King Scorpion | ราชันย์แมงป่องและราชวงศ์ที่ 0 แห่งอียิปต์

ตำนานที่แท้จริงของจอมราชันย์แห่งอียิปต์ที่ถูกยืมไปสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด หนังแฟนตาซีที่ทุกคนคงคิดไม่ถึงว่ามันยืนอยู่บนข้อมูลประวัติศาสตร์ ในช่วงรอยต่อเข้าสู่ยุคราชวงศ์ของอียิปต์โบราณ มาค้นหาเรื่องราวของ King Scorpion (ผู้ที่เหมือนจะเป็น) ฟาโรห์องค์แรกของอียิปต์พร้อมกันตอนนี้

หนังสือเกี่ยวกับอียิปต์ในไทยหลายเล่มอาจจะไม่ได้ให้ภาพของพัฒนาการของอารยธรรมอียิปต์ในช่วงตั้งไข่ไว้เท่าไรนัก โดยมักไปมุ่งเน้นที่บางช่วงของยุคประวัติศาสตร์อันยาวนานแทน แต่อียิปต์โบราณก็เหมือนกับหลายอารยธรรมของโลก นั่นคือมีพัฒนาการมาจากชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เกิดการรวมกันเป็นแบบแผนการปกครองเดียวกันในลักษณะอาณาจักรภายหลัง

ในช่วงรอยต่อระยะแรกเริ่มความเป็นรัฐหรือช่วงหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ (Protohistory) นักอียิปต์วิทยาเริ่มจำกัดนิยามส่วนนี้ว่าเป็นยุคราชวงศ์ที่ 0 ตรงกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายซึ่งมีรูปแบบวัฒนธรรมที่เรียกว่านาคาดา III (Naqada III) มีหลักฐานทางด้านศิลปะบางชิ้นที่สื่อให้เห็นถึงลำดับชนชั้นทางสังคม ความเชื่อ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานของยุคต้นราชวงศ์-อาณาจักรเก่า

วัฒนธรรมนาคาดา III เป็นยุคที่อียิปต์โบราณขยายอิทธิพลลงใต้ไปทางนูเบียและมุ่งไปทางตะวันออกตรงคาบสมุทรซีนายมากขึ้น ทั้งยังเกิดการพยายามผนวกดินแดนของรัฐต่างๆ ภายในลุ่มแม่น้ำไนล์เข้าเป็นปึกแผ่นผ่านสงคราม จุดนี้เองที่กษัตริย์บางองค์เริ่มปรากฏนามบนอักษรภาพและภาพแกะสลัก หนึ่งในนั้นคือราชันย์แมงป่องนั่นเอง

ราชันย์แมงป่องคือพระนามที่ตั้งขึ้นโดยนักอียิปต์วิทยาเพื่อใช้เรียกชื่อฟาโรห์ 2 องค์ที่ไม่ปรากฏนามซึ่งพบร่องรอยจากศิลปกรรมยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ ลักษณะหลักฐานที่พบเป็นรูปบุคคลแต่งกายอย่างฟาโรห์ มักสวมมงกุฏของอียิปต์บนที่เรียกว่าเฮ็ดเจ็ต (Hedjet) มีการเขียนหรือแกะภาพของแมงป่องประดับเคียงข้าง เหมือนอย่างภาพบนหัวคทาชื่อว่า “Scorpion Macehead” ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นภาพของราชันย์แมงป่ององค์ที่ 2 โดยพบจากการขุดค้นนครไฮราคอนโพลิส สถานที่เดียวกับที่พบแท่นผสมสำหรับประกอบพิธีกรรม (Palette) และหัวคทาจารึกภาพของกษัตริย์นาร์เมอร์ ฟาโรห์พระองค์แรกที่รวมอียิปต์ไว้ภายใต้การปกครองเดียวกัน

FAST FACTS : PHARAOH

ในช่วงยุคต้นราชวงศ์จนถึงยุคอาณาจักรกลางยังไม่มีปรากฏการใช้คำว่า “ฟาโรห์” จนถึงยุคอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ราว 1570 – 1069 ปีก่อนคริสตกาล ช่วงต้นราชวงศ์กษัตริย์จะถูกขานนามด้วยคำแทนตัวว่ากษัตริย์ (King) หรือ ฝ่าบาท (Your Majesty)
แต่เนื่องจากคำว่าฟาโรห์ค่อนข้างเป็นที่จดจำในการเรียกกษัตริย์อียิปต์โบราณ ในงานวิชาการจึงมักมีการนำคำนี้มาใช้เรียกกษัตริย์ในช่วงก่อนอาณาจักรใหม่ด้วยเช่นกัน

จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า “แมงป่อง” นั้นเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ มักข้องเกี่ยวกับศาสนาและการปกครองของอียิปต์ในช่วงต้นราชวงศ์ โดยมักพบอยู่ตามภาพแกะสลักนูนต่ำบนโบราณวัตถุชนิดต่างๆ ก่อนที่ภายหลังจะมีการนับถือในฐานะเทพแมงป่องหรือเทพีเซอร์เกต (Serket) ผู้เป็นเทพีป้องกันและเยียวยาพิษแมงป่อง

การพบภาพสลักหรือภาพเขียนแมงป่องนั้นเริ่มพบตั้งแต่ช่วงยุคประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงการเริ่มต้นของราชวงศ์ที่ 1-2 บางครั้งปรากฏอยู่ในอักษรภาพของชื่อฟาโรห์ด้วย ช่วงรอยต่อระหว่างยุคก่อนราชวงศ์กับราชวงศ์แรก ยังไม่มีการพบหลักฐานมากพอที่จะระบุลำดับกษัตริย์ที่ปกครองดินแดนได้อย่างชัดเจนนัก แม้จะอาศัยหลักฐานประกอบจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ยุคหลังๆ มาช่วยเสริม การกำหนดอายุสมัยก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่อย่างมาก เพราะหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าอาจมีลักษณะเฉพาะของช่วงยุคหนึ่งซึ่งไม่เป็นวัฒนธรรมเดียวกับยุคราชวงศ์ที่ 1 แต่ก็มีความต่างอย่างเห็นได้ชัดจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ อย่างหนึ่งคือเรื่องของการปรากฏครั้งแรกของอักษรภาพและกรอบพระนามกษัตริย์ที่เรียกว่า เซเรคห์ (Serekh)

FAST FACT : SEREKH

เซเรคห์ (Serekh) คือสัญลักษณ์แรกเริ่มของกรอบพระนามฟาโรห์หรือกษัตริย์ช่วงยุคก่อนราชวงศ์-ยุคต้นราชวงศ์ที่ 0-3 มีรูปเป็นกรอบสี่เหลี่ยมแทนสัญลักษณ์ของวัง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกรอบคาทูช (Cartouche) ภายในกรอบมักจารึกพระนามซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้สืบทอดอำนาจจากเทพโฮรัส (Horus)
ภายในกรอบมักจารึกพระนามซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้สืบทอดอำนาจจากเทพโฮรัส (Horus) ซึ่งเป็นพระนามที่นิยมกันตั้งแต่ยุคก่อนราชวงศ์และจัดว่าเป็นลักษณะของพระนามชนิดที่เก่าแก่ที่สุด

นักโบราณคดีจึงนิยามช่วงปลายยุคนาคาดา 3 ซึ่งเริ่มมีการอุบัติของเซเรคห์ว่าเป็นราชวงศ์ที่ 0 มีอายุราว 3,300 – 2,900 ก่อนคริสตกาล โดยมีฟาโรห์อยู่ 2 พระองค์ที่ไม่ปรากฏพระนาม แต่พบภาพเขียนและภาพสลักรูปแมงป่องอยู่ร่วมกับภาพบุคคล จึงได้กำหนดว่าเป็นฟาโรห์แมงป่องที่ 1 และ 2 ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น นอกจากนี้แล้วข้อแตกต่างอื่นๆ ที่บ่งชี้ก็รวมถึงการเริ่มสร้างสุสานหลวงของกษัตริย์/ผู้นำอย่างเป็นทางการอีกด้วย

ภาพของฟาโรห์ที่สันนิษฐานว่าเป็นราชันย์แมงป่องมีอยู่ราวๆ 3 ภาพหลักๆ ที่นักโบราณคดีให้ความสำคัญในฐานะโบราณวัตถุชิ้นเอก ภาพที่เก่าแก่ที่สุดอาจพบในบริเวณชายแดนของอียิปต์ซึ่งห่างไกลจากศูนย์กลางอย่างนูเบีย ในแก่งน้ำตกของแม่น้ำไนล์แห่งที่ 2 (Second Cataracts of the Nile) ใกล้กับเมืองวาดี ฮัลฟา (Wadi Halfa) มีภาพแกะสลักของแมงป่องที่มีคนถูกมัดมือไพล่หลังอยู่ใต้ก้ามของมัน คาดว่าอาจเป็นนักโทษหรือเชลยศึก บริเวณใกล้กันมีอีก 2 คน คนหนึ่งกำลังถือสิ่งที่ดูคล้ายคันและลูกธนูเล็งไปทางคนที่ถูกมัด

[แตะที่ขีด <> และเลื่อนเพื่อดูภาพเปรียบเทียบลายเส้น]
ภาพสลักนูนต่ำบนหินพบใกล้กับ Wadi Halfa ประเทศซูดานปัจจุบัน (Needler, 1967)

อีกภาพหนึ่งมาจากภาพสลักนูนต่ำบนหัวคทา จากข้อมูลระบุว่าทำจากดินเผา ค้นพบจากเมืองไฮราคอนโพลิส โดยการขุดค้นระหว่างปีค.ศ. 1897–1898 โดยนักโบราณคดีอังกฤษ James E. Quibell และ Frederick W. Green เดิมเคยมีบทความวิจัยประติมานวิทยาระบุว่ามี 3 ชิ้นที่พบจากการขุดค้น ทว่าตอนนี้พบข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์เพียง 1 ชิ้นคือภาพสลักบนหัวคทาชื่อว่า The Scorpion’s Macehead ดังที่ปรากฏในภาพด้านล่าง

The Scorpion Macehead, Ashmolean Museum (Photo by Heidi Kontkanen)

จากภาพสลักที่เห็นเป็นฟาโรห์ซึ่งอยู่ในท่วงท่ากำลังถืออาวุธพร้อมด้วยภาพบุคคลที่ดูเป็นเชลยศึก แสดงถึงพลังอำนาจและความฉกาจฉกรรจ์ของเจ้าผู้ปกครอง ดังที่จะเห็นการสร้างศิลปะแบบนี้ทั้งในสมัยของฟาโรห์นาร์เมอร์กับพระองค์อื่นๆ ที่อยู่ในราชวงศ์เดียวกัน แสดงถึงความสำคัญของสงครามในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอำนาจในยุคนี้เรื่อยไปจนถึงยุคราชวงศ์ที่ 1-2 ในยุคต่อๆ มาท่ามกลางประวัติศาสตร์อันยาวนานของอียิปต์โบราณ ภาพของกษัตริย์นักรบเองก็เรียกได้ว่าเป็นภาพบังคับเมื่อต้องจารึกเรื่องราวของฟาโรห์อย่างขาดไม่ได้อีกด้วย

การค้นพบสุสานที่เชื่อกันว่าเป็นของราชันย์แมงป่องอยู่ภายในสุสานรหัสตัว U ในพื้นที่สุสานหลวงที่เมืองอะบิดอส (Abydos) หรือที่เรียกกันว่า Tomb U-j มีอายุราว 3150 ปีก่อนคริสตกาล ประกอบด้วยห้อง 12 ห้อง ครอบคลุมพื้นที่ 66.4 ตารางเมตร น่าเสียดายที่สุสานแห่งนี้ไม่รอดพ้นฝีมือโจรปล้นสุสาน แต่ยังพอหลงเหลือร่องรอยบางอย่างให้นักโบราณคดีวิเคราะห์ได้ว่าทำขึ้นในยุคนาคาดา III หรือช่วง Dynasty 0 และเป็นสุสานที่เริ่มปรากฏตัวอักษรภาพยุคแรกของอียิปต์

ภาพแผนผังของ Tomb Uj iเมือง Abydos (uploaded by Raphael Greenberg).

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือไม้คทาทำจากงาช้าง ค้นพบจากในห้องที่ใหญ่ที่สุดภายในสุสาน U-j คทาหรือไม้เท้าจัดว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในวัฒนธรรมอียิปต์ การพบคทาทำให้อนุมานได้ว่าสุสานแห่งนี้เองก็เป็นสุสานของกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง ส่วนบริเวณห้องที่พบนั้นนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าคงเป็นโถงพระศพ (Burial Chamber) เพราะยังพบร่องรอยของแท่นบูชาซึ่งทำจากไม้ด้วย

ภาพคทาที่พบจากสุสาน U-J (Photo by John Billman)

นอกจากนี้เศษภาชนะดินเผาบางชิ้นมีการเขียนรูปแมงป่องประดับอยู่ ทำให้เกิดแนวคิดว่านี่อาจเป็นสุสานของราชันย์แมงป่อง ยังมีการพบเศษภาชนะดินเผาที่มาจากบริเวณปาเลสไตน์ซึ่งอาจเคยบรรจุไวน์ สินค้านำเข้าจากพื้นที่แถวๆ ปาเลสไตน์/อิสราเอล ปะปนอยู่ร่วมกับภาชนะดินเผาท้องถิ่นจำนวนมาก แสดงถึงสถานะของเจ้าของสุสานและเป็นหลักฐานของการติดต่อและทางค้าทางไกลระหว่างอียิปต์กับดินแดนคาบสมุทรซีนาย สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีในแหล่งอื่นๆ ที่มีอายุร่วมสมัยกับสุสานแห่งนี้

เหมือนจะมีร่องรอยแต่ก็ไม่ชัดเจน ด้วยความคลุมเครือของหลักฐานนี้เอง ทำให้นักอียิปต์วิทยาตั้งคำถามอีกทฤษฎีว่าราชันย์แมงป่องอาจจะเป็นเพียงพระนามอีกประเภทของฟาโรห์ในยุคดังกล่าว คล้ายกับการที่ตั้งชื่อตามเทพองค์สำคัญอย่างโฮรัส เพราะแม้จะมีการพบรูปแมงป่องและอักษรภาพ แต่มักพบกระจัดกระจายอยู่ตามหลักฐานตั้งแต่บนเศษภาชนะรวมถึงโบราณวัตถุที่ไม่สมบูรณ์ ยากที่จะบอกถึงบริบทกับเรื่องราวได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งยังเมื่อศึกษาศิลปะยังสามารถระบุว่ามีความใกล้เคียงกับรูปแบบที่สร้างขึ้นสมัยของฟาโรห์ราชวงศ์ที่ 1 อย่างเช่นฟาโรห์นาร์เมอร์ ปฐมกษัตริย์ที่รวมแผ่นดินอียิปต์บนและล่างเข้าด้วยกัน นอกจากนาร์เมอร์แล้ว บางทฤษฏียังพบว่าอาจหมายถึงฟาโรห์ฮอร์-อาฮา (Hor-Aha) ซึ่งเป็นฟาโรห์คนที่ 2 ของราชวงศ์นี้ และแนวคิดสุดท้ายอาจเป็นสิ่งที่ขมวดทุกทฤษฏีไว้ด้วยกัน นั่นคือการมองว่าทั้งราชันย์แมงป่อง, นาร์เมอร์ และฮอร์-อาฮาอาจเป็นฟาโรห์พระองค์เดียวกันทั้งสิ้น

จะเป็นภาพของฟาโรห์นาร์เมอร์ก็ดีหรือฟาโรห์ไม่ปรากฏพระนามอื่นๆ แม้จะยากสรุปหรือฟันธงไปทางไหนได้อย่างชัดเจนนัก ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่พอจะกล่าวได้คือมีสุสานปริศนาที่มีหลักฐานสำคัญช่วยบอกเล่าเรื่องราวยุครอยต่อระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์กับยุคต้นราชวงศ์อียิปต์โบราณ โบราณวัตถุที่บ่งบอกถึงเรื่องของสงคราม การค้า และการขยายอิทธิพลไปยังดินแดนอื่นตั้งแต่ระยะที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งเป็นเมือง ทั้งอักษรภาพต่างๆ ยังเป็นแหล่งศึกษารูปแบบพัฒนาของการเขียนยุคแรกเริ่มสำหรับนักอ่านจารึกและนักประวัติศาสตร์ในการเข้าใจระบบภาษายุคโบราณด้วย

ในอนาคตเราอาจมีการค้นพบหลักฐานอื่นๆ ที่ระบุได้เสียทีว่าตกลงแล้วราชันย์แมงป่องทั้ง 2 นั้นเป็นกษัตริย์อีก 2 องค์ในประวัติศาสตร์จริงๆ หรือเป็นเพียงพระนามแฝงของฟาโรห์พระองค์อื่นกันแน่ อย่างไรก็ตามเราก็ยังสนุกกับการชมภาพยนตร์เรื่อง The Scorpion King ในฐานะสื่อบันเทิงโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงเสียก็ได้ ตราบใดที่เรายังแยก 2 สิ่งนี้ออกจากกัน คิดมากไปก็หมดสนุกกันพอดี


References :

  • Arkell, A. (1963). Was King Scorpion Menes? Antiquity, 37(145), 31-35. doi:10.1017/S0003598X00037005
  • Bard, K., & Shubert, S. (2005). Encyclopedia of the archaeology of ancient Egypt. New York: Routledge.
  • Charvát Petr. (2013). The birth of the state: Ancient Egypt, Mesopotamia, India and China.Prague: Karolinum.
  • Klimczak,N.(August 6, 2020).Searching for the Lost Footsteps of the Scorpion Kings.Ancient-Origins.Retrieved 21 November 2022, from https://www.ancient-origins.net/history-famous-people/searching-lost-footsteps-scorpion-kings-007598
  • Needler, W. (1967). A Rock-Drawing on Gebel Sheikh Suliman (near Wadi Halfa) showing a Scorpion and Human Figures. Journal of the American Research Center in Egypt, 6, 87–91. https://doi.org/10.2307/40000735
  • O’Brien, A. A., & O’Brien, A. (1996). The Serekh as an Aspect of the Iconography of Early Kingship. Journal of the American Research Center in Egypt, 33, 123–138. https://doi.org/10.2307/40000610
  • Radner, K., Moeller, N., & Potts, D. (2020). The Oxford history of the ancient Near East Volume 1. New York: Oxford University Press.
  • Romer J. (2013). A history of ancient egypt : from the first farmers to the great pyramid (First U.S.). Thomas Dunne Books St. Martin’s Press.
  • Shaw, I. (2003). The Oxford History of Ancient Egypt. Oxford: Oxford University Press.

One thought on “King Scorpion | ราชันย์แมงป่องและราชวงศ์ที่ 0 แห่งอียิปต์”

ใส่ความเห็น

Please log in using one of these methods to post your comment:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.