ความเชื่อเรื่อง “รักร่วมเพศ” ของคนรุ่นหลังไม่ถึงร้อยปีนี้มักจดจำว่ารสนิยมทางเพศดังกล่าวเป็นพฤติกรรมและค่านิยมซึ่งรับมาจากตะวันตก แท้จริงแล้วเรื่องวายๆ หรือจะพูดแบบเป็นจริงเป็นจังว่ารักร่วมเพศนั้นอยู่ในสังคมและการรับรู้ของไทยมาช้านานแล้ว
ในบริบทของยุค 4.0 นี้ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของเพศทางเลือกหรือ LGBT+ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และได้รับการยอมรับในนานาประเทศทั่วโลก โดยมีทั้งกฎหมายแต่งงาน ภาพยนตร์และนิยายรักสีรุ้ง ทว่าในประเทศไทยนั้น แม้จะมีการรู้จักมักคุ้นกับปรากฏการณ์รักร่วมเพศเหล่านี้ แต่ก็ยังพะว้าพะวงอยู่ติดกับอารมณ์ขัน จนหลายครั้งเพศทางเลือกเหล่านี้ถูกนำเสนอในรูปแบบของนักแสดงตลก
ปัจจุบันเรามีคำศัพท์ใหม่ จากแต่เดิมเรียกกัน ตุ๊ด แต๋ว กะเทย ทอม ดี้ อัพเกรดเป็นเกย์ – เลสเบี้ยนตามฝรั่ง ตอนนี้รับเอาอิทธิพลจากวรรณกรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น เรียกวรรณกรรม LGBT เหล่านี้ว่า “วาย” ย่อมาจากคำเต็มๆ “Yaoi (ยาโอย)” หมายถึงชายรักชาย และ “Yuri (ยูริ)” อันหมายถึงหญิงรักหญิง ทำให้การพูดถึงรักร่วมเพศมีการยืมใช้คำเหล่านี้ในบริบทของงานเขียนอย่างเป็นที่นิยมวงกว้าง ชนิดวัยรุ่นยุคนี้ต้องเข้าใจและร้องอ๋อ
เมื่อจะกล่าวถึงพฤติการณ์วายๆ ในแบบฉบับไทยๆ ก็สามารถกล่าวได้ว่ามีอยู่นานแล้ว ในลักษณะที่รับรู้กันเป็นปกติวิสัย ไม่ใช่เรื่องแอบๆ ซ่อนๆ เสมอไป แม้บางช่วงอาจจะถือเป็นการกระทำไม่เหมาะสมจนมีบทลงโทษ ก็ไม่สามารถฝืนธรรมชาติได้
ความเชื่อสองทศวรรษก่อน เรายังคิดว่ารักร่วมเพศเป็นสิ่งที่รับเอามาจากประเทศซีกโลกตะวันตกในสมัยหลังรัชกาลที่ ๕ โดยพยายามปิดบังและมองว่ารักร่วมเพศเป็นรอยด่างในสังคมไทยอย่างหนึ่ง มากไปจนถึงการแสดงท่าทีรังเกียจ ทั้งที่ประเทศไทยเรานี้ มีประวัติเรื่องราวของรักร่วมเพศหรือพฤติกรรมรักร่วมเพศปรากฏอยู่ทั้งรูปแบบวรรณกรรม และภาพจิตรกรรมไทย ทำให้การสืบเสาะร่องรอยของ LGBT ในพื้นที่ของประเทศไทยนั้น สามารถค้นลึกไปได้ถึงสมัยอยุธยา – ต้นรัตนโกสินทร์
มีข้อความในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายอยุธยากล่าวถึงลักษณะบุคคลซึ่งต้องห้ามให้การในศาล คือผู้ที่ไม่สามารถแยกชายแยกหญิงได้ เรียกว่า “กะเทย” หรือ “บัณเฑาะก์” โดยคำหลังนี้มีปรากฏในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับข้อห้ามในการบวช โดยระบุความหมายอย่างเดียวกันว่าเป็นผู้ที่ไม่ชาย ไม่หญิง, ผู้มีสองเพศในร่างเดียวกัน (หรือกะเทยแท้แต่กำเนิด) และชายที่มีตัณหาจัดและมักชอบชักชวนให้ผู้อื่นประพฤติผิดในกาม เรียกว่าหากจะสืบสาวราวเรื่องแล้ว การมีอยู่ของเพศทางเลือกดูจะเก่าแก่กว่าการรับเอากระแสนิยมจากฝรั่งเสียอีก
นอกจากคำว่า “กะเทย” และ “บัณเฑาะก์” แล้ว เรายังมีคำศัพท์เรียกพฤติกรรมที่ส่อไปในทางรักร่วมเพศ โดยเรียกหญิงรักหญิงว่า “เล่นเพื่อน” ส่วนชายรักกับชายนั้น เรียกว่า “เล่นสวาท” การปรากฏคำเรียกมากมายเหล่านี้ เป็นข้อพิสูจน์ว่าไทยเรานั้นมีความคุ้นเคยกันดีกับเพศทางเลือก ส่วนที่ผิดแปลกต่างกันคงมีแค่ความยอมรับ หรือเลือกไม่ยอมรับในบางสมัยเท่านั้น พื้นที่ของความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยแต่โบราณ จึงเสมือนเป็นพื้นที่สีเทาๆ ซึ่งมีทั้งกึ่งยอมรับ กึ่งรังเกียจไปพร้อมกัน
แม้แต่สุนทรภู่ กวีทองแห่งกรุงฯ ยังได้มีการประพันธ์ถึงพฤติกรรมรักร่วมเพศของสตรีสยาม โดยปรากฏในวรรณคดีดังอย่าง “พระอภัยมณี” เมื่อกล่าวเล่าถึงนางกำนัลในเมืองรมจักร แสดงพฤติกรรมที่เรียกว่า “เล่นเพื่อน” ติดเป็นนิสัยสำหรับฝ่ายใน ดังนี้
“ฝ่ายห้ามแหนแสนสนมเมืองรมจักร
ด้วยเมื่ออยู่บูรีภิรมย์รส
จนเคยเล่นเป็นธรรมเนียมนางรมจักร
กลางคืนเที่ยวเกี้ยวเพื่อนออกเกลื่อนไป
เห็นสาวสาวชาวเมืองการเวก
แกล้งพูดพลอดทอดสนิทเข้าติดพัน
พวกพาราการเวกไม่รู้เล่น
ต่อถูกจูบลูบต้องทำนองใน
หนุ่มหนุ่มเกี้ยวเบี้ยวบิดไม่คิดคบ
แต่เมืองเราชาวบุรีนี้ไม่เคย
อันรมจักรนัครากับการเวก
ออกอื้ออึ้งหึงส์หวงเพราะช่วงชิง
แต่ล้วนนักเลงเพื่อนเหมือนกันหมด
เพราะท้าวทศวงศาไม่ว่าไร
ทั้งร่วมรักร่วมชีวิตพิสมัย
เป็นหัวไม้ผู้หญิงลอบทิ้งกัน
ที่เอี่ยมเอกต้องใจจนใฝ่ฝัน
ทำเชิงชั้นชักชวนให้ยวนใจฯ
คิดว่าเช่นซื่อตรงไม่สงไสย
จึงติดใจไม่หมายให้ชายเชย
เหตุเพราะสบเชิงเพื่อนจึงเชือนเฉย
อย่าหลงเลยเล่นเพื่อนไม่เหมือนจริง
อภิเษกเสน่หาประสาหญิง
ถึงลอบทึ้งทุบตีเพราะที่รักฯ”
-พระอภัยมณี
จะเห็นได้ชัดว่าสาวๆ ฝ่ายในฝั่งรมจักรนั้นเล่นเพื่อนเป็นนิสัย กระทั่งลามไปเกี้ยวสาวเมืองการเวกให้หลงติดไปตามๆ กัน จนชายหนุ่มจีบเท่าไรก็ไม่ติด เพราะเธอติดใจกันเองแล้วไม่สน ถือว่าเป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงการรับรู้เรื่องรักร่วมเพศในสมัยรัชกาลที่ ๒ แล้ว
ร่องรอยอื่นในฝีมือสุนทรภู่เกี่ยวกับเพศทางเลือก ยังมีปรากฏใน “นิราศพระประธม” ถึง ๒ บท และยังคงเป็นการกล่าวถึงรักร่วมเพศของหญิงเช่นเคย ดังว่า…
“ที่ปลูกรักจักได้ชื่นทุกคืนค่ำ
ที่ชื่นเชยเคยรักเหมือนหลักประโคน
ยังเหลือแต่แม่ศรีสาคร
จะเชิญเจ้าเท่าไหร่ก็ไม่ลง
ก็เตี้ยต่ำตายฝอยกร๋องกร๋อยโกร๋น
ก็หักโค่นขาดสูญประยูรวงศ์
อยู่ไปสิงสู่เสน่หานางสาหงส์
ให้คนทรงเสียใจมิได้เชย”
และอีกบทดังนี้…
“สงสารแต่แม่ม่ายสายสวาท
อ่านหนังสือหรือว่าน้องจะลองไน
แม้นยอมใจให้สัตย์จะนัดน้อง
นี่หลงเพื่อนเหมือนเคี้ยวข้าวเหนียวลาว
นอนอนาถหนาวน่าน้ำตาไหล
เสียดายใจจางจืดไม่ยืดยาว
ไปร่วมห้องหายม่ายทั้งหายหนาว
ลืมข้าวเจ้าเจ้าประคุณที่คุ้นเคย”
จากหลักฐานที่ปรากฏ ทำให้เราพอจะทราบเค้าลางของสภาพสังคมในยุคเดียวกัน จึงพอจะกล่าวโดยรวมว่าในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น มีปรากฏหญิงรักหญิงมากพอจะก่อให้เกิดประเด็นจนสุนทรภู่เห็นและหยิบมาเขียนลงในผลงานได้
กระนั้นเองในกฎมณเฑียรบาล มาตรา 124 วรรคสอง มีระบุโทษของการเล่นเพื่อนเล่นสวาทอย่างชัดเจนสำหรับฝ่ายใน ความว่า
“อนึ่งสนม กำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกันทำดุจชายเปนชู้เมียกัน ให้ลงโทษด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ศักฅอประจานรอบพระราชวัง ทีหนึ่งให้เอาเปนชาวสดึง ทีหนึ่งให้แก่พระเจ้าลูกเธอหลานเธอ”
แม้จะมีข้อห้ามพร้อมบทลงโทษอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นเป็นกรณีไปบ้าง ดังเรื่องของ “คุณโม่ง-หม่อมเป็ดฯ” ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔
เรื่องราวของสองสาวซึ่งจัดเป็นคู่ทอม-ดี้ / เลสเบี้ยนแห่งฝ่ายในนี้ มีประกอบเป็นกลอนเพลงยาวเรื่อง “หม่อมเป็ดสวรรค์” ที่แต่งโดย คุณสุวรรณ กวีดังในยุคนั้น กล่าวถึงการเล่นเพื่อนของหม่อมสุดและหม่อมขำ ข้าในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ โดยขณะนั้นหม่อมขำ มีชื่อเล่นว่า “หม่อมเป็ด” เพราะชอบเดินยักย้ายสะโพกไปมาจนกรมหมื่นฯ ท่านเรียกอย่างเอ็นดู ส่วนหม่อมสุด ซึ่งได้ฉายา “คุณโม่ง” ด้วยเพราะวีรกรรมที่ปรากฏอยู่ในเพลงยาวนี้
“ครั้นพระองค์ทรงพลิกพระกายกลับ
ก็สมจิตคิดไว้ใจประวิง
เข้าชุลมุนวุ่นวายอยู่ปลายพระบาท
จึ่งกระทำเอาแต่อำเภอใจ
กระซุบกระซิบซุ่มกายอยู่ปลายพระบาท
เอาเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง
หมายว่าพระบรรทมหลับสนิทนิ่ง
ก็คลานชิงกันขยับดับเทียนชัย
ก็คิดคาดเอาว่าคนหาเห็นไม่
ด้วยแสงไฟมืดมิดไม่มีโพลง
อุตลุตอุดจาดทำอาจโถง
จึ่งตรัสเรียกว่าคุณโม่งแต่นั้นมา”

หม่อมสุดเมื่อเข้าเฝ้าพร้อมกับหม่อมขำ สำคัญว่าเมื่อนายบรรทมไปแล้ว ก็คิดว่าคงไม่มีใครเห็น จึงได้ดับไฟ คลุมโปงกอดจูบหม่อมขำ จนกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพท่านทราบ ก็ประทานชื่อเล่นให้กับหม่อมสุดเป็นคุณโม่งด้วยเหตุนี้เอง กรณีของหม่อมเป็ด-คุณโม่ง จึงเป็นคู่ที่ได้รับความเมตตาและเอ็นดู เพราะไม่ได้ถูกเอาผิดลงโทษตามกฎมณเฑียรบาลแต่อย่างใด คงมีแต่การล้อเลียนสนุกสนานเท่านั้น
นอกจากหลักฐานทางวรรณกรรมแล้ว ยังมีรูปแบบของภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยพบที่วิหารวัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โดยมี 2 ภาพสำคัญคือภาพนางในประคองเต้านมของอีกฝ่ายคล้ายหยอกเย้า

อีกภาพคือนางในซึ่งถูกลงโทษใส่ตะกร้อยกสูงขึ้นคล้ายประจาน ภาพจิตรกรรมนี้ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕ เป็นอีกหลักฐานแสดงแนวคิดว่าคนในยุคต้นรัตนโกสินทร์นั้นมีความเข้าใจในเรื่องรักร่วมเพศพอสมควร

ที่มา MGR Online
ส่วนเรื่องราวของการ “เล่นสวาท” นั้นมีปรากฏในกรณีของกรมหลวงรักษ์รณเรศร พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งถูกลงโทษเพราะไปติดโขนละครนอก ไม่เอาใจใส่ลูกเมียโดยทั่วกัน ด้วยทรงพิโรธ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดยศเป็นหม่อมไกรสร ลงพระราชอาญาและให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา
นอกจากเรื่องราวของหม่อมไกรสรแล้ว ยังมีปรากฏคำว่า “เล่นสวาท” อย่างชัดเจนในประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยระบุเกี่ยวกับความประพฤติหย่อนยานของภิกษุว่า…
“…บางจำพวกเป็นคนเกียจคร้าน กลัวจะเกณฑ์ให้ราชการ หลบลี้หนีเข้าบวชเป็นภิกษุ สามเณร อาศัยพึ่งพระศาสนาเลี้ยงชีวิต แล้วพระพฤติอนาจารทุจริตต่างๆ จนถึงเล่นสวาทเป็นปาราชิกก็มีอยู่โดยมาก”
ดูแล้วเหมือนว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศที่เกิดในเพศชายกลายเป็นปัญหาทางสังคมมากกว่าการเล่นเพื่อนของสตรี เพราะยังมีการละเว้นให้เห็นอยู่บ้าง ทว่าก็ยังเป็นที่รังเกียจขนาดที่พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระธิดาโดยระบุห้ามมิให้เล่นเพื่อน หากจะมีสามีก็มีเถิดไม่ห้ามปรามกันเลยทีเดียว
ต่อมาช่วงสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีโอกาสเสด็จประพาสต่างประเทศและรับเอาแนวคิดตะวันตกมามาก ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น ประเทศยุโรปมีการต่อต้านรักร่วมเพศด้วยข้อห้ามทางศาสนาและกฎหมาย จึงทรงรับเอามาปรับใช้เป็นกฎหมายในประมวลกฎหมาย รศ.๑๒๗ ส่วนความผิดกระทำอนาจาร มาตรา ๑๒๔ ในเรื่องของการห้ามชำเราผิดมนุษย์ทั้งชายและหญิง ตลอดไปจนถึงชำเรากับสัตว์ พร้อมระบุบทลงโทษตั้งแต่จำคุกจนถึงจับปรับเป็นเงินจำนวนมาก
จนช่วงสมัยรัชกาลที่ ๖ นี้เอง การกีดกันและรังเกียจเพศทางเลือกจึงน้อยลง เนื่องจากพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับอิทธิพลแนวคิดและความรู้จากตะวันตกสมัยใหม่ ด้วยทรงศึกษาเล่าเรียนจากประเทศอังกฤษ จึงทรงมีความรู้ความเข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซ้ำยังเคยพระราชนิพนธ์บทความในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตในหัวเรื่อง “กะเทย” และ “ทำไมกะเทยจึงรู้มากในเรื่องผัวๆ เมียๆ” เป็นการแสดงออกถึงการพยายามทำความเข้าใจและให้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับเรื่องรักร่วมเพศในสยาม โดยต้องการลดความรู้สึกรังเกียจที่มีต่อเพศทางเลือก
อย่างไรก็ตาม กว่าเรื่องความหลากหลายทางเพศจะเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้โดยแพร่หลาย ก็กินระยะเวลาหลายสิบปีหลังจากนั้น ผ่านการผลิตภาพลักษณ์ตัวตลก ตัวประหลาดจนเกิดภาพจำทำนองว่าเป็นกะเทยต้องตลก หรือมุกหยอกล้อทอม-ดี้ในยุคของพ่อแม่เรา
จนถึงยุคที่เรากำลังพูดว่าจะมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 แล้ว ลองสำรวจสิ่งรอบตัว การมาเยือนและเป็นที่นิยมของนิยายวายในหมู่หนุ่มสาวอาจเป็นสัญญาณบอกถึงความรู้ความเข้าใจที่มากขึ้นจนเป็นสากลเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ จนถึงตอนนี้ตัวเราเองอาจต้องลองถามตนเองว่า…เริ่มที่จะเข้าใจว่าบทบาทของชายหญิงนั้นเป็นเพียงมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นโดยสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความเชื่อ มิใช่เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่พันธุกรรมอย่างที่เคยคิด


บรรณานุกรม
- พล อิฏฐารมณ์.(21 พฤศจิกายน พ.ศ.2559).บันทึกรัก “หม่อมเป็ดสวรรค์” ความสัมพันธ์ของสาวเลสเบียนต้นกรุงรัตนโกสินทร์.ศิลปวัฒนธรรม. Available from: https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_4301 [CITED 26 MAY 2018]
- ศรีสังวาล.บันทึกลับนางวังในสมัยรัตนโกสินทร์.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไพลิน,2558
- โรม บุนนาค.(10 สิงหาคม พ.ศ.2558).“เล่นเพื่อน”ในราชสำนักสยาม คลุมโปงกันปลายพระบาทเจ้านาย.ผู้จัดการonline. Available from: http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000090150 [CITED 26 MAY 2018]
