ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกเมินจากแวดวงวิชาการทั้งที่เคยเป็นผู้ค้นพบอันยิ่งใหญ่ให้กับวงการศึกษาอดีตยุคไดโนเสาร์และเพิ่งได้รับการพูดถึงหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว เรามารู้จักกับ แมรี่ แอนนิ่ง เด็กสาวบ้านนอกผู้เป็นนักล่าฟอสซิล
ณ ชายหาดไลม์ รีจิส (Lyme Regis) ในยุคเริ่มต้นความสนใจด้านโลกอดีตของชาวอังกฤษ เด็กผู้หญิงอายุ 12 ปีที่ไม่เคยมีการศึกษาเฉพาะทางได้ค้นพบกะโหลกของสัตว์โลกประหลาดที่มีอายุ 251 ล้านปี มันคือ “อิกทิโอซอรัส” (Ichthyosaur) นั่นคือจุดเริ่มต้นของการค้นพบอันยิ่งใหญ่ในวงการบรรพชีวินวิทยา (Paleontology) ขณะนั้น
Paleontology (บรรพชีวินวิทยา)
ศาสตร์ของการศึกษาซากดึกดำบรรพ์เพื่อเข้าใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณ งานที่คุ้นเคยและสังเกตเห็นง่ายคือการขุดค้นซากฟอสซิลไดโนเสาร์หรือสัตว์บรรพกาลในยุคก่อนการกำเนิดของมนุษย์ เป็นงานที่มีความเก่าแก่กว่างานโบราณคดี (Archaeology)

ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของ the Natural History Museum, London.
แมรี่ แอนนิ่ง (Mary Anning) เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1799 บิดา-มารดามีชื่อว่า Richard Anning และ Mary Moore ครอบครัวของแมรี่อาศัยอยู่ในเมืองชายทะเลที่ชื่อว่าไลม์ รีจีสในดอร์เซ็ต (Dorset) ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ ด้วยฐานะที่ค่อนข้างยากจน พ่อที่ทำงานเป็นช่างไม้มีอาชีพเสริมคือการค้นหาฟอสซิลโบราณจากชายฝั่งไลม์ รีจิสเพื่อนำไปขายให้นักสะสม ทำให้แมรี่และพี่ชายอย่างโจเซฟได้เรียนรู้เทคนิคของการค้นหาซากโบราณจากบิดา
ฟอสซิลที่ถูกค้นพบจากชายหาดที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในแวดวงนักล่าฟอสซิลว่า “ชายฝั่งจูแรสสิก” (Jurassic coast) กลายเป็นตัวทำรายได้เสริมให้แก่ชุมชน ชาวบ้านมักจะแวะเวียนมาเดินตามชายหาดที่มีหน้าผาหินขนาบอยู่ และตามหินเหล่านี้เองที่มักพบซากฟอสซิลของสัตว์โลกล้านปี
ข้อมูลธรณีภาคระบุว่าแต่เดิมบริเวณหาดไลม์ รีจิสเคยเป็นก้นทะเลยุคจูแรสสิก มีสิ่งมีชีวิตยุคโบราณมากมายอาศัยอยู่ เมื่อน้ำทะเลค่อยๆ ลดระดับลง ซากศพของสิ่งมีชีวิตที่ทับถมบนพื้นทะเลกลายเป็นตะกอนหินจึงเผยขึ้นอย่างช้าๆ แรงคลื่นทะเลกัดเซาะแนวหินจนกลายเป็นหน้าผาสูง และตามผาหินเหล่านี้เองที่มักจะพบฟอสซิลโบราณแทรกตัวอยู่
แมรี่และพี่ชายได้ซึมซับเทคนิคในการเสาะหาฟอสซิลเหล่านี้จากริชาร์ดผู้เป็นพ่อ บิดาของเด็กๆ คอยขายฟอสซิลที่พบให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเสมือนเป็นของที่ระลึก จวบจนกระทั่งเมื่อริชาร์ด แอนนิ่งถึงแก่กรรม กิจการดังกล่าวยังสืบทอดกันอยู่ในมือลูกๆ
เนื่องจากไม่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบ แมรี่อาศัยค้นคว้าเพิ่มเติมและเรียนรู้เรื่องของบรรพชีวินวิทยาเท่าที่จะหาได้จากห้องสมุด เธออ่านรายงานวิจัยและยังฝึกวาดภาพร่างของโครงกระดูกตามแบบที่พบ เรียกได้ว่าถึงจะเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้รับการศึกษาแถมยังยากจน แมรี่ก็ยังใฝ่รู้และมีพรสวรรค์ในด้านนี้อย่างหาตัวจับยาก
การค้นพบใหญ่ครั้งแรกของแมรี่ แอนนิ่ง
เมื่อตอนที่แมรี่อายุ 12 ปีและออกตามหาซากฟอสซิลตามชายหาดพร้อมกับพี่ชาย เด็กทั้งสองได้พบกับกะโหลกศีรษะขนาดใหญ่ ตอนแรกทั้งสองคิดว่าอาจเป็นเพียงกะโหลกของจระเข้โบราณ แต่จริงๆ แล้วมันคือสัตว์เลื้อยคลานที่ได้รับการขานนามว่า อิกทิโอซอรัส (Ichthyosaur) มาจากการผสมคำว่า “ปลา” กับ “กิ้งก่า” ด้วยลักษณะของมันที่ดูเหมือนกิ้งก่าแต่ก็อาศัยอยู่ในน้ำ การค้นพบของแมรี่กับโจเซฟครั้งนี้เป็นหนแรกของการพบกะโหลกที่สมบูรณ์ของสัตว์ชนิดนี้

แมรี่กับโจเซฟใช้เวลาเป็นเดือนในการขุดเจ้ากะโหลกนี้ขึ้นมาและขายออกไปในราคาที่มากพอให้ทั้งครอบครัวกินอิ่มไปครึ่งปี แต่ไม่เคยมีใครให้เครดิตในการค้นพบครั้งนี้ แต่ถึงจะมองว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการค้นพบอิกทิโอซอรัส ทว่ามันเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบกะโหลกที่สมบูรณ์อันประกอบด้วยจงอยปากยาวและเบ้าตาขนาดใหญ่
การค้นพบอื่นๆ ที่ตามมา
ขณะอายุ 24 ปีในค.ศ.1823 แมรี่ได้ค้นพบสัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยในน้ำอย่างเพลสิโอซอรัส (Plesiosaurus)โดยพบในสภาพที่เรียกว่าเกือบครบสมบูรณ์ทุกอย่าง ตั้งแต่กะโหลก ลำคอยาว และครีบหาง 4 ครีบ ฟอสซิลดังกล่าวถูกขายออกไปและนำไปเป็นข้อมูลเขียนรายงานวิชาการอย่างครึกโครมในขณะที่แมรี่ไม่ได้รับเครดิตใดๆ จากมันเลย


© 2022 Paleontological Research Institution
ในช่วงระยะเวลานี้แมรี่ แอนนิ่งเริ่มรวบรวมเงินทุนเพื่อเปิดส่วนหนึ่งของบ้านเป็นร้านขายของที่ระลึก ซึ่งสินค้านั้นก็ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดเท่าไรนัก นั่นคือฟอสซิลต่างๆ ที่เธอและครอบครัวเสาะหาและรวบรวมมาจากชายหาดนั่นเอง
จากกิ้งก่าน้ำสู่นกยักษ์เทอโรซอร์ (Pterosaur)
ในปีค.ศ.1828 แมรี่ได้ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์มีปีกครั้งแรกในอังกฤษ “เทอโรซอร์” จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานมีปีกขนาดใหญ่ การค้นพบครั้งนี้มีวิลเลี่ยม บัคแลนด์ (William Buckland) นักธรณีวิทยาได้เข้ามาทำการศึกษาและเผยแพ่งานวิจัยออกไปในวงวิชาการ และนี่คือครั้งแรกที่มีคนเริ่มให้เครดิตแมรี่ในการค้นพบเทอโรซอร์และยังกล่าวถึงการค้นพบฟอสซิลอื่นๆ ที่ไม่เคยถูกให้เดรดิตด้วย
“ในชั้นตะกอนหินปูนและหินดินดาน (ฺBlue lias) ของไรม์ รีจิสที่มีการพบซากมากมายของอิกทิโอซอรัสและเพลซิโอซอรัส ถูกค้นพบโดยนางสาวแมรี่ แอนนิ่งที่ตอนนี้เพิ่งค้นพบโครงกระดูกใหม่ของสายพันธุ์สัตว์เลื้อยคลานหายากชวนพิศวงอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน เจ้าเทอโรแดคทิล”
— William Buckland (1829) “On the discovery of a new species of Pterodactyle in the Lias of Lyme Regis
ผ่านมาในปี 1830 แมรี่ก็พบฟอสซิลชวนตะลึงที่ค่อนข้างสมบูรณ์จนทำราคาสูงถึง 200 กินี หรือเทียบเป็นค่าเงินในปีค.ศ.2020 คือประมาณกว่า 24,000 ปอนด์ ($33,000) ซากที่พบเป็นของสัตว์เลื้อยคลานชื่อว่า Plesiosaurus macrocephalus
กว่าจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใดๆ แมรี่ แอนนิ่งก็มีอายุ 39 ปีแล้ว ในค.ศ.1838 องค์กรเพื่อการพัฒนางานวิทยาศาสตร์แห่งอังกฤษ (British Association for the Advancement of Science) จึงเริ่มให้เบี้ยสนับสนุนรายปี และเพียงก่อนจะเสียชีวิต แมรี่จึงได้รับเลือกเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์คนแรกของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นดอร์เซ็ต (Dorset County Museum) ปีค.ศ.1846
แมรี่ แอนนิ่งเสียชีวิตเมื่ออายุ 47 ปีด้วยโรคมะเร็งเต้านมในปี 1847 การตายของเธอถูกจารึกในวารสารสมาคมธรณีวิทยาที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้สตรีเข้ามามีบทบาทใดๆ จนกระทั่งต้องผ่านไปถึงครึ่งทศวรรษ
ปัจจุบันบ้านแอนนิ่งเสื่อมโทรมไปมากและจึงถูกปรับปรุงให้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ไลม์ รีจิส ส่วนร่างของแมรี่หลับสนิทอยู่ในสุสานของSt. Michael’s Parish Church โบสถ์ที่มีงานกระจกสีด้านหนึ่งอุทิศถึงความรอบรู้และคุณูปการที่แมรี่มอบให้กับชุมชน
(Kate Winslet plays Anning in the recent film เรื่องราวของแมรี่ แอนนิ่งเคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อว่า Ammonite รับบทโดยKate Winslet ในเรื่องราวผูกโยงแต่งเติมความสัมพันธ์แบบเลสเบี้ยนให้เธอมีความรักกับนักธรณีวิทยาสาว Charlotte Murchisonin ทั้งสองตัวละครคือบุคคลที่มีจริง แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้อยู่บนหลักฐานใดๆ เลย
References:
- Kaufman, r. (February 23, 2021). Mary Anning: Life and discoveries of the first female paleontologist. Retrieved 28 March 2022, from https://www.livescience.com/who-was-mary-anning.html
- Mary Anning – Fossil hunter. Retrieved 28 March 2022, from https://www.bbc.co.uk/bitesize/topics/zd8fv9q/articles/zf6vb82
- MARY ANNING. (2022). Retrieved 28 March 2022, from https://www.museumoftheearth.org/daring-to-dig/bio/anning
- Newman, C. (2021). The forgotten fossil hunter who transformed Britain’s Jurassic Coast. Retrieved 28 March 2022, from https://www.nationalgeographic.com/travel/article/mary-anning-forgotten-fossil-hunter-british-jurassic-coast
- Torrens, H. (1995). Mary Anning (1799–1847) of Lyme; ‘the greatest fossilist the world ever knew’. The British Journal for the History of Science, 28(3), 257-284. doi:10.1017/S0007087400033161