Cruella : ประวัติศาสตร์ผ่านเสื้อผ้า เมื่อดิสนีย์อยากจะ PUNK

ภาพยนตร์จากค่ายดิสนีย์ที่หยิบเอาตัวร้ายอย่าง “ครูเอลล่า” สาวคลั่งลายจุดจาก 101 dalmatians ผู้โดดเด่นในวงการแฟชั่น แถมยังเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (Costume design) ทำให้เราอดจะมาชวนส่องแฟชั่นเจ็บๆ ในเรื่องนี้ไม่ได้เลย

เสื้อผ้าและภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกร่องรอยของคนในอดีตมายอย่างยาวนาน นักโบราณคดีสามารถใช้รูปแบบและพัฒนาการของเครื่องแต่งกายเพื่อฉายภาพมุมมองวิธีคิดกับสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์โบราณ

บทบาทของภาพยนตร์มีความใกล้เคียงกับรูปถ่าย หากเรามองว่าภาพถ่ายนั้นเป็นโบราณวัตถุประเภทหนึ่งซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติหรือความเป็นไปของกลุ่มคนและวัฒนธรรม เราอาจใช้ภาพเคลื่อนไหวหรือสื่อประเภทภาพยนตร์มาทำความเข้าใจอดีตที่เปลี่ยนผ่านได้เช่นกัน

แต่นั่นไม่ใช่หลักการที่เราจะนำมาพูดถึงกันอย่างวันนี้ ขอสวมบทบาทของ Cruella de Ville ดีไซเนอร์สาวในการที่จะพูดว่า “มันง่ายไปนะที่รัก เรามาวิเคราะห์กันแบบดีพๆ ด้วยแนวคิดย้อนกลับกันดีกว่า”

ในขณะที่ปกติเราอาจศึกษาอดีตด้วยเส้นเวลาที่เดินต่อเนื่องกันไปข้างหน้า เรามาย้อนทิศทางแนวคิดของคนด้วยการนำภาพยนตร์สมัยใหม่อย่าง “ครูเอลล่า” เพื่อเข้าใจมุมมองของผู้สร้างใต้ร่มเงาของ Disney ที่เลือกนำลอนดอน ช่วง 1970s มาโลดแล่น ทำไมและอะไรบ้างที่ทีมงานเลือกมาสะท้อนสร้างสรรค์ให้ผู้ชมเห็น พลวัตรของสังคมและมุมมองเรื่องความสวยงามที่เปลี่ยนไปจากยุคของบารอนเนสจนถึงครูเอลล่า วัตถุดิบที่ซุกซ่อนความหมายเป็น Easter eggs แล้วคุณจะพบว่าแค่แฟชั่นเรื่องนี้ก็สนุกมากแล้ว

มารู้จักลอนดอนในทศวรรษนี้กันก่อน ประเทศอังกฤษในปี 70s เผชิญปัญหาจากวิกฤตน้ำมันเนื่องจากผลกระทบของสงครามยมคิปปูร์ ค.ศ.1973 ที่ประเทศกลุ่มอาหรับรบกับอิสราเอล ทำให้ OPEC กลุ่มองค์กรผู้ส่งออกน้ำมันอันเป็นภาคีรายใหญ่ไม่สามารถลำเลียงน้ำมันได้อย่างสะดวก ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากในอังกฤษจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องประหยัดงบประมาณ สถานการณ์ในอังกฤษเข้าสู่ภาวะอับตาจนอีกครั้งแม้จะสามารถผงาดขึ้นจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ก็ตาม ทุกอย่างแย่ถึงขนาดที่พนักงานเก็บขยะยังออกมาสไตรค์ด้วยการหยุดทำงาน ส่งผลให้มีขยะล้นเมืองจำนวนมาก  ไม่ใช่แค่ขยะ แต่กระทั่งพยาบาลและสัปเหร่อเองก็ยังร่วมประท้วงด้วยเช่นกัน นึกสภาพว่าแค่ 3 สายงานนี้ก็แทบจะทำให้เมืองกลายเป็นนรกและภาระไปจบที่ตำรวจจนหัวปั่น มันยังไม่เลวร้ายมากพอเมื่อเรายังมีปัญหาความขัดแย้งเชิงโครงสร้างสังคม เช่น การเหยียดเชื้อชาติและการเรียกร้องสิทธิพลเมืองเหมือนที่ประเทศตะวันตกอื่นๆ กำลังต้องรับมือ ยัง…มันยังแย่ไม่พอ เพราะเราต้องเพิ่มการก่อการร้ายเข้าไปอีก เพราะกลุ่ม IRA (the Irish Republican Army)ได้ทำการก่อการร้ายในอังกฤษด้วยระเบิดรวมทั้งสิ้นราวๆ 40 ครั้งตลอด 10 ปี

เราพูดเรื่องแย่ๆ มาพอประมาณแล้ว แต่พระเจ้าไม่ได้ทอดทิ้งควีนผู้ชำนาญในการปรับตัว ด้วยทรงประทานสิทธิสตรีและแฟชั่นพังค์ (Punk) ขึ้นมาในโลกโดยมีจุดเริ่มจากลอนดอนนี่เอง และนั่นคือจุดที่หนังเรื่องนี้หยิบมาใช้เป็นธีมหลักในการแสดงการเปลี่ยนผ่าน ด้วยการใช้ตัวละครของ Baroness เป็นสัญญะของยุคเก่าและการมาของ Cruella ซึ่งขบถต่อความหรูหราของยุคก่อนด้วยการพยายามรื้อสร้างจารีตที่ปรากฏบนเสื้อผ้าและงานศิลปะ นิยามของความเป็น Punk นั่นเอง

เมื่อพิจารณาแบบนี้คงจะทำให้เริ่มมองเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนขึ้น ไม่ลืมด้วยว่าในยุคนี้คือยุคกระตือรือร้นเรื่องแนวคิดสตรีนิยม ผู้กุมบังเหียนของเหตุการณ์หลักจึงเป็นผู้หญิงที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูงทางด้านความคิดและการแสดงออก ก็เรียกว่า “ง่าย” ดีในการจะผนวกความเฟมเข้ามาในหนัง

แฟชั่นของบารอนเนสจึงผนวกบนคู่สีขาว-ดำ ความเรียบหรูและคัตติ้งแบบที่เป็นแบบแผนคมเหลี่ยมเหมาะกับงานดื่มน้ำชาของชนชั้นสูง ส่วนแฟชั่นของคนทั่วก็ก็อาจจะเป็นงานที่แปลงและรับอิทธิพลจากทศวรรษก่อน ความกางเกงขาบานและการเล่นเลเยอร์หลวมๆ ยังมีปรากฏว่าอินอยู่ ส่วนแฟชั่นของครูเอลล่าก็คือส่วนผสมเพื่อเป็นคลื่นลูกใหม่ แฟชั่นของพังค์ในระยะแรกจึงจะหยิบวัตถุดิบอย่างหนึ่งนำมา re- product เพื่อให้เกิดงานใหม่บนชิ้นเดิม โดยที่มักจะแฝงความหมายเรื่องสังคมและวัฒนธรรมลงไปด้วย หรือจะพูดแบบตรงๆ คือการแซะและจิกกัดการเมืองไปอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยบทเพลงหรือเครื่องแต่งกาย นั่นคือทั้งหมดที่เราจะได้เห็นผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเพลิดเพลิน

เริ่มจากลุคแรกหลังจากเอสเตลล่าได้กลับมาเป็นครูเอลล่า เราไม่พูดถึงการเปลี่ยนในงานเลี้ยงขาว-ดำ แต่หมายถึงชุดสูทหนังที่เธอสวมไปเยี่ยมอาร์ตี้ เมคอัพลุคที่เธอใช้เป็นแฟชั่นจุดเริ่มต้นของอีกกระแสย่อยคือ Goth ด้วยการยืมบล็อกตาของ  Janet Dallion นักร้องนำวง Siouxsie and the Banshees มาเป็นกราฟฟิคหลัก

ลุคของครูเอลล่ายืมวัตถุดิบจากงานดนตรีพังค์อีกชิ้นคือฉากของการไปบอมบ์แฟชั่นโชว์อีกงานของบารอนเรสด้วยชุดหนังรัดรูปตัดแบบชุดขี่มอเตอร์ไซค์แต่โดดเด่นด้วยการปักเลื่อมทองที่กางเกง บนใบหน้าสาดสีดำคาดตาว่าเป็นหน้ากากที่ฉลุให้เห็นสีผิวเดิมด้วยฟ้อนต์เดียวกับหน้าปกอัลบั้มหนึ่งของ Sex Pistols วงพังค์ที่โด่งดังไปทั่วโลก God save the Queen! ครูเอลล่าไม่ได้กล่าว

©Disney

อีกชิ้นที่จัดว่าเผ็ชคือชุดกูตูร์ปกเกียรติยศพร้อมเครื่องราชฯ เต็มสูทกับดีเทลกระโปรงผ้าชีฟองสีแดงยาวรากพื้นที่กลัวเอมม่า สโตนจะลื่นตกลงมาจากหลังคารถคอหักตาย ชุดนี้คงไม่ต้องพูดกันแล้วว่าเรฟของมันมาจาก “วาระไหน” เป็นสำคัญ ก็เธอเล่นปีนไปสะบัดชายกระโปรงบนรถที่มีควีนแฟชั่นนั่งอยู่ แสบใช่ย่อยทีเดียว

©Disney

และอีกชุดที่เราประทับใจจนไม่พูดถึงคงไม่ได้ ก็ยังเป็นกูตูร์แต่เป็นงานผสมผสานของผ้าโทนนู้ดหลากสีที่แซมด้วยภาพข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ ชุดนี้เด่นเพราะจัดการแสดงด้วยการใช้รถเก็บขยะมาเทกองผ้าซึ่งดูผิวเผินเหมือนกองขยะด้วยการผสมถุงขยะสีดำเข้ามาแทรก ก่อนที่ครูเอลล่าจะลุกขึ้นมาจากเศษซากเหล่านั้นคล้ายกับตอนที่อลิวาเบธ เทเลอร์ในบทคลีโอพัตรา (1963) ถูกม้วนมาในพรมซึ่งมาคลี่ออกตรงหน้าซีซาร์สร้างความประทับใจแก่คนทั่วโลก

©Disney

ฉากนี้ผนวกเอาเหตุการณ์ของการสไตร์คของคนเก็บขยะและสภาพขยะล้นเมืองมาใช้และสื่อสารต่อคนว่าครูเอลล่ามาจากชนชั้นกลางผงาดจากกองขยะแต่สามารถสื่อสารสร้างกระแสให้เกิดความน่าสนใจแก่ผู้คนด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่เหนือชั้นกว่า เป็นการวิพากษ์โครงสร้างสังคมโดยทางอ้อมผ่านแฟชั่น เพราะสุดท้ายแล้วแม้อำนาจในการเผยแพร่แฟชั่นและขับเคลื่อนแต่เดิมจะเป็นรากฐานมาจากความฟุ้งเฟ้อของชนชั้นสูง แต่โลกเปลี่ยนไปแล้วหลังการมาของปฏิวัติอุตสาหกรรม ชนชั้นกลางมีบทบาทมากกว่าในการขับเคลื่อนสังคมที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่ อำนาจไม่ได้อยู่ในมือขุนนางอีกต่อไป

ทุกอย่างสะท้อนผ่านการหล่อหลอมและใช้ชีวิตของเด็กผู้หญิงหนึ่งคน ครูเอลล่าผู้ถูกบังคับให้ต้องเป็นเหมือนคนอื่น เป็นเอสเตลล่าผู้ไม่แหวกกรอบและประนีประนอมในการใช้ชีวิต กระนั้นวิถีในอังกฤษช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ได้เหมาะหรือพร้อมกับการทำรงไว้ซึ่งแบบแผนเดิมๆ กลับยิ่งเพิ่มความกดดันให้กับประชาชนที่ต้องใช้ชีวิตใต้กรอบเหล่านั้นจนต้อง “แหก” ออกมา มันคือมุมมองที่ผู้สร้างเลือกมานำเสนอภาวะยากลำบากที่คนยุคหนึ่งเผชิญและแสดงออกผ่านงานศิลปะบนร่างกายมนุษย์ สะท้อนแนวคิดต้องการจะวิพากษ์สังคมด้วยการเลือกวาระและรูปแบบของการนำเสนอเพื่อให้สอดคล้องกันระหว่างสิ่งของ (Object) กับพื้นที่ (Setting) สองอย่างที่นักโบราณคดีต้องหาความเชื่อมโยงเพื่อเข้าใจความหมายและสร้างภาพอดีตขึ้นมาอีกครั้ง การตีความภาพยนตร์จึงเป็นอีกความสนุกและซับซ้อนเพราะต้องคำนึงถึงแถวคิดที่อยู่นอกเหนือไปจากภาพแสดง ในอนาคตความเข้าใจและการตีความ Cruella ก็อาจจะเกิดมุมมองใหม่ๆ ของนักโบราณคดีหรือนักประวัติศาสตร์ไปจนถึงผู้ชมทั่วไปในการสร้างนิยามได้เช่นกัน

น่าเสียดายที่มันจบลงตามแบบฉบับดิสนีย์ที่ยังขายฝันถึงการเป็น “เจ้าหญิง” เป็นราชนิกุลตกยาก เป็นทายาทที่มีความชอบธรรมตามธรรมเนียมของค่ายที่ผลิตซ้ำมาหลายทศวรรษ ทำให้เกิดคำถามว่าครูเอลล่าไม่สามารถที่จะสร้างอาณาจักรของตนเองได้โดยปราศจากต้นทุนหรือ และสิ่งนี้ทำลายความตั้งใจในการสร้างมุมมองเกี่ยวกับสังคมที่ทำมาทั้งเรื่องหรือเปล่า?

ก็คงเป็นคำถามที่ต้องกลับไปคิดติดตามกันเองเหมือนอย่างเคย

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.