เผยภาพพาไพรัส Book of the Dead ยาว 16 m.แบบสมบูรณ์ที่พบครั้งแรกในรอบ 100 ปี!

ม้วนพาไพรัสนี้คือคัมภีร์มรณะโบราณของชาวอียิปต์ บันทึกเพื่อเป็นการนำทางดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ในการเดินทางท่องโลกแห่งความตาย การค้นพบต้นฉบับครั้งนี้เรียกว่าสมบูรณ์ที่สุดในรอบศตวรรษ และนี่คือภาพชุดแรกจากม้วนพาไพรัสอายุกว่า 2000 ปี

ก่อนหน้านี้ทาง ArchaeoGO ได้รายงานข่าวความคืบหน้าและการค้นพบใหม่จากการทำงานขุดค้นโครงการต่อเนื่องในซัคคารา ผ่านทางเพจไปก่อนหน้านี้

แต่สิ่งที่ตกหล่นไป (เพราะทางเราต้องการค้นคว้าเพิ่ม) คือการรายงานว่ามีการค้นพบม้วนพาไพรัสที่เรียกว่า “คัมภีร์มรณะ” (Book of the Dead) ที่สมบูรณ์ในรอบศตวรรษ โดยค้นพบจากการขุดค้นในพื้นที่ซัคคาราในสภาพที่ไม่เคยถูกรบกวนและมีความสมบูรณ์อย่างมาก ปัจจุบันหลังประกาศการค้นพบไม่นานทางการอียิปต์ก็ได้เปิดเผยภาพชุดแรกของพาไพรัสม้วนดังกล่าวออกมาแล้ว

พาไพรัสม้วนนี้พบจากสุสานที่อยู่ทางทิศใต้ของพีระมิดขั้นบันไดของฟาโรห์โจเซอร์ (Djoser) แห่งราชวงศ์ที่ 3 ปกครองอาณาจักรอียิปต์ช่วง 2630 – 2611 ปีก่อนคริสตกาล ทว่าสุสานแห่งนี้อยู่คนละสมัยกับตัวพีระมิดทำให้นักอียิปต์วิทยาค่อนข้างรู้สึกแปลกใจเพราะโดยปกติแล้วผู้ที่มีสุสานฝังศพใกล้กับฟาโรห์มักจะเป็นบุคคลสำคัญที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับประมุขของตนเป็นหลัก

คราวแรกที่พบนักโบราณคดีคาดว่าม้วนพาไพรัสคงมีความยาวประมาณ 9 เมตร ถูกม้วนแล้ววางในโลงศพของผู้ที่มีชื่อว่าอาโมส (Ahmose) สันนิษฐานว่ามีชีวิตอยู่เมื่อราว 300 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นคนละบุคคลกับฟาโรห์อาโมสในราชวงศ์ที่ 18 โลงศพอาโมสเป็นหนึ่งในโลงศพจำนวน 250 ที่พบจากสุสานบริเวณเดียวกัน

ม้วนพาไพรัสถูกนำไปศึกษาและทำการอนุรักษ์ที่ห้องแล็บของพิพิธภัณฑ์อียิปต์ตรงจัตุรัสทาห์รีร์ (Tahrir) เมื่อทำการคลี่ม้วนออกเพื่อถอดความจารึกจึงพบว่าม้วนคัมภีร์ฯ มีความยาวทั้งสิ้น 16 เมตรหรือ 52.5 ฟุต ตัวอักษรแบบเฮียราติก (Hieratic) ส่วนมากเขียนด้วยหมึกสีดำ แทรกด้วยหมึกสีแดงเป็นบางส่วน

Mostafa Waziri, examining the extraordinary document. Photo Source: Supreme Council of Antiquities

มอสตาฟา วาซิรี (Mostafa Waziri) เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งโบราณคดี (Supreme Council of Antiquities) ผู้รับผิดชอบในการศึกษาและเป็นผู้ประกาศการค้นพบกล่าวว่าม้วนพาไพรัสประกอบด้วยเนื้อหาจากคัมภีร์มรณะจำนวน 113 ตอน มีการพูดถึงนามอาโมสทั้งหมด 260 ครั้ง พร้อมทั้งภาพเล่าเรื่องประกอบ หนึ่งในนั้นคือฉากแสดงรูปของอาโมสทำการบูชาเทพโอซิริส (Osiris) ด้วย

คลิกที่ภาพเพื่อขยาย
(Photo : Live Sciences)

ภาพข้างต้นจะเห็นรูปของโอซิริสสวมมงกุฏอาเทฟ (Atef) ประทับบนบัลลังก์ มีเครื่องบูชาอยู่ตรงหน้า ปรากฏภาพของสัตว์ผสมที่ดูคล้ายอัมมิต (Ammit) เทพผู้ทำหน้าที่กลืนกินผู้คนที่ไม่สมควรได้ดำรงอยู่ในโลกหลังความตาย

คลิกที่ภาพเพื่อขยาย
(Photo : Live Sciences)

ส่วนโคลสอัพ (Close-up) ของรูปอัมมิต ตามปกรณัมอียิปต์ผู้ตายจะถูกนำหัวใจไปเข้าตราชั่งกับขนนกแห่งมาอัต (Ma’at) ซึ่งเป็นเทพแห่งความสัตย์ (Truth) ความยุติธรรม (Justice) และความสงบเรียบร้อย (Order) หากผู้นั้นทำสิ่งไม่ดีมากกว่าความดีหัวใจของเขาก็จะหนักกว่าขนนก อัมมิตก็จะมาเพื่อกลืนกินคนบาปในที่สุด

คลิกที่ภาพเพื่อขยาย
(Photo : Live Sciences)

รูปของการถวายเครื่องบูชาเทพเจ้าจุดนี้มีภาพของคนคู่หนึ่ง คาดว่าเป็นอาโมสและภรรยาที่ยังไม่ทราบชื่อของเขา ตอนนี้นักอียิปต์วิทยายังไม่มีข้อมูลของตัวเขามากนัก แต่พิจารณาว่าคงมีฐานะพอสมควรที่จะจัดทำคัมภีร์มรณะสำหรับตัวเขาได้

คลิกที่ภาพเพื่อขยาย
(Photo : Live Sciences)

ภาพชุดนี้คือส่วนประกอบของคัมภีร์มรณะ ทางด้านซ้ายสุดของภาพปรากฏรูปวัวที่กำลังเดินนำไปยังที่หนึ่งซึ่งอาจเป็นการเดินทางไปถวายเครื่องบูชา บางภาพมีรูปของเรือที่มักเกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังปรโลก

แม้จะไม่ได้มีขนาดยาวกว่าคัมภีร์มรณะที่จัดแสดงที่ The British Museum ซึ่งมีความยาวถึง 37 ม. การค้นพบคัมภีร์มรณะของอาโมสยังนับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปีที่มีการพบเอกสารโบราณที่มีความสมบูรณ์ คัมภีร์มรณะดังกล่าวถูกเรียกอย่างลำลองว่า “พาไพรัสวาซิรี” ตามชื่อของมอสตาฟา วาซิรีผู้ทำการถอดความแปลเนื้อหาไปจนถึงดำเนินการอนุรักษ์เพื่อเตรียมนำไปจัดแสดงที่ The Grand Egyptian Museum ต่อไป


Featured Image : Supreme Council of Antiquities

References :

One thought on “เผยภาพพาไพรัส Book of the Dead ยาว 16 m.แบบสมบูรณ์ที่พบครั้งแรกในรอบ 100 ปี!”

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.