ในโลกโบราณ “ปลา” จัดว่าเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่วัฒนธรรมในทวีปเอเชีย ไปจนถึงทางด้านตะวันตกเกือบถึงโลกใหม่อย่างทวีปแอฟริกาซึ่งมีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่อย่างอียิปต์โบราณก็ยังเชื่ออย่างเดียวกัน มาทำความรู้จักเทพีแห่งปลาในความเชื่อของไอยคุปต์กันเถอะ
ยอมรับแต่โดยดีว่าในการขุดค้นนครทองคำจากทางอียิปต์ ทำให้ทางเพจสนใจโบราณวัตถุชิ้นที่พบเผยแพร่จาก Facebook คนที่เข้าพื้นที่ได้ถ่ายมา ชิ้นเน้นๆ เลยก็คือตัวมัมมี่ปลากับประติมากรรมรูปปลาที่พบภายในเมือง สองสิ่งนี้กระตุกต่อมเพศวิถีจนต้องขอถือโอกาสเขียนเล่าถึงคติความเชื่อเกี่ยวกับปลาของชาวอียิปต์บ้าง

สำหรับคนที่คุ้นเคยกับพวกแนวคิดทางด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี สัญวิทยา พอเห็นปลาก็จะคิดถึงสัญญะหนึ่งขึ้นมาได้ นั่นคือสัญญะแห่งความอุดมสมบูรณ์ (Fertility Cult) ตามความเชื่อที่คนโบราณมักจะใช้รูปปลาในการสื่อถึงเครื่องเพศ การเจริญพันธุ์ และความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเราจะพบได้ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลกเลยทีเดียว ในระยะที่เรื่องเพศยังเป็นสิ่งที่มนุษย์มองว่าเป็น “พลังแห่งการกำเนิด” ปลาที่มีลักษณะสอดคล้องกับอวัยวะเพศหญิง กับการที่ปลามีลูกดก วางไข่ได้เยอะๆ ก็กลายเป็นตัวแทนแห่งพลังในการกำเนิดในบริบทความเชื่อของคนโบราณได้ไม่ยาก
วัฒนธรรมที่มีการใช้ปลาในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับเพศและความอุดมสมบูรณ์ ทางฝั่งเอเชียเราก็จะมีจีน อินเดีย ในไทยเองก็มีพบศิลปะที่มีปลาเป็นส่วนประกอบ ไปจนถึงชาวคริสต์เองก็ยังสืบทอดสัญญะของปลาเข้ามาผสมผสานในงานศิลปะของตนเองด้วย (โดยที่เหมือนจะทำเป็นลืมๆ ว่ามันเคยหมายถึงอะไรสัปดนๆ) ทำให้ไม่ยากเลยที่เมื่อเรามองกลับมาที่โบราณวัตถุที่พบในนครทองคำหรือ The Rise of Aten นักโบราณคดีหรือนักอียิปต์วิทยาจึงเริ่มมองว่ามัมมี่ปลาและรูปสลักที่พบข้องเกี่ยวกับเทพและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์
แต่ในทีนี้เราจะมาพูดกันถึงปลาในอียิปต์ ก็คงต้องขอเล่าแบบผ่านๆ ไปก่อน กลับมาที่ The Rise of Aten ดีกว่า ภายในไซต์ที่ยังขุดค้นไม่เสร็จและยังกำหนดขอบเขตของแหล่งโบราณคดีไม่ได้ เราได้พบกับมัมมี่ปลาซึ่งดูมีความพิเศษกับหินที่มีการแกะสลักรูปปลาจุมพิตดอกบัว สัญญะที่ชวนให้รู้สึกว่า…อา…นี่มันอีโรติกเหลือเกินในสายตาคนบางกลุ่ม
แล้วตกลงว่าปลาของไอยคุปต์คืออะไร
ปลาคือสัญลักษณ์ของเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่ชื่อว่า “Hatmehit” แต่ไม่ใช่ปลาธรรมดา เพราะปลาที่จะข้องเกี่ยวและเป็นเครื่องอุทิศแด่เทพีองค์นี้คือปลาดุกพื้นถิ่นแอฟริกาที่ชื่อว่า African butter catfish หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Schilbe mystus ปลาดุกชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำทวีปแอฟริกาและสามารถโตเต็มที่ขนาดยาวได้ถึง 40 cm. นอกจากปลาดุกชนิดนี้แล้ว ก็ยังพบการทำรูปปลาทิลาเพีย (Tilapia) ปลาในตระกูลปลาหมอสี ญาติปลานิลบ้านเราด้วย ปลาทิลาเพียนี้สามารถโตได้ยาวถึง 60 cm. โดยทั้งสองชนิดมีทั้งที่เป็นภาพสลักและประติมากรรมนูนสูงที่ทำขึ้นโดยชาวอียิปต์โบราณ

CC-BY (Photo: Brooklyn Museum (Gavin Ashworth,er), 05.573_Gavin_Ashworth_photograph.jpg)
Hatmehit หรือ Hatmehyt เป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่มีการนับถือมากในแถบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ชื่อของเธอแปลว่า “เธอผู้เป็นใหญ่เหนือปลาทั้งปวง” มักจะพบประติมานของเทพีองค์นี้ในลักษณะของสตรีที่มีเครื่องประดับศีรษะเป็นปลา หรือรูปสลัก จิตรกรรม ประติมากรรมที่เป็นรูปปลาทั้งหลายมักจะข้องเกี่ยวกับเธอเสมอ

จาก Los Angeles County Museum of Art
เดิมรูปของเทพีฮัตเมฮิตเป็นสัญลักษณ์ประจำโนม (Nome) ชื่อว่า Per-Banebdjedet เมืองนี้ชาวกรีกที่กล่าวถึงเรียกขานในภาษาพวกเขาว่าเมืองเมนเดส (Mendes) โนมนี้มีเทพโอซิริสในภาคของ Ba (สารัตถะของดวงวิญญาณ) ซึ่งยังคงวนเวียนอยู่นอกปรโลกเป็นเทพอุปถัมภ์ตามชื่อนั่นเอง ภาคนี้ของเทพโอซิริสจะแสดงเป็นรูปของบุคคลที่มีศีรษะเป็นแกะ และถูกนับถือในคอนเซ็ปต์เดียวกับน้องปลาก็คือเป็นผู้มอบความอุดมสมบูรณ์ แต่เป็นในสมัยหลัง ทำให้ร่องรอยของการนับถือปลายังคงหลงเหลืออยู่ในสัญลักษณ์ของโนมแม้ว่าจะถูกแทนที่เซนเตอร์ประจำเมืองไปหลังจากตำนานเทพโอซิริสถูกพัฒนาขึ้น และในบางครั้งก็ถูกกลืนเข้าไปในความเป็นเทพีไอซิส ซึ่งเป็นชายาของโอซิริสไปเลย เป็นการกลืนเทพเก่าด้วยความเชื่อใหม่ที่เราจะพบได้ในเกือบทุกวัฒนธรรมที่มีการพัฒนาทางด้านความเชื่อตลอดระยะเวลาอันยาวนาน เหมือนการเดินทางของปลาที่เป็นเทพนอกรีตแต่กลายมาเป็นหมวกของโป๊ปในคริสตจักรโรมันคาธอลิกแบบเนียนๆ
ว่ากันว่าในระยะที่ลัทธิการนับถือเทพีองค์นี้มีอิทธิพลส่งผลให้ชนชั้นสูงไม่นิยมรับประทานเนื้อปลาเลย การพบโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับเทพีองค์นี้พบกระจายตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาลจนถึงสมัยคริสตกาล โดยอาจพบเป็นรูปสลักบุคคลกับรูปสลักคล้ายชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมเป็นปลาดุกแอฟริกันที่หันศีรษะมาทางด้านหน้า ส่วนหางคล้อยลงไปตามด้านหลัง หรือบางทีก็เป็นปลาทิลาเพีย นอกจากนี้ยังมีการนำปลาเหล่านี้มาทำมัมมี่ปลาเพื่อเป็นเครื่องอุทิศแด่ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสำหรับวัฒนธรรมของชุมชนกสิกรรม ความเชื่อนี้ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดเลยทีเดียว

ดูจากมัมมี่ปลาที่พบจากเมืองแห่งอะเตนนี้ มองด้วยตาเปล่ามีความใกล้เคียงกับปลาทีลาเพียมากกว่าปลาดุก อย่างไรก็ตามคงต้องรอข้อมูลที่ประเมินโดยนักโบราณคดีที่ทำงานในพื้นที่ หรือนักวิชาการประมงนำเสนออีกครั้ง แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับการที่เมืองนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยอย่างยาวนาน ปัจจัยทางด้านพื้นที่ คงไม่แปลกหากเราจะพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการบูชาลักษณะนี้ปะปนอยู่ร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม คนที่อยู่ห่างๆ ก็คงได้แต่มองไกลๆ รอคอยว่าเมื่อไรเขาจะเจออะไรสนุกๆ ให้ได้คิดสันนิษฐานหรือศึกษากันเพิ่มเติมอีก วันนี้ก็ขอมาเล่าเรื่องปลาที่ไม่ใช่ปลากันแบบสั้นๆ เท่านี้
Featured Image : Images taken in the The British Museum during May-2009 The Painted Tomb-Chapel of Nebamun; Richard Parkinson (2008); London: The British Museum Press

References:
- Hill,J.(2010).”Hatmehyt”.Ancient Egypt Online.Retrieved from : https://ancientegyptonline.co.uk/hatmehyt/ [cited 2021, 17 April]
- Van der Plas,Dirk & Saleh,Mohamed.”Hatmehit”.The Global Egyptian Museum.Retrieved from : http://www.globalegyptianmuseum.org/glossary.aspx?id=171 [cited 2021, 17 April]
