#โยไคอะไรเนี่ย EP10 NINGYO [人魚] นางเงือกญี่ปุ่นสุดหลอน

เงือกของใครเล่าจะมีลักษณะชวนหลอนได้มากกว่า “นิงเกียว” อมนุษย์ครึ่งคนครึ่งปลาฉบับญี่ปุ่น เพราะไม่เพียงมีรูปกายที่เราเห็นแล้วอาจจะอยากวิ่งหนีแล้ว ยังมีตำนานอีกมากที่ทำให้รู้สึกว่า “อย่าเจอกันเลยเป็นดีที่สุด”

“นิงเกียว” คือโยไคประเภทหนึ่งซึ่งอาศัยในผืนน้ำขนาดใหญ่อย่างทะเลหรือมหาสมุทร คำว่า นิงเกียว แปลได้ตรงตัวว่า “มนุษย์ปลา” อาจเรียกได้ว่ามันคือคำเรียกนางเงือกหรือ Mermaid ในภาษาญี่ปุ่นก็ว่าได้ ทว่าการปรากฏตัวของมันค่อนข้างจะส่อไปในทางร้ายมากกว่าทางดี เพราะการพบเห็นนางเงือกปรากฏตัวในชายฝั่งของญี่ปุ่นก็เหมือนลางร้ายที่ส่อแววว่าจะเกิดภัยพิบัติใหญ่อย่างพายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว หรือสึนามิขึ้นที่นั่น

นางเงือกของชาวตะวันตกอาจจะดูน่าหลงใหล สวยงามจนหลายคนตกหลุมพรางลงไปสู่ความตาย แต่นิงเกียวคงเรียกได้ว่าห่างไกลจากภาพจำเหล่านั้น เงือกของชาวญี่ปุ่นดูเหมือนอสุรกายมากกว่าเรียกได้ว่าน่าลุ่มหลง ถึงจะเป็นครึ่งคนครึ่งปลาแต่โดยรวมดูมีส่วนที่เป็นสัตว์มากกว่าคน มีขนาดตั้งแต่เท่าเด็กไปจนถึงเท่าแมวน้ำตัวใหญ่ๆ การจับหรือทำร้ายนิงเกียวอาจได้รับคำสาปเป็นของตอบแทน แต่ยังมีความเชื่อว่าการได้กินเนื้อของนางเงือกจะทำให้คนที่ลิ้มรสมีชีวิตอมตะ

ตำนานของนางเงือกญี่ปุ่นอาจกล่าวได้ว่าค่อนข้างเก่าแก่ แม้ในเอกสารแรกๆ จะยังไม่ได้มีการขานชื่อว่านิงเกียว แต่ก็เป็นโยไคที่มีลักษณะตรงกับคำบรรยายตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนิฮงโชกิ เล่าถึงปีที่ 12 รัชกาลของจักรพรรดินีซุอิโกะ [推古天皇] สมัยอาสึกะ ราวปีค.ศ.619 ชาวประมงในจังหวัดเซ็ทสุ [摂津国] คนหนึ่งจับ “สิ่งที่มีขนาดเหมือนเด็กแต่ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นคนหรือปลา” สิ่งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกถึงสิ่งที่คล้ายนางเงือกในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

นอกจากตำนานนางเงือกที่เซ็ทสุแล้ว ยังมีเรื่องราวที่ตั้งอยู่ในช่วงไล่เลี่ยกับเรื่องราวก่อนหน้า โดยปรากฏอยู่ในตำนานของเจ้าชายโชโตคุ ขุนนางในรัชกาลของจักรพรรดินีซุอิโกะ ว่ากันว่านิงเกียวเคยมาปรากฏต่อหน้าเจ้าชายในทะเลสาบบิวะที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกียวโต เล่าว่าครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นชาวประมง แต่ถูกสาปเนื่องจากได้ไปตกปลาในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะตายนิงเกียวได้ขอให้เจ้าชายอภัยโทษต่อสิ่งที่เขาได้เผลอทำลงไป และขอให้นำร่างของเขาไปจัดแสดงอยู่ที่สักวัดเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจในการใช้ชีวิตของผู้คน เรื่องเล่านี้ตรงกับตำนานของศาลเจ้าเท็นโชว-เคียวฉะในฟูจิโนะมิยะ ที่มีมัมมี่นางเงือกถูกเก็บรักษาเอาไว้โดยนักบวชชินโต

คำว่า “นิงเกียว” ใช้ตัวอักษรแบบเดียวกับจีน ซึ่งเป็นการผสมอักษรของคำว่า “คน” กับ “ปลา” เข้าด้วยกัน เริ่มปรากฏในวรรณกรรมครั้งแรกในวาเมียว รุยจุโช พจนานุกรมญี่ปุ่น-จีนที่เขียนขึ้นราวค.ศ. 937 โดยเป็นการอ้างอิงข้อมูลจากคัมภีร์ซานไห่จิงของจีนร่วมกับเอกสารอื่นๆ เพื่อระบุว่านิงเกียวคือสิ่งที่มีลำตัวอย่างปลาและมีใบหน้าเหมือนมนุษย์ ทั้งยังมีเสียงเหมือนเด็ก

โคคน ชามนจู [古今著聞集] พงศาวดารรวบรวมตำนานต่างๆ ซึ่งเขียนในสมัยคามาคุระแล้วเสร็จประมาณค.ศ.1254 ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกายภาพของนิงเกียวมากขึ้น เล่าถึงชาวประมงในจังหวัดอิเสะ (ปัจจุบันคือจังหวัดมิเอะ) ได้จับปลาใหญ่รูปร่างประหลาดได้ 3 ตัว มันมีศีรษะเหมือนคนแต่มีปากยาวยื่นและฟันแหลมเล็ก ใบหน้าเหมือนกับลิง ตอนถูกจับได้พวกมันกรีดร้องไห้มีน้ำตาออกมา คนหาปลาได้ทำการกินเนื้อของพวกมันตัวหนึ่งและพบว่ามันอร่อย จากตรงนี้เองที่ผู้บันทึกถึงได้เสนอความเห็นว่าสิ่งที่ชาวประมงจับได้อาจจะเป็น “นิงเกียว”

เรื่องของนางเงือกมีปรากฏในเอกสารอีกครั้งในสมัยคามาคุระจากหนังสืออะซุมะ คากามิ [吾妻鏡] บรรยายถึงช่วงค.ศ.1247 ว่ามีรายงานการพบปลาขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนซากศพของมนุษย์อยู่ในทะเลนอกทสึการุหรือเขตอาโอโมริปัจจุบัน ระยะเวลาดังกล่าวคือช่วงที่เกิดความขัดแย้งที่ทำให้ตระกูลโฮโจกำจัดตระกูลมิอุระลง การพบเจอนางเงือกเช่นนี้ยังคล้ายคลึงกับในบันทึกพงศาวดารตระกูลโฮโจ ซึ่งก็เป็นเอกสารที่เล่าถึงยุคสมัยเดียวกันว่ามีการพบสัตว์ประหลาดชนิดนี้มากกว่า 10 ครั้งในแต่ละช่วงสมัยที่มีความวุ่นวายไม่สงบเกิดขึ้นเสมอ ตำนานการปรากฏตัวของนิงเกียวจึงเริ่มเชื่อมโยงเข้าหาสัญญะของลางร้ายอย่างชัดเจนมากกว่าแต่ก่อน

ตำนานการพบนิงเกียวจากเอกสารชื่ออะซุมะ คากามิถูกพูดถึงอีกครั้งโดยนักเขียนและศิลปินนามว่าอิฮาระ ไซคาคุ ในหนังสือที่ดูแล้วไม่น่าจะปรากฏตำนานนางเงือกได้เลยอย่าง “บุโด เดนไรคิ” (ขนบธรรมเนียมประเพณีของนักรบซามูไร) ซึ่งเขียนขึ้นราวค.ศ.1687 อ้างถึงเหตุการณ์ปีค.ศ. 1247 ที่มีการพบปลาประหลาดที่อาโอโมริ แต่ให้รายละเอียดรูปร่างต่างไปจากในอะซุมะ คากามิ โดยบอกว่านิงเกียวนั้นมีใบหน้าอย่างสาวงามแต่มีหงอนไก่บนศีรษะ มีกลิ่นหอมหวาน เสียงร้องเหมือนกับนกจาบฝน (Skylark)

รูปร่างลักษณะของนิงเกียวค่อนข้างจะหลากหลายและพัฒนาไปในแต่ละ บางครั้งนอกจากจะมีลักษณะครึ่งคนครึ่งปลาแล้วยังมีการเติมเขาบนศีรษะส่วนที่เป็นมนุษย์ด้วย และมิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านลักษณะเพียงอย่างเดียว ความเชื่อและมุมมองต่อนิงเกียวก็ยังเปลี่ยนไปในทางให้โชคดีหรือมีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์

ตำนานหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือเรื่องของ “ยาโอ บิคุนิ” หรือ “แม่ชีแปดร้อยปี” นิทานที่เล่าต่อกันมาหลายปากหลายรูปแบบ แต่มักมีจุดร่วมเดียวกันว่ามีเด็กสาวอายุราว 16 ปีผู้หนึ่งได้ลิ้มรสเนื้อปลารูปร่างประหลาดที่มีหน้าเหมือนคน เวลาผ่านไปมากเพียงไรเด็กคนนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะแก่ จนกระทั่งครอบครัวของเธอตายลงจนสิ้น เธอจึงได้บวชเป็นภิกษุณีและเดินทางร่อนเร่เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ทุกคนที่เธอได้พบพาน เวลาผ่านไป 800 ปี ยาโอ บิคุนิเดินทางมายังจังหวัดวากาสะ (ปัจจุบันคือจังหวัดฟุคุอิ) ตัดสินใจจำศีลตลอดกาลในถ้ำริมทะเลแห่งหนึ่ง ก่อนจะหายเข้าไปในถ้ำนางได้ปลูกต้นสึบากิเอาไว้ต้นหนึ่งโดยระบุเอาไว้ว่า “หากต้นไม้นี้เฉาตาย โปรดจงทราบว่านางได้สิ้นใจลงแล้ว” ปัจจุบันนี้ต้นสึบากิดังกล่าวก็ยังคงตระหง่านไม่เหี่ยวเฉาอยู่

หลังจากนั้นมางานเขียนในสมัยเอโดะเริ่มมีการโยงนางเงือกเข้าหาตำรายาต่างๆ ที่ผสมผสานทั้งตำราสมุนไพรของชาวจีนและตำราตะวันตกที่รับเข้ามาผ่านภาษาฮอลันดา อาทิงานเขียนของไคบาระ เอคิเคน ปีค.ศ.1709 ซึ่งเป็นคำรายาสมุนไพรญี่ปุ่นได้มีการอ้างอิงตำราจีน เปิ๋นเฉ่ากังมู่(本草綱目) ที่กล่าวถึงประโยชน์ของกระดูกนิงเกียวว่าช่วยป้องกันการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

ภาพหน้าที่มีการบรรยายถึง “นิงเกียว”
จาก“วะคัน ซันไซ ซึเอะ” [和漢三才図会] โดยเทราจิมะ เรียวอัน [寺島良安]

สารานุกรมพร้อมภาพประกอบเล่มแรกของญี่ปุ่นอย่าง “วะคัน ซันไซ ซึเอะ” [和漢三才図会] รวบรวมโดยเทราจิมะ เรียวอัน [寺島良安] มีการวาดภาพของนิงเกียวในหมวดหมู่ร่วมกับปลาชนิดอื่นๆ และยังกล่าวอีกว่าชาวฮอลันดาในประเทศเนเธอร์แลนด์ใช้กระดูกของมันเป็นยาแก้พิษ สารานุกรมเล่มนี้เป็นฉบับแรกที่นิงเกียวมีลักษณะใกล้เคียงแบบเดียวกับภาพของนางเงือกที่เราคุ้นเคยแบบปัจจุบัน

ภาพ “ความอัศจรรย์ของโพธิสัตว์” c. 1858–1859

ช่วงคริสต์ศตวรรณที่ 19 ศิลปินภาพอุคิโยะเอะอย่าง อุตากาวะ ฮิโรชิเงะ ที่ 2 และคุนิซาดะได้ร่วมกันสร้างงานภาพชื่อว่า “ความอัศจรรย์ของโพธิสัตว์” ที่ปรากฏภาพสตรีแต่งกายอย่างอัปสรากำลังลอยตัวอยู่ในอากาศโดยมีช่วงล่างเป็นหางปลา ฉากดังกล่าวเล่าเรื่องราวจากตำนานของเจ้าชายโชโตคุในยุคอาสึกะนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงความหมายจากลางร้ายเป็นสัญลักษณ์ของโชคดีเกิดขึ้นในช่วงนี้เอง นอกจากงานของอุตากาวะแล้ว ยังพบภาพพิมพ์ไม้ในปีค.ศ. 1805 เป็นภาพนิงเกียวเพศหญิงจากแถบโทยามะ มีคำบรรยายระบุว่า “ใครก็ตามที่มองเห็นภาพนี้เพียงครั้งจะประสบแต่ความสุขตลอดชีวิตยืนยาว ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและโชคร้าย” ความเชื่อในลักษณะนี้อาจเกิดจากการผสมความเชื่อเรื่องนิงเกียวกับโยไคอีก 2 ชนิดอย่างอมาบิโกะหรืออมาบิเอะที่มักจะมีตำนานเล่าว่าเป็นจินจะ ฮิเมะ บริวารของเทพมังกรมาปรากฏตัวเพื่อตักเตือนและช่วยเหลือเหล่ามนุษย์

ภาพพิมพ์ไม้รูปนิงเกียว คาดว่าทำขึ้นปีค.ศ.1805 ไม่ปรากฏชื่อศิลปิน

ในระยะที่เอโดะเผชิญกับโรคระบาดอย่างฝีดาษหรือหัด ความเชื่อเกี่ยวกับจินจะฮิเมะจึงแพร่กระจายไปในวงกว้างของสังคมและเริ่มผันแปรจากการเป็นสัญญาณเตือนของภัยร้ายเป็นการป้องกัน เกิดการทำภาพของจินจะฮิเมะในหลายรูปแบบและส่งต่อกันเหมือนยันต์ป้องกันภัยโดยเฉพาะโรคระบาด ลักษณะของจินจะฮิเมะมักทำเป็นรูปหญิงสาวที่มีลำตัวเป็นมังกร มีเขา 2 เขาบนศีรษะ และมีปลายหางเป็นสามง่าม ซึ่งด้วยลักษณะเช่นนี้ทำให้บางครั้งจินจะฮิเมะถูกเข้าใจว่าเป็นนิงเกียวประเภทหนึ่งด้วย จึงไม่แปลกที่บางรูปของจินจะฮิเมะหรืออมาบิเอะจะถูกสร้างขึ้นเป็นนิงเกียวในที่สุด

ตั้งแต่สมัยเอโดะเป็นต้นมาไม่ได้มีเพียงแค่ความนิยมในการสร้างงานศิลปะเท่านั้น แต่ยังเป็นยุคแห่งการค้นพบมัมมี่หรือร่างของนิงเกียวจำนวนมากด้วย มีศาลเจ้าหลายแห่งที่มีตำนานเล่าถึงการปรากฏตัวของนางเงือกและครอบครองซากของนิงเกียวเหล่านี้ ทั้งยังจัดแสดงให้ผู้คนเข้าไปสักการะขอพรกันได้ด้วย ทั้งยังกลายเป็นโบราณวัตถุประหลาดที่ชาวตะวันตกได้นำออกไปจัดแสดงยังต่างประเทศ บทบาทสุดท้ายของนิงเกียวจึงลดลงเหลือเพียงแต่เป็น “ของแปลก” แต่เพียงเท่านั้น

References :

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.