เรามาพูดถึงเรื่องที่เหมือนจะรู้กัน แต่ก็ไม่รู้ เรื่องของเกย์ที่ไม่เชิงว่าเกย์ เพศสภาพของเด็กหนุ่มออกสาวในยุคเอโดะของญี่ปุ่นนั่นเอง

วะกาชู คือชื่อเรียกเด็กหนุ่มซึ่งยังไม่แตกเนื้อเป็นชายฉกรรจ์ ยังคงมีลักษณะของความอ่อนโยน บอบบาง คล้ายกับผู้หญิง เริ่มแพร่หลายเนื่องมาจากศิลปะการแสดงละครคาบูกิซึ่งเป็นการแสดงซึ่งริเริ่มแพร่หลายในยุคเอโดะของญี่ปุ่น แต่เดิมเป็นการแสดงที่ผู้หญิงคิดค้นขึ้น เมื่อประสบปัญหาเกี่ยวกับการค้าประเวณีแอบแฝง (นัยว่ารัฐคงไม่ได้ผลประโยชน์ เพราะปกติซ่องถูกกฎหมายในสมัยดังกล่าวและมีการเก็บภาษี) คาบูกิจึงถูกบังคับให้ใช้เพียงนักแสดงชายเท่านั้น และนั่นคือจุดกำเนิดของเพศสภาพที่เรากำลังพูดถึงกัน
ในการแสดงคาบูกิจะคล้ายกับละครนอกของบ้านเรา คือมีตัวพระ ตัวนาง และตัวร้าย ซึ่งใช้ผู้ชายเล่นทั้งหมด และที่แตกต่างออกไปก็คือบทของตัวนางที่ไม่ได้เล่นติดตลก แต่ต้องเล่นให้มีความเป็นผู้หญิงอย่างมากที่สุด ซึ่งทำให้เกิดค่านิยมในการชื่นชม “ความสาวในร่างของบุรุษ” ขึ้นมา

เนื่องจากในงานศิลปะยุคนั้นศิลปินนิยมสร้างงานวาดอิสตรีที่เป็นโอยรันหรือโสเภณีชั้นสูง เกอิชา และอนนะกาตะ (女形) ตัวนางจากละครคาบูกิ ทั้งสามอาชีพมีความโดดเด่นในการสะท้อนเทรนด์ความงามในยุคดังกล่าว อนนะกาตะเองก็มักจะมีบทบาทการแสดงเป็นโอยรันซึ่งมาพร้อมพล็อตทำนองโศกนาฏกรรมรักระหว่างคนสองชนชั้น คนญี่ปุ่นเองก็มีรสนิยมชื่นชอบความเศร้าอันงดงามไม่แพ้ชาติอื่น ส่งผลให้ตัวงานศิลปะเองก็เก็บเอาภาพดังกล่าวมาบันทึกเอาไว้ให้ได้เห็นบ้าง
คนญี่ปุ่นไม่ได้เริ่มมองว่าความอ่อนเยาว์เป็นอุดมคติความงามในสมัยเอโดะ แต่เป็นค่านิยมที่พัฒนามาตั้งแต่ยุคเก่าก่อน แค่มีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงนี้ที่มองว่าความไร้เดียงสาของชายและหญิงนั้นเป็นความงดงามอย่างที่สุด ไม่เพียงแค่นั้น…มันยังเรียกได้ว่ามีความยั่วยวนใจและกระตุ้นเร้าอารมณ์ทางเพศได้มากที่สุดด้วย ทำนองว่ามันเซ็กซี่น่าเชยชมอ่ะแหละ
เมื่อมีการชื่นชมความสาวในแง่ดังกล่าว ศิลปินก็เริ่มพัฒนามุมมองในการวาดภาพของเด็กหนุ่มซึ่งยังมีความเป็นหญิงสูง เกิดค่านิยมในการชื่นชมความอ่อนเยาว์ ไม่หญิงไม่ชายที่เรียกว่า “วะกาชู” สร้างความแยบยลด้วยการซุกซ่อนด้วยความไม่ชัดเจนจนเป็นข้อถกเถียงขณะชมภาพ

COURTESY OF THE ROYAL ONTARIO MUSEUM, ©ROM
ความชอบดังกล่าวยังส่งผลมาถึงรสนิยมทางเพศด้วย เราจึงจะพบภาพชุงกะหรือภาพวาดอีโรติกที่แสดงการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย ทั้งในรูปแบบของผู้ที่มีอายุมากกว่ากับน้อยกว่า ไปจนถึงการร่วมเพศในขณะที่วะกาชูสวมเครื่องแต่งกายแบบสตรี

The Metropolitan Museum of Art, New York

วิธีการแยกวะกาชูกับชายทั่วไปอย่างหนึ่งคือการดูที่ทรงผม เนื่องจากต้องแสดงความอ่อนวัยและอ่อนต่อโลก จึงมักจะวาดการเกล้าผมคนละทรงกับชายทั่วไปซึ่งผ่านพิธีเก็มปุคุหรือพิธีฉลองการบรรลุนิติภาวะ ในตอนแรกเด็กชายจะต้องเกล้าผมมวยและเปิดหน้าผากเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีการโกนผมเลย แต่เมื่อผ่านพิธีกรรมแล้วจะทำการปลงผมและเกล้าเป็นทรง “ชงมาเกะ” (丁髷) ซึ่งจะโกนผมด้านหน้าออกตรงกลางครึ่งหัวเพื่อเปิดหน้าผากให้กว้างขึ้น เราอาจคุ้นเคยภาพทรงผมนี้จากทรงผมของเหล่าซามูไรนั่นเอง
ในระยะหลังคำว่าวะกาชูจึงถูกแทนที่ด้วยคำว่า “โชเน็น” (少年)ในสมัยเมจิ ก่อนจะค่อยๆ ถูกกลืนไปเป็นรากฐานของคำที่สาววายน่าจะคุ้นเคยกันดีคือ “บิโชเน็น” (美少年)หรือหนุ่มสวยในโลกวรรณกรรม นับเป็นพัฒนาการที่กินระยะเวลาอย่างยาวนานและไม่เคยจางหายไปในวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น
Featured Image : ‘Wakashu kabuki actor with an experienced geishaDuring their training, before becoming a competent and accepted geisha, the young maidservants (aka. maiko* or kamuro** ) learned the trade by attending the geishas of the highest class ( oiran ). The relationship..‘ (c.1830) attributed to Utagawa Kunisada

