#โยไคอะไรเนี่ย EP6 Kitsune [狐]

เป็นประเด็นโซเชี่ยลทั้งญี่ปุ่นและชาวไทยสายมูมาก เมื่อพบว่าหินต้องคำสาปแห่งนาซุถูกพบว่าแตกเป็น 2 ส่วน สร้างความกังวลให้กับผู้คนว่าสิ่งที่สิงสู่ในหินก้อนนี้จะแผลงฤทธิ์ให้เกิดภัยพิบัติชวนผวาสะท้านเกาะ ดังนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักกับโยไค เจ้าของดวงวิญญาณที่เคยสิงอยู่ในหินก้อนนี้กัน นั่นคือตำนานของนางจิ้งจอกเก้าหาง “ทามาโมะ โนะ มาเอะ” ผู้เป็นโยไคประเภท “คิทสึเนะ” เรียกง่ายๆ ว่าสุนัขจิ้งจอกแบบภาษาบ้านๆ

“คิทสึเนะ” เป็นโยไคที่มีคนรู้จักมากที่สุดตนหนึ่งในโลกก็ได้ เพราะถูกนำมาผลิตซ้ำในสื่อตั้งแต่ยุคโบราณมาจนถึง Pop Culture ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึง “จิ้งจอกเก้าหาง” หรือ “คิวบิ โนะ คิทสึเนะ” [九尾の狐]

คำว่าคิทสึเนะโดยตัวศัพท์ก็เป็นคำเรียกสุนัขจิ้งจอกญี่ปุ่นทั่วๆ ไป แต่ชาวญี่ปุ่นโบราณมีความเชื่อว่าหากสัตว์ชนิดใดมีอายุยืนนานมากๆ พวกมันจะมีพลังวิเศษกลายเป็นพวกโยไคขึ้นมาได้ กรณีของสุนัขจิ้งจอกก็เช่นเดียวกัน และกว่าที่พวกมันจะพัฒนาการมาถึงจุดที่มีเก้าหางอันเป็นระดับสูงสุดของโยไคชนิดนี้ก็ต้องใช้เวลาเป็นร้อยเป็นพันปีทีเดียว

จิ้งจอกไม่ได้เป็นโยไคที่มีแต่พิษภัย (แม้ว่าตำนานดังๆ มักจะเกี่ยวข้องในทางหลอกหลอนมากกว่า) แต่อีกนัยหนึ่งพวกจิ้งจอกอีกกลุ่มก็มีหน้าที่ในการเป็นผู้ส่งสารจากเทพเจ้า นั่นคือกรณีของจิ้งจอกแห่งศาลเจ้าอินาริอันโด่งดัง

เรื่องราวของคิทสึเนะปรากฏตั้งแต่ในเอกสารเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรม อุปรากรและแน่นอนว่าตำนานท้องถิ่นด้วย จึงปรากฏชื่อเรียกตามท้องถิ่นและเรื่องราว โดยมีตั้งแต่ “นินโกะ” [人狐], “โอซากิคิทสึเนะ” [御先狐] “คุดะคิทสึเนะ” [管狐] และ “โนกิทสึเนะ” [野狐]

ความสามารถของคิทสึเนะนอกจากการกลายร่างเป็นมนุษย์ชายหญิงได้แล้ว ยังสามารถหลอกหลอนหรือเข้าสิงผู้คน ทำให้เกิดความเจ็บป่วยหรือโชคร้ายได้ด้วย ในทางกลับกันจิ้งจอกของอินาริจะเป็นที่เคารพนับถือในฐานะตัวแทนเทพเจ้าเข้ามาปัดเป่าโรคและโชคร้าย จัดได้ว่าเป็นโยไคที่มีทั้งส่วนดีและส่วนร้าย คนนับถือโยไคชนิดนี้ทั้งกับความน่ารักหรือสวยงามไปจนถึงความหวาดกลัวพร้อมๆ กัน

โฆษณา

ตำนานปีศาจจิ้งจอกนี้ทางญี่ปุ่นเองได้รับอิทธิพลมาจากตำนานจีนอย่างมาก ในประเทศจีนเรียกปีศาจจิ้งจอกว่า “หูลี่จิง” [狐狸精] ที่เรียกว่ามีคุณสมบัติและความสามารถอย่างเดียวกันเป๊ะ อีกทั้งตำนานอันโด่งดังอย่างนางต๋าจี่ [妲己] ที่ปลอมเป็นพระมเหสีของพระเจ้าโจ้ว [紂] ราชวงศ์ซางอันเป็นเหตุให้สิ้นแผ่นดินก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดตำนานนางจิ้งจอกทามาโมะ โนะ มาเอะ [玉藻前] ผู้ปลอมตัวมารังควานจักรพรรดิโตบะ [鳥羽天皇] ในสมัยเฮอัน ตามที่บันทึกไว้ในวรรณกรรมประเภทโอโตกิ -โซชิ [御伽草子] เป็นรูปแบบของการเขียนช่วงยุคมุโรมาฌิ ราวค.ศ.1392–1573 ออกจะสมัยหลังเฮอันแล้วแต่ก็จัดเป็นเอกสารที่รวบรวมตำนานโบราณต่างๆ ร้อยเรียงพร้อมภาพประกอบ

ตำนานของนางจิ้งจอกทามาโมะ โนะ มาเอะนี้เล่าถึงที่มาของนางจิ้งจอกเอาไว้มาเดิมมาจากอินเดียแล้วย้ายถิ่นฐานเข้ามาในจีน แฝงตัวเข้าไปถึงในราชสำนักของราชวงศ์ซาง ก่อนจะถูกขับไล่และหนีมาถึงเกาะญี่ปุ่น เมื่อมาถึงสมัยเฮอัน นางจิ้งจอกได้ปลอมแปลงตนเป็นพระชายาของจักรพรรดิโตบะ ทำให้เกิดพระประชวรขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ หลังจากที่โหราจารย์เข้ามาตรวจจึงพบว่าเป็นเหตุมาจากปีศาจที่อยู่ในราชสำนัก ทามาโมะ โนะ มาเอะถูกขับไล่และหนีออกไปจากเมือง แล้วจึงถูกปราบให้สิ้นใจในที่สุด

ภาพพิมพ์แกะไม้ เจ้าชายฮันโซคุกำลังหนีการรังควานของจิ้งจอกเก้าหาง (ค.ศ.1855)
ฝีมือศิลปินอุตากาวะ คุนิโยชิ

เล่ากันว่าเมื่อทามาโมะ โนะ มาเอะหรือปีศาจจิ้งจอกสาวตายลง ร่างของนางกลายเป็นหินก้อนหนึ่งซึ่งถูกเรียกว่า “เซ็ตโชเซกิ” [殺生石] ในตำบลนาซุ อันถูกขนานนามว่าเป็นหินต้องสาปที่มีพลังร้ายของปีศาจสถิตอยู่ทำให้ไม่ว่าอะไรที่สัมผัสหรือเข้าใกล้หินก้อนนี้จะต้องพบเคราะห์ร้ายจนถึงตาย

จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าโดยใกล้เคียงหินก่อนนี้มีการระเหยของก๊าซพิษจึงก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตที่เข้าใกล้ หาได้เป็นเพียงเพราะคำสาปแต่อย่างใด

ปัจจุบันในวันที่ 5 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมา หินเซ็ตโชเซกิได้ถูกพบว่าปริแตกออกเป็น 2 ส่วน ทำให้ชาวญี่ปุ่นเกิดความวิตกกังวลว่าวิญญาณหรืออะไรที่สิงอยู่ในหินคงถูกปลดปล่อยออกมาและจะเกิดภัยใหญ่ในญี่ปุ่นขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีตำนานอีกฉบับที่กล่าวว่าเคยมีพระรูปหนึ่งนามว่าเก็นโนธุดงค์มาถึงหินก่อนนี้ พระเก็นโนเกิดความเวทนาจึงได้ประกอบพิธีชำระดวงวิญญาณของทามาโมะ โนะ มาเอะ ส่งผลให้นางถูกปลดปล่อยและได้วนเวียนกลับไปชดใช้กรรมของนางต่อไปโดยให้คำมั่นว่าจะไม่กลับมาหลอกหลอนหรือสิงสู่หินก้อนนี้อีก

ตำนานของปีศาจจิ้งจอกที่มาแต่งงานกับมนุษย์เป็นเรื่องที่ถูกบอกเล่ากันมากที่สุด โดยนอกจากกรณีทามาโมะ โนะ มาเอะแล้ว ยังมีวรรณกรรมซึ่งเขียนช่วงสมัยเอโดะราวค.ศ.1662 ชื่อว่า “อาเบะ โนะ เซย์เมย์ โมโนกาตาริ” หรือ “ตำนานของอาเบะ โนะ เซย์เมย์” เป็นการเล่าเรื่องของจอมเวทย์องเมียวจิแห่งยุคเฮอัน โดยปรากฏการผูกเรื่องราวว่าอาเบะ โนะ ยาสุนะ ผู้เป็นบิดาของอาเบะ โนะ เซย์เมย์ได้แต่งงานกับจิ้งจอกขาวนามว่า “คุซุโนฮะ” ตำนานนี้ได้รับความนิยมอย่างมากและถูกผลิตซ้ำผ่านการแสดงละครคาบูกิ โดยมีฉากสำคัญอยู่ที่ “เฮนชิน” (การแปลงร่าง) ที่นักแสดงจะต้องทำการเปลี่ยนจากมนุษย์ไปเป็นจิ้งจอกอย่างรวดเร็วด้วยความชำนาญ นับเป็นจุดขายความช่ำชองในการแสดงของนักแสดงทางหนึ่ง

ภาพพิมพ์ของคุซุโนฮะ ศิลปินคุนิโยชิ อิชิยูไซ (ราวค.ศ.1889 – 1892)

“คิทสึเนะเนียวโบ” [狐女房] หรือแปลเป็นไทยว่าเมียจิ้งจอกนั้นไม่ได้เพียงปรากฏจากตำนานของอาเบะ โนะ เซย์เมย์เท่านั้น แต่ยังมีบันทึกในตำนานท้องถิ่นอย่างจังหวัดอิชิกาวะ เล่าถึงเรื่องของชายคนหนึ่งซึ่งออกไปธุระเรือนด้านนอกบ้านตอนกลางคืน เมื่อกลับมาในเรือนหลักพบว่าภรรยาของเขากลายเป็น 2 คน ฝ่ายสามีถึงกับสับสนแยกไม่ถูกว่าใครคือภรรยา ใครคือบาเกะโมโนะ เขาเพียรถามคำถามอยู่หลายครั้งหลายคราวทั้งสองก็ยังตอบได้เหมือนกัน เมื่อไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ชายหนุ่มจึงตัดสินใจเลือกหญิงคนหนึ่งไว้และไล่อีกคนออกไป

ต่อมาภรรยาของเขาให้กำเนิดลูกชาย 2 คนไม่นานหลังจากนั้น เด็กชายทั้งสองเติบโตขึ้นก็เล่นซนกันตามปกติ การเล่นซ่อนหาในบ้านวันหนึ่งทำให้เด็กทั้งสองพบว่าแม่ของพวกเขามีหาง และเมื่อตัวตนที่แท้จริงของนางถูกเปิดเผยก็ทำให้คิทสึเนะเนียวโบต้องจำจากครอบครัวนี้ไปอย่างแสนเศร้า

ในช่วงหน้าเพาะปลูก นางจิ้งจอกกลับมาอีกครั้งในร่างจิ้งจอก คราวนี้นางเดินวนรอบนาข้าวของครอบครัว ปีนั้นดูเหมือนจะโชคร้าย คราวถึงหน้าเก็บเกี่ยวรวงข้าวของนานี้ก็ว่างเปล่า ทำให้คนเก็บภาษีเข้าใจว่าผลผลิตของพวกเขาคงแย่เสียจนไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ออกไปจากนาและครอบครัวนี้ได้ตัดรวงข้าวและนำกลับไปที่บ้าน เมื่อแกะเปลือกออกก็พบว่ามีเมล็ดข้าวจำนวนมากอย่างอัศจรรย์ เล่ห์กลของจิ้งจอกทำให้ครอบครัวไม่ต้องเสียภาษี ส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวยต่อมา

โฆษณา

ตามตำนานกล่าวไปข้างต้นก็คงทำให้เห็นภาพของความสามารถในการแปลงกายเป็นมนุษย์และยังทำได้เหมือนเป๊ะจนแยกไม่ออก นอกจากมนุษย์แล้ว คิทสึเนะยังสามารถแปลงตนเป็นยักษ์หรืออสุรกายอื่นๆ เพื่อหลอกหลอนคนไปจนถึงการกลายสภาพเป็นโรคภัยไข้เจ็บไปสิงสู่ผู้คนได้อีกด้วย แต่ถึงจะปลอมตัวเก่งก็จริง ทว่าบางครั้งตัวจริงของพวกมันก็อาจเล็ดลอดหลุดเป็นพิรุธออกมา โดยอาจจะแสดงให้เห็นหาง เขี้ยว ขนสัตว์ที่ขึ้นมาบางส่วน หรืออาจเป็นลักษณะอื่นของกายภาพตัวจิ้งจอกปรากฏเด่นขึ้นมาก็ได้

คิทสึเนะมีนิสัยอย่างเดียวกับจิ้งจอกโดยทั่วไป พวกมันกลัวสุนัข ชอบอาหารอย่างเต้าหูทอด [油揚げ] และถั่วอะซูกิ (ถั่วแดงญี่ปุ่น) ทุกวันนี้ร้านอูด้งในญี่ปุ่นยังมีเมนูชื่อว่า “คิทสึเนะอูด้ง” ซึ่งเป็นอูด้งโปะหน้าด้วยเต้าหูทอด ยังมีเมนูซูชิชื่อว่า “อินาริซูชิ” ซึ่งใช้เต้าหูทอดม้วนเอาข้าวเป็นไส้ใน

คิทสึเนะอูด้ง upload by MemColorLab via wikimedia (CC BY-SA 4.0)

ในการสิงสู่มนุษย์ ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “คิทสึเนะ ทสึกิ” [狐憑き] มักเกิดขึ้นได้หลากหลายเหตุผล ตั้งแต่ต้องการทรมานผู้คนไปจนถึงการสื่อสารจากอีกภพหนึ่ง ที่น่ากลัวคงไม่พ้นการแก้แค้น การจัดการกับการสิงของปีศาจจิ้งจอกอาจทำได้ตั้งแต่การเรียกหมอผี ร่างทรง ไปจนถึงพระเพื่อมาทำพิธีขับไล่สิ่งชั่วร้าย ร่างทรงนั้นมีหน้าที่มาเป็นสื่อการในการพูดคุยกับคิทสึเนะซึ่งอาจต้องการบอกสารอะไรบางอย่างแก่มนุษย์

การสิงสู่เหล่านี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นด้วยฝีมือของปีศาจจิ้งจอกโดยทั่วไป แต่อาจเกิดจากการส่งสารด้วยฝีมือของผู้ที่สามารถควบคุมและเลี้ยงดูจิ้งจอกที่เรียกว่า “คิทสึเนะทสึไค” [狐遣い] ด้วยก็ได้ ผู้ควบคุมหรือผู้ใช้จิ้งจอกเหล่านี้คือกลุ่มคนที่สามารถดูแลและใช้งานคิทสึเนะ ส่งต่ออำนาจกันทางสายเลือด จิ้งจอกที่ถูกเลี้ยงดูและควบคุมเหล่านี้อาจเรียกว่า “คุดะคิทสึเนะ” [管狐] ตามตำนานท้องถิ่นของจังหวัดนากาโนะ, ชูบุ และภูมิภาคโทไก หรือ “โอซากิคิทสึเนะ” [御先狐] ที่เป็นตำนานท้องถิ่นของทางแถบคันโต

ภาพโอซากิคิทสึเนะในอ้อมแขนมนุษย์ จากภาพชุดเคียวกะ เฮี๊ยกคิว [狂歌百物語]

แปลงกายได้ เข้าสิงคนได้ ทั้งยังพรางสิ่งของอีกด้วย แต่ความสามารถพิเศษของคิทสึเนะยังไม่หมด การหมุนหางของคิทสึเนะทำให้เกิดดวงไฟขึ้นมาได้ เรียกว่า “คิทสึเนบิ” [狐火] คำดังกล่าวกลายเป็นคำเรียกดวงไฟปริศนาที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ความสัมพันธ์เกี่ยวกับไฟของคิทสึเนะบางครั้งอาจถูกเหมารวมว่าเป็นต้นเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ในบางสมัย มีเรื่องเล่าบางเรื่องกล่าวถึงการแปลงกายเป็นมนุษย์มาจุดไฟเผาบ้านเรือนสร้างความเดือดร้อน  

 แม้จะดูเป็นปรากฏการณ์ชวนหวั่นใจ แต่ดวงไฟคิทสึเนบิก็เป็นจุดเด่นจุดขายของศาลเจ้าโอจิ [王子神社] ในเมืองโตเกียว เชื่อกันว่าในทุกคืนปีใหม่เหล่าจิ้งจอกจะมารวมตัวกันที่ศาลเจ้าแห่งนี้ ทำให้เกิดดวงไฟปริศนาที่อาจมองเห็นได้แต่ไกล ความสว่างของดวงไฟสามารถใช้ทำนายถึงผลผลิตของชาวบ้านในปีนั้นๆ ว่าจะดีหรือแย่

ในอีกด้านดีของคิทสึเนะ คือการเป็นบริวารของเทพอินาริ [稲荷大神] เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และการเก็บเกี่ยวที่มีความนิยมนับถือตั้งแต่ยุคนาระ แต่กว่าจิ้งจอกจะมีส่วนร่วมในตำนานก็ช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา คิทสึเนะถือว่าเป็นผู้ส่งสารจากเทพอินาริ ทำให้ศาลเจ้าที่มีเทพองค์นี้เป็นประธานจะต้องมีการทำรูปปั้นหินของจิ้งจอกอยู่ตำแหน่งผู้พิทักษ์หรือทวารบาลบริเวณทางเข้าเสมอ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเหตุใดจิ้งจอกจึงถูกผนวกมาในฐานะบริวารเทพชินโตองค์นี้ แต่ความนิยมของเทพอินาริเพิ่มขึ้นมากในสมัยเอโดะ ส่งผลให้มีการสร้างศาลเจ้าถวายจำนวนมากมาย ปัจจุบันน่าจะมีศาลเจ้าของเทพอินาริราวๆ 30,000 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น

โฆษณา


References :

  • Foster, Michael Dylan.(2015). The Book of Yōkai: Mysterious Creatures of Japanese Folklore. Oakland: University of California Press.
  • Meyer, M. (2015).The Hour of Meeting Evil Spirits: An Encyclopedia of Mononoke and Magic (Yokai).
  • Meyer, M. (2015). The night parade of one hundred demons (2nd ed.).

One thought on “#โยไคอะไรเนี่ย EP6 Kitsune [狐]”

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.