ก็ใช้มือแหละหากจะต้องตอบแบบง่ายๆ แต่ถ้าให้ชัดเจนขึ้นไปอีกก็คือไม่ได้มีเลเซอร์หรือเครื่องตัดและเจียรหินแบบปัจจุบันก็สามารถตัดหินเพื่อนำมาสร้างสิ่งปลูกสร้างได้ วิธีเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ด้วยการทดลองแล้วว่าเครื่องมือธรรมดากระทั่งเครื่องมือหินฟลินต์ก็แกะหินด้วยกันได้ ไม่ได้โม้วววว~~
จากบทความก่อนที่เล่าเรื่องการจัดการแรงงานในการสร้างมหาพีระมิดแห่งกีซาที่เป็น 1 ในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งสร้างขึ้นในยุคอาณาจักรเก่า (Old Kingdom) เรามาต่อกันที่เรื่องที่นักโบราณคดียุคโบราณเคยคิดว่าเป็นเทคโนโลยีที่สูญหายนั่นคือคนอียิปต์ตัดและแกะสลักหินได้อย่างไร?
พีระมิดไม่ได้สร้างด้วยเอเลี่ยนหรือทาส!
ความยวนใจในเรื่องของมนุษย์ต่างดาวจากหนังไซไฟทำให้คนมักม…
“หิน” เป็นวัสดุที่มีมากในภูมิประเทศของอียิปต์ หาง่ายยิ่งกว่าวัสดุเนื้ออ่อนอย่างไม้ และมีความคงทนถาวรมากกว่าอิฐดิน การก่อสร้างโบราณสถานที่เน้นให้มีความคงทนอย่างวิหารหรือสุสานจึงมักใช้การก่อสร้างด้วยหินที่ถูกตัดจากแหล่งหิน ลำเลียงผ่านเส้นทางน้ำหากสถานที่ก่อสร้างอยู่ห่างไกลจากแหล่งตัดหิน
ร่องรอยของการตัดหินเพื่อนำมาสร้างโบราณสถานเริ่มพบตั้งแต่ยุคราชวงศ์ที่ 1 โดยพบเป็นการใช้หินปูน (Limestone) ที่สุสานของเฮมากา (Hemaka) ในซัคคาราที่หาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ได้ราว 3100 ปีก่อนคริสตกาล, สุสานของฟาโรห์เด็น (Den) ซึ่งอยู่สมัยราชวงศ์ที่ 1 ซึ่งมีการใช้หินแกรนิตเข้ามาประกอบโครงสร้างส่วนของพื้นและบันได ไปจนถึงพีระมิดขั้นบันไดที่เรียกว่า “มาสตาบา” (Mastaba)
นับจากยุคราชวงศ์ที่ 3 เป็นต้นมา การใช้หินเป็นวัสดุในการสร้างก็แพร่หลายมากขึ้น และจากการศึกษาทำให้นักโบราณคดีพบว่าความนิยมในการใช้หินเพื่อสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ ในอียิปต์เริ่มต้นขึ้นในภูมิภาคอียิปต์ล่าง อาทิ ซัคคารา, อบิดอส (Abydos) ก่อนที่จะขยายไปทางอียิปต์บนตามการขยายตัวของอารยธรรม
ประเภทของหินที่ใช้ในอารยธรรมของชาวอียิปต์ได้แก่ หินปูน, หินทราย และแกรนิต หรือบางครั้งอาจมีการใช้หินบะซอลต์ (Basalt), อลาบาสเตอร์ (Alabaster) กับควอไซต์ (Quartzite) บ้างแต่ไม่พบมากเท่า 3 ชนิดแรก
แหล่งเหมืองหินหลายประเภทกระจายตัวตามแม่น้ำไนล์ หินแกรนิตสำหรับห้องโถงพระศพในพีระมิดคูฟู (Khufu) มาจากเหมืองหินที่อัสวานและถูกลำเลียงมาไกลกว่า 900 กม.ผ่านแม่น้ำไนล์เพื่อมายังกีซา หินปูนสีขาวจากตูรา (Tura) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกีซาออกไม่มากนัก จากแผนที่ด้านล่างซึ่งจัดทำโดย Löhner & Zuberbühler, 2006 แสดงภาพตำแหน่งของเหมืองหินประเภทต่างๆ ตลอดลำนำไนล์

เครื่องหมาย ▲ ในแผนที่คือตำแหน่งของพีรามิด ในขณะที่ ❐ หมายถึงที่ตั้งของเหมืองหินที่ใช้ในการก่อสร้างโบราณสถานต่างๆ ของอียิปต์โบราณ โดยแบ่งแยกประเภทของหินตามสีที่ระบุภายในภาพ
สันนิษฐานกันว่าอุตสาหกรรมเหมืองหินเพื่อการก่อสร้างเริ่มต้นในระยะที่ชาวอียิปต์มีเครื่องมือโลหะ เริ่มต้นตั้งแต่ยุคทองแดงมาจนถึงยุคสำริด (ยุคอาณาจักรกลาง)

การตัดหินเริ่มด้วยการใช้สิ่วโลหะร่วมกับค้อนไม้หรือท่อนไม้ทำการถากร่องลงบนหินที่ราดน้ำเอาไว้

Glenn Ashton/ CC BY SA 3.0
เมื่อใช้สิ่วโลหะค่อยๆ ตอกเข้าไปตามช่องเหล่านี้ด้วยระยะห่างที่พอดี เมื่อตัวโลหะแทรกเข้าไปในเนื้อหินและได้รับแรงสั่นสะเทือนจากค้อน จึงทำให้เกิดแรงกระแทกกระจายไปตามเนื้อหิน ส่งผลให้หินสามารถแตกออกได้

(Fracture Mechanics in Ancient Egypt on ResearchGate.)

อีกจุดที่นักโบราณคดีใช้ศึกษาร่องรอยของเครื่องมือโบราณบนเนื้อหินที่ยังเหลือรอยอยู่
(Image credit : Glenn Ashton/ CC BY SA 3.0)
นอกจากค้อนไม้แล้ว ยังมีการพบก้อนหินกลมทำจากหินโดเรอไรต์ (Dolerite) ในบริเวณรอบๆ แหล่งตัดหินอัสวาน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 15-25 ซม. หนักราว 5-8 กก. หินชนิดนี้มีความแข็งแรงมากกว่าหินแกรนิต ทำให้ก้อนหินกลมนี้กลายเป็นอีกอุปกรณ์ที่ใช้เป็นค้อนตอกสิ่วและยังใช้ในการแกะสลักตัวหินแกรนิตและตกแต่งชิ้นงานให้มีความเรียบร้อยขึ้นด้วยการขัดผิววัสดุที่เป็นหินแกรนิตให้เรียบ

ร่องรอยของการใช้เทคนิคดังกล่าวยังหลงเหลือเป็นหลักฐานอยู่ที่แหล่งตัดหินอัสวาน ปรากฏเป็นรอยเจาะเพื่อเดินเส้นเตรียมตัดหินไปสร้างโอเบลิสก์แต่ยังไม่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น หลายครั้งการเจาะหินขนาดใหญ่อาจส่งผลให้เกิดรอยแตกบนหน้าหินที่ไม่สวสยงามและอาจส่งผลต่อการใช้งาน ทำให้บางครั้งเราอาจพบการเจาะที่ผิดพลาดหลงเหลือบ้างตามแหล่งเหมืองหิน



นอกจากการใช้สิ่วโลหะแล้ว การใช้ไม้เพื่อมาช่วยแยกหินออกจากกันก็เป็นอีกวิธีที่ได้ผล ด้วยวิธีการที่คล้ายคลึงกันแต่ใช้แท่งไม้ตอกเข้าไปตามรอยเจาะแทน รดน้ำลงใส่แท่งไม้ เมื่อไม้ซับน้ำก็จะเกิดการขยายตัวออกโดยธรรมชาติ ไม่นานก็จะเกิดแรงดันทำให้เนื้อหินแตกออกได้เช่นกัน
สำหรับการตัดแผ่นหินแกนิตยังมีอีกวิธีที่รวดเร็วสำหรับขนาดที่ไม่หนานักของหินคือการใช้เลื่อยโลหะ เทคนิคนี้สามารถรับชมการทดลองตัดได้จากคลิปด้านล่างที่จะแสดงขั้นตอนเลียนแบบเทคนิคโบราณไปพร้อมๆ กับลงมือปฏิบัติจริง
นอกจากจะสามารถสกัด-ตัด-เลื่อย หินได้แล้ว การเจาะหินก็เป็นสิ่งที่ไม่ยากในงานช่างของชาวอียิปต์ โดยนิยมใช้สว่านคันชัก (Bow drill) ที่อาศัยแรงหมุนช่วยให้ลิ่มโลหะสามารถเจาะทะลุเนื้อหินในบริเวณที่ต้องการ หรืออีกวิธีคือการใช้เลื่อยเจาะรูกลมแบบมือหมุน (Tubular drill)

แสดงภาพของชาวอียิปต์กำลังเจาะรูแจกับหินด้วยเลื่อยเจาะรูกลมแบบมือหมุนที่เป็นท่อทองแดง
(Image Credit : The Metropolitan Museum of Art, New York)
หลักการทำงานของเลื่อยเจาะรูกลมแบบมือหมุนสไตล์อียิปต์คือเป็นด้ามคานหมุนหุ้มด้วยท่อทองแดงร่วมกับการอาศัยผลึกควอตซ์จากเนื้อทรายหรือเศษหินเป็นผงขัดเทลงไปในรูที่ต้องการเจาะขยาย เมื่อหมุนด้ามคานที่มีตัวถ่วงสมดุลแล้ว ท่อทองแดงจะทำหน้าที่สร้างแรงเหวี่ยงปะทะระหว่างเนื้อหินกับผงขัด ทำให้เกิดเป็นโพรงขึ้นรอบๆ ตัวท่อ
เทคนิคการเจาะดังกล่าวนี้เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมสำหรับภาชนะหินต่างๆ ด้วย อียิปต์นิยมใช้หินเนื้ออ่อนมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ราคาสูง ไปจนถึงการทำเป็นโถคาโนปิกที่ใช้บรรจุอวัยวะภายในของมัมมี่ในสุสานตามความเชื่อของพวกเขา
อีกเครื่องมือที่หลายคนคงไม่อยากเชื่อคือการใช้หินฟลินต์หรือที่ภาษาไทยแปลว่าหินเหล็กไฟ เครื่องมือหินฟลินต์เป็นอุปกรณ์ที่นิยมทำเป็นใบมีดสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวัน เป็นวัสดุราคาถูกกว่ามีดโลหะแต่มีความคมเมื่อถูกกระเทาะให้แตก หินฟลินต์เป็นอีกชนิดที่สามารถนำมาใช้ทำงานกับหินแกรนิตได้ โดยสามารถทำงานแทนลิ่มโลหะในการแกะสลักภาพนูนต่ำหรือแกะชิ้นงานขนาดกลาง แล้วจึงใช้หินชนิดอื่นช่วยขัดแต่งให้เรียบ
สามารถชมการทดลองใช้หินฟลินต์ในการแกะสลักหินแกรนิตได้ทางคลิปด้านล่าง

แสดงภาพของชาวอียิปต์กำลังเจาะรูแจกันหินด้วยสว่านคันชักประเภทหนึ่ง
(Image Credit : The Metropolitan Museum of Art, New York)
อาจกล่าวได้ว่าเครื่องมือพื้นฐานที่เรามองว่าดูโบราณไม่เท่าสิ่งของที่เราเห็นในชีวิตประจำวันนั้นสามารถพิสูจน์ด้วยการทดลองศึกษาเพื่อจะพบว่าสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรรมเกี่ยวกับหินของชาวอียิปต์โบราณ และบางวิธีการยังเป็นเทคนิคงานช่างที่ปัจจุบันยังคงใช้งานได้อยู่ร่วมด้วย
ปัจจุบันเราอาจมีเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองหินหรือการผลิตวัสดุก่อสร้างแล้ว แต่ในบางพื้นที่ของอียิปต์ยังคงมีการพยายามสานต่อกรรมวิธีโบราณในการผลิตงานศิลปะ โดยเน้นการผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจกับนักท่องเที่ยวที่อยากได้งานศิลปะที่ทำขึ้นด้วยเทคนิคเดียวกับที่บรรพชนของพวกเขาเคยกระทำกันมา

References :
- El-Sehily, B.M.. (2016). Fracture Mechanics in Ancient Egypt. Procedia Structural Integrity. 2. 2921-2928. 10.1016/j.prostr.2016.06.365.
- Foerster,B.(April 4, 2021).The Evidence is Cut in Stone: A Compelling Argument for Lost High Technology in Ancient Egypt.Ancient-Origins.Retrieved 19 September 2022, from https://www.ancient-origins.net/artifacts-ancient-technology/cut-stone-lost-technology-ancient-021545
- Gorelick, .Leonard”Ancient Egyptian Stone-Drilling” Expedition Magazine 25.3 (1983): n. pag. Expedition Magazine. Penn Museum, 1983.Retrieved 19 September 2022, from https://www.penn.museum/sites/expedition/ancient-egyptian-stone-drilling/
- Lucas, A. (1948). Ancient Egyptian materials & industries (3rd ed.). London: E. Arnold & Co.
- Löhner, F., & Zuberbühler, T. (2006). Stone quarries in ancient Egypt. Details about the Giza quarries, the granite quarries in Assuan and the Tura limestone quarries. Retrieved 20 September 2022, from https://www.cheops-pyramide.ch/khufu-pyramid/stone-quarries.html
- Moores, R. G. (1991). Evidence for Use of a Stone-Cutting Drag Saw by the Fourth Dynasty Egyptians. Journal of the American Research Center in Egypt, 28, 139–148. https://doi.org/10.2307/40000576
- Serotta,A.(May 22, 2015).Hidden Secrets of Ancient Egyptian Technology.The Metropolitan Museum of Art. Retrieved 19 September 2022, from https://www.metmuseum.org/blogs/now-at-the-met/2015/ancient-egyptian-technology
- Stocks, D. (2003). Experiments in Egyptian Archaeology : stoneworking technology in ancient Egypt. london: Taylor & Francis.
- Strom,C.(March 13, 2017).Common Tools or Ancient Advanced Technology? How Did the Egyptians Bore Through Granite?.Ancient-Origins. Retrieved 19 September 2022, from https://www.ancient-origins.net/artifacts-ancient-technology/common-tools-or-ancient-advanced-technology-how-did-egyptians-bore-021269
One thought on “ชาวอียิปต์ตัดและแกะสลักหินยังไง?”