#FRIART นักบุญแห่งชาวเรา (Saint of Gay)

ศิลป์ศุกร์สนุกดี Ep. 5 ชวนคุณมารู้จักมรณสักขี (Christian martyr) ผู้มีสถานะพิเศษในหมู่ Homosexual

Tommaso, Martyrdom of St. Sebastian, c.1490-95 oil on Canvas,
Fitzwilliam Museum, University of Cambridge.

นักบุญเซบาสเตียน (Saint Sebastian AD 256–288) ถือกำเนิดในศตวรรษที่ 3 เป็นขุนนางทหารในสมัยจักรพรรดิดีโอเคลเชียน (Diocletian) แห่งอาณาจักรโรมัน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวชาวคริสเตียนจำนวนมากถูกลงโทษและทรมานเนื่องด้วยความขัดแย้งทางความเชื่อระหว่างคริสต์ศาสนาซึ่งเป็นเอกเทวนิยมความเชื่อใหม่กับแนวคิดแบบพหุเทวนิยมในศาสนาเดิมของชาวกรีก-โรมัน

Anthony van Dyck, Saint Sebastian Bound for Martyrdom, c.1621, 253.8 x 189.2 cm, National Galleries of Scotland.

ตำนานกล่าวว่าเซบาสเตียนถูกจับได้ว่ามีศรัทธาต่อพระคริสต์ จักรพรรดิดีโอเคลเชียนจึงทรงออกคำสั่งให้เขาหันมาบูชาเทพเจ้าโรมัน แต่เซบาสเตียนปฏิเสธจึงถูกจับมัดขึงกับเสาแล้วยิงด้วยธนูโดยตั้งใจปล่อยให้ตายบนหลักประหาร หลังจากนั้นมารดาของท่าน (ที่บ้างก็ว่าเป็นนักบุญไอรีนหรือ St. Irene of Rome) ได้นำตัวกลับมารักษา เมื่อรอดชีวิตแทนที่เซบาสเตียนจะหนีจากความตายโดยการหลบหนีไปจากกรุงโรม เขากลับไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิที่วังและกล่าวตำหนิพระองค์ คราวนี้จึงถูกลงโทษตีด้วยกระบองจนถึงแก่ความตาย ศพของนักบุญถูกโยนทิ้งไว้ในท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้ใครหาเจอ ภายหลังมีผู้ค้นพบจึงนำร่างของเซบาสเตียนขึ้นมาฝังไว้ที่สุสาน เชื่อกันว่าร่างของท่านยังคงถูกฝังอยู่ใน Catacombs of San Sebastiano มาจนถึงทุกวันนี้

นักบุญเซบาสเตียนถือเป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์ของนักธนู ช่างทำเข็มกลัดและเหล่านักกีฬา ในยุคกลางเซบาสเตียนยังเป็นนักบุญผู้ปัดเป่าโรคห่าหรือกาฬโรค (Black Death) เพราะความเชื่อโบราณที่ว่าลูกดอกของเทพอพอลโลจะนำพาโรคระบาด แต่เซนต์เซบาสเตียนสามารถรอดชีวิตจากลูกศรได้หนึ่งครั้ง ทั้งรอยแผลจากต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายผู้ป่วยกาฬโรคยังสอดคล้องกับความพรุนจากแผลถูกยิงที่ปรากฏตามร่างกายของนักบุญ ทำให้ช่วงยุคที่โรคระบาดครั้งใหญ่ชาวยุโรปที่นับถือคริสต์นับถือนักบุญเซบาสเตียนในคตินี้ด้วย

Albrecht Dürer, Saint Sebastian Tied to a Tree, c.1501, engraving, 11.6 × 7.1 cm,
The George Khuner Collection, Gift of Mrs. George Khuner, 1968.

คำถามคือนักบุญเซบาสเตียนกลายเป็นไอคอนของเหล่าเกย์ตอนไหน?

Tanzio da Varallo, Saint Sebastian, c. 1620-1630

ย้อนกลับไปในยุคกลางที่ภาพวาดของนักบุญเซบาสเตียนมักวาดเป็นชายแก่ ทว่าพอเข้าช่วงยุคเรอเนสซอง (Renaissance) เป็นต้นมา ภาพลักษณ์แบบเดิมที่เป็นชายแก่ถูกแทนที่ด้วยรูปร่างสะโอดสะองแบบหนุ่มน้อยรูปงามถูกตรึงกับเสาหรือต้นไม้ด้วยท่าทางที่เย้ายวนสายตา ร่างกายอยู่ในสภาพเกือบเปลือยปกปิดเพียงด้วยผ้าผืนบาง พร้อมกับลูกธนูซึ่งบางทีถูกมองในฐานะสัญลักษณ์แทนเครื่องเพศชาย (Phallic symbol) ที่ถูกปักไปตามร่างกายก็คล้ายจะชวนให้คิดถึงสภาวะของการเป็นผู้รับ (Passive) นอกจากนี้แล้วพฤติกรรมของการเป็นผู้ประกาศจุดยืนในด้านศาสนิกชนของท่านยังสอดคล้องกับการออกมา Speak out ของชาวเราหรือชาวกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) อีกด้วย

แต่ยากที่จะบอกว่าชีวิตรักและรสนิยมทางเพศของนักบุญเซบาสเตียนเป็นเช่นไร… ความนิยมชมชอบในหมู่ชายรักชายล้วนเกิดขึ้นมาจากภาพลักษณ์ในเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์มากยิ่งไปกว่าประวัติของตัวบุคคล (ซึ่งก็คือสาระสำคัญของภาพ/เรื่อง) บริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่าน Visual culture ยุคปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งก็อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงความเจ็บปวดทรมานของตัวนักบุญเข้ากับประสบการณ์ที่เกย์และชาวรักร่วมเพศต้องทุกข์ทนต่อบรรทัดฐานของศาสนาเกี่ยวกับความรักแบบชาย-หญิง และนักบุญเซบาสเตียนยังกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในหมู่ LGBTIQ ในช่วงปลายยุคการระบาดของโลกเอดส์ซึ่งถูกมองว่าเป็นโรคระบาดในยุคสมัยใหม่ได้อีกด้วย

Gerrit van Honthorst, Saint Sebastian, 1623,
oil on Canvas, 101 x 117 cm. National Gallery, London.

Featured Image : Gerrit van Honthorst, Saint Sebastian, 1623, oil on Canvas, 101 x 117 cm. National Gallery, London.

ผู้เขียน : MM [Editor]
คอลัมภ์ FRIART ศิลป์ศุกร์สนุกดี เผยแพร่ทาง Archaeo GO

ที่มา : https://artuk.org/…/stories/saint-sebastian-as-a-gay-icon

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.