FRIART ศิลป์ศุกร์สนุกดี Ep.9 ควันหลงจากวันวาเลนไทน์ทำให้นึกถึงบทอัศจรรย์ในตำนานกรีกระหว่างราชินีกับหงส์ขาว
เอาหล่ะ… ก่อนจะคิดไปไกล คงต้องเท้าความถึงตัวพล็อตเรื่องหลักเสียก่อน นั่นคือตำนานของ “Leda and the Swan” ซึ่งเป็นปกรณัมกรีกโบราณอ้างอิงจากงานเขียนของนักปราชญ์อพอลโลโดรัสแห่งเอเธนส์ (Apollodorus of Athens) (c. 180 BC – after 120 BC) ที่กล่าวถึงเจ้าหญิงแห่งเอโตเลีย (Aetolia) นามว่า “เลดา” ผู้ได้สมรสกับกษัตริย์ทินดาริอัส (Tyndareus) และกลายเป็นราชินีของสปาร์ตา
เรื่องราวอัศจรรย์พันลึกในครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเลดาได้ช่วยหงส์ขาวตัวหนึ่งจากการไล่ล่าของนกอินทรี… ซึ่งหงส์ขาวตัวนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากซุสเทพบิดร (ทุกสถาบัน) ผู้แปลงกายเป็นหงส์เพื่อล่อลวงราชินีสาว แน่นอนว่านกอินทรีที่ไล่ล่าเทพผู้ยิ่งใหญ่องค์นี้ก็คงไม่พ้นอยู่ในแผนการของเทพซุสเช่นกัน เนื่องจากตำนานกล่าวไว้ว่าพระองค์ทรงมีนกอินทรีเป็นบริวาร หรือไม่บางคราวก็มักแปลงกายเป็นนกอินทรีบ้างในบางครั้ง
หลังจากหลบเข้าไปในอ้อมกอดของเลดาที่ช่วยเข้ามาขวางนกนักล่า ซุสในร่างหงส์ก็งัดของเด็ดเข้าคลุกวงในจนสำเร็จเสร็จกิจก็บินจากไป ถึงจะผ่านศึกกับจอมเทพแล้ว ในคืนนั้นเลดาเองก็หลับนอนกับทินดาริอัสสามีของตน (อีกหนึ่งยก) ผ่านมาไม่นานนักเลดาก็ตั้งท้อง เธอได้ให้กำเนิดไข่สองใบ โดยแต่ละใบฟักออกมาเป็นแฝดหญิงชาย ทารกหญิง-ชายที่ฟักจากไข่ใบแรกคือนางเฮเลน (Helen) สาวงามที่สุดในปฐพีผู้จุดชนวนสงครามเมืองทรอย และพอลลักซ์ (Pollux) หนึ่งในคู่แฝดแห่งจักรราศีคนคู่ ใบที่สองคือนางไคลเทมเนสตร้า (Clytemnestra) ผู้จะกลายมาเป็นราชินีของอากาเมมนอน (Agamemnon) กษัตริย์แห่งไมซีเน่ (Mycenae) และแคสเตอร์ (Castor) แฝดแห่งดาวคนคู่ กลุ่มดาวเดียวกับพอลลักซ์นั่นเอง
ทว่าตำนานระบุเพียงว่าเฮเลนและพอลลักซ์ซึ่งเป็นบุตรของซุสมีสถานะกึ่งเทพและเป็นอมตะ ในขณะที่ไคลเทมเนสตร้าและแคสเตอร์ที่เป็นบุตรของทินดาริอัสมีสถานะเป็นเพียงมนุษย์
“เลดาและหงส์” ถือเป็นหัวข้อสำคัญในประวัติศิลปะตะวันตก ด้วยบทอีโรติกที่แปลกประหลาด รวมถึงสัมพันธ์กับการถือกำเนิดคนบุคคลในตำนานสำคัญอย่างเฮเลนแห่งทรอย ทำให้เรื่องราวของเลดาได้รับการผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่ในช่วงสมัยกรีก-โรมันโบราณเท่านั้น หลังการฟื้นฟูวิทยาการ (Renaissance) ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ภาพของ “เลดาและหงส์” ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ด้วยฝีมือของจิตรกรเอกของโลก ทั้งฝีมือของลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) และมิกันเจโล (Michelangelo) สองศิลปินเอกที่ได้ราชสำนักและศาสนจักรเป็นผู้อุปถัมภ์
สืบเนื่องต่อมาถึงช่วงเฟื่องฟูของราชสำนักฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ศิลปะร็อคโคโค (Rococo) ที่ได้จิตรกรเอกนาม ฟรองซัวส์ บูเชร์ (François Boucher) เป็นผู้ผลักดันแนวการวาดภาพหญิงสาวแบบฟุ้งฝันประหนึ่งฉากในโรงละคร บูเชร์วาดภาพเลดาและหงส์ในหลากหลายโอกาส ทั้งในเวอร์ชันปค.ศ. 1742 ที่วาดให้หญิงสาวสองคนกำลังเปลือยกายอาบน้ำริมธาร คลอเคลียอยู่กับหงส์หนุ่มที่ชูคอหมายตายังของสงวนของเลดาผู้กำลังอ้าแขนรับนกคอยาวอย่างเต็มใจ

Oil on Canvas, 59.69 x 74.3 cm., Los Angeles County Museum of Art
ทว่าภาพนิรนามจากคอลเล็กชั่นส่วนตัวที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่สันนิษฐานกันว่าเป็นฝีมือของบูเชร์จากปีค.ศ.1740 วาดจากตำนานเรื่องเดียวกันกลับดึงความสนใจของเราในวันนี้… ฉากหลังของภาพแสดงถึงพื้นที่ของห้องส่วนตัวภายในอาคารต่างจากตำนานหรือขนบการวาดภาพแบบดั้งเดิมที่มักเป็นบรรยากาศภายนอก ลักษณะเช่นนี้ช่วยสร้างให้สถานะของเลดาเองมีความร่วมสมัยยิ่งขึ้น

Oil on Canvas, Private Collection
หญิงสาวเปลือยกายล่อนจ้อนอยู่บนเตียง นอนแผ่ของสงวนที่บรรจงโกนอย่างเกลี้ยงเกลา ขณะที่ฝั่งบริเวณปลายเตียงมีหงส์หนุ่มก้มคอยาวลงมา หันหัวเรียวไปทางช่องลับอย่างใคร่รู้… ท่าทางที่เปิดเผยอย่างจงใจของเลดาไปจนถึงรูปทรงของหัวนกที่คล้ายกับอวัยวะเพศชายดูส่งไปในทางสื่อถึงกามกิจในห้องลับที่กำลังถูกเปิดเผยต่อหน้าผู้ชม ความคับข้องใจถึงกิจกรรมพิสดารระหว่างสองเผ่าพันธุ์ของตำนานโบราณ การสังวาสระหว่างนกกับคนบัดนี้ถูกตีความด้วยภาพที่เห็นอย่างชัดเจนในที่สุด
Featured Image : Leda and the Swan (1601) by Peter Paul Rubens, Museum of Fine Arts, Houston.

Reference :
Apollodorus, The Library with an English Translation by Sir James George Frazer, F.B.A., F.R.S. in 2 Volumes, Cambridge, MA, Harvard University Press; London, William Heinemann Ltd. 1921. ISBN 0-674-99135-4. Online version at the Perseus Digital Library. Greek text available from the same website.
