ในโลกที่ไม่มีโซเชี่ยล กล้อง หรือสื่อมากมายนักให้สร้างความบันเทิง มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นสูงเพื่อขับไล่ความเบื่อหน่ายและเพิ่มงานอดิเรกที่ตอบสนองต่อความกระหายใคร่รู้ของผู้คน นั่นคือ “ตู้แห่งความพิศวง” หรือ “Cabinet Of Curiosities”
เห็นผู้กำกับคนโปรดอย่าง Guillermo del Toro ได้เผยแพร่งานอำนวยการสร้างชุดหนังสั้นสยองขวัญภายใต้ชื่อ Guillermo del Toro’s Cabinet of Curiosities ผ่านทาง Netflix เราก็อดที่จะมาเล่าถึง “ชื่อ” ของซีรีส์ที่เดล โตโรยืมจากของเก่ามาใช้ไม่ได้ เพราะชื่อและคอนเซ็ปต์ที่เขาเลือกใช้นั้นมีที่มาน่าสนใจและยังเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เราคุ้นตาดีคือพิพิธภัณฑ์นั่นเอง

Cabinet of curiosities เดิมรู้จักกันแพร่หลายในชื่อ “วูนเดอะแคมเมิร์น” (Wunderkammern) ในภาษาเยอรมัน ซึ่งแปลได้ว่าเป็นห้องพิศวง/ห้องของแปลก และความหมายเรียบๆ อย่างศิลปะ (Art) ส่วนภาษาไทยเราเคยมีคนครีเอทแปลไว้ว่า “ห้องสารภัณฑ์” ซึ่งจะเป็นคำแปลอันบ่งบอกถึงฐานะสูงสุดของเจ้าของนั่นคือกษัตริย์หรือขุนนาง ผู้สามารถครอบครอง “ของแปลก” มากพอจะจัดแสดงให้แขกชมกันเป็นห้องๆ ได้ สำหรับในคาบสมุทรอิตาลี ห้องพิศวงเหล่านี้มีชื่อเรียกหลากหลายตั้งแต่ studiolo, museo, stanzino และ galleria.
ความนิยมในการสร้างห้องสารภัณฑ์ (เรียกแบบไทยได้ชวนจั๊กจี๋ดี) เริ่มในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ตรงกับช่วงเวลาที่เรียกว่า “ยุคแห่งการสำรวจ” (Age of Discovery) ที่ชาวตะวันตกได้เริ่มเดินทางสำรวจดินแดนต่างๆ และเริ่มสร้างอาณานิคมของตนขึ้นในทวีปอื่นๆ จึงเป็นเหตุให้สิ่งของจากดินแดนเหล่านี้เดินทางข้ามทะเลมาเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชั่นส่วนตัวของใครที่มีเงินมากพอจะซื้อมัน
บรรดาผู้มีอันจะกินตั้งแต่พ่อค้า นักวิชาการ ขุนนาง ไปจนถึงสมาชิกราชวงศ์เริ่มสะสมสิ่งของแปลกตาสำหรับคนในยุคนั้น ระยะนี้ไม่ได้เน้นการสะสมของที่จัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ตามวิทยาศาสตร์หรือสาขาวิชาใดเป็นสำคัญ แต่เน้นแข่งกันเก็บ “ของแปลก” ที่จะชวนให้คนเห็นรู้สึก “ว้าว” มากกว่า นอกจากเรื่องของความแปลกแล้ว ผลพวงจากแนวคิดของการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการก็ยิ่งเป็นศาสตร์ที่สนับสนุนให้คนยิ่งแสวงหาสิ่งของเก่าแก่ต่างๆ เข้ามาจัดเก็บอยู่ในตู้หรือห้องสารภัณฑ์ของพวกเขามากขึ้นไปอีก
เมื่อมีอุปสงค์ก็ย่อมต้องมีอุปทาน แรกๆ ตู้ Cabinet Of Curiosities อาจเป็นเพียงแค่ตู้สำหรับเก็บของธรรมดา แต่เมื่อมีความหลากหลายในการจัดเก็บที่ขึ้นอยู่กับปริมาณและวิธีที่เจ้าของอยากจัดแสดง ตู้เหล่านี้ก็เริ่มมีการผลิตตามใจลูกค้ามากขึ้น มีการเพิ่มลิ้นชักและช่องลับต่างๆ เพื่อซ่อนสิ่งของ รอคอยให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ลองค้นหาดูว่าในแต่ละส่วนอันซับซ้อนของตู้มีอะไรแอบอยู่ อาจเรียกได้ว่าเป็นความสนุกเล็กๆ สำหรับแขกผู้มาเยือนบ้านหรือคฤหาสน์นั้นๆ
ถึงจะมีหมวดหมู่ไม่ชัดเจน แต่สิ่งของในตู้หรือห้องสารภัณฑ์นี้อาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ Naturalia หมายถึงสิ่งที่เป็นธรรมชาติ และ Artificialia หมายถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งหมดอาจถูกนำมาจัดเรียงภายใต้ตู้ด้วยการจำลองโลกให้ออกมาอยู่ในลักษณะแบบสารานุกรมขนาดย่อที่ให้คนดูมาเรียนรู้ความพิศวงของธรรมชาติ ซึ่งเมื่อถือว่าเป็นการพยายามแสดงองค์ประกอบของสรรพสิ่งแล้ว การจัดสิ่งของในกลุ่ม Artificialia จึงใช้จัดเพื่อเป็นภาพสะท้อนของฤดูกาลและเดือนต่างๆ แต่ละปี ไม่ก็เป็นภาพแทนของทวีปอันหลากหลาย และที่มากไปกว่านั้นคือการจัดลำดับตามความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า ดูเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้งเข้าไปอีก
ตัวอย่างของการจัดตู้พิศวงที่โด่งดังมากๆ ของโลกโบราณคือคอลเลคชั่นของจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) ซึ่งเคยเก็บเอาไว้ที่ปราสาทปราก (Prague) โดครอบคลุมพื้นที่เป็นห้องสารภัณฑ์มากมายที่สะสมสิ่งของหลายประเภท สำหรับหมวด Naturalia ของพระองค์ก็มีจำนวนทั้งหมดราว 37 ตู้ เก็บสะสมตั้งแต่แร่ธาตุอัญมณีไปจนถึงสัตว์ต่างๆ ซึ่่งถ้าประเภทไหนหาไม่ได้ ก็จะมีการจัดแสดงรูปวาดของสัตว์ชนิดนั้นๆ แทน

ด้วยค่านิยมอวดกันดูที่คนทั่วไปก็ไม่ได้มีโอกาสสัมผัส ทำให้จากตู้พิศวงค่อยๆ เพิ่มขนาดมาเป็นห้องแล้วก็จริง แต่จุดประสงค์หลักๆ ในการจัดแสดงและแสวงหาสิ่งของก็ยังไม่ได้พัฒนามาจากจุดที่เน้นแต่ความว้าวเลย อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะไม่มีคนพยายามที่จะเสนอแนวทางในการสะสมและจัดแสดงสิ่งของเหล่านี้ และหลักฐานแรกๆ ที่พูดถึงเทคนิคในการจัดแสดงคืองานเขียนช่วงท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 16
Samuel Van Quiccheberg แพทย์ชาวเฟลมมิชและภัณฑารักษ์ที่ดูแลงานศิลปะของดยุคอัลเบรชท์ ที่ 5 (Albrecht V) แห่งบาวาเรีย ได้เขียนคู่มือสำหรับการจัดหมวดหมู่กับการดูแลรักษาศิลปวัตถุจัดแสดงต่างๆ ออกมาเป็นหนังสือชื่อ “Inscriptiones vel tituli theatri amplissimi” ในปีค.ศ.1565
จากหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้แบ่งประเภทของจัดแสดงไว้เป็น 5 ประเภท และระบุว่าการจัดแสดงที่สมบูรณ์นั้นควรมีข้อมูลแบ่งเป็นลำดับวงศ์ (Genealogy), งานศิลปวัตถุที่กำหนดลำดับอายุตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน, ตัวอย่างอินทรีย์วัตถุ (Natural specimens), สิ่งของเกี่ยวกับวัฒนธรรม และแกลลอรีศิลปะที่มีทั้งภาพวาด (Paintings), ภาพลายเส้น (Drawings) และงานแกะสลัก (Engravings)
อาจกล่าวได้ว่าเขาพยายามยกระดับงานสะสมให้เป็นมากกว่าแค่ห้องแสดงฐานะของเจ้าของ เพราะยังเขียนแนะนำให้มีการพยายามทำให้ของสะสมเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นห้องสมุด ห้องทดลอง และห้องผสมยา (Apothecary) ศาสตร์ต่างๆ ที่กล่าวมาถือเป็นการตอบสนองคำถามและความสงสัยใคร่รู้แบบนักวิทยาศาสตร์ ทั้งยังเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย แน่นอนว่าจากแนวคิดดังกล่าวทำให้ Samuel Van Quiccheberg ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของงานภัณฑารักษ์ของประเทศเยอรมันนีในที่สุด
แม้ว่าคอนเซ็ปต์แรกเริ่มจะดูห่างไกลจากนิยามของพิพิธภัณฑ์ (Museum) ในสมัยหลัง แต่ของสะสมเหล่านี้ก็พัฒนามาสู่การจัดลำดับจัดแสดงใหม่ให้เป็นระเบียบ ก่อนจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งในยุโรปมีพิพิธภัณฑ์ดังๆ หลายแห่งพัฒนามาจากห้องพิศวงเหล่านี้
พิพิธภัณฑ์สาธารณะแห่งแรกของโลกเองก็ถือกำเนิดด้วยแนวคิดนี้เป็นหลักฐาน พิพิธภัณฑ์ Ashmolean museum ในอ็อกฟอร์ดเกิดจากการบริจาคตู้สารภัณฑ์ที่อีไลอัส แอชโมล (Elias Ashmole) ได้รับมาจากจอห์น เทรดแซนท์ (John Tradescant) ให้กับมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดเมื่อปีค.ศ. 1677 บรรดาสิ่งของต่างๆ มีตั้งแต่โบราณวัตถุที่เป็นเหรียญ, หนังสือ, งานแกะสลัก, ตัวอย่างที่ใช้ศึกษาเกี่ยวกับธรณีวิทยาและสัตววิทยา
หลังจากรับบริจาคของชุดนี้อีกปีให้หลัง พิพิธภัณฑ์แอชโมเลียนจึงเริ่มเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมสิ่งของเหล่านี้ เกิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบสมัยใหม่ นอกจากแอชโมเลียน มิวเซียมแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นจาก Cabinet Of Curiosities ดังๆ ได้แก่ บริติชมิวเซียม (Τhe British Museum) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเริ่มต้นจากคอลเลคชั่นของฮานส์ สโลน (Hans Sloane), หอศิลป์อุฟฟีซี (Uffizi Gallery) เมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งมาจากของสะสมของโคซิโม เมดิชี (Cosimo Medici), เดอะ ปราโด (The Prado) เมืองแมดริด ของชาร์ลที่ 3 แห่งสเปน และพิพิธภัณฑ์แรกของรัสเซียอย่าง คุนซ์คาเมรา (Kunstkamera) เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งจัดแสดงของจากตู้สารภัณฑ์ของจักรพรรดิปีเตอร์มหาราช เป็นต้น
เมื่อมีการให้กำเนิดแนวคิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ห้องสารภัณฑ์ก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป จากแนวคิดที่เป็นเพียงการครอบครองส่วนตัวเล็กๆ ขยายเป็นสำนึกร่วมในฐานะสมบัติของชาติหรือของโลกซึ่งเป็นการเปิดกว้างทางความคิดและการเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุดอย่างในปัจจุบัน
Featured Image : Frans Francken the Younger, detailed view of Kunst- und Raritätenkammer (Chamber of Art and Curiosities), 1636. Oil on panel.

References:
- Cabinets of Curiosities and The Origin of Collecting.Sotheby’s Institute of Art.Retrieved 25 October 2022, from https://www.sothebysinstitute.com/news-and-events/news/cabinets-of-curiosities-and-the-origin-of-collecting
- Chaliakopoulos,A.(Feb 13, 2021).The Pre-Modern Museum: What Is A Cabinet Of Curiosities?.TheCollector.Retrieved 25 October 2022, from https://www.thecollector.com/cabinet-of-curiosities-museum-wunderkammer/
- Mauney,A.C.(April 27, 2022).The Cabinet of Curiosities & Colonialism.Art & Object.Retrieved 25 October 2022, from https://www.artandobject.com/news/cabinet-curiosities-colonialism
- What is a Cabinet of Curiosities?.(n.d.).Joukowsky Institute for Archaeology & the Ancient World : Brown University.Retrieved 25 October 2022, from https://www.brown.edu/Departments/Joukowsky_Institute/courses/archaeologicaltheory/5146.html
