วันวาเลนไทน์…ว่าแต่ Valentine นี่ใครนะ?

ทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษล้วนรู้จักวันวาเลนไทน์ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ บางคนเข้าใจว่ามีนักบุญคนหนึ่งซึ่งตายลงวันนี้ แต่เดี๋ยว… ถ้าบอกว่ามีนักบุญถึง 3 คนที่มีชื่อเดียวกันล่ะ สรุปแล้วใครคือเซนต์วาเลนไทน์กันแน่?

ชื่อของวันวาเลนไทน์มีที่มาจากนาม “วาเลนตินุส” (Valentinus) ซึ่งเป็นชื่อความหมายดี สื่อถึงพลังและเกียรติยศ ทำให้ค่อนข้างจะเป็นชื่อโหลๆ ของคนในยุคโรมัน มันโหลซะจนมีนักบุญชื่อเดียวกัน 3 คน และมีข้อมูลชี้ว่าพร้อมใจมาตายกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ถึง 2 คน แต่จะบอกว่าพวกเขาเลือกมาจบชีวิตวันนี้เองก็ดูจะเศร้าไป ทว่าเรื่องจริง (มั้ง) ที่ถูกบันทึกไว้ก็ไม่ได้ดีกว่ากันเท่าไหร่ เพราะพวกเขาถูกสั่งประหารโดยจักรพรรดิโรมันในยุคที่ศาสนาคริสต์ยังไม่เป็นที่ยอมรับ

คนหนึ่งไม่ค่อยมีประวัติอะไรหลงเหลือมากนัก นอกเสียจากกล่าวว่าเขาเป็นนายพลประจำการในแอฟริกา ส่วนคนที่ 2 คือบิชอปวาเลนตินุสแห่งแตร์นี (Terni) นครทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโรม บิชอปวาเลนตินุสนี้เป็นผู้แสดงปาฏิหาริย์ในการรักษา ครั้งหนึ่งบิชอปถูกเชิญมายังโรมเพื่อรักษาบุตรชายของเครตอน (Craton) ที่ป่วยด้วยโรคที่่ทำให้สันหลังคดงอจนไม่สามารถเดินได้ บิชอปวาเลนตินุสเดินทางมาโรมประมาณค.ศ. 260s และพยายามให้เครตอนยอมเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์

Saint Valentine of Terni and his disciples. Codex: Français 185, Fol. 210. Vies de saints, France, Paris, 14th century

แคเรมอน (Chaeremon) บุตรของเครตอนต้องทรมานระหว่างที่รอพ่อของเขาดีเบตเรื่องปรัชญาศาสนาอยู่นมนาน จนกระทั่งเครตอนหมดทางจะถกเถียง เพราะเถียงกันไปลูกของเขาก็คงไม่หาย เขาจึงลั่นวาจาว่าถ้าวาเลนตินุสทำให้ลูกเขาหาย เขาและคนในบ้่านจะเปลี่ยนมานับถือคริสต์ เท่านั้นเองวาเลนตินุสก็ทำให้แคเรมอนหายด้วยการสวดภาวนาเพียงหนึ่งคืน พวกเขาทั้งหมดในบ้านนั้นจึงยอมเข้ารีต รวมถึงลูกศิษย์ของเครโต หนึ่งในนั้นมีชื่อว่า Furiosus Placidus ข่าวดังกล่าวลอยไปเข้าหูของใครสักคนในสภาเซเนต (Senate) ของโรมัน ทำให้เกิดการจับกุมบิชอปวาเลนตินุสไปสำเร็จโทษด้วยการโบยก่อนจะตัดศีรษะ

สาเหตุของการประหารวาเลนตินุสนั้นก็เพราะในสมัยของจักรพรรดิเกลาดิอุสที่ 2 (Claudius II) คริสต์ศาสนายังไม่เป็นที่ยอมรับในอาณาจักรโรมัน นอกจากนี้แล้วด้วยระบบการจดบันทึกอันแม่นยำของชาวยุโรปยุคกลางซึ่งมักแทบจะแยกเรื่องจริงกับนิยายออกจากกันยาก ก็ทำให้ที่มาและความสำคัญของเซนต์วาเลนไทน์ดูค่อนข้างจะสับสนยามที่คนรุ่นหลังต้องมาศึกษา เพราะถ้ายึดข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวของบิชอปวาเลนตินุสกับเครตอนอาจคลาดเคลื่อนและขัดแย้งกัน เนื่องจากหากพิจารณาชื่อของ Furiosus Placidus มีการบันทึกว่าชายคนนี้ได้กลายเป็นกงสุลในช่วงปีค.ศ.346-347 ซึ่งคล้อยหลังไปจากช่วงทศวรรษที่ 270 พอสมควร

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามีวาเลนตินุส 2 คน แต่ก็ยังมีคนที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เล่าขานกันมากที่สุด คือวาเลนตินุสผู้เป็นบาทหลวงแห่งโรม เรื่องตำนานบาทหลวงแห่งโรมได้รับความนิยมมากกว่าบิชอปแห่งแตร์นี ทำให้มีการเล่าเรื่องที่คลาดเคลื่อนจากกัน 2 แบบ

อัลบัน บัทเลอร์ (Alban Butler) บาทหลวงและนักประพันธ์ชีวประวัตินักบุญ (Hagiographer) ได้เคยรวบรวมเรื่องราวของนักบุญของคริสต์คาธอลิกออกมาเป็นหนังสือพันกว่าหน้าที่คนยังคงใช้อ้างอิงถึงประวัตินักบุญในปัจจุบัน เขียนว่านักบุญผู้มีวันฉลองคือ 14 กุมภาพันธ์นั้นคือมรณสักขี (Martyr) ชื่อว่า “วาเลนไทน์” และเล่าถึงประวัติเรื่องหนึ่งไว้ดังนี้

วาเลนไทน์เป็นบาทหลวงแห่งโรมผู้กลายเป็นมรณสักขีผู้ถูกจับกุมในคราวเดียวกับเซนต์มาริอุส (St Marius) และครอบครัว ได้รับเสนอให้ละทิ้งความเชื่อของตัวเองโดยจักรพรรดิเกลาดิอุสที่ 2 เมื่อวาเลนไทน์ยืนกรานในศรัทธาจึงถูกสั่งโบยและตัดศีรษะในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ราวปีค.ศ.270 ต่อมาสมัยโป๊ปจูลิอุสที่ 1 ได้ให้สร้างโบสถ์ตรงบริเวณ Ponte Mole เพื่อเป็นที่ระลึกถึง และยังมีประตูเมืองที่เคยชื่อ Porta Valentini แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น Porta del PopoIo สังขารของเขายังถูกรักษาไว้ที่โบสถ์เซนต์ปราเซเดส (Church of St Praxedes) 

นอกจากที่มาข้างต้นแล้ว เรื่องราวของเซนต์วาเลนไทน์ก็ค่อยๆ ถูกพัฒนาในลักษณะเรื่องเล่าที่อาจมีความผิดเพี้ยนกันไปบ้าง แต่มักจะมีจุดร่วมอย่างเดียวกันคือมีบาทหลวงในคริสต์ชื่อวาเลนไทน์หรือวาเลนตินุส ผู้ต้องประสบเคราะห์ในวันที่ 14 กุมภาฯ ภายใต้ยุคการปกครองของจักรพรรดิเกลาดิอุสที่ 2 ตรงกับช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3

ตำนานบิชอปวาเลนตินุสนั้นมีการเล่าที่แตกต่างไปอีกแบบคือการกล่าวว่าเขาได้มาแสดงอัศจรรย์ในการรักษาลูกสาวตาบอดของกงสุลนามว่าแอสทีรีอุส (Asterius) ให้กลับมามองเห็นได้ ทั้งแอสทีรีอุสและคนในบ้านจึงยอมเปลี่ยนมาเข้ารีตศาสนาคริสต์

แม้จะไม่สามารถหาหลักฐานของตัวตนเซนต์วาเลนไทน์ได้ (อันเป็นเหตุให้วันฉลองของเขาถูกถอดออกจากปฏิทินคาธอลิกในปีค.ศ.1969) โบสถ์คาธอลิกและสุสานของเขาก็ถูกสร้างขึ้นภายหลังประมาณปี 350 ในบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นจุดฝังศพของเขา นั่นคือถนนโรมันโบราณชื่อว่า Via Flaminia

The Triumph of Saint Valentine painted by Valentin Metzinger, early 18th century

วันตายของมรณสักขีวาเลนไทน์กลายเป็นวันฉลองแห่งความรักและการครองคู่ตั้งแต่เมื่อไรไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีการปรากฏธรรมเนียมเกี่ยวกับการจับคู่วาเลนไทน์มาจากหนังสือตำนานแคนเตอร์บรี (The Canterbury Tales) ที่เขียนถึงในยุคกลางกล่าวว่า “เหล่าปักษาจับคู่กันในวันแห่งเซนต์วาเลนไทน์” และยังคงปรากฏในจดหมายโต้ตอบของขุนนางอังกฤษเป็นระยะ

ชาวอังกฤษคุ้นเคยกับชื่อของเซนต์วาเลนไทน์เป็นอย่างดี มีวัฒนธรรมตำนานที่เกี่ยวข้องกับการฉลองนักบุญวาเลนตินุส แต่กลับไม่พบโบสถ์หรือวิหารใดในสหราชอาณาจักรที่ทำขึ้นโดยมีมรณสักขีท่านนี้อุปถัมภ์อย่างเป็นทางการ

Relics of St. Valentine of Terni at the basilica of Saint Mary in Cosmedin. Dnalor 01 (Own work) CC BY-SA

ปัจจุบันเราสามารถไปชมหรือสักการะสังขารของนักบุณวาเลนไทน์ที่ Santa Maria in Cosmedin ในโรมซึ่งจะมีกะโหลกศีรษะที่เชื่อว่าเป็นของมรณสักขีองค์นี้ประดิษฐานอยู่

References :

Advertisement

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.