Morpheus เทพแห่งความฝันต้นแบบ The Sandman

หลายคนคงได้ผ่านตากับซีรีส์ที่สร้างขึ้นจากคอมิคเรื่อง The Sandman ซึ่งตัวละครเอกอย่าง Dream นั้นมีการยืมตำนานโบราณของเทพแห่งความฝันมาสร้างขึ้นใหม่เป็นการผจญภัยในโลกของความฝันอันแสนสนุก ArchaeoGO จึงอยากพาทุกคนเข้ามารู้จัก Morpheus เทพจากปกรณัมกรีก-โรมันองค์นี้กันสักหน่อยว่าเขามีความเป็นมาอย่างไรกันบ้าง

ภาพดรีมหรือมอร์เฟียส ตัวละครหลักในคอมิคและซีรีส์ The Sandman / © Netflix

ในอดีตมนุษย์ทุกวัฒนธรรมล้วนให้ความสำคัญกับความฝัน ด้วยมองว่าความฝันคือประตูไปอีกโลกหนึ่ง ความฝันเหล่านั้นคือการพยากรณ์สิ่งต่างๆ เป็นการแสดงให้เห็นถึงอดีตและอนาคต ยังอาจเป็นช่องทางในการสื่อสารจากทวยเทพหรือผู้ล่วงลับไปแล้วในโลกความเป็นจริง ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นตามตำนานกรีก- โรมันถือเป็นหน้าที่ของ Oneiroi กลุ่มเทพเก่าแก่ที่ทำหน้าที่บันดาลความฝันให้กับผู้คนในยามราตรี

ตามตำนานปกรณัมกรีก โอเนรอย (Oneroi) เป็นเทพเก่าแก่ก่อนกลุ่มเทพไททันส์ (Titans) มีทั้งสิ้น 3 องค์ ประกอบด้วย มอร์เฟียส (Morpheus), โฟบีเตอร์ (Phobetor) และแฟนทาซอส (Phantasos) โดยมีพระมารดาคือเทพีนิกซ์ (Nyx) เทพแห่งราตรี ในขณะที่ปกรณัมโรมันกลับระบุว่ามอร์เฟียสคือบุตรของเทพซอมนุส (Somnus) บุคลาธิษฐานของการนอนหรือเทพแห่งนิทราซึ่งเป็นลูกของเทพีนิกซ์ ซอมนุสหรืออีกนามในวัฒนธรรมกรีกคือฮิปนอส (Hypnos) มีลูกหลานมากมายที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความฝัน แต่ที่โดดเด่นและปรากฏนามอย่างชัดเจนจากเรื่องราวต่างๆ มีเพียง 3 องค์นี้ แน่นอนว่าองค์ที่สำคัญที่สุดในเทวตำนานก็คือตัวมอร์เฟียสนั่นเอง

หน้าที่ของมอร์เฟียสถือว่าเป็นเทพแห่งฝันและผู้นำสารจากทวยเทพ ส่วนพี่น้องของเขาอย่างโฟบีเตอร์คือผู้นำพาซึ่งฝันร้าย สามารถแปลงกายเป็นสัตว์หรืออสุรกาย และแฟนทาซอสคือผู้บันดาลฝันประหลาดหรือเรื่องราวเหนือจริง ผู้สามารถแปลงเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างก้อนหินหรือไม้

โฆษณา

เทพทั้งสามเมื่อไม่ได้ปรากฏอยู่ในโลกความฝัน พวกเขามีกายอย่างมนุษย์โดยมีปีกอยู่บนหลัง ซึ่งปีกเหล่านี้ช่วยให้สามารถเดินทางระหว่างความฝันได้สะดวกรวดเร็ว และจากตำนานต่างๆ ปีกของมอร์เฟียสยังเคยมีประโยชน์ในการช่วยบิดาอย่างซอมนุสผู้ปราศจากปีให้พ้นจากความพิโรธของซุส

ดินแดนที่มอร์เฟียสอาศัยอยู่ตามตำนานกรีกคือ “เอเรบัส” (Erebus) แดนบาดาล โดยมีประตูทางเข้า มีอสูรคอยเฝ้ารักษาการณ์และพร้อมจะมอบฝันร้ายแด่แขกที่ไม่ได้รับเชิญเป็นการตอบแทน ประตูทางเข้าแดนแห่งความฝันนี้มีอยู่ 2 บาน บานหนึ่งทำจากงาช้างและอีกบานทำจากเขาสัตว์ ซึ่งภาษากรีกโบราณคำว่า ἐλέφας (ช้าง/งาช้าง) มีความเชื่อมโยงกับคำว่า ἐλεφαίρομαι ที่หมายถึงการหลอกลวงหรือตบตา (Deception) ในขณะที่ κέρας อันหมายถึงเขาสัตว์สามารถเชื่อมโยงกับคำว่า κραίνω แปลว่าความจริง (Truth) คำเหล่านี้ล้วนแสดงถึงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทว่าด้วยเหตุใดจึงมีความคล้ายคลึงกันแบบนี้ก็ยากที่จะค้นพบที่มาที่ไปได้อย่างชัดเจน

ภายในถ้ำคูหาของแดนแห่งฝันซึ่งมอร์เฟียสหลับใหลอยู่นั้นเต็มไปด้วยเมล็ดของดอกป๊อปปี้หรือฝิ่น สำหรับชาวกรีกโบราณเมล็ดฝิ่นถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ปวด แต่ผลข้างเคียงของมันคือภาวะง่วงซึมอย่างหนัก เมื่อมีการคิดค้นมอร์ฟีน (Morphine) ซึ่งเป็นยาสกัดจากฝิ่นเพื่อบรรเทาอาการปวดอย่างรุนแรง ชื่อของมอร์เฟียสจึงถูกนำมาใช้เพื่อแสดงถึงผลข้างเคียงอันเป็นภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น เซื่องซึมตลอดเวลาที่ยาทำงานนั่นเอง

ดังที่กล่าวไปในตอนต้นว่าวัฒนธรรมต่างๆ ล้วนมีความเชื่อเกี่ยวกับฝัน ปกรณัมของชาวกรีกโบราณจึงมองว่าความฝันนั้นมีนัยสำคัญในตัวเอง

ความฝันอาจเป็นเพียงภาพสะท้อนของความกลัวและความหวังแต่ละวัน หรืออาจเป็นการพยากรณ์อนาคต การติดต่อกับภูตผีและเทพเจ้า ที่มีพลังและส่งผลต่อชีวิตยามตื่นก็คือบางครั้งฝันนั้นมีส่วนช่วยในการเยียวยามนุษย์

โฆษณา

นอกจากคำว่า Oneiroi (Ὄνειροι) ซึ่งแปลว่าความฝัน (Dream) ก็ยังมีอีกคำคือ Oneiros (Ὄνειρος) ต่อมาคำเหล่านี้กลายเป็นรากของชื่อวิชาพยากรณ์ความฝันอย่าง Oneiromancy

ตำนานกรีก-โรมันจึงมักมีการเล่าถึงการติดต่อของเทพเจ้าหรือการพยากรณ์ความฝัน ตัวละครเอกในฐานะเทพแห่งฝันคงหนีไม่พ้นมอร์เฟียสผู้ทำหน้าที่รับสารจากเทพเพื่อมาบอกกล่าวมนุษย์ผ่านภาพฝัน ดังที่ปรากฏในงานเขียนของ Ovid เรื่อง Metamorphoses ที่กล่าวถึงลักษณะของเทพแห่งฝันองค์นี้ในตอนที่เฮรา (Hera) เทพมารดรแห่งเขาโอลิมปัสส่งข่าวการตายของซีอิกซ์ (Ceyx) ราชาแห่งทราคิส (Trachis) ให้กับแอลไซโอนี (Alcyone) มเหสีทราบว่าเรือของสวามีได้อับปางลงแล้ว

ภาพแกะสลักหินอ่อนของ Alcyone and Ceyx เดิมอยู่ที่ Parlington Hall, Aberford
ก่อนจะถูกย้ายมาที่ Lotherton Hall ประมาณช่วงหลังปีค.ศ. 1905.

เมื่อมอร์เฟียสได้ทราบถึงเจตจำนงของเทพีจึงได้แปลงกายคล้ายเป็นวิญญาณของซีอิกซ์ที่เปียกปอนและซีดเผือดเพื่อมาบอกว่าตนนั้นได้ตายลงด้วยเหตุเรืออับปางนั่นเอง

จากเรื่องราวใน Metamorphosis สะท้อนบทบาทและตัวตนของมอร์เฟียสผ่านทั้งชื่อและเรื่องราว โดยหากดูจากชื่อภาษากรีกอย่าง μεταμόρφωσις (metamorphosis) นั้นมีความหมายว่า “การเปลี่ยนรูป” และยังแตกออกเป็นคำว่า μετα- (meta-) แปลว่า หลังจาก และ μορφή (morphe)แปลว่ารูปร่าง

“Μορφευς (Morpheus) นามของเทพองค์นี้จึงแปลว่า รูปร่าง,รูปแบบ ตรงกับการที่มอร์เฟียสสามารถก่อร่างสร้างความฝันให้แก่ผู้คน”

มอร์เฟียสยังมีบทในมหากาพย์อีเลียด (Iliad) ของกวีเอกโฮเมอร์ เรื่องราวการรบระหว่างกรีกและทรอย ศึกชิงนางเฮเลนที่เราคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่าม้าโทรจันอันเป็นกลอุบายที่ฝั่งกรีกใช้เอาชัยจากทรอยได้ ถึงแม้การรบดูจะเป็นเรื่องของมนุษย์ แต่ต้นเหตุและการขับเคลื่อนสงครามมีเทพเจ้าเข้ามามีส่วนเสมอ

ตามตำนานสงครามแห่งทรอยนี้ ซุสต้องการที่จะมอบความมีชื่อเสียงแก่อคิลลิส (Achilles) แต่การจะทำให้อคิลลิสมีบทในการนำทัพอันยิ่งใหญ่ได้ก็ต้องโน้มน้าวให้อกาเมมนอน (Agamemnon) กษัตริย์แห่งไมซีเน (Mycenae) รู้สึกจิตตกกลัวความอดสูจากการแพ้ศึก ซุสจึงส่งเทพไม่ปรากฏนามไปมอบสารลวงในความฝัน ถึงจะไม่บอกชื่อเทพในบทกวีแต่โดยพื้นฐานแล้วเทพที่ทำหน้าที่ดังกล่าวก็มีเพียงมอร์เฟียส เทพแห่งความฝันแปลงกายเป็นอดีตที่ปรึกษาของอกาเมมนอนนามว่าเนสเตอร์ และพยายามชี้ให้เห็นว่ากลศึกของเขากำลังมีข้อผิดพลาด นั่นส่งผลให้กษัตริย์แห่งไมซีเนต้องพยายามเปิดโอกาสให้อคิลลิสเข้ามามีส่วนสำคัญในการรบ

Morpheus Sleeping, by Ivan Prokof’yevich, Prokof’yev, 1782, via the Web Gallery of Art

อิทธิพลของวรรณกรรมกรีกโบราณส่งผลมาถึงคำและวลีที่ใช้กันในภาษาอังกฤษด้วย อาทิ “to morph” อันเป็นกริยาหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของสิ่งหนึ่ง และวลี “in the arms of Morpheus” ก็เป็นคำอุปมาถึงการหลับใหลหรืออาจจะสื่อถึงการถูกลืมเลือนก็ได้ เพราะการนอนหลับนั้นเชื่อว่าเป็นการพักจากความทุกข์ของยามตื่น ไม่ก็พักจากความทรงจำของอดีตที่โหดร้าย ส่วน “the arms of Morpheus” สื่อถึงผู้นิทรากำลังฝันถึงอนาคต

การใช้มอร์เฟียสในฐานะผู้นำพาซึ่งฝันดีและฝันร้ายถูกสะท้อนในวรรณกรรมหลายชิ้นในสมัยหลัง เช่นในงานของเชคสเปียร์ (Shakespeare) อย่าง The Tempest เรื่อยมาจนถึงวรรณกรรมยุคใหม่อย่าง Harry Potter ที่หยิบยืมลักษณะเด่นของเทพแห่งความฝันมาเป็นกระจกเอริเซด (the Mirror of Erised) ที่แสดงภาพของสิ่งที่ผู้ส่องต้องการมากที่สุด การแสดงภาพลักษณ์ตามแต่ใจปรารถนาของมนุษย์ก็เป็นเช่นเดียวกับที่เทพนักแปลงร่างอย่างมอร์เฟียสกระทำได้

The Sandman / © Netflix

ใน The Sandman เองที่ Neil Gaiman หยิบเอาความเป็นเทพแห่งฝันมาอยู่ในฐานะ The Endless อันหมายถึงผู้เป็นนิรันตร์ร่วมกับพี่น้องซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่เหล่ามนุษย์สามารถมีอยู่ได้อย่างไม่จำกัดและไม่อาจจะพรากไปจากวิถีปุถุชนได้ ความฝันที่ดูธรรมดาทว่าทรงพลังเพราะเราต่างใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตไปกับการนอนหลับ โลกความฝันจึงเสมือนเป็นอีกโลกที่มนุษย์เดินทางและใช้ชีวิตร่วมไม่ต่างไปจากยามตื่น หน้าที่ของมอร์เฟียสจึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเทพยามตื่นองค์อื่นๆ

และโลกในความฝันมักมีพลังอันน่าพิศวงเสมอ ไม่ว่ามันจะมาจากจินตนาการอันสุขสมหรือทุกข์ตรม


Featured Image : Sleep c. 1771 by Jean Bernard Restout (French, 1732-1797)


References:

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.