เครื่องประหารที่สร้างขึ้นด้วยหลักการที่ย้อนแย้งกับหน้าที่ การบั่นคอมนุษย์ให้สิ้นใจอย่างรวดเร็วเพื่อแสดงความเมตตา ทว่ามันกลับทำให้เกิดการนองเลือดของช่วงสมัยที่ทุกคนขนานนามว่า “ยุคแห่งความหวาดกลัว” (Reign of Terror)
“กิโยติน” คืออะไร? กิโยติน (Guillotine) คือเครื่องประหารชีวิตที่เกิดแมสขึ้นบนโลกเมื่อมันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประหารซิกเนเจอร์ของฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติ โดยเหยื่อรายแรก…ไม่ใช่ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) หรือพระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) แต่อย่างใด แม้ว่าพวกเราจะจดจำประวัติศาสตร์ว่ากษัตริย์และพระราชินีองค์สุดท้ายของราชวงศ์บูร์บงถูกสำเร็จโทษด้วยกิโยตินก็ตาม
แรกเริ่มเดิมทีมันไม่ใช่นวัตกรรมเครื่องประหารใหม่กริ๊งในยุโรป แต่เป็นประดิษฐกรรมที่สร้างขึ้นและมีหลักฐานปรากฏในประเทศอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 แล้ว โดยเมื่อประชาชนสามารถโค่นราชวงศ์บูร์บงให้ล่มสลาย เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) กลายเป็นประชาธิปไตย…(แล้วมั้ง) หนึ่งในปัญญาชนสมองใสอย่างนายแพทย์โฌแซ็ฟ-อีญัส กีโยแต็ง (Joseph-Ignace Guillotin) จึงนำเสนอวิธีการประหารชีวิตที่เมตตาที่สุดและยกเลิกการประหารชีวิตแบบ “กงล้อสังหาร” (Breaking wheel) ที่ดูทรมานและปราศจากความเมตตาเพราะเป็นการมัดเหยื่อไว้กับล้อเกวียนแล้วบดขยี้ให้ร่างกายและกระดูกของนักโทษค่อยๆแตกแหลกเหลวจนขาดใจตายท่ามกลางพยานในที่สาธารณะ
ถึงจะพยายามคิดค้นวิธีการประหารที่ใจดีและให้เหยื่อทรมานน้อยลง แต่ทั้งนี้การประหารชีวิตก็ยังหวังผลในลักษณะของการประหารต่อหน้าสาธารณะ (Public Execution) เช่นเดิม ก็คือยังเลือกลานประหารแบบเปิดตรง “จัตุรัสแห่งการปรองดอง” (Place de la Concorde) เป็นที่ตั้งของกิโยตินในสมัยแรกๆ
นายกีโยแต็งให้ความเห็นเกี่ยวกับเครื่องประหารนี้ต่อรัฐสภาคนอื่นๆ ว่า “เครื่องทำงานดังสายฟ้าฟาด ศีรษะลอยลิ่ว เลือดพุ่งพล่าน และผู้นั้นย่อมสิ้นชีวีแล้ว”
แต่กว่าจะสามารถสร้างเครื่องกิโยตินที่มีประสิทธิภาพก็ต้องมีการทดลองหลายครั้งหลายครา จากกับสัตว์ทดลองไปจนถึงศพมนุษย์ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นการมอบโทษตายที่รวดเร็วและเจ็บปวดน้อยที่สุด สรุปง่ายๆ คือบั่นคอให้ขาดในฉับเดียว ไม่ต้องมีดาบสอง เหมือนการประหารด้วยขวานหรือดาบที่บางครั้งก็ไม่สามารถบั่นศีรษะคนได้ในครั้งเดียว
ในขณะที่ทดลองกันอย่างสนุกสนาน เอ้ย ขะมักเขม้น เครื่องประหารนี้เคยมีชื่อเล่นน่ารักแสบๆ แบบฝรั่งเศสว่า “Louison” หรือ “Louisette.” เพราะหนึ่งในบรรดาผู้พัฒนาเครื่องนี้คือนาย แพทย์อ็องตวน หลุยส์ (Antoine Louis) แต่สุดท้ายแล้วเครดิตทั้งมวลตกไปหานายกีโยแต็งผู้มารับช่วงพัฒนาต่อให้เครื่องประหารนี้ทำงานดีขึ้นและคร่าชีวิตได้ในพริบตาเดียว
แล้วตกลงใครเป็น First Blood ของเครื่องกิโยตินน่ะหรือ ก็เป็นแค่คุณพี่โจรปล้นนักเดินทางชี่อว่านิโกลา ฌาก์ค เปลติเยร์ (Nicolas-Jacques Pelletier) ที่ได้ทำผิดฐานปล้นและฆ่าเหยื่อในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.1791 และถูกตัดสินว่ามีความผิดต้องโทษประหารชีวิต ก่อนจะถูกนำมาสังเวยศพแรกให้กับเครื่องประหารที่เชื่อกันว่ามีมนุษยธรรมที่สุดเท่าที่จะคิดได้ในตอนนั้น ในครั้งแรกเครื่องกิโยตินถูกติดตั้งและใช้งานที่ลานหน้าออแตลเดอวีล (Hôtel de Ville) หรือศาลาว่าการเมืองปารีส อันเคยถูกเรียกขานว่า Place de Grève เพราะเป็นลานประหารเก่าสำหรับใช้ลงโทษผู้กระทำผิดโดยเฉพาะการประหารชีวิตมาหลายร้อยปี ก่อนที่จะย้ายไปยังจัตุรัสแห่งการปรองดอง หรืออีกชื่อที่ถูกเรียกสั้นๆ ช่วงการปฏิวัติว่า Place de la Révolution
ระยะเวลาต่อมาฝรั่งเศสจึงเข้าสู่ยุคแห่งความหวาดกลัว (Reign of Terror) ที่เต็มไปด้วยการนองเลือดนับพัน มีหลายคนที่ต้องถูกดันให้มาศิโรราบกับแม่ม่าย เครื่องกิโยตินในอีกชื่อที่ดูเหมาะจะอธิบายความเศร้าเสียใจที่เกิดขึ้นได้ หลายคนเป็นผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างหรือขัดต่อแนวคิดรัฐในขณะนั้นๆ และด้วยความเข้าใจผิดที่คนติดภาพจำว่าแม้แต่นายกีโยแต็งเองก็ต้องมาจบชีวิตคาเครื่องนี้ ทั้งที่แท้จริงเขาเสียชีวิตด้วยโรคภัยในบ้านหลังหนึ่งของตนเอง นักคิดหลายคนมีบทสุดท้ายแบบเดียวกับอาชญากรจนดูคล้ายว่าความยุติธรรมอยู่ที่ใช้สายตาใครมองเท่านั้นเอง เพราะเพียงชั่วเวลาไม่เกินเดือนหลังที่เปลติเยร์ถูกประหาร มีผู้ถูกนำมาประหารที่กิโยตินโดยปราศจากการไต่สวนรวมชายหญิงทั้งสิ้นกว่า 300 ราย ด้วยความไวดังฟ้าผ่าทำให้เครื่องกิโยตินสามารถคร่าชีวิตคนเป็นโหลภายในเวลาเพียง 13 นาที ส่งผลให้สามารถประหารคนได้ครั้งละมากๆ จนคนสั่งคงรู้สึกว่าไม่เหนื่อยเพชฌฆาต

เครื่องกิโยตินถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปีค.ศ.1792 และยังเป็นเครื่องประหารชีวิตของฝรั่งเศสมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปีค.ศ.1981 ประเทศฝรั่งเศสได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ นักโทษคนสุดท้ายที่ตายด้วยกิโยตินคือฆาตกรชายนามว่า Hamida Djandoubi ผู้ถูกประหารในปีค.ศ.1977 เป็นอันสิ้นสุดประวัติศาสตร์อันยาวนานของเครื่องประหารชิ้นนี้ที่เคยเชื่อกันว่าเป็นดังพระพรของพระเจ้าที่ฟาดฟันประหัตประหารความชั่วร้ายในคราเดียว

References:
- Britannica, T. Editors of Encyclopaedia. (May 6, 2020) “Guillotine” Encyclopedia Britannica. Retrieved 11 November 2021, from https://www.britannica.com/topic/guillotine.
- Klein, C. (APR 25, 2012) .The Guillotine’s First Cut. Retrieved 11 November 2021, from https://www.history.com/news/the-guillotines-first-cut
Featured Image : “Execution of Louis XVI” – German copperplate engraving, 1793, by Georg Heinrich Sieveking [Public Domain]