เป็นกระแสค่อนข้างมากกับภาพยนตร์บอลลีวู้ดเรื่อง “Gangubai Kathiawadi” ที่ลงไปในแพลตฟอร์ม Netflix และกลายเป็นหนังที่คนไทยหลายคนชื่นชม อาจจะต่างออกไปสักหน่อยถ้าเรามองกลับไปที่อินเดีย โดยเฉพาะในชุมชนกามธิปุระ เรื่องคังคุไบของ Sanjay Leela Bhansali อาจจะเป็น “โซ่ตรวนเหนือโซ่ตรวน” ที่ล่ามจิตใจและร่างกายของผู้หญิงอินเดีย
ซันเจย์ ลีลา ภันสลี (Sanjay Leela Bhansali) เป็นผู้กำกับหนังอินเดียหรือในแวดวงที่มีชื่อเรียกเฉพาะอย่าง Bollywood ที่เคยฝากผลงานเด่นๆ อย่าง Devdas, Ram-Leela และ Padmaavat ซึ่งมีองค์ประกอบกับเรื่องราวที่เปี่ยมด้วยจินตศิลป์ส่งผลให้ได้รับรางวัลและคำชมอย่างมาก ในส่วนของเราเองก็ยังคงชื่นชอบผลงานต่างๆ ของเขาในด้านบันเทิงคดีมิใช่ “ชีวประวัติ“
กระนั้นเองภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นกระแสในทางลบตั้งแต่หนังยังไม่มีโอกาสฉายเสียด้วยซ้ำ แม้จะได้ Alia Bhatt มาแสดงนำรับบทคังคุไบวัยสาวสวย ทว่าเรื่องดราม่าที่พากันไปถึงโรงถึงศาลบวกกับปัญหาการระบาดของ Covid-19 ทำให้หนังต้องเลื่อนฉายยาวเป็นเวลาเกือบ 2 ปี

“เธอไม่เคยแต่งงาน ชอบเครื่องประดับทอง ไปไหนมาไหนด้วยรถเบนท์ลี่ ชอบดื่มแอลกอฮอล์และชื่นชอบการพนัน” นี่คือคำพูดจากแบบบิ (Babbi) หนึ่งในบรรดาลูกๆ ที่คังคุไบ ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบกล่าวถึงแม่ทูนหัวในความทรงจำ
หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากงานเขียนกึ่งอัตชีวประวัติของนักเรียกร้องเพื่อสิทธิพลเมืองของคังคุไบ กาฐิยาวาฑี (Gangubai Kathiawadi) หรือชื่อเดิม คังคุไบ หรชีวนทาส (Gangubai Harjeevandas) คังคุไบคือนักต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและสิทธิของผู้ให้บริการทางเพศ (Sex workers) ในประเทศอินเดียช่วงทศวรรษ 1950s-1960s จนกระทั่งเสียชีวิตในทศวรรษต่อมา
กำเนิดและการเปลี่ยนแปลงบทบาทสังคมของกามธิปุระ

กามธิปุระอยู่ทางตอนใต้ของมุมไบ โดยห่างจากสถานีกลางรถไฟมุมไบประมาณ 2 กิโลเมตร แรกเริ่มเดิมทีชื่อของกามธิปุระไม่ได้ข้องเกี่ยวกับ “กามา” แต่เป็นพื้นที่ตั้งชุมชนของแรงงานอพยพที่เรียกว่า “กามาธิส” (Kamathis) ซึ่งหลั่งไหลกันเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่อย่างมุมไบและเกิดเป็นชุมชนขึ้น ตอนต้นก่อตั้งปีค.ศ.1795 ในชื่อ “Lal Bazaar” ก่อนที่จะถูกเรียกกันตามที่รู้จักกันว่า “กามธิปุระ” ชื่อของกามธิปุระจึงเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนมากกว่าอัตลักษณ์ของอาชีพค้ากามที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยไม่ใช่ทุกส่วนของกามธิปุระจะถูกเรียกว่าเป็นย่านโคมแดง เดิมซ่องโสเภณีในกามธิปุระอยู่บริเวณถนนฟอราส (Foras Road) อันเป็นพื้นที่ใกล้เคียง
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กามธิปุระก็ได้บทบาทใหม่นั่นคือการเป็นย่านโคมแดงอันประกอบด้วย “โกธา” (Kotha) หรือซ่องจำนวนมาก เกิดการขยายตัวเป็นย่านเริงรมย์ของแรงงานข้ามชาติ ไม่ได้มีเพียงซ่องของโสเภณีอินเดีย แต่มันเริ่มต้นด้วยโสเภณีข้ามชาติคนขาวที่เข้ามาเริ่มกิจการเพื่อตอบสนองรสนิยมของเจ้าอาณานิคมชาวตะวันตกผู้ปกครองอินเดียในขณะนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวอัตลักษณ์ของการเป็นนิคมแรงงานของกามธิปุระถูกแปรเปลี่ยนไปสู่ตลาดค้ากามอันเนื่องมาด้วยการอพยพเข้ามาของหญิงจากยุโรปและญี่ปุ่น โสเภณียุโรปนี้มีย่านถนนเฉพาะตัวที่ชื่อว่า “ซาเฟ็ด กาลี” (Safed Gali) แปลว่า “ตรอกสีขาว” บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ทางสีผิวของสาวๆ ปัจจุบันตรอกดังกล่าวถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Cursetji Shuklaji และไม่หลงเหลือกิจการค้าประเวณีแล้ว
พื้นที่โซนโคมแดงของกามธิปุระจำกัดอยู่ในพื้นที่ 14 ตรอก โดยแต่ละตรอกจะมีห้องแถวจำนวนจำกัดขนาดเล็กแบ่งออกไว้เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งบริการลูกค้า การอยู่อาศัยค่อนข้างแออัดคับแคบ โสเภณีที่หลั่งไหลเข้ามาหากินในกามธิปุระต้องเบียดอัดกันอยู่ในรูหนู บางคนอาศัยเดินทางมาหางานและรับงานในพื้นที่ ก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านซึ่งอยู่นอกเขตออกไป
แม้ว่าจะยังมีส่วนของสลัมที่กำลังถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นย่านธุรกิจ แต่กามธิปุระปัจจุบันค่อนข้างที่จะมีข้อแตกต่างไปจากยุคสมัยของคังคุไบในภาพยนตร์ ตอนนี้มีอาคารสูงเข้ามาแทนที่ตึกแถวบางแห่ง มีผู้อยู่อาศัยหลากหลายและหมายรวมถึงผู้หญิงที่ไม่ได้ประกอบอาชีพโสเภณีเข้ามาตั้งรกรากกับสร้างกิจการอยู่ด้วย
นามเดิมคังคุไบ มาจากกาฐิยาวาร

คังคุไบเกิดที่กาฐิยาวาร (Kathiawadi) ซึ่งเป็นคาบสมุทรในพื้นที่ของรัฐคุชราต (Gujrat) ประเทศอินเดีย มีนามเดิมว่า “คังคุไบ หรชีวนทาส” เธอเกิดในตระกูลของนักกฏหมาย บิดาประกอบอาชีพทนาย ครอบครัวให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่คังคุไบเสมอ ทว่าความฝันของเธอกลับไม่ยึดโยงอยู่กับงานเอกสาร แต่เป็นความรักที่อยากจะเป็นนักแสดงในหนังบอลลีวู้ด

ประวัติของเธอได้รับการรวบรวมและเขียนขึ้นด้วยฝีมือนักเขียนนามว่า S. Hussain Zaidi ในชื่อหนังสือว่า “ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ” (Mafia Queens of Mumbai) ตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ.2011 เรื่องราวในช่วงต้นของหนังสือเล่มนี้ได้หลายเป็นแหล่งข้อมูลในการสรรสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้โดยมีการดัดแปลงข้อมูลบางส่วน แต่ส่วนที่เป็นโครงเรื่องหลักยังคงเดิม นั่นคือเธอถูกบังคับให้ก้าวเข้าสู่การค้าประเวณีตั้งแต่อายุยังน้อยด้วยฝีมือคนรักของตนเอง
ตอนอายุ 16 ปี คังคุไบตกหลุมรักรามนิก นักบัญชีในออฟฟิสของพ่อ ทั้งสองได้แอบหนีตามกันพร้อมทั้งหอบหิ้วสมบัติของครอบครัวเพื่อเดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในมุมไบ ที่ที่รามนิกสัญญากับเธอว่า “จะมีอนาคตที่ดีกว่า”
หลังจากแอบแต่งงานกันและตั้งรกรากในมุมไบไม่นานพอจะให้เธอเริ่มต้นความฝัน เมื่อเงินหมด รามนิกสามีที่รักจึงได้หลอกเอาเธอไปขายให้ซ่องในกามธิปุระในราคาเพียง 500 รูปี (ส่วนในหนังเพิ่มเป็น 1000 รูปี)
เมื่อก้าวเข้าสู่เส้นทางสีเทา การดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดบวกกับพลังในการต่อสู้ของเธอทำให้คังคุไบมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับแวดวงอาชญากรรมด้วย จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องระหว่างคังคุไบกับมาเฟียใหญ่ชื่อว่า “คาริม ลาลา” (Karim Lala) หรือที่ในหนังเปลี่ยนเป็น “ราฮิม” ก็ไม่แตกต่างจากเรื่องในหนังสือคือการที่เธอถูกทำร้ายร่างกายและข่มขืนโดยเซากัต ลูกน้องที่ทำงานให้คาริม โดยเธอหาทางเข้าพบคาริม ลาลา มาเฟียชาวมุสลิมหรือที่เรียกกันว่า “ชาวปาทาน” เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเอง

ความกล้าหาญของคังคุไบทำให้คาริมทำพิธีราคี (Rakhi) ให้เธอผูกข้อไม้ข้อมือเพื่อรับคังคุไบเป็นน้องสาวของเขา คาริม ลาลาให้อำนาจน้องราคีของเขาในการดูแลเขตกามธิปุระ คังคุไบจึงเริ่มมีสถานะ “มาเฟียควีน” นับแต่จุดนั้น
การมีอำนาจของคังคุไบทำให้เธอเริ่มจัดระเบียบสาวๆ ในซ่องของกามธิปุระ โดยเธอมีคติว่าจะไม่ยอมให้ผู้หญิงที่ไม่ยินยอมหรือสมัครใจในการประกอบอาชีพค้าประเวณีต้องถูกจองจำในกามธิปุระ หากเธอพบว่าหญิงคนไหนถูกหลอกมาขายและพิสูจน์ได้ว่าเรื่องราวของเธอมีความสัตย์จริง คังคุไบก็จะปลดปล่อยหญิงคนนั้นให้เป็นอิสระ
ยิ่งเมื่อคังคุไบ หญิงแกร่งคนนี้ชนะการเลือกตั้ง “Bade-gharwali” ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในการปกครองพื้นที่เขตอันครอบคลุมกามธิปุระ ชัยชนะดังกล่าวทำให้เธอยิ่งมีอำนาจมากขึ้นไปอีก เธอใช้ชีวิตและอำนาจต่อสู้เพื่อสิทธิของโสเภณี รวมถึงเด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาสในกามธิปุระ ยังเป็นผู้เรียกร้องต่อต้านการกวาดล้างซ่องของกามธิปุระ ส่งผลให้อาชีพโสเภณีซึ่งยังถูกกฏหมายในอินเดียไม่ถูกกวาดล้าง แต่นำพามาซึ่งการจัดการเพื่อสวัสดิการชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับผู้หญิงที่เลือกประกอบอาชีพนี้
คังคุไบไม่ได้มีลูกด้วยการให้กำเนิด แต่เธอได้รับอุปการะเด็กทั้งหญิงชายหลายคนมาเป็นบุตรบุญธรรม การอุทิศตนเพื่อสตรีและเด็กกำพร้า ปกป้องโสเภณีจากการถูกล่อลวงมาค้าประเวณี ไปจนถึงช่วยปลดปล่อยหญิงสาวบางคนจากการถูกนำมาขายซ่อง ทำให้บางคนเรียกเธอว่า “คังคุมา” (Ganguma) หรือ “แม่คังคุ” รูปปั้นของคังคุไบยังตระหง่านอยู่ในกามธิปุระ และภาพของเธอก็ถูกประดับอยู่ในหลายซ่องเพื่อแสดงถึงความเคารพรัก
โสเภณีเป็นอาชีพถูกกฏหมายในอินเดีย

ปัจจุบันอาชีพโสเภณีไม่ถือว่ามีความผิดทางกฎหมายหากเป็นการประกอบกิจการในลักษณะปัจเจกและเป็นส่วนตัว ข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการค้าประเวณีปรากฏครั้งแรกๆ ในปีค.ศ.1956 จากกฎหมายพระราชบัญญัติการป้องกันการค้ามนุษย์ ที่ชื่อ Immoral Traffic (Prevention) Act, 1956 (ITPA) ซึ่งดัดแปลงมาจากประมวลกฎหมายเก่าเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยระบุว่า “การค้าประเวณีคือการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศหรือการกดขี่ทางเพศต่อสตรีเพื่อทางการค้า โสเภณีนั้นหมายถึงหญิงผู้รับผลประโยชน์จากการค้านั้น”
ในบัญญัติดังกล่าวยังระบุถึงข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับรูปแบบของการค้าประเวณีว่าสิ่งใดได้รับการยอมรับ สิ่งใดถือเป็นอาชญากรรม สิ่งที่ถือว่าถูกกฎหมายคือการประกอบกิจการด้วยตนเอง หญิงผู้รับงานบริการทางเพศสามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมายในพื้นที่ส่วนตัว ส่วนที่ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางกฏหมายคือ
- การเป็นเจ้าของซ่องโสเภณีหรือแม่เล้า
- การประกอบอาชีพแมงดาจัดการบริการทางเพศ
- การออกรับงานชักชวนซื้อบริการในที่สาธารณะ
- การเปิดบริการค้าประเวณีในโรงแรม
- การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้เกิดการค้าประเวณี
- การบริหารจัดการให้เกิดกิจกรรมทางเพศกับลูกค้า
กล่าวโดยสรุปคือหากหญิงคนหนึ่งเลือกหารายได้ด้วยการค้าประเวณีก็สามารถกระทำได้ด้วยตนเองในที่ลับตาคน แต่การกระทำแบบแม่เล้า-แมงดาถือว่าผิด พ.ร.บ.ดังกล่าวยังครอบคลุมความผิดไปถึงตัวลูกค้าผู้ซื้อบริการทางเพศแบบไม่ถูกกฏหมายด้วย
นอกจากนี้ยังเคยมีการเสนอแก้ไขเพื่ออัพเดตข้อกฎหมายให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอยู่เป็นระยะ โดยมีทั้งการระบุปรับแก้โทษจากการละเมิดกฎหมาย การระบุถึงอาณาเขตห้ามค้าประเวณีภายในระยะ 200 หลาจากที่สาธารณะ การห้ามหญิงรับบริการเปิดเผยเบอร์โทรฯ ตามสาธารณะเป็นต้น
ถึงจะเป็นอาชีพถูกกฏหมายในแง่หนึ่ง ทว่าอาชญากรรมในลักษณะการค้ามนุษย์ก็ยังไม่หมดไปอย่างง่ายดายในอินเดีย การถูกล่อลวง กดขี่ หรือทำร้ายร่างกายยังคงเป็นอาชญากรรมที่หน่วยงานต่างๆ ควรเข้าไปจัดการดูแล
คังคุไบมีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อสถานะและการคงอยู่ของอาชีพโสเภณีด้วยมองว่าอาชีพค้าบริการนี้หากเป็นไปด้วยความสมัครใจ สร้างรายได้แก่ผู้หญิงที่ยินยอมประกอบกิจการ ก็ควรเป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองและยอมรับในกฎหมาย ไปจนถึงสิทธิพลเมือง สิทธิในการเข้าถึงการรักษาอย่างเดียวกับแรงงานประเภทอื่นๆ
ในงานกล่างสุนทรพจน์เพื่อสนับสนุนบทบาทสตรี คังคุไบยังเคยกล่าวเรียกร้องสิทธิและศักดิ์ศรีของโสเภณี โดยพูดถึงประโยชน์ของการมีอยู่ของย่านโคมแดงด้วยนิยามว่า “เพราะพวกเรา ความบริสุทธิ์ คุณธรรม ศีลธรรมของผู้หญิงทั่วไปจึงปลอดภัย” มากไปกว่านั้นยังระบุต่อไปมุมไบนั้นปลอดภัยขึ้นเมื่อยังมีกามธิปุระ
“ผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่ช่วยแบ่งเบาความต้องการทางร่างกายของผู้ชาย ก็คล้ายกับช่วยปกป้องพวกเธอจากการถูกโจมตี ผู้หญิงพวกนั้นต่างช่วยผลาญความป่าเถื่อนของผู้ชายเหล่านั้นได้ดีที่สุด”
จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่าทำไมคังคุไบถึงมองว่าอาชีพโสเภณีที่มีความเก่าแก่ที่สุดในโลกจึงยังคงต้องมีอยู่ และจะต้องอยู่อย่างได้รับการยอมรับจากสังคมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ การค้าประเวณีก็เป็นแรงงานอย่างหนึ่งที่ไม่ควรเป็นอาชญากรรม ในงานเดียวกันนั้นเธอยังส่งท้ายด้วยประโยคที่ได้รับเสียงตบมือชื่นชมจากผู้ร่วมงานว่า “เราต่างสร้างส้วมไว้ห้องนึงในบ้านเพื่อไม่ให้เราขับถ่ายในห้องอื่นๆ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมเราจึงควรมีเขตการค้าประเวณีตามเมืองต่างๆ”
ด้วยสุนทรพจน์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับคังคุไบอย่างมาก เหล่านักข่าวนักเขียนได้ให้ความสำคัญกับเธอนับแต่นั้น หนำซ้ำชื่อเสียงดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้เธอได้เข้าพบเหล่ารัฐมนตรีอินเดียขณะนั้นด้วย
เนื่องด้วยกรอบของเวลาที่ดำเนินไปพร้อมกัน เราคงไม่อาจปฏิเสธว่ามาเฟียควีนคนนี้มีผลต่อการทำให้โสเภณีเป็นอาชีพถูกกฏหมายในอินเดีย รวมถึงการพยายามทำให้กิจการนั้นมีความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้น การค้าประเวณีถูกกฏหมายทำให้อาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับแรงงานทางเพศเหล่านั้นประสบปัญหาด้านการถูกละเมิดทางร่างกายและจิตใจลดลงหรือมีความเป็นธรรมมากขึ้น ยังช่วยลดปัญหาการละเมิดทางเพศและโสเภณีเด็กด้วย
อย่างไรก็ตาม อาชญากรรมทางเพศต่อผู้หญิงก็ยังมีปรากฏอยู่เรื่อยๆ แม้จะมีความตระหนักถึงสิทธิสตรีและรณรงค์ต่อต้านการล่วงละเมิดต่อผู้หญิงมากขึ้น การแก้ปัญหาโดยตรงของการทำให้ถูกกฏหมายดูจะเอื้อไปในทางการจัดระเบียบภายในอุตสาหกรรม การเคารพศักดิ์ศรีมนุษย์ และลดการค้าประเวณีของเด็กมากกว่าการส่งผลกระทบทางตรงต่อสังคมอย่างที่ควร ยังมีผู้หญิงซึ่งเคยหรือยังประกอบอาชีพโสเภณีถูกตีตราจากสังคมหลงเหลืออยู่อย่างน่าเศร้า
ผู้หญิงจากกามธิปุระ : ตราบาปยากจะลบเลือน
มีผู้หญิงหลายคนถูกพาตัวมายังกามธิปุระต่างวาระ ต่างเหตุผล อย่างไรเสียหนึ่งในเหตุผลที่ยากจะหลงลืมคือการถูกนำมาเป็นผู้ให้บริการทางเพศ (Sex workers) ผู้หญิงเหล่านี้บางทีก็ไม่ใช่โสเภณีที่เริ่มอาชีพนี้ในกามธิปุระ บางครั้งก็เป็นการนำมาขายทอดให้ซ่องที่นี่
วิธีการล่อลวงแบบเดียวกับที่ปรากฏในหนังก็เป็นวิธีหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงในอินเดีย หญิงสาวหลายคนถูกหลอกเพื่อนำมาขายในลักษณะของขบวนการค้ามนุษย์ ธุรกิจดังกล่าวเคยเฟื่องฟูอยู่ยุคหนึ่งก่อนที่จะค่อยๆ ถูกกวาดล้างไปอย่างช้าๆ ด้วยเวลานับทศวรรษ

การสำรวจพื้นที่โดยนักสังคมสงเคราะห์ได้ข้อมูลว่าโสเภณีในกามธิปุระล้วนมีบาดแผลทางจิตใจที่ฝังรากลึกตลอดชีวิต เหยื่อของการค้ามนุษย์รายหนึ่งเริ่มใช้ชีวิตอันไม่ต่างจากขุมนรกตั้งแต่อายุเพียง 15 ปี และถึงตอนนี้เธอจะมีอิสระแล้ว ความทรงจำเลวร้ายเหล่านั้นยังคงหลอกหลอนสะท้อนจากประโยคของเธอที่ว่า
“ถึงดูภายนอกฉันจะเป็นอิสระ แต่อย่าเพิ่งคิดกันไปเอง คนเราต่างมีเส้นทางมากมายที่ตัดไปหานรก เราทุกคนล้วนถูกตีตรวน บางครั้งเราอาจมองเห็นโซ่ตรวนนั้นหรือบางคราวก็ไม่ปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด”
ดังเช่นเรื่องราวของ “ศกุนตลา” หญิงผู้ใช้กว่าค่อนชีวิตในกามธิปุระ ตอนนี้ศกุนตลาอายุ 55 ปี อาศัยอยู่ที่เมืองฐาเณ (Thane) รัฐมหาราษฏระ มีครอบครัวและสามารถสร้างอนาคตที่ดีมีการศึกษาให้ลูกได้ แม้จะไม่ได้ประกอบอาชีพโสเภณีแล้ว แต่นิยามความว่า “ผู้หญิงจากกามธิปุระ” ยังคงเป็นตราบาปติดตัวอยู่โดยที่เธอรู้สึกเจ็บปวดที่อดีตเหล่านั้นกลายเป็นมลทินไปถึงครอบครัว
การต่อสู้ของผู้หญิงกับองค์กรปรีรานา (Prerana)
ข้อมูลจากนักสังคมสงเคราะห์กล่าวถึงเสียงเรียกร้องของนักบริการทางเพศว่าพวกเขาต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะความช่วยเหลือด้านสุขภาพอนามัย จากข้อมูลซึ่งเก็บรวบรวมมาได้พบว่าพวกเธอต้องการเข้าถึงการรักษาที่มากกว่าการตรวจ HIV และแน่นอนว่าสิทธิในการเข้าถึงวัคซีนต่างๆ ดังเช่นไวรัสสำหรับ Covid-19 ที่ดีขึ้นด้วย
อีกหนึ่งองค์กรที่ต่อต้านการค้ามนุษย์ในมุมไบคือองค์กรอิสระเพื่อสังคมที่ชื่อว่าปรีรานา (Prerana NGO) โดยองค์กรดังกล่าวก่อตั้งมานับทศวรรษ ดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสตรีผู้ด้อยโอกาส เด็กกำพร้า และผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆ ผลงานเด่นของปรีรานาคือการเข้าพื้นที่กามธิปุระเพื่อรณรงค์ลดการตีตราแก่ผู้หญิงและเด็กจากกามธิปุระ ไปจนถึงการเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมการค้ามนุษย์และแรงงานเด็ก
คดีฟ้องร้องต่อการสะท้อนภาพกามธิปุระและคังคุไบ
ประเด็นความขัดแย้งและดราม่าของหนังเรื่องนี้ หากมองในมุมกฏหมายนั้นจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็น คือเรื่องของการสร้างมลทินซ้ำสำหรับผู้หญิงที่อาศัยในกามธิปุระกับปัญหาการแสดงความไม่เหมาะสมกับด้านอคติเชิงลบกับคังคุไบตัวจริง
เพียงไม่กี่วันหลังจากตัวอย่างหนังคังคุไบที่นำแสดงโดยเอเลีย บาตต์ถูกปล่อยออกสื่อ ครอบครัวของคังคุไบตัวจริง โดยเฉพาะ Babu Raoji Shah บุตรชายและหลานสาวของคังคุไบ Bharti ที่ออกอาการไม่ปลื้มกับภาพของแม่ที่ปรากฏในหนังซึ่งดูหยาบคาย ความไม่พอใจนั้นส่งผลให้ทางลูกๆ ตัดสินใจฟ้องร้องทีมผู้สร้างหนังเกี่ยวกับการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเมื่อปีที่แล้ว คดีความยังไม่สิ้นสุดแต่ทางศาลสูงยกคำร้องให้ระงับการฉายภาพยนตร์ลงไปก่อน คงเหลือการพิจารณาคดีในทางอื่นๆ
อีกประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กันคือการรวมตัวผู้หญิง 55 รายชื่อจากในย่านกามธิปุระเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลสูงมุมไบให้ทางผู้สร้างภาพยนตร์ทำการนำชื่อของกามธิปุระออกไปจากตัวหนัง เพราะการปรากฏชื่อกามธิปุระในฐานะย่านโคมแดงอาจขัดต่อภาพลักษณ์โดยรวมของกามธิปุระในปัจจุบัน ซ้ำยังอาจทำให้เกิดการเหมารวมตีตราผู้หญิงทุกคนในย่านดังกล่าวว่าเป็นโสเภณี นำพาความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล
เนื่องด้วยเหตุของชื่อ ทางสมาชิกสภาMLA ของมุมไบอย่างอามิน ปาเทล (Amin Patel) จึงได้แจ้งเตือนว่าหากทางผู้สร้างไม่ทำการระบุอย่างชัดเจนในตอนต้นของหนังเพื่อชี้แจงว่าผลงานนั้นไม่นับเป็นชีวประวัติ และไม่ได้หมายรวมว่ากามธิปุระเป็นย่านโคมแดง ทางสภาเองก็จะทำเรื่องฟ้องร้องในกรณีดังกล่าวด้วย
เรียกได้ว่าหนังเรื่องนี้ดราม่านอกจอไม่แพ้ในจอโดยแท้จริง ทว่าดราม่าเหล่านั้นพันเกี่ยวอยู่กับชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้หญิงในกามธิปุระและครอบครัว การต่อสู้ฟ้องร้องต่อเนื้อหาภาพยนตร์คล้ายจะสะท้อนกับการผลักดันต่อสู้ของคังคุไบที่เรียกร้องสิทธิ ค่าความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงความปลอดภัยของทุกคนในกามธิปุระ เพียงแต่ทั้ง 2 กรณีอยู่กันต่างกรรม ต่างวาระ ต่างมุมมอง และต่างบทบาทเท่านั้นเอง

References :
- “As Alia Bhatt film releases, here’s the real story of Gangubai Kathiawadi”.(February 25, 2022).The Indian Express.Retrieved 15 May 2022, from https://indianexpress.com/article/entertainment/bollywood/gangubai-kathiawadi-real-story-hussain-zaidi-mafia-queen-of-mumbai-7787693/
- Banerjee,P.(n.d.).”Beyond brothels: How real estate and online sites are changing red light areas” in INDIA NEWS.Hindustan Times.Retrieved 14 May 2022, from https://www.hindustantimes.com/india-news/beyond-brothels-how-real-estate-pressures-and-online-sites-offering-sex-are-changing-red-light-areas/story-rYIPA8CF4M8Hp1tdzbuV0H.html
- Mohanty,A.C.(April 15, 2021).”Is Prostitution Legal in India?“.LawRato.Retrieved 15 May 2022, from https://lawrato.com/indian-kanoon/criminal-law/is-prostitution-legal-in-india-2838
- Natu,N.(Mar 8, 2022).”Mumbai: Kamathipura sex workers’ stories shared to break bias“.Time of India.Retrieved 13 May 2022, from https://timesofindia.indiatimes.com/city/mumbai/kamathipura-sex-workers-stories-shared-to-break-bias/articleshow/90063512.cms
- Tare,K.(February 24, 2022).”Why Kamathipura’s women are opposed to Alia Bhatt’s film”.India Today.Retrieved 13 May 2022, from https://www.indiatoday.in/india-today-insight/story/why-kamathipura-s-women-are-opposed-to-alia-bhatt-s-film-1917461-2022-02-24
- Verma, N .(February 15, 2022).”‘Turned my mother into a prostitute!’ Gangubai’s family miffed with Alia Bhatt’s film“.India Today.Retrieved 14 May 2022, from https://www.indiatoday.in/movies/bollywood/story/-turned-my-mother-into-a-prostitute-gangubai-s-family-miffed-with-alia-bhatt-s-film-1913433-2022-02-15
- Verma,Y.(n.d.).”Legalization of Prostitution In India“.Legal Service India.Retrieved 15 May 2022, from https://www.legalserviceindia.com/legal/article-3392-legalization-of-prostitution-in-india.html
- “Who is Gangubai Kathiawadi, whose husband sold her at a brothel for Rs 500?”.(February 22, 2022).India TV.Retrieved 14 May 2022, from https://www.indiatvnews.com/entertainment/bollywood/who-is-gangubai-kathiawadi-husband-sold-rs-500-alia-bhatt-sanjay-leela-bhansali-film-580029
