Gauls : วัฒนธรรมยุคโลหะแห่งยุโรปตะวันตก

กอล หรืออาณาบริเวณทวีปของยุโรปซึ่งรวมถึงประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน ลักเซมบูร์ก เบลเยี่ยม และสเปน เคยปรากฏการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณมากมายในลักษณะของชนเผ่า ซึ่งภายหลังจะกลายมาเป็นรากฐานของประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน

แผ่นที่การกระจายตัวของเคลท์ในช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาล Gaul คือ Galli ที่ปรากฏในภาพ
ดัดแปลงมาจาก Francisco Villar’s Los Indoeuropeos y los origenes de Europa, Italian version, p. 446 โดย Castagna

บริเวณพื้นที่ของกอล (Gaul) ในราว 300-50 ปีก่อนคริสตกาลจัดอยู่ในช่วงยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ (Protohistory) คำว่า Gaul นี้เป็นคำที่ชาวโรมันใช้เรียกพื้นที่ทางยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะทางตอนกลางของประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน ส่วนในภาษาของชาติพันธุ์แถบนี้เรียกตัวเองว่าชาวเคลท์ (Celts) มีภาษาที่แตกต่างและเป็นเครือญาติกัน เราอาจแบ่งกลุ่มวัฒนธรรมของชาวเคลท์ตามปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลต่อรูปแบบวัฒนธรรมในท้องถิ่นได้เป็น

  • 1.กลุ่มเคลท์บนภาคพื้นทวีป (Continental) คือบริเวณกอลทั้งหมดครอบคลุมไปถึงตอนบนของประเทศฝรั่งเศสคือพื้นที่ของประเทศเบลเยี่ยมและทางตะวันออกไปทางลุ่มแม่น้ำไรน์ในประเทศเยอรมัน
  • 2. กลุ่มเคลท์ในหมู่เกาะ (Insular) คือกลุ่มวัฒนธรรมบริเวณในประเทศเครือสหราชอาณาจักรคือ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งในกลุ่มหมู่เกาะนี้จะยังคงรักษารูปแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมก่อนโรมันได้มากกว่าภาคพื้นทวีป

กลุ่มเคลท์บนภาคพื้นทวีปเป็นกลุ่มที่พบร่องรอยหลักฐานเป็นชื่อบ้านนามเมืองหรือบุคคลจากบันทึกของนักประวัติศาสตร์ยุคคลาสสิก บนเหรียญเงิน และจารึกจำนวนหนึ่ง วัฒนธรรมของเคลท์หรือกอลนั้นปรากฏการตั้งถิ่นฐานชุมชนตั้งแต่ราวช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล ในระยะเริ่มต้นยังไม่ปรากฏตัวอักษรหรือจารึกที่แพร่หลายมากเพียงพออธิบายลักษณะทางวัฒนธรรมได้ จึงทำให้การศึกษาเรื่องของกอลนั้นจำเป็นต้องอาศัยงานโบราณคดีมาช่วยสร้างภาพอดีต จนกระทั่งถึงช่วงรอยต่อก่อนการเข้ามาปกครองโดยโรมันจึงเริ่มพบหลักฐานประเภทจารึกเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงต้องอาศัยหลักฐานบันทึกของชาวต่างชาติมาช่วยอธิบายสภาพสังคมและวัฒนธรรมอยู่ดี

ตัวอย่างแผนภาพพัฒนาการของภาษากลุ่มเคลติก
(ที่มา : Cunliffe, B. (1999). The ancient Celts (p. 23). London: Penguin.)

จากหลักฐานด้านจารึกดังกล่าวทำให้แบ่งภาษาของเคลท์กลุ่มนี้ได้เป็นประเภทย่อยอีก 3-4 ภาษา โดยสำหรับพื้นที่กอลซึ่งอยู่ในประเทศฝรั่งเศสปัจจุบันนั้นใช้ภาษากลุ่มกอล (Gaulish language) แพร่หลายอย่างมากในช่วงราว 100 ปีก่อนคริสตกาล มีการจารึกจำนวนนับร้อยชิ้นประกอบ นักภาษาศาสตร์สามารถแบ่งพัฒนาการภาษาย่อยได้อีกหลายสาย บางแหล่งสอดคล้องกับสิ่งที่จูเลียส ซีซาร์บันทึกถึงกอลว่าแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามการตั้งถิ่นฐานและวัฒนธรรมภาษา นั่นคือ

  1. เบลแจ (Belgae) หรือในยุคของซีซาร์คือ เบลจิก้า (Belgica)
  2. แอควิเทเนีย (Aquitania)
  3. กอล (Gaul) ที่ซีซาร์ใช้คำว่า เคลติก้า (Celtica)
แผนที่กอลพร้อมชื่อชนเผ่าและเมืองในช่วง 54 ปีก่อนคริสตกาล ระยะสมัยของจูเลียส ซีซาร์
Map by Feitscherg on Worldhistory.org (CC BY-SA)

สำหรับกลุ่มเบลแจและแอควิเทเนีบนั้นทั้งสองพูดภาษาในกลุ่มที่เรียกว่า Celts แต่ส่วนที่ 3. กอล (Gauls) นั้นมีการพูดภาษาที่ต่างไปจาก 2 กลุ่มแรกและยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างด้วย และเป็นสิ่งที่เราอาจไม่คุ้นเมื่อพิจารณาด้วยบริบทของปัจจุบันที่ภาษามีความเป็นกลุ่มก้อนที่พัฒนามาจากระบบภาษาละตินของโรม

หากจะแบ่งกลุ่มวัฒนธรรมตามการศึกษาทางโบราณคดีนั้น มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีที่มีอายุในช่วงยุคสำริดและยุคเหล็ก มักพบเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีแหล่งโบราณคดีอันเป็นอัตลักษณ์เรียกว่า “อ็อปปิดูง (Oppidum) หรือ ป้อมเนินเขา (Hillfort) เทคโนโลยีการผลิตโลหะพัฒนามาเป็นการถลุงเหล็ก โบราณวัตถุที่พบมีความหลากหลายมากขึ้น เช่นอาวุธโลหะทั้งดาบ หอก และโล่ นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ได้แก่ เข็มกลัด (Fibulae) หัวหรือห่วงเข็มขัด (Belt clasps) ใบมีด ภาชนะสำริด ตะกรันเหล็กและชิ้นส่วนกงล้อ

ระบบการปกครองของกลุ่มชนต่างๆ ในพื้นที่แบ่งออกเป็นกลุ่มชนชั้นผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง โดยชนชั้นปกครองประกอบด้วยชนชั้นสูง (Nobles) และดรูอิด (Druids) หรือผู้นำทางศาสนา ร่วมกันบริหารจัดการชุมชนร่วมกัน กลุ่มชนชั้นสูงคือพวกนักรบซึ่งสะสมอำนาจด้วยชาติกำเนิด ทรัพย์สิน และผู้สวามิภักดิ์ ส่วนดรูอิดนั้นมีอิทธิพลมากขึ้นตามภูมิปัญญา ความเข้มข้นของศรัทธาและความสามารถในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและยุติข้อพิพาทต่างๆ

นักโบราณคดียังค้นพบถึงพัฒนาการของการสั่งสมอำนาจของกลุ่มคนดังกล่าวได้จากหลักฐานที่พบจากสุสานซึ่งมีการวางเครื่องอุทิศแก่ผู้ตายที่สะท้อนถึงบทบาทและนัยยะทางสังคมของเจ้าของ ทั้งสุสานของชนชั้นปกครองกับครูอิดต่างมีธรรมเนียมเฉพาะในการเลือกสิ่งของที่ฝังร่วมด้วยเสมอ

อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมของกอลนั้นยกระดับมาจากชุมชนก่อนประวัติศาสตร์เดิมและค่อยๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นโครงสร้างสังคมที่ซับซ้อนภายหลัง โดยในช่วงระยะ 300 ปีก่อนคริสตกาล การขยายตัวของชุมชนสามารถมองเห็นได้จากร่องรอยสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะป้อมปราการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และความชำนาญในการผลิตเครื่องมือเหล็กและอาวุธ

ภาชนะดินเผาโลหะขนาดใหญ่ พบจากสุสานที่ VIX

รูปแบบของวัฒนธรรมกอลนั้นส่วนมากสะท้อนผ่านพิธีกรรมการฝังศพกับบันทึกจากต่างชาติโดยเฉพาะบันทึกของชาวกรีก-โรมัน ซึ่งมักฉายภาพความเป็นชนเผ่าอนารยชนโดยเปรียบเทียบกับความซับซ้อนทางด้านสังคมของชาวโรมัน ทำให้การเข้าใจวัฒนธรรมของกอลมีความจำเป็นต้องนำรากฐานสังคมของกรีก-โรมันวางไว้ข้างหนึ่งแล้วจึงกลับมาพิจารณาตัวข้อเท็จจริงที่นำเสนอผ่านเอกสารชั้นต้น

การพิจารณาจากรูปแบบการฝังศพทำให้เรามองเห็นว่าชาวกอลนั้นมีโครงสร้างทางด้านสังคมที่อาจไม่หลากหลายนัก แต่ให้ความสำคัญกับชนชั้นนักรบค่อนข้างมาก โดยมักจะมีการตกแต่งหลุมฝังศพด้วยเครื่องอุทิศที่หรูหรา ประกอบด้วยเกวียนหรือรถศึก ภาชนะดินเผา ภาชนะโลหะที่มีความประณีตเพื่อแสดงถึงสถานะที่สูงส่งของเจ้าของ

เทคโนโลยีของกอลนั้นปรากฏว่ามีพัฒนาการในการใช้พาหนะซึ่งเป็นกงล้อเพื่อทุนน้ำหนักและความรวดเร็วในการเคลื่อนย้าย พาหนะของวัฒนธรรมนี้มีทั้งรูปแบบ 2 ล้อ และ 4 ล้อ หน้าที่การใช้งานมีตั้งแต่การใช้เป็นรถศึกในการสงครามและยังเพื่อการขนย้ายสินค้าหรือผลผลิตต่างๆ  

ภาพจำลองสภาพหลุมฝังศพยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ที่ Vix
Original image by Karsten Wentnik. Uploaded by Jeffrey King. CC BY NC-SA

สังคมของชาวกอลเป็นการตั้งถิ่นฐานถาวร มีการเพาะปลูกพืชพันธุ์ตามฤดูกาล มีบันทึกกล่าวถึงอาหารของชาวกอลซึ่งไม่มีความหลากหลายนัก เช่น นม ชีส และเนื้อสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น ที่อยู่อาศัยสร้างด้วยไม้อย่างคำนึงถึงเพียงการต้านทานความร้อนและความหนาวเย็นเพียงเท่านั้น เนื่องจากไม่ได้มีพัฒนาการทางด้านสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยีที่มากไปกว่าการถลุงโลหะ การสงครามจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการช่วงชิงเอามรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนอื่นๆ มาเป็นสมบัติของตนเอง

นักโบราณคดีได้ทำการจำแนกกลุ่มวัฒนธรรมจากหลักฐานที่พบได้เป็นกลุ่มวัฒนธรรมฮัลล์ชตัทท์ (Hallstatt) ซึ่งพบหลุมฝังศพที่มีทั้งเครื่องอุทิศต่างๆ ผลิตจากโลหะสำริด (Bronze) แพร่กระจายอยู่ในพื้นที่ยุโรปตะวันตกนี้ในช่วงราว 600 ปีก่อนคริสตกาล และวัฒนธรรมลาแตน (La Tène) ที่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีในการถลุงเหล็กอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งลักษณะของชุมชนสำคัญเหล่านี้จะมานำเสนอในหัวข้อต่อไปในอนาคต

References :

  • Bousquet, A. (2018). The World of the Gauls:Foundation(s) of a Celtic Philosophy.
  • Cunliffe, B. (1999). The ancient Celts. London: Penguin.
  • Gaius Julius Caesar. (1982).The Conquest of Gaul. Trans. S. A. Handford. New York: Penguin
  • Koch, J., & Minard, A. (2012). The Celts: History, Life, and Culture. Santa Barbara: ABC-CLIO, LLC.