FRIART ศิลป์ศุกร์สนุกดี Ep.10 ส่งท้ายเดือนแห่งความรักด้วยเรื่องรักวุ่นๆ ของวีนัส (Venus) เทพีแห่งความรักในตำนานกรีกและโรมัน
วีนัสในตำนานของโรมันหรือเทพีอะโฟรไดตี (Aphrodite)ในภาษากรีก ถือเป็นหนึ่งใน 12 เทพองค์สำคัญที่อาศัยอยู่บนสวรรค์แดนโอลิมปัส บ้างก็ว่าถือกำเนิดจากฟองคลื่น จึงได้ว่าชื่อจากรากศัพท์ว่า aphrós ที่หมายถึงฟองทะเล หรือไม่ก็เป็นอวัยวะเพศของเทพแห่งท้องฟ้ายูเรนัส (Uranus) ที่ถูกบุตรชายของตนเทพแห่งเวลาครอโนส (Cronus) เฉือนออกเมื่อตกลงสู่ทะเลจึงกลายเป็นเทพีวีนัสในที่สุด
วีนัสเป็นตัวแทนแห่งความงาม ความรักและความปรารถนา ยังถือเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ (Goddess of Fertility) องค์สำคัญที่มีผู้นับถือบูชามากมาย ถึงกระนั้นเทพีแห่งความรักเองก็หนีไม่พ้นกับบ่วงแห่งรักเช่นเดียวกับมนุษย์ปุถุชน
ขึ้นชื่อว่าเป็นเทพีความงาม ย่อมมีผู้พร้อมใจถวายตัวและนั่นก็พ่วงมาด้วยปัญหามากมาย เมื่อวีนัสขึ้นไปสถิตย์ยังโอลิมปัส เทพ (เจ้าชู้) สูงสุดอย่างซุส (Zeus) ก็ปรารถนาตัวนาง ทว่าวีนัสกับไม่ยินยอมและถูกแก้เผ็ดด้วยการให้นางวิวาห์กับเฮเฟสตัส (Hephaestus) เทพนักประดิษฐ์ผู้มีร่างกายพิการ ซึ่งเป็นบุตรของซุส แน่นอนว่าวีนัสมีชู้รักมากหน้าหลายตา ตั้งแต่เหล่าเทพไปจนถึงมนุษย์ปุถุชนและกลายเป็นเรื่องเล่าขานตำนานมากมาย รวมถึงตำนานของอะโดนิส (Adonis)
ก่อนที่จะเล่าถึงความรักระหว่างวีนัสและอะโดนิส คงต้องเท้าความถึงต้นกำเนิดของชายหนุ่มที่เป็นผลมาจากแรงแค้นของตัววีนัสเอง จากบทกวี “Metamorphoses” ของโอวิด (Ovid, 20 March 43 BC – 17/18 AD) คราวหนึ่งกษัตริย์แห่งไซปรัสนามซินนีรัส (Cinyras) และราชินีได้ให้กำเนิดบุตรสาวนามเมอร์ร่า (Myrrha) ทว่าเมื่อเจ้าหญิงเติบโตขึ้น มารดาของนางกับเอ่ยปากชมว่าบุตรสาวนั้นงดงามยิ่งกว่าเทพีวีนัส (อิแม่ก็ช่างกล้าสุดดด!) ได้ยินดังนั้นเทพีก็เกิดความริษยาอาฆาตอย่างที่สุด เพราะไม่มีสิ่งใดจะหยามเกียรติเทพแห่งความงามได้เท่านี้อีกแล้ว อีกทั้งดินแดนแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของวีนัสอีกด้วย
เทพีวีนัสจึงสาปให้เมอร์ร่าหลงรักบิดาของตน เมื่อถึงคราวเทศกาลสำคัญราชาซินนีรัสกำลังเมามาย แม่นมของเจ้าหญิงจึงได้วางแผนช่วยเมอร์ร่าได้เสียกับบิดาจนสำเร็จ ทั้งคู่หลับนอนกันหลายครั้ง จนกระทั่งกษัตริย์แห่งไซปรัสจับได้ว่าผู้ที่ลอบมาลักหลับเป็นลูกสาวของตนจึงชักดาบไล่ฟันหมายจะฆ่า เทพเจ้าจึงเสกให้เมอร์ร่ากลายเป็นต้นเมอร์ (Myrrh) ยามที่นางหลั่งนำ้ตาด้วยความโศกเศร้า หยดน้ำตาจะกลายเป็นยางไม้เลอค่าที่เรียกว่า “มดยอบ” เหล่าผู้บูชาเทพีวีนัสจะนำยางไม้หอมนี้มาเผาที่แท่นบูชาเพื่อสักการะเทพแห่งความรัก
จุดพีคของเรื่องอยู่ที่ว่าขณะที่เมอร์ร่ากลายร่างเป็นต้นไม้ นางได้ตั้งครรภ์บุตรชาย พอครบเก้าเดือน ต้นเมอร์ก็แยกลำต้นออกมาเป็นทารกน้อยอะโดนิส วีนัสพบทารกเข้าก็เกิดเอ็นดูอย่างที่สุด นางได้เดินทางไปยังยมโลกเพื่อพบกับเพอร์ซีโฟเน่ (Persephone) เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิคู่ครองของยมเทพ วีนัสได้มอบทารกน้อยกับราชินีแห่งยมโลกเพื่อให้ช่วยเลี้ยงดู เมื่อคราวอะโดนิสเติบโตขึ้นพร้อมด้วยความหล่อเหลาเกินต้าน วีนัสจึงหลงรักอะโดนิสอย่างทันทีที่เห็น

เรื่องมันพัลวันก็ตรงที่เพอร์ซีโฟเน่ผู้เป็นแม่เลี้ยงเองก็หลงรักเด็กหนุ่มเช่นเดียวกัน จนเกิดการยื้อแย่งมนุษย์หนุ่มน้อยระหว่างสองเทพีผู้ยิ่งใหญ่ ร้อนถึงซุสต้องมาตัดสินคดี โดยเทพสูงสุดให้อะโดนิสอยู่กับเทพีวีนัส 4 เดือน อยู่กับเพอร์ซีโฟเน่ 4 เดือน และอีก 4 เดือนที่เหลือนั้นชายหนุ่มจะอยู่กับใครก็ตามใจ อะโดนิสใช้เวลาส่วนใหญ่กับเทพีวีนัสแทบจะตัวติดกัน
ความรักและความตายมาคู่กันเสมอ ยิ่งอะโดนิสใช้เวลาอยู่กับวีนัสนานเท่าใด แอเรส (Ares) เทพแห่งสงครามหนึ่งในชู้รักของเทพีก็ยิ่งอิจฉาริษยามากเท่านั้น (คนมันสวยอ่ะนะ) เมื่ออะโดนิสออกไปล่าสัตว์ เอเรสจึงส่งหมูป่ามาขวิดชายหนุ่มจนถึงแก่ความตาย ณ บริเวณที่เลือดของชายหนุ่มไหลรินก็บังเกิดเป็นดอกไม้สีแดงสดที่เรียกว่า “Anemone”

มาถึงตรงนี้หากคิดว่าเรื่องโอ้ละหนอ my love! ระหว่างหนุ่มหล่อกับเทพีแห่งความงามจะจบที่ตรงนี้เช่นตำนานโศกนาฏกรรมทั่วไป ขอให้ฟังเรื่องราวนี้กันต่อ… หลังการตายของอะโดนิส วีนัสโศกเศร้ามากจึงกับเล่นใหญ่ประกาศให้มีเทศกาลชื่อว่า “Adonia” ขึ้นทุกปีคล้ายกับเทศกาลสำคัญในการบูชาเทพองค์อื่นๆ ทว่าพิธีศักดิ์สิทธิ์ในอะโดเนียนี้ไม่ได้มีสถานที่พิเศษสำหรับการบูชาเป็นการเฉพาะ หญิงสาวสาวกของวีนัสมักทำพิธีบนดาดฟ้าบ้านของตน เริ่มด้วยการปลูกดอกอะนีโมเน่และพืชโตเร็วหลากชนิดในกระถางขนาดเล็กเรียกกันว่า “สวนแห่งอะโดนิส” ดอกไม้เหล่านี้จะเติบโต ชูช่อออกดอกอย่างงดงามและเหี่ยวเฉาตายลงในที่สุด
เหล่าสาวกจะไว้ทุกข์ให้ดอกไม้ที่ตายประหนึ่งการแสดงความโศกเศร้าต่อการตายของอะโดนิส จากนั้นจะนำกระถางเหล่านี้และรูปเคารพของวีนัสตั้งขบวนแห่ไปตามถนน เหล่าสตรีผู้ร่วมขบวนจะฉีกทึ้งเสื้อผ้าและทุบหน้าอกของตน ก่อนนำสิ่งของทั้งหมดลอยลงทะเลหรือไม่ก็แหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ เพื่อระลึกถึงรักที่จากไป เป็นอันสิ้นสุดความอาลัยในรักของเทพีผู้เลอโฉม

Featured image : John William Waterhouse, “The Awakening of Adonis”, c.1899, Oil on Canvas, 95.9 x 188 cm., Andrew Lloyd Webber Private Collection
ผู้เขียน : MM [Editor] คอลัมภ์ FRIART ศิลป์ศุกร์สนุกดี เผยแพร่ทาง Archaeo GO |

References :
- Dillon, Matthew (2002). Girls and Women in Classical Greek Religion. London: Routledge.
- Powell, Barry B. (2010) Classical Myth. Melbourne: Hamilton print and Co.