานของบ่าวสาวขึ้นอยู่กับฤดูกาลอันเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรมด้วย ดังนั้นฤดูที่มักมีการแต่งงานกันคือฤดูใบไม้ผลิ (Spring) เพราะการแต่งงานในช่วงนี้คนโบราณคำนวณแล้วว่าเจ้าสาวจะมีระยะเวลาตั้งท้องและคลอดไปจนถึงการพักฟื้นในช่วงที่ไม่ตรงกับฤดูเก็บเกี่ยวที่ต้องอาศัยแรงงานทั้งในไร่นากับการดูแลผลผลิต ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างยุ่งทีเดียว ยิ่งถ้าตั้งท้องในเดือนมิถุนายน-กรกฏาคมก็จะยิ่งเหมาะเพราะจะยังสามารถช่วยเหลืองานในปีนั้นๆ ได้ (ท้องไม่แก่เกินไป) และจะคลอดไม่รบกวนช่วงเก็บเกี่ยวของปีหน้าด้วย
เรื่องคติของการนิยมแต่งงานช่วงใบไม้ผลิไม่ได้แค่ในยุโรปเท่านั้น ทางวัฒนธรรมจีนกับภูมิภาคใกล้เคียงก็มองว่าการแต่งงานในช่วงนี้มงคล เพราะเป็นช่วงแห่งการเกิดใหม่ พืชพันธุ์ดอกไม้บานสะพรั่ง แม้แต่พวกสัตว์ต่างๆ ก็มีการสืบพันธุ์และมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ สังเกตได้ว่าสำหรับกลุ่มวัฒนธรรมสังคมเกษตรกรรมจะมีธรรมเนียมที่คล้ายคลึงกันแม้จะอยู่คนละทวีป

ธรรมเนียมแต่งเจ้าสาวเดือนมิถุนายนมีที่มาจากสมัยโรมัน
ดูแค่ชื่อก็น่าจะทราบกัน มิถุนายนในภาษาอังกฤษคือ June มีรากมาจากชื่อของเทพี”จูโน” (Juno) องค์เดียวกับที่กรีกเรียกว่า “เฮรา” (Hera) ในภาษาละตินอันเป็นระบบภาษาของชาวโรมันได้เรียกเดือนนี้ว่า Junius โดยชื่อเดือนนี้ที่สัมพันธ์กับการเป็นเดือนแห่งเทพีจูโนปรากฏในงานประพันธ์กลอนโบราณของ Ovid ในชุดชื่อ Fasti แปลว่า “หนังสือแห่งวันเดือน” ที่มีการร่ายกวีตำนานของวันและเดือนต่างๆ โดยของเทพีจูโนอยู่ในหนังสือเล่มที่ 6

เทพีจูโนนี้ไม่ได้มีดีแค่เป็นเทพีที่ไล่บี้เหล่าบรรดากิ๊กของสามีอย่างจูปิเตอร์ (Jupiter) แต่เธอเป็นเทพีอุปถัมภ์การแต่งงาน การครองเรือนและการคลอดบุตร สตรีที่แต่งงานจึงต้องบวงสรวงเทพีจูโนเพื่อให้ชีวิตคู่ดี การคลอดลูกปลอดภัย และจะมีเดือนไหนที่เหมาะจะแต่งงานเท่ากับเดือนของเทพีอย่างเดือนมิถุนายนล่ะ
พลูทาร์ค (Plutarch) นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวกรีก-โรมันที่มีอายุอยู่ในช่วงราว ค.ศ. 46 – ราว ค.ศ. 120 ยังเคยเขียนถึงประเพณีการแต่งงานของคนยุคโรมันว่าเดือนมิถุนายนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกว่าแต่งในเดือนพฤษภาคม เพราะการแต่งในเดือนมิถุนายนจะมีความมงคล ล่ำซำ และมีความสุขตลอดชีวิตการแต่งงาน ที่เดือนพฤษภาคมไม่เหมาะกับการแต่งงานก็เพราะว่าเป็นช่วงเทศกาลเลี้ยงผี (Feast of the Dead) แค่ชื่อคงไม่ต้องถามแล้วว่าทำไมแต่งเดือนนี้แล้วไม่ดี
สำหรับชาวเคลท์แล้ว พวกเขาเชื่อว่าการแต่งงานในเทศกาลครีษมายัน (ฉลองวันกลางฤดูร้อน) ถือว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดของปีเช่นกัน ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนมิถุนายน คนละช่วงเวลากับบ้านเราที่มักจะร้อนช่วงเมษายน ภาษาโบราณเรียกว่า “ลิธา” (Litha) อันเป็น 1 ในเทศกาลโบราณที่สำคัญของชาวยุโรป

เทศกาลนี้อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามภาษาและวัฒนธรรม ปัจจุบันประเทศในยุโรปอย่างสวีเดนก็ยังคงเฉลิมฉลองวันดังกล่าวอยู่ รวมถึงประเทศหมู่เกาะอย่างอังกฤษ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์
การแต่งงานในยุคกลางของชาวอังกฤษนิยมแต่งกันในเดือนมกราคม ตุลาคม และพฤศจิกายน เพราะเป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วหรือยังไม่ได้เริ่มงานเพาะหว่านในไร่นา ช่วงนี้จะมีงานฉลองสำคัญที่ทำกันมาก่อนยุคคริสต์ศาสนา มีการเชือดเนื้อสัตว์เพื่อสำรองไว้ในหน้าหนาว ผลผลิตกับเนื้อสัตว์ที่หาได้ในช่วงนี้เรียกว่ามากพอจะจัดงานเลี้ยงอย่างเต็มที่ไม่ต้องตระหนี่นัก คนยุคนั้นจึงถือว่าไหนๆ ก็มีงานเลี้ยงอยู่แล้ว การจัดงานแต่งงานเพิ่มก็คงเป็นที่สนุกสนานยินดีกันมากขึ้นอีก
การแต่งงานหน้าร้อนก็ดี ฤดูใบไม้ผลิก็ดี เราอาจพูดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดรูปแบบของช่อดอกไม้เจ้าสาวด้วย ช่วงฤดูนี้ดอกไม้ต่างๆ จะผลิบานสะพรั่งงามตา น่ามองกว่าช่วงหน้าหนาวที่มีแต่ความแห้งแล้ง อีกทั้งดอกไม้แต่ละชนิดยังซ่อนความหมายเอาไว้ การจัดช่อดอกไม้ในวโรกาสต่างๆ จึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสม
ชาวยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 นิยมจัดช่อดอกไม้ด้วยดอกกุหลาบ สื่อความหมายว่ารักอันโรแมนติก นิยมใช้กันในหลายโอกาสรวมถึงงานแต่งงานด้วย เจ้าสาวชาวไอริชมักสวมมาลัยดอกไม้ป่าบนศีรษะและยังนิยมถือช่อดอกไม้ระหว่างพิธีแต่งงานด้วย ส่วนเจ้าสาวเวลส์จะถือช่อกิ่งสดของดอกเมอร์เทิล (Myrtle) และแจกจ่ายกิ่งเหล่านั้นให้เพื่อนเจ้าสาวแบ่งไปปลูก ถ้ากิ่งนั้นโตเป็นต้นใหม่จะเป็นการทำนายว่าสาวเจ้าคนนั้นจะได้แต่งงานภายในรอบปีต่อไป

เห็นได้ชัดว่าประเพณีของช่อดอกไม้เองก็สอดคล้องกับประเพณีและเทศกาลของสังคมเกษตรกรรม มีการคำนึงถึงความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่งอกงามอย่างต้นไม้ที่ยั่งยืน ชีวิตคู่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมอบชีวิตใหม่ เหมือนดอกไม้ที่ผลิบานในช่วงมิถุนายนนั่นเอง
Featured Image : The Life and Miracles of Saint Godelieve, Master of the Saint Godelieve Legend (Netherlandish, active fourth quarter 15th century),The MET.
Reference :
- A Medieval Weather Report.(n.d.).Medievalists.Retrieved 26 November 2022, from https://www.medievalists.net/2015/09/a-medieval-weather-report/
- Cybulskie,D.(n.d.).Love and Marriage: Medieval Style.Medievalists.Retrieved 26 November 2022, from https://www.medievalists.net/2013/11/love-and-marriage-medieval-style/
- Haggerty,B.(n.d.).Marry in May and Rue the Day.Irish culture and Customs.Retrieved 26 November 2022, from https://www.irishcultureandcustoms.com/ACalend/MarryMay.html
- Mark, J. J. (January 28, 2019). Wheel of the Year. World History Encyclopedia. Retrieved 26 November 2022, from https://www.worldhistory.org/Wheel_of_the_Year/
- Snell, Melissa. (2020, August 28). Middle Ages Weddings and Hygiene. Retrieved 26 November 2022, from https://www.thoughtco.com/weddings-and-hygiene-1788715
- Why Do So Many Brides Marry in June?.Universal Life Church.Retrieved 26 November 2022, from https://www.ulc.org/ulc-blog/why-do-so-many-brides-marry-in-june