Midsommar ประเพณีสวีเดน…ที่มาของพิธีกรรมสยองของผู้กำกับ Hereditary

ภาพยนตร์สยองหลอนกันกลางวันแสกๆ เพิ่งเข้าแพลตฟอร์ม Netflix เป็นครั้งแรก แล้วพิธีกรรมในเทศกาล Midsommar คืออะไร? เหตุใดถึงถูกนำมาใช้สร้างพล็อตหลอกกันกลางแดดได้ มาทำความรู้จักไปพร้อมกัน

เอาล่ะ สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักหนังเรื่อง Midsommar หนังเรื่องนี้ชื่อแปลเป็นอิ้งก็คือ Midsummer หรือกลางฤดูร้อนตรงตัว ผลงานกำกับของ Ari Aster ผู้กำกับที่สร้างชื่อจาก Hereditary (กรรมพันธุ์สยอง) ซึ่งคนกล่าวขวัญกันว่าสยองอย่างดิบเถื่อน หลอนอย่างไม่ต้องดับไฟ เรื่องนี้ออกจะยิ่งย้อนแย้งกว่าเรื่องเก่า เพราะโทนหนัง Midsommar คือการเล่นเรื่องราวในประเทศที่อยู่ใกล้ขั้วโลกและอยู่ในช่วงที่กลางวันยาวนานที่สุด ส่งผลให้ความสยองของหนังเรื่องนี้เรียกว่าเล่นกันแบบกลางวันแสกๆ แดดจัดจ้าเลยทีเดียว

เรื่องราวของมิดซอมมาร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อคู่รักอย่างดานี่และคริสเตียนตบปากรับคำในการไปเที่ยวเทศกาลสุดแปลกในประเทศสวีเดน แถมเป็นเทศกาลที่ 90 ปีมีครั้งหนึ่ง จัดขึ้นยาวนาน 9 วัน 9 คืน และเป็นช่วงเวลากลางฤดูร้อนที่แม้แต่กลางคืนพระอาทิตย์ยังส่องสว่างไม่ตกดิน ด้วยความแหวกแนวนี้เองทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ตัดสินใจไปร่วมงานแบบนานๆ ทีจะมีครั้ง โดยที่แม้ตะวันจะไม่ลาลับขอบฟ้า แต่ความสยองและวิปริตก็ยังค่อยๆ ผุดโผล่ออกมาอย่างไม่เกรงกลัวต่อแสงสว่าง ยิ่งอยู่นานมากเท่าไร ความขนหัวลุกยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

Picture from www.adaymag.com

เอาล่ะ นี่ไม่ใช่รีวิวหนัง ดังนั้นเราจะมาโฟกัสกันที่สาระ (มั้ง) คือเทศกาล Midsommar นี่มีจริงๆ เป็นเทศกาลสำคัญมากๆ ของเขา เหมือนวันคริสต์มาสเลยทีเดียว จัดขึ้นในช่วงกลางฤดูร้อนคือเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและทำองศาเฉียงเข้าทิศเหนือและโคจรตกไปทางทิศตะวันตกแต่ก็ค่อนไปทางเหนือ ทำให้ประเทศซีกโลกทางเหนือมีกลางวันยาวนานที่สุด ส่วนทางซีกโลกใต้จะเป็นวันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันแบบนี้ภาษาไทยเรียก “ครีษมายัน” (summer solstice)

ภาพจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

การเฉลิมฉลองวันครีษมายันมีมายาวนานและปรากฏเกือบทุกวัฒนธรรมทั้งทางซีกโลกตะวันออกและตะวันตก เพียงแต่รายละเอียดพิธีกรรมและความเชื่ออาจจะแตกต่างกันไป แม้แต่อนุสาวรีย์หินตั้ง Stonehenge ของเกาะอังกฤษก็อาจสร้างขึ้นด้วยความเชิ่อที่สัมพันธ์กับประเพณีของวันครีษมายัน

ภาพลายเส้นแสดงที่ตั้งหินต่างๆ ของอนุสาวรีย์หินตั้ง Stonehenge จะเห็นว่าหิน Heel Stone ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกพอดี 
Picture from blog.stonehenge-stone-circle.co.uk

โดยที่หินใหญ่ที่เรียกว่า Heel Stone (หินหมายเลข96) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกด้านนอกห่างออกไปราวๆ 250 ฟุตของวงรอบด้านใน หิน Heel Stoneของอนุสาวรีย์หินตั้งสมัยโบราณนี้จะทำหน้าที่ตั้งขนานไปกับเส้นขอบฟ้า เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกแล้วจะปรากฏอยู่พอดีเส้นขอบฟ้าเหนือปลายยอดหิน

ภาพพระอาทิตย์ขึ้นเหนือหิน Heel Stone ทางทิศตะวันออกในวันครีษมายัน . Image via mysticrealms.org.

ปัจจุบันการโคจรของดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนองศาไปทำให้มุมของพระอาทิตย์ที่ปรากฏเหนือหินเขยื้อนออกไปบ้าง แต่จากการศึกษาดาราศาสตร์ทำให้เราทราบได้ว่าในอดีตเมื่อ 4,500 ปี สโตนเฮนจน์อาจสร้างขึ้นโดยมีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติซึ่งอาจเป็นความเชื่อในสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ทุกวันนี้ในช่วงครีษมายันก็ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนหลายพันคนจนถึงแสนเดินทางไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ Stonehenge กันอย่างเนืองแน่นทุกปี

แม้แต่กับหมู่พีระมิดแห่งกีซาอันโด่งดังของอียิปต์ก็ยังเกิดปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกับช่วงครีษมายัน เพราะนอกจากพีระมิดจะเรียงตัวในแนวเดียวกับแสงอาทิตย์แล้ว หากมองจากมุมทางด้านสฟิงซ์ยักษ์ในวันครีษมายัน ดวงอาทิตย์จะอยู่ตรงกลางระหว่างพีระมืดคูฟู (Khufu) และ พีระมืดคาเฟร (Khafre) พอดี แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจจุดประสงค์ในการสร้างพีระมิดเหล่านี้ว่าตั้งใจทำให้เป็นแบบนี้หรือแค่ฟลุ๊ค อย่างไรก็ตามเราก็รู้กันดีว่าอียิปต์โบราณนับถือพระอาทิตย์เป็นเทพสูงสุดอยู่นั่นแหละ

The sun sets between two pyramids in Egypt. Photo courtesy of Creative Commons

ส่วนในกรีซ ย่อมมีความเชื่อในแบบคล้ายคลึงกันด้วย แม้ว่าพิธีกรรมของศาสนาโบราณจะถูกลบล้างไปมากด้วยการมาเยือนของศาสนาคริสต์ แต่ยังมีพิธีกรรมความเชื่อเล็กๆ น้อยๆ ที่ยังมีปรากฏกันอยู่ อย่างในกรีซจะเชื่อกันว่าในวันครีษมายันเราจะสามารถเสี่ยงทายเพื่อตรวจดูเนื้อคู่ของเราได้

MIDSOMMER เทศกาลรื่นเริงที่สุดแห่งปี Christmas ของชาวสวีเดน

“ทารกจำนวนมากถือกำเนิดในเก้าเดือนหลังจากเทศกาล Midsommar” Jan-Öjvind Swahn นักชาติพันธุ์วิทยาชาวสวีเดนผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญและอิทธิพลของเทศกาลต่อประชากรได้ถล่าวเอาไว้ ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงนัก เพราะสำหรับชาวสวีเดน เทศกาลนี้เฉลิมฉลองให้กับความอุดมสมบูรณ์และยังมีนัยยะถึงการเจริญพันธุ์ ความโชคดี และความโรแมนติกไปพร้อมกัน

แต่เดิมช่วง Midsummer หรือวันกลางฤดูร้อนที่กลางวันจะยาวนานที่สุด สำหรับชาวยุโรปเหนือมีความสำคัญตั้งแต่ก่อนศาสนาคริสต์จะแพร่กระจายและกลืนเอาวันสำคัญนั้นเข้าเป็นวันเฉลิมฉลองอย่างหนึ่งของคริสเตียนด้วย หากจะพูดถึงความเชื่อเกี่ยวกับวันครีษมายัน เราอาจพูดได้ว่ามันข้องเกี่ยวกับคติเรื่องความอุดมสมบูรณ์เป็นสำคัญ ผู้คนแถบยุโรปเหนือและกลางจะจัดงานฉลองและทำพิธีบูชาดวงอาทิตย์ด้วยการจุดกองไฟใหญ่ด้วยเชื่อว่าพลังจากกองไฟจะไปช่วยเสริมสร้างพลังให้กับดวงอาทิตย์ เพื่อจะได้ขอให้พืชผลในฤดูหว่านและฤดูเก็บเกี่ยวจะมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ความเชื่อนี้แพร่กระจายอยู่ในกลุ่มชาวเยอรมัน ชาวเคลติกและสลาฟ นอกจากจะเป็นการทำพิธีเพื่อบูชาพระอาทิตย์แล้ว ยังเชื่ออีกว่ากองไฟนี้จะช่วยปัดเป่าความชั่วร้ายให้ไม่กล้ากล้ำกราย และจะช่วยทำนายเนื้อคู่ให้กับสาวโสดในหมู่บ้านอีกด้วย

และเนื่องจากเป็นวันที่กลางวันยาวนานและจัดจ้า ไม่พอแค่จะใช้เป็นวันบูชาพระอาทิตย์แล้ว ชาวเพเกินยังเชื่อกันว่าวันนี้จะมีภูตผีออกอาละวาด การจุดกองไฟช่วยปกป้องรักษาคนในชุมชนยังไม่พอ ต้องมีการทำมาลัยดอกไม้ร้อยเข้ากับสมุนไพรและสวมใส่บนศีรษะเพื่อป้องกันตนเองอีกด้วย การทำมาลัยแบบนี้ยังปรากฏเป็นส่วนสำคัญของงานนี้จนถึงปัจจุบัน

ภาพเสาmaypole Picture from theculturetrip.com

ในเรื่องความเชื่อในการฉลองเพื่อความอุดมสมบูรณ์นี้ยังปรากฏร่องรอยอยู่ในสัญลักษณ์สำคัญในพิธีนั่นคือ เสา Maypole อันประดับประดาไปด้วยดอกไม้หลากชนิดหรือที่ชาวสวีเดนเรียกว่า “Midsommarstången”  เสา Maypoleตั้งตระหง่านกลางลานพิธีโดยมีลักษณะเป็นเสาสูงด้านบนเป็นยอดสามเหลี่ยมมีห่วงกลมอยู่สองด้าน แน่นอนว่าเหล่านักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดีเห็นปุ๊บต้องพูดเลยว่า “นี่มันลัทธิบูชาลึงค์แน่ๆ” ก็ดูสิ เสาสูงมีห่วงคล้ายกับอัณฑะขนาดนั้น ร่องรอยของการนับถือเครื่องเพศเพื่อความอุดมสมบูรณ์แน่นอน แม้ว่าจะยังฟันธงไม่ได้ว่าในวันมิดซอมมาร์เค้าฉลองอะไร ทำไมต้องมีเสาแบบนี้ แต่มันก็อดคิดไม่ได้เนอะว่ารากฐานมันจะเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อเก่าแก่ก่อนประวัติศาสตร์แบบนี้

ภาพนักบุญยอห์นผู้ให้แบบติสม์มา วาดโดย Anton Raphael Mengs ราวทศวรรษ 1760s. Picture from wikipedia

หลังการขยายอิทธิพลของศาสนาคริสต์ วันมิดซอมมาร์เลยถูกผนวกเข้าไปด้วยคอนเซ็ปต์เดียวกับการกลืนวันฮาโลวีนและวันประสูติของพระเยซู คือถูกทำให้เป็นหนึ่งในวันสำคัญของคนคริสต์นั่นคือ วันของนักบุญ John the Baptist ผู้ถูกกษัตริย์เฮโรดสั่งประหารเพื่อนำศีรษะมอบเป็นของขวัญแก่ซาโลเม่ พระธิดาของพระองค์ในวันเกิดของนาง ชาวคริสต์ยกย่องยอห์นในฐานะนักบุญ และได้กำหนดวันสำคัญให้กับคริสเตียนได้ทำการเฉลิมฉลองกันคือในวันกลางฤดูร้อนนี้ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับช่วงหกเดือนก่อนการประสูติของพระเยซู ใกล้เคียงจากการบันทึกประวัติของยอห์นผู้ให้แบบติสต์มาว่ามีความแก่กว่าพระเยซู 6 เดือน

ดังนั้นในปัจจุบันชาวสวีเดนส่วนมากที่นับถือศาสนาคริสต์ก็เฉลิมฉลองวันมิดซอมมาร์นี้ทั้งในแบบของการระลึกถึงนักบุญยอห์น และยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณเอาไว้ไปพร้อมกัน อย่างเดียวกับที่ฉลองวันคริสต์มาส สำหรับประเทศสวีเดนวันมิดซอมมาร์จะถือเป็นวันหยุดราชการของเขาด้วย และจะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ในหลายพื้นที่ สมกับคำเปรียบเทียบว่ามิดซอมมาร์คือวันคริสต์มาสของคนสวีเดน

การละเล่นพื้นบ้านที่สำคัญอีกอย่างขาดไม่ได้ของ Midsommar คือระบำกบ (Små grodorna หรือ The small frogs ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะร้องเพลงและทำท่าประกอบคล้ายกบน้อยกระโดดไปรอบเสา แลดูน่ารักแบบแปลกๆ และยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำไมต้องเอาน้องกบมาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ถ้าเป็นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างบ้านเราก็พูดกันได้ว่ากบคือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์อย่างหนึ่ง เพราะกบร้องคือสัญญาณของฝนตก และฝนมีบทบาทสำคัญต่อการเพาะปลูกในแถบนี้ ก็ไม่รู้ว่าอ๊บน้อยของชาวสวีเดนจะมีความหมายอย่างเดียวกันไหมนะ สำหรับเนื้อเพลงน้องกบน้อยก็ประมาณนี้ค่ะ

Små grodorna

Små grodorna, små grodorna är lustiga att se.
Små grodorna, små grodorna är lustiga att se.
Ej öron, ej öron, ej svansar hava de.
Ej öron, ej öron, ej svansar hava de.
Kou ack ack ack, kou ack ack ack,
kou ack ack ack ack kaa.
Kou ack ack ack, kou ack ack ack,
kou ack ack ack ack kaa.

คำอ่านเพลงกบตัวน้อย

สโม กรูดูรน่ะ, สโม กรูดูรน่ะ แอรฺ ลู่สติ๊กก่ะ อัทฺ เสีย
สโม กรูดูรน่ะ, สโม กรูดูรน่ะ แอรฺ ลู่สติ๊กก่ะ อัทฺ เสีย
เอือย เออรอน, เอือย เออรอน, เอือย สวันซารฺ ฮอวะ เดีย
เอือย เออรอน, เอือย เออรอน, เอือย สวันซารฺ ฮอวะ เดีย
คัว อัก อัก อัก, คัว อัก อัก อัก
คัว อัก อัก อัก อัก กา
คัว อัก อัก อัก, คัว อัก อัก อัก
คัว อัก อัก อัก อัก กา

คำแปลภาษาไทย

เจ้ากบตัวน้อย เจ้ากบตัวน้อย ตลกที่จะมองดู  (ซ้ำ)
พวกเขา ไม่มีหู ไม่มีหู ไม่มีหาง (ซ้ำ)
คัว อัก อัก อัก, คัว อัก อัก อัก , คัว อัก อัก อัก อัก กา (ซ้ำ)

ส่วนท่าเต้นสุดฮิตสามารถลองดูดาราสาว Alicia Vikander เต้นในรายการของ Jimmy ได้ตามลิ้งด้านล่างค่ะ

มีการเต้นแล้วก็มีเรื่องกินดื่มด้วย ในเทศกาล Midsommar จะมีอาหารไม่ขาด จานหลักส่วนมากทำจากปลาเฮริง สตอว์เบอรี่ก็เป็นสิ่งที่ฮิตมากเหมือนขาดไม่ได้เช่นกัน และสำคัญที่สุด! เต้นแล้วคอแห้งเราต้องดื่ม แอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของงานไม่แพ้ในช่วงเทศกาลอื่นๆ เรียกว่าสนุกสุดเหวี่ยงกันไปเลยวันนี้

ด้วยความพิเศษที่ในพื้นที่ทางเหนือมากๆ ของสวีเดนในวันมิดซอมมาร์พระอาทิตย์จะไม่ลับขอบฟ้าเลยแม้จะเป็นเวลากลางคืน เนื่องจากเป็นวันครีษมายันและพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือ ดังที่ปรากฏในหนัง Midsommar ของ Ari Aster ว่าแม้จะเวลาสามทุ่มเข้าไปแล้ว แต่แดดยังจ้าฟ้ายังใสอยู่เลย เป็นปรากฏการณ์ที่ชวนตื่นตาตื่นใจสุดๆ ของทุกปี

จุดเด่นของการเป็นประเพณีโบราณซึ่งสัมพันธ์กับความเชื่อเก่าแก่ อีกทั้งความพิเศษของเวลาและอากาศทำให้การนำเทศกาลนี้มาแต่งเติมเสริมความขลังให้กับความสยดสยองได้อย่างย้อนแย้งแต่ก็น่าสนใจไม่น้อย หากมาทำนองเดียวกับ Hereditary แสดงว่าแอสเตอร์จะอ้างอิงพิธีกรรมเพเกินอย่างมุกเดิมได้อย่างไม่ยากลำบากนัก แถมยังได้สร้างชื่อกับการสร้างหนังสุดสยองที่แม้แต่กลางวันแสกๆ ภาพสีพาสเทลก็ยังรุนแรงได้ น่าจดจำจะตายแบบนี้


บทความต้นฉบับโพสต์ที่บล็อก DeadlyDoll นำมาเผยแพร่ใหม่ผ่านทาง ArchaeoGO,August 2022

References :


2 ความเห็นบน “Midsommar ประเพณีสวีเดน…ที่มาของพิธีกรรมสยองของผู้กำกับ Hereditary”

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.