#โยไคอะไรเนี่ย EP4 Baku [貘] ตัวเขมือบฝันร้าย

บาคุเป็นสัตว์ในตำนานที่มีลักษณะคล้ายกับสมเสร็จ หรือจะเรียกว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวกันก็ได้ เพราะคำนี้ยืมมาจากภาษาจีน 貘[Mò] อ่านว่า “โม่” ซึ่งเป็นคำที่แปลว่า “สมเสร็จ” ในภาษาไทยเรานี่เอง

แน่นอนว่าลักษณะของบาคุก็เรียกได้ว่าเป็นสมเสร็จตามตำรา ด้วยมีร่างกายเป็นหมี มีศีรษะของช้าง มีตาอย่างแรด มีขาอย่างเสือ และมีหางอย่างวัว

โยไคชนิดนี้อาศัยอยู่ในป่าลึก กินฝันของมนุษย์เป็นอาหาร และโปรดปรานฝันร้ายของผู้คนเป็นพิเศษ ทำให้หน้าที่หลักของบาคุคือการเป็นภูตพิทักษ์ปกปักษ์ไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาในบริเวณที่มีตัวมันอยู่ ในขณะที่ก็ช่วยดึงดูดโชคดีเข้ามาแทน คนญี่ปุ่นโบราณจึงมักนิยมปักอักษรคันจิชื่อของบาคุเอาไว้บนหมอนเพื่อปัดเป่าโรคภัย สิ่งไม่ดี และฝันร้าย นอกจากนี้แล้วรูปลักษณ์อันน่าสะพรึงของบาคุยังเป็นที่นิยมในการแกะสลักเป็นหัวเสาบริเวณกรอบประตูทางเข้าวัดหรือเป็นหัวเสาตัวรับโครงสร้างหลังคาวัดด้วยนัยยะของการขจัดสิ่งไม่มงคลนั่นเอง

ภาพบาคุ วาดโดยโฮกุไซ

ตำนานการกำเนิดตัวบาคุของชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเมื่อเหล่าเทพกำลังช่วยกันสร้างสรรพสัตว์ต่างๆ บาคุถูกสร้างจากชิ้นส่วนต่างๆ ที่เหลืออยู่จากทั้งหมด ดังนั้นมันจึงมีลักษณะที่แปลกประหลาดไปจากสัตว์อื่นๆ และกลายเป็นที่โปรดปรานของเทพ ส่วนในแผ่นดินใหญ่อย่างจีนอันเป็นผู้ส่งอิทธิพลด้านความเชื่อให้กับญี่ปุ่น มีหลักฐานการเล่าถึงสัตว์วิเศษชนิดนี้ในบทกลอนยุคราชวงศ์ถัง ซึ่งเขียนขึ้นในปีค.ศ.834โดยกวีนามว่า “ไป๋จวีอี้” (白居易) ข้าราชสำนักที่มีอายุในช่วงค.ศ.772–846 โดยอธิบายลักษณะของตัวโม่ไว้ว่า “มีจมูกของช้าง มีนัยน์ตาแรด หางเหมือนของวัว และขาของเสือ” และยังกล่าวอีกว่า “หากนอนลงบนแผ่นหนังของมันจะช่วยป้องกันโรคระบาด และการวาดภาพตัวโม่จะช่วยปัดเป่าโชคร้าย ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังสามารถใช้มุ้งที่มีภาพตัวโม่ขณะนอนหลับเพื่อช่วยปกป้องศีรษะของตนจากโรคได้” ด้วยความเชื่อดังกล่าวทำให้คนจีนโบราณนิยมเสาะหาหรือล่าตัวโม่เพื่อนำหนังของมันมาทำผ้าคลุมหรือเครื่องรางขจัดสิ่งชั่วร้าย

ตำรายาในยุคหลังอย่าง เปิ๋นเฉ่ากังมู่ (本草綱目) ที่รวบรวมขึ้นจากองค์ความรู้ด้านการเภสัชวิทยาโบราณร่วมกับการเดินทางค้นคว้าของหมอสมุนไพรนามว่าหลี่สือเจิน (李時珍) ในสมัยราชวงศ์หมิงราวค.ศ.1578 มีการบันทึกถึงความแข็งแรงของกระดูกและฟันของตัวโม่หรือสมเสร็จนี้ พร้อมยังบรรยายสรรพคุณของปัสสาวะว่าสามารถละลายเหล็กและเปลี่ยนธาตุโลหะชนิดนี้เป็นน้ำได้

ถึงจะมีหลักฐานการกล่าวถึงตัวบาคุจากเอกสารโบราณมากมาย แต่ลักษณะอันพิลึกพิลั่นชวนให้จินตนาการไปในทางเหนือธรรมชาติก็อาจเกิดขึ้นเพียงเพราะขีดจำกัดในด้านสัตววิทยาของมนุษย์ เพราะสัตว์ประเภทสมเสร็จซึ่งมองอย่างไรก็ตรงตามตำราว่าด้วยตัวบาคุนั้นเป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง-ใต้และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรับรู้ถึงการมีอยู่ของสัตว์ประเภทนี้ในสายตาของทั้งคนจีนและญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องไม่คุ้นเคยกันไป ตัวบาคุสำหรับคนญี่ปุ่นนั้นจะค่อนไปข้างใกล้กับลักษณะของสมเสร็จมลายู (Malayan tapir, Asian tapir, ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tapirus indicus) อันมีถิ่นกำเนิดและแพร่กระจายในคาบสมุทรมลายูไปถึงเกาะสุมาตรา โดยเจ้าสมเสร็จชนิดนี้เป็นสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

ลักษณะของสมเสร็จนั้นก็ดูจะเป็นไปตามความหมายชื่อในภาษาไทยคือ (ผ)สมเสร็จ อันเป็นการสื่อถึงการเป็นสัตว์ผสม (Chimera) ที่อธิบายผ่านกายวิภาคดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว โดยยืมเอาอัตลักษณ์ที่คนญี่ปุ่นโบราณจะพอรู้จักมาใช้บรรยาย เช่น การกล่าวว่ามีขาแบบเสือ หางอย่างวัว ซึ่งเป็นสิ่งที่หยิบมากล่าวถึงในตำราของโยไคบ่อยครั้ง และสัตว์บางชนิดที่ไม่ได้เป็นสัตว์พื้นถิ่นญี่ปุ่นแต่มีลักษณะพิเศษที่สะดุดตาอย่าง เสือ, ช้าง และแรด จนบางครั้งพวกเขาอาจเคยเห็นพวกมันแค่ในภาพลายเส้นเท่านั้น ความเป็นบาคุจึงเสมือนสัตว์ในเทพนิยายที่มีอยู่จริงในสายตาของคนโบราณ

วัฒนธรรมญี่ปุ่นเริ่มปรากฏหลักฐานของตัวบาคุตั้งแต่ยุคมุโรมาจิ (室町時代) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 และได้พัฒนาความนิยมในการนับถือในฐานะเครื่องรางป้องกันฝันร้าย ผู้พิทักษ์การนอนหลับอย่างสงบมากขึ้นในสมัยเอโดะ (江戸時代) หรือราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 คนญี่ปุ่นเชื่อว่าขณะนอนหลับ จิตของเราเดินทางไปในโลกอื่นผ่านความฝัน ดังนั้นเพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยจึงมีการวางรูปของตัวบาคุไว้เคียงหมอน หรือกระทั่งทำหมอนเป็นรูปตัวบาคุ

เมื่อมีคนตื่นขึ้นมาจากฝันร้าย เราอาจเรียกเจ้าตัวบาคุให้มากินฝันร้ายของเราได้ด้วย เด็กๆ มักได้รับการปลอบใจในความตกใจจากฝันน่ากลัวด้วยการสอนให้เรียก “บาคุซัง จงมาและกินฝันของข้า” จำนวน 3 รอบ และบาคุก็จะมากินฝันร้ายนั้นและส่งผลให้เด็กกลับไปนอนหลับอย่างสงบตามเดิม ถึงจะมีความเชื่อว่าบาคุมีพลังในทางที่ดีกับมนุษย์ แต่การเรียกบาคุให้มากินฝันก็มีความเสี่ยง เพราะหากบาคุที่มาเพื่อกินฝันร้ายไม่รู้สึกอิ่มจากฝันนั้น บาคุก็อาจกินความปรารถนาและความฝันของคนที่เรียกมา และคงเหลือเพียงความว่างเปล่าในการใช้ชีวิต

ดังจะเห็นได้ชัดว่าจะตัวโม่ก็ดี บาคุก็ดี ล้วนมีความเชื่อในด้านการนอนหลับและการไล่สิ่งเลวร้าย แม้ว่าจะเต็มไปด้วยคุณประโยชน์แก่มนุษย์มากกว่าข้อเสีย แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ความเป็นตัวบาคุก็เช่นกัน สถานะของสัตว์วิเศษที่มีพื้นฐานมาจากสัตว์ที่มีอยู่จริง ความย้อนแย้งและขัดกันดังกล่าวสะท้อนผ่านร่างกายอันพิสดารแบบที่คนจีนและญี่ปุ่นเคยไม่เข้าใจมาก่อน จนเมื่อโลกเกิดการอภิวัฒน์เชื่อมทุกวัฒนธรรมเข้าหากันได้ง่ายขึ้น มุมมองที่มีเกี่ยวกับสัตว์นี้จึงถอยห่างไปจากความเชื่อ คงเหลือเพียงร่องรอยผ่านตัวอักษรกับชื่อที่ยังคงเรียกสมเสร็จด้วยนามดังกล่าว ในภาษาจีนคือโม่ และคำว่าบาคุก็ถูกนำมาใช้เรียกตัวสมเสร็จในภาษาญี่ปุ่นอันเป็นพยานการมีอยู่ของพวกมันในยุคปัจจุบัน



References :

  • Foster, Michael Dylan.(2015). The Book of Yōkai: Mysterious Creatures of Japanese Folklore. Oakland: University of California Press.
  • Meyer, M. (2015). The night parade of one hundred demons (2nd ed.).
  • M R Reese. (December 1,2014). Baku: The Legend of the Dream Eater.Ancient-Origins. . Retrieved 30 January 2022, from https://www.ancient-origins.net/…/baku-legend-dream…
  • ประจิตร ป้อมอรินทร์.(December 13, 2019). “หลี่สือเจิน ราชาสมุนไพรจีน” ในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน .อาศรมสยาม-จีนวิทยา. Retrieved 01 Febuary 2022, https://www.arsomsiam.com/หลี่สือเจินสมุนไพรจีน

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.