พีระมิดไม่ได้สร้างด้วยเอเลี่ยนหรือทาส!

ความยวนใจในเรื่องของมนุษย์ต่างดาวจากหนังไซไฟทำให้คนมักมองข้ามความสามารถของพัฒนาการสมองมนุษย์มากจนทำให้ละเลยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ส่วนไบเบิ้ลก็ทำให้เราคิดว่ามันถูกสร้างด้วยฝีมือของทาส สรุปแล้วใครสร้างมหาพีระมิด…วันนี้เรามาค้นไปพร้อมกัน

เป็นความเชื่อกันมาอย่างนมนานว่าคนงานที่สร้างพีระมิดหรือสิ่งปลูกสร้างอันยิ่งใหญ่นั้นคือแรงงานทาสซึ่งถูกกดขี่ให้ต้องทำงานหนักจนตาย บ้างก็ว่าเป็นชาวยิว แต่บางคนไปไกลถึงขนาดว่าเป็นงานของชาวแอตแลนตีส นครปริศนาที่มีข่าวว่าเจอแล้วเจออีกจนสำนักข่าวหลายแห่งต้องใส่คำว่า “…อีกแล้ว” ต่อท้ายหัวเรื่อง ทว่าไม่มีอะไรไกลไปกว่า “เอเลี่ยน” นั่นแหละฮะท่านผู้ชม

นักโบราณคดีสามารถตอบคำถามเรื่องนี้ได้มาเป็นทศวรรษแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจสื่อสารออกไปในวงกว้างให้ผู้คนในสังคมเข้าใจได้ ทั้งที่พวกเขาค้นพบตั้งแต่หมู่บ้านคนงาน, โครงกระดูก, แหล่งผลิตและส่งเสบียงอาหาร, เอกสารเกี่ยวกับการก่อสร้าง, เครื่องมือต่างๆ ไปจนถึงงานกราฟิตี้ภาษาอียิปต์ ทั้งหมดอยู่ใกล้ชิดติดกับพีระมิดเอง

Heit el-Ghurab เป็นชื่อที่คนสมัยหลังใช้เรียกพื้นที่ดังกล่าว หรือบางคนก็เรียกที่นี่ว่า "นครที่หายไปของมหาพีระมิด" 
ภาพของหมู่บ้านคนงาน Heit el-Ghurab ซึ่งมีภาพของมหาพีระมิดอยู่ไม่ไกล
(Image credit : Courtesy Mark Lehner, AERA via Archaeology.com)

หลักฐานชี้ “คนงานอียิปต์เป็นคนสร้างมหาพีระมิด ไม่ใช่ทาส”!

ตั้งแต่ราวค.ศ. 1990 มีการค้นพบสุสานของแรงงงานผู้สร้างพีระมิดซึ่งอยู่ไม่ห่างจากสุสานของฟาโรห์เอง ทั้งยังมีข้าวของเครื่องใช้ซึ่งฝังลงเป็นเครื่องอุทิศสำหรับใช้ในโลกหน้าด้วย การจัดการพิธีศพดังกล่าวดูดีกว่าการฝังลงอย่างลวกๆ

แผนผังของ Heit el-Ghurab (ที่มา : Trevino, Digital Atlas of Egyptian Archaeology : Michigan State University)

แต่ไม่ได้มีการพบแค่เพียงสุสาน หลังจากที่นักโบราณคดีใช้เวลาขุดค้นศึกษาเป็นแรมปี (ก็ไม่นานนัก แค่ 25 ปีเท่านั้นเอง!) ทำให้พบว่าจากสุสานก็กลายเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ใกล้กับลำน้ำสาขาของแม่น้ำไนล์สายหนึ่งซึ่งเคยไหลผ่านมาใกล้กับบริเวณนี้ ปัจจุบันลำน้ำนี้อาจไม่หลงเหลือแล้ว แต่จากร่องรอยการศึกษาละอองเรณูสามารถบอกได้ว่าเคยมีแม่น้ำสายย่อยเข้ามาถึงในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับยุคที่มีการสร้างมหาพีระมิด ก่อนที่ภายหลังแม่น้ำจะเปลี่ยนเส้นทางไปในที่สุด

หลังจากการขุดเปิดพื้นที่แล้วก็พบว่าจุดนี้เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีการก่อสร้างโรงนอนที่สามารถให้คนงานกว่า 1,600 คนสามารถอาศัยอยู่ร่วมกัน และยังเป็นบริเวณที่เป็นจุดลำเลียงทั้งวัสดุสำหรับการก่อสร้างกับเสบียงที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงดูเหล่าแรงงาน นอกจากนี้แล้วยังพบอาหารที่คนเหล่านั้นใช้ในการบริโภคอีกด้วย

(Image credit: AERA Inc. via Livescience)

หลักฐานที่ทำให้ทราบถึงชาติพันธุ์ของคนงานเหล่านี้อีกอย่างคือกราฟิตี้ของพวกเขาที่แอบทำทิ้งไว้บนก้อนหินหรือก้อนอิฐที่ใช้ก่อสร้างพีระมิดในจุดที่คิดว่าคนไม่สังเกตเห็น กราฟิตี้พวกนี้มีตั้งแต่เป็นอักษรภาพภาษาอียิปต์โบราณที่เขียนชื่อแก๊งทำงานอย่าง “ขี้เมาของเมนคาอูเร” (the Drunkards of Menkaure) หรือ “ผู้ติดตามมงกุฏขาวอันเกรียงไกรของคูฟู” (the Followers of the Powerful White Crown of Khufu.) และชื่อเมืองหรือภูมิภาคต่างๆ ของอียิปต์ ไปจนถึงรูปสัตว์ที่อาจเป็นตัวแทนกลุ่มแก๊งเหล่านั้น

จากอักษรภาพเฮียโรกลิฟฟิคข้างต้นที่พบกระจายตามสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั่วบริเวณทำให้นักโบราณคดีมีเบาะแสในการเข้าใจว่าแรงงานเหล่านี้มาจากพื้นที่ใดบ้าง กระทั่งอาจเป็นแรงงานที่มีการเปลี่ยนผลัดหมุนเวียนกันเข้ามาทำงานเพราะหลักฐานชี้ว่ามีการจัดเก็บภาษีแรงงาน (Labor tax collection) ที่เราอาจพูดได้ว่าคล้ายกับระบบไพร่ของสยามในอดีต คือการเอาแรงมาทำงานจ่ายภาษีเข้าหลวง โดยหน่วยบริหารราชการจะเป็นผู้จัดสรรแรงงานอีกที ลักษณะภาษีแรงงานแบบนี้ไม่เข้าข่ายหรือเรียกได้ว่าเป็นระบบทาส ยิ่งสำหรับทาสต่างชาติยิ่งไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของทาสในอียิปต์โบราณเลย ในทางกลับกันก็ไม่มีหลักฐานว่าคนงานเหล่านี้ถูกบังคับให้มาทำงานโดยไม่เต็มใจหรือไม่

(Image credit: AERA Inc. via Livescience)

การจัดการด้านสวัสดิการของคนงาน

หลังจากที่เราได้รู้ว่าแรงงานเหล่านี้มีที่พักอาศัยอย่างชัดเจนแล้ว นักโบราณคดียังค้นพบเศษซากของอาหารที่พวกเขาได้รับซึ่งหมายถึงขนมปังคุณภาพดีกับเนื้อสัตว์จำนวนมากซึ่งมาจากเนื้อวัว แพะ แกะ และปลา จากปริมาณของแรงงานที่อาจสอดคล้องกับขนาดของโรงนอน การจะเลี้ยงดูแรงงานเหล่านี้ต้องใช้เสบียงขนาดใหญ่ที่มาจากภูมิภาคอื่นของอียิปต์ ร่องรอยของกระดูกสัตว์ที่ใช้บริโภคพบอยู่มากทางทิศใต้ของเมืองที่สันนิษฐานว่าเป็นคอกปศุสัตว์และพื้นที่สำหรับใช้เชือดเพื่อแปรรูปเนื้อเพื่อส่งมายังโรงครัวข้างในเมือง

กระดูกสัตว์ที่พบประมาณได้คร่าวๆ ว่าส่วนที่ทำการศึกษาไปแล้วประกอบด้วยกระดูกสัตว์ตระกูลแพะ/แกะ ราว 25,000 ชิ้น, กระดูดกวัวประมาณ 8,000 ชิ้น แบะกระดูกหมูราว1,000 ชิ้น

จากการคำนวณด้วยข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากแหล่งโบราณคดี เป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งมีความต้องการเนื้อถึง 4,000 ปอนด์ (ประมาณ 1814.4 กิโลกรัม) เพื่อที่จะมีอาหารมากเพียงพอเลี้ยงแรงงานในเมืองก็ต้องมีการเชือดวัว แพะและแกะทุกวัน ในปริมาณที่คนเชือดต้องเชือดวัว 11 ตัวและแพะแกะอีก 37 ตัวต่อวัน นั่นยังไม่นับว่าต้องอาศัยสถานที่เพาะเลี้ยงปศุสัตว์ขนาดใหญ่อีกหลายแห่งซึ่งมีทั้งในเมืองและบริเวณชุมชนต่างๆ กระจายออกไปตามเส้นทางคมนาคมตลอดลำน้ำไนล์

หลักฐานว่าคนเหล่านี้ได้รับโภชนาการอย่างเพียงพอยังพบได้จากโครงกระดูกของคนงานเองที่พบในสุสานของเมืองที่บ่งชี้ว่าพวกเขามีสุขภาพที่ดี แม้ว่าจะมีร่องรอยว่าทำงานหนัก และอาการบาดเจ็บทางกระดูกก็ยังพบว่าอาการบาดเจ็บเหล่านั้นได้รับการรักษา กระดูกที่เสียหายมีการสมานและซ่อมแซมตนเอง

นักโบราณคดีริชาร์ด เรดดิ่ง (Richard Redding) หัวหน้านักวิจัยสมาคมศึกษาอียิปต์โบราณ (Ancient Egypt Research Associates) หรือ AERA ซึ่งศึกษาเมืองนี้อยู่นานถึง 25 ปีได้ให้ความเห็นไว้ในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ LiveScience ว่า

แรงงานที่นี่ได้รับการดูแลอย่างดีทั้งด้านอาหารและการรักษา โภชนาการที่แรงงานเหล่านี้ได้รับอาจดีกว่าที่พวกเขาเคยได้จากหมู่บ้านโดยทั่วไปเสียด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องไม่แปลกที่จะมีแรงงานเลือกมาทำงานที่นี่

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเท่าเทียมกัน นักโบราณคดียังพบโครงสร้างทางสังคมและสวัสดิการที่ได้รับแตกต่างกันไปด้วย แรงงานทั่วไปที่อาศัยอยู่ในโรงนอนที่นักโบราณคดีเรียกว่า Galleries จะได้รับเนื้อสัตว์จากแพะหรือแกะ ในขณะที่ผู้ดูแลที่พักอยู่ด้านถนนทิศเหนือของเมือง (north street gatehouse)ได้บริโภคเนื้อวัวที่เป็นของราคาแพงกว่าในสังคมของชาวอียิปต์

ถึงเป็นอย่างนั้นการอยู่อาศัยของพวกแรงงานในเมืองนี้ก็มีการจัดการสวัสดิการที่ดีกว่าจากชุมชนใกล้เคียงกันทางด้านตะวันออกที่ไม่ได้อยู่ในค่ายแรงงานเหมือนอย่างHeit el-Ghurab มีการบริโภคเนื้อสุกรที่มีราคาถูกกว่า หลักฐานบางชิ้นยังแสดงถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างคนในหมู่บ้านกับแรงงานในค่ายถึงข้าวของบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนเขี้ยวของฮิปโปฯ อาจกล่าวได้ว่าชุมชนทางด้านตะวันออกนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างมหาพีระมิด และเป็นเพียงหมู่บ้านเกษตรกรรมธรรมดา ที่มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับแรงงานในค่ายก่อสร้างผู้มีความเป็นอยู่ดีกว่าเป็นระยะ

Mark Lehner นักโบราณคดีอีกท่านผู้ทำการศึกษาไม้และภาชนะดินเผา พบว่ามีส่วนที่เป็นสินค้านำเข้าจากภูมิภาคอื่น ทั้งยังเพิ่มสมมติฐานเกี่ยวกับการติดต่อกันระหว่างชุมชนผ่านเส้นทางการค้าทางไกลที่ทำให้เรามองเห็นภาพว่า Heit el-Ghurab เป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางการค้าทางตอนใต้สุดที่ได้รับสินค้าจากภูมิภาคเอเชียตะวันตก (Levant) ทางชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เส้นทางการค้านี้เรียกว่า “เส้นทางการค้าบีบลอส” (Byblos Run) ซึ่งเส้นทางนี้มีสินค้าเด่นอย่างไม้ น้ำมันมะกอก หรือสินค้าจากบริเวณประเทศเลบานอนปัจจุบัน

จากการที่มีสินค้าอิมพอร์ตไม่เพียงบ่งชี้ที่ความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานแต่หมายถึงความร่ำรวยของชนชั้นสูงภายในเมืองนี้ด้วย ทางฟากทิศตะวันตกของเมืองมีการพบฟันของเสือดาวซึ่งมักเป็นเครื่องประดับสวมใส่โดยนักบวชอียิปต์ ยิ่งเมื่อวิเคราะห์ร่วมกับการพบกระดูกวัวและกระดูกลูกวัวซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเนื้อราคาสูงสุดของตลาดก็ทำให้เราพอมองเห็นภาพของเมืองท่าขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างทางการปกครองและการบริหารจัดการที่รัดกุมเพื่อโครงการขนาดใหญ่อย่างการสร้างมหาพีระมิดได้ไม่ยาก

แล้วแนวคิดว่า “ทาสสร้างมหาพีระมิด” มาจากไหน?

หนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่องมักสร้างภาพอียิปต์อันอู้ฟู่บนหลังข้าทาสที่ถูกกดขี่ จนเกิดเป็นภาพจำในการรับรู้ของผู้คนได้ไม่ยาก คุณมองเห็นมันบ่อยๆ มันก็แทรกซึมเข้าไปไม่รู้ตัว แต่ต้นตอของความเข้าใจแบบนี้เก่าแก่กว่าที่เราคิด ไบเบิ้ล? ก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกคนที่ก็เป็นที่รู้จักไม่แพ้กันคืองานเขียนของบิดาการโม้ เอ้ย…ประวัติศาสตร์นาม “เฮโรโดทัส” (Herodotus) ที่ระบุว่าตนได้เคยไปอียิปต์และเขียนถึงการสร้างพีระมิดว่าเกิดจากแรงงานทาส

เฮโรโดทัสเขียนถึงประวัติศาสตร์ด้วยการนำเอาเรื่องราวต่างๆ มารวบรวมขึ้น มีหลายเรื่องราวที่เขาไม่ได้เป็นผู้พบด้วยตนเองแต่เกิดจากการฟังและมาบันทึก การสร้างพีระมิดก็เก่ากว่าสมัยของเฮโรโดตัสเป็นพันปี นั่นทำให้เขาเองไม่ได้พบเห็นการสร้างพีระมิดแบบสดๆ ด้วยตาตนเอง ทั้งการมีทาสเองก็เป็นวัฒนธรรมที่พบในกรีกและเป็นที่คุ้นเคยของเขา เพราะมีทั้งทาสและตลาดค้าทาสตามเมืองท่าของชาวกรีกเอง แต่กับอียิปต์สถานะของทาสแทบจะเรียกได้ว่า “ล่องหน” ด้วยข้อจำกัดทางด้านหลักฐานและความสับสนในการนิยามความหมายแต่ละยุคสมัย

และที่เราคงลืมไม่ได้อีกแห่งคงหนีไม่พ้นคัมภีร์ทางศาสนาของชาวยิวและคริสต์ ซึ่งมีการเล่าเรื่องการปลดแอกจากการเป็นทาสของชาวยิวในหนังสืออพยพ (Book of Exodus) มีศาสดาโมเสสเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ในหนังสือมีการพูดถึงการกดขี่ชาวฮิบรูให้สร้างสถาปัตยกรรมและเมืองของอียิปต์ ก่อนที่โมเสสที่ได้พบกับพระเป็นเจ้าได้มาแสดงอภินิหารและนำพาชาวฮิบรูไปดินแดนแห่งพันธสัญญา

ไม่ต้องแปลกใจที่ผู้กำกับและทีมสร้างในฮอลลีวู้ดซึ่งนับถือศาสนาคริสต์จะเลือกนำเนื้อหาจากหนังสืออพยพมาสร้างภาพยนตร์และสื่อบันเทิงอีกมากมาย ตั้งแต่ The Ten Commandments (1956) จนถึงงานแอนิเมชั่นที่บ้านเราคุ้นเคยกันอย่าง The Prince of Egypt (1998)

และผู้กำกับระดับเจ้าพ่ออย่าง Ridley Scott ก็ยังเพิ่งจะทำหนังเรื่อง Exodus: Gods and Kings ที่มี Christian Bale แสดงเป็นโมเสสในปี 2014 และแน่นอนว่าในสายตาของคนอียิปต์ปัจจุบันที่พบข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการสร้างมหาพีระมิดที่ไม่ได้มาจากแรงงานทาสตามที่คนยังเข้าใจคลาดเคลื่อน หนังของริดลี่ย์ สก็อตต์จึงถูกแบนในประเทศอียิปต์ด้วยเหตุผลว่า “บิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์” (historical inaccuracies)

หากพูดกันด้วยข้อเท็จจริงแล้วเหตุการณ์ที่ปรากฏในพระคัมภีร์มีการศึกษาวิจัยกันจนสามารถพิสูจน์ไปได้หลายส่วน แต่ส่วนที่ยังไม่พบหลักฐานประกอบก็คือเรื่องในหนังสืออพยพที่ว่าชนชาวฮิบรูถูกกักขังและเป็นทาสในอียิปต์เลย ยังไม่ต้องนับว่าพวกเขามามีส่วนในการสร้างพีระมิด เพราะอายุสมัยของพีระมิดก็ยังคงอยู่ห่างจากยุคสมัยที่นักประวัติศาสตร์ระบุถึงความเป็นชาติอิสราเอลนับร้อยปี และกว่าที่จารึกของอียิปต์โบราณจะระบุถึงชัยชนะที่มีต่ออิสราเอลด้วยศิลาเมอร์เนฟทาห์ (Merneptah Stele) ก็ยิ่งคล้อยหลังจากนั้นมาอีกศตวรรษหนึ่ง

มีประเด็นน่าสนใจอีกมากที่ยังหลงเหลือการค้นพบและศึกษาในอียิปต์ระหว่างที่คนอียิปต์ปัจจุบันก็ต้องต่อสู้เลือดตาแทบกระเด็นกับความเข้าใจผิดในเนื้อหาที่มีหลักฐานหนักแน่น อย่างหนึ่งคือ “คนอียิปต์สร้างพีระมิดด้วยตนเองหาใช่ทาส” และอีกมากมายเมื่อต้องพูดถึงอคติที่มีต่อความแตกต่างทางด้านศาสนา

อย่าเพิ่งคิดไปถึงเอเลี่ยน…หากเรายังมองความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมว่าเป็นคนอื่นที่ไม่เหมือนเราออกไปไม่ได้ พวกเราก็คงไม่พ้นล้วนเป็นเอเลี่ยนของผู้อยู่ต่างวัฒนธรรมได้ไม่ยากเช่นกัน


Featured image credit: Courtesy AERA Inc. via Livescience

อ่านเรื่องราวงานก่อสร้างพีระมิดและอาคารอียิปต์โบราณตอนต่อไป >>

อียิปต์เค้าสร้าง “พีระมิด” ไว้ทำไม?

ตอบง่ายๆ ก็คือเขาสร้างไว้เป็น “สุสาน” ของเหล่าฟาโรห์ ปร…

References :

2 ความเห็นบน “พีระมิดไม่ได้สร้างด้วยเอเลี่ยนหรือทาส!”

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.