เมื่อปลายเดือนเมษายน 2021 มีรายงานวิจัยที่สั่นสะเทือนวงการโบราณคดีอียิปต์ จากการค้นพบมัมมี่เพศหญิงพร้อมตัวอ่อนในครรภ์จากการทำเอ็กซเรย์ซีทีสแกน (CT-Scan) ร่างของมัมมี่ซึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็นมัมมี่เพศชายตามชื่อของนักบวชชายที่ปรากฏบนโลงศพ แต่เมื่อได้ลองทำการสแกนร่างด้วยซีทีสแกนจึงพบว่ามัมมี่ร่างนี้เป็นมัมมี่เพศหญิง และที่น่าตื่นเต้นไปมากกว่านั้นคือการเห็นกระดูกของตัวอ่อนภายในช่วงท้องของมัมมี่นี้ด้วย
บทความนี้จะเป็นการแปลและเรียบเรียงจากรายงานวิจัยที่ทางภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยวอร์ซอซึ่งร่วมกับสถาบันวิจัยภาคเมดิเตอเรเนียนและวัฒนธรรมตะวันออก วิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งโปแลนด์ ในการศึกษาเหล่ามัมมี่ที่ได้รับการบริจาคเข้ามาในมหาวิทยาลัยวอร์ซอนับแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

(Image :Aleksander Leydo/Warsaw Mummy Project, via The New York Times)
จากคอลเลคชั่นมัมมี่มนุษย์และสัตว์ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงวอร์ซอ (National Museum of Warsaw) ไม่เคยได้รับการศึกษารายละเอียดอย่างรอบด้านมาก่อน จึงเกิดโปรเจ็คในการนำมัมมี่เหล่านั้นออกมาศึกษาโดยใช้ชื่อโครงการว่า The Warsaw Mummy Project เริ่มการทำงานนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 เป็นเหตุให้เกิดการค้นพบอันน่าตื่นตะลึงนี้
ที่มาของมัมมี่ตั้งท้อง
ร่างของมัมมี่พร้อมทั้งหน้ากากคาร์ทอนเนจ (Cartonnage) หรือโลงชั้นใน รวมถึงโลงศพชั้นนอก ขนาดประมาณ 162x42x28 ซม. ได้เข้ามาเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยวอร์ซอและมาอยู่ใต้การดูแลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวอร์ซอในทะเบียนโบราณวัตถุหมายเลข 236805/3 ตั้งแต่ราวค.ศ. 1917/18.
มัมมี่ร่างนี้ได้รับบริจาคจากคุณ Jan Wę˙zyk–Rudzki ซึ่งมีชีวิตราวค.ศ.1792-1874 มอบให้กับทางมหาวิทยาลัยวอร์ซอจากอียิปต์ในเดือนธันวาคม ปี 1826 โดยไม่ปรากฏแหล่งที่มาชัดเจน เอกสารบางฉบับอ้างว่ามาจากสุสานชนชั้นสูงในธีบส์ (Thebes) บ้างก็ว่ามาจากพีระมิดคีออปส์ (Cheops) ในกีซา อย่างไรก็ตามเรื่องของการตามร่องรอยการค้นพบมัมมี่ร่างนี้ต้องตระหนักถึงเงื่อนไขทางด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับโบราณคดีในยุคสมัยของ Wę˙zyk–Rudzki ด้วย เนื่องจากในระยะเวลาที่เขาเดินทางไปอียิปต์นั้น ธีบส์ยังเป็นแหล่งโบราณคดีที่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างแน่ชัด และสุสานเชื้อพระวงศ์ที่รู้จักกันดีคือหุบผากษัตริย์ แน่นอนว่าการค้นพบศิลปวัตถุของยุคสมัยเกรโก-โรมัน (Greco-Roman Period) ซึ่งมีอายุราว 332 BC– 395 AD ยังไม่ปรากฏในหุบผากษัตริย์ แต่รูปแบบของโลงชั้นในและชั้นนอกสามารถพบได้ทั่วไปในสุสานของธีบส์ ทว่าลวดลายศิลปะที่ตกแต่งทำให้นักวิชาการช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ลงความเห็นว่าเป็นมัมมี่ของผู้หญิง และถอดแปลชื่อออกมาได้เป็น Hor-Djehuty เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1920s และ 1960s
จากการถอดความจารึกต่างๆ ระบุว่าเจ้าของโลงเป็น “อาลักษณ์นักบวชของโฮรัส-ธอธ (Horus-Thoth) เทพที่บูชากันบนเนินเขาที่ชื่อว่าดเจเม (Djeme) ข้าหลวงแห่งเมืองเพทมิทเทน (Petmiten) มีนามว่า Hor-Djehuty เป็นที่ชอบด้วยวจนะ, บุตรแห่ง Padiamonemipet และท่านหญิงแห่งตระกูล Tanetmin” นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าเขาเป็นผู้ขับร้องแห่งเทพมอนตู (Montu) ด้วย จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้ทีมงานสามารถกำหนดขอบเขตพื้นที่ของการพบมัมมี่ร่างนี้ให้แคบขึ้นได้ เพราะดเจเม คือวิหารซึ่งตั้งอยู่ในเมดิเนท ฮาบู(Medinet Habu) หรือบริเวณเมืองลักซอร์( Luxor หรือ Thebes) ทางตอนใต้ของอียิปต์ และเนินเขาที่มีชื่อเดียวกันนี้ก็คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งขนาบไปกับกำแพงเมืองนั่นเอง ส่วนเพทมิทเทนก็คือส่วนหนึ่งของ ดเจเมในเวลานั้น
เทพมอนตูได้รับการบูชาในบางแห่งของภูมิภาคดังกล่าว โดยแห่งที่ได้รับการพูดถึงมากก็คือเฮอร์มอนทิส (Hermontis) ปัจจุบันคืออาร์มันท์ (Armant) ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ของเมดิเนท ฮาบู 15 กม. Djeme เป็นศูนย์กลางของการปกครองท้องถิ่น ส่วนเทพ Djehuty-Hor หรือ Thoth-Horus เคยได้รับการบูชาในวิหารขนาดเล็กที่ก่อตั้งโดยกษัตริย์ปโตเลมีที่ 8 ที่ครองราชย์เมื่อราว 169–116 BC

(Images © CT and X-ray by the Warsaw Mummy Project).
จากงานฝีมือและรูปแบบศิลปะที่ปรากฏบนโลงทั้งชั้นในและชั้นนอกทำให้นักโบราณคดีกำหนดอายุสมัยของตัวโลงได้ว่าอยู่ช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล – คริสต์ศตวรรษแรก ในขณะที่ตำแหน่งและการระบุชื่อวิหารนี้กลับดูจะเสื่อมความนิยมในการพูดถึงและสูญหายไปในระยะเวลาดังกล่าว คุณสมบัติแวดล้อมต่างๆ แสดงให้เห็นว่าเจ้าของโลงศพคือ Hor-Djehuty นั้นมีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงซึ่งทำงานอยู่ในภาคตอนเหนือของมณฑลเมมโมเนีย (Memnonia) คือเมืองศูนย์กลางในการปกครองทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ในธีบส์ระหว่างยุคสมัยปโตเมอิคตอนปลาย (Late Ptolemaic)
พิจารณาจากสุสานในเมืองธีบส์ซึ่งมีจำนวนหนึ่งเป็นสุสานในยุคสมัยเกรโก-โรมันนั้นทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเจ้าของโลงศพนี้น่าจะเคยถูกฝั่งอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งที่นี่ วิหารผู้วายชนม์ของอเมนโฮเทป บุตรแห่งฮาปู (Hapu) ซึ่งอยู่ใกล้กับดเจเม นั้นก็เป็นวิหารที่ใช้ปลงศพในสมัยปโตเมอิก และก็ดูสมเหตุสมผลที่จะมองว่าวิหารแห่งนี้เองอาจเป็นที่ทำมัมมี่ของ Hor-Djehuty ด้วย
ทว่าผลจากการฉายรังสีเพื่อสแกนมัมมี่กลับทำให้ค้นพบว่าโลงศพกับร่างที่บรรจุภายในนั้นเป็นคนละคนกัน โดยในการวินิจฉัยด้วยการเอ็กซเรย์ในทศวรรษ 1990s ระบุว่าเพศของมัมมี่นั้นเป็นเพศชาย ทว่าจากข้อมูลการศึกษาใหม่หนนี้สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่ามัมมี่ร่างนี้เป็นเพศหญิง ไม่ใช่เพศชาย แสดงให้เห็นว่ามัมมี่ร่างนี้ถูกบรรจุใหม่ในโลงศพที่ไม่ใช่ของตนเอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ด้วยความเข้าใจผิดในสมัยโบราณเอง หรือจะเป็นเพราะการลักลอบขุดและบรรจุใหม่เพื่อการค้าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งการค้าโบราณวัตถุเฟื่องฟูมาก จากความหวังที่จะพบตำแหน่งที่แน่ชัดของมัมมี่ร่างนี้ ทางทีมวิจัยจึงทำได้เพียงระบุที่มาของโลงศพได้เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถหาต้นตอที่มาของมัมมี่หญิงร่างนี้ได้ชัดเจน
มัมมี่ผ่านการเอ็กซเรย์ภาพตัดขวางโดยเครื่องซีทีสแกนเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015 ที่ Affidea Clinic ในเมืองอ็อกซวอค (Otwock) ตอนกลางประเทศโปแลนด์ โดยแบ่งภาพสแกนเป็นส่วนๆ ที่จะถูกนำมาประกอบเป็นโมเดลภาพรวม 3D ที่มีความละเอียดสูงอีกครั้งเพื่อให้ครอบคลุมทุกส่วนของร่างมัมมี่
จากการเอ็กซ์เรย์พบว่าภาพรวมมัมมี่ร่างนี้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เนื้อเยื่อรวมถึงอวัยวะภายในถูกทำให้แห้งสนิท การแตกของกระดูกขื่อจมูก (Ethmoid) แสดงให้เห็นถึงร่องรอยการเจาะดึงเนื้อสมองออกทางโพรงจมูก แล้วจึงแทนที่ด้วยวัสดุ/สารดองศพ โดยที่ดวงตา จมูกและปากไม่ได้ถูกยัดด้วยสารหรือวัสดุใด มีร่องรอยเสียหายของกระดูกเชิงกรานที่หักและหลุดจากตำแหน่งเดิมซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการตาย (Post mortem) ช่องท้องมีการนำอวัยวะ 4 อย่าง ได้แก่ ปอด, ตับ, กระเพาะ และลำไส้ออกไปและแทนที่ด้วยม้วนผ้าลินิน ส่วนหัวใจมีการนำออกไปผ่านกระบวนการดองและนำกลับเข้ามาไว้ในร่างตามธรรมเนียมทางศาสนา

(Image : Warsaw Mummy Project/Aleksander Leydo and Łukasz Kownacki).
มัมมี่ถูกจัดอยู่ในท่าไขว้แขนประสานทับอก โดยมีการมัดท่อนแขน ขา และลำตัวแยกออกจากกันด้วยผ้าลินินประมาณอย่างน้อย 10 ชั้น บริเวณที่ว่างระหว่างขา แขน อก ไปจนถึงจุดอื่นๆ จะถูกเติมด้วยผ้า ก่อนที่ทั้งร่างจะถูกมัดพันทั้งหมดด้วยผ้าอีกครั้ง บริเวณทรวงอกมีการขึ้นรูปใหม่ให้เป็นทรงหน้าอกสตรีโดยมีแผ่นกลมชิ้นเล็กๆ สันนิษฐานว่าเป็นโลหะ วางลงคล้ายเป็นหัวนมแทรกอยู่ระหว่างชั้นของผ้าพัน แต่อยู่สูงเหนือยอดอกจริงของมัมมี่ ผ้าพันศพบางส่วนมีการชุบน้ำมันดิบหรือสารทีมีลักษณะเนื้อคล้ายกัน
มีร่องรอยของการถูกปล้นสิ่งของมีค่าหลงเหลืออยู่ โดยผ้าพันศพชั้นนอกสุดของมัมมี่ถูกเปิดออก เผยให้เห็นปลายนิ้วเท้าบางส่วนที่ปกติจะถูกมัดพันรวบด้วยผ้าชั้นนอกสุด บริเวณลำคอและส่วนบนของอกมีความเสียหาย คาดว่าเกิดจากฝีมือของโจรสุสานที่มีความชำนาญในเรื่องของมัมมี่ เพราะจุดที่เกิดความเสียหายตรงกับบริเวณที่มักมีการใส่เครื่องรางพิทักษ์ผู้วายชนม์เอาไว้ รวมถึงบางจุดอาจมีเครื่องประดับมีค่าอื่นๆ ลักษณะสอดคล้องกับนักค้าของเก่ายุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่มีความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมทำมัมมี่แบบอียิปต์
ถึงจะมีเครื่องประดับและเครื่องรางบางส่วนหายไป แต่จากการสแกนก็ยังปรากฏโบราณวัตถุบางชิ้นที่ยังไม่ถูกรบกวน จำนวนราว 15 ชิ้น ตัวอย่างได้แก่ 3 ชิ้นบริเวณช่วงศีรษะและลำคอ แผ่นโลหะกลม 2 ชิ้นบริเวณยอดอก ยังมีเครื่องราง 4 ชิ้นที่เรียกว่า “บุตรทั้งสี่ของโฮรัส” (Four Sons of Horus) ซึ่งปรากฏกายในร่างของมัมมี่โดยมีศีรษะเป็นสัตว์หรือหน้าของเทพ ประกอบด้วย เคเบเซนูเอฟ (Qebehsenuef) ผู้มีศีรษะเหยี่ยว, เทพฮาปิ (Hapy) ศีรษะเป็นลิงบาบูน, เทพศีรษะหมาไน ดูอามูเทฟ (Duamutef) และอิมเซติ (Imsety) ผู้มีศีรษะเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุหายากบริเวณช่วงล่างของมัมมี่ โดยพบแผ่นกรวยถูกมัดล้อมด้วยวงผ้าลินิน ซึ่งลักษณะของวงผ้าที่พบตรงช่วงสะดือเช่นนี้พบได้ในมัมมี่ยุคปโตเมอิก (Ptolemaic) อายุราว 100 ปีก่อนคริสตกาล
การกำหนดอายุและเพศสามารถมองเห็นได้จากภาพเอ็กซเรย์ หน้าอกและร่องรอยของตัวอ่อนบ่งบอกได้ดีว่ามัมมี่เป็นเพศหญิง ทำให้การกำหนดอายุและชนชั้นทางสังคมด้วยโลงศพเป็นไปไม่ได้ นักโบราณคดีจึงมุ่งไปที่หลักฐานภายใต้ผ้าลินิน เพราะการที่มัมมี่ถูกรบกวนด้วยฝีมือของโจรปล้นสุสานย่อมทำให้การกำหนดหาค่าอายุด้วย Carbon-14 จะได้ผลที่ไม่น่าเชื่อถือ ฟันและรอยประสานระหว่างกระดูกข้างขม่อมและกระดูกขมับที่เรียกว่าสควาโมซัล ซูเจอร์ (Squamosal suture) ทำให้ทราบว่ามัมมี่สตรีร่างนี้เสียชีวิตเมื่ออายุประมาณ 20-30 ปี
ส่วนของทารกนั้นพบจากการสแกนว่าอยู่ในร่างโดยไม่ถูกนำออกมาจากจุดเดิม โดยคงถูกทำมัมมี่ร่วมกับร่างของมารดา ทารกหรือตัวอ่อนอยู่บริเวณเชิงกรานภายในตำแหน่งมดลูก การค้นพบจากเอ็กซเรย์ปรากฏเป็นรูปทรงศีรษะที่มีเส้นรอบวงประมาณ 25 ซม. ทำให้ประเมินอายุครรภ์ว่าอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 26-30 กระดูกส่วนอื่นๆ ของทารกนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยดีนัก ยังถูกล้อมรอบไปด้วยเนื้อเยื่อของมดลูก ทำให้ยากจะประเมินหรือวัดผลจากกระดูกชิ้นอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากกะโหลกในภาพสแกน

การค้นพบตัวอ่อนในครรภ์ที่ไม่ถูกนำออกไปจากร่างของมารดานั้น อาจเป็นเพราะอายุครรภ์ที่ยังน้อยและเป็นการยากที่จะนำทารกที่ยังไม่คลอดออกจากตัวร่างมัมมี่โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายใน ระยะดังกล่าวยังเป็นช่วงที่ผนังมดลูกยังหนาและแข็ง การจะผ่าเอาร่างของทารกออกมาโดยไม่ทำลายอวัยวะในอุ้งเชิงกรานจึงยากเกินความจำเป็น การที่เด็กยังไม่ได้ถือกำเนิดออกจากครรภ์นั้น ชาวอียิปต์โบราณยังคงมองว่าทารกถือเป็นส่วนหนึ่งของมารดาอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งกรณีจะแตกต่างไปจากตัวอ่อนซึ่งถูกทำมัมมี่ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ด้วยข้อแตกต่างดังกล่าว
ทั้งนี้การศึกษามัมมี่สตรีปริศนาแห่งพิพิธภัณฑ์วอร์ซอนี้กระทำขึ้นโดยมิได้ทำการรบกวนร่างกายใต้ผ้าพัน แต่การค้นพบมัมมี่ที่ยังมีทารกอยู่ในมดลูกก็อาจช่วยให้นักโบราณคดีได้เข้าใจเรื่องของการตั้งครรภ์ทั้งในด้านการแพทย์และความเชื่อของชาวอียิปตฺโบราณได้ดีขึ้น ซึ่งในการวิจัยขั้นต่อๆ ไปอาจต้องอาศัยสหวิทยาในอนาคตเข้ามามีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดขึ้น
โฉมหน้าของอดีตที่หวนคืน

ข้อมูลเพิ่มเติมจากปี 2022 ทางทีมวิจัยได้ทำการศึกษาและคืนภาพของมัมมี่ปริศนาร่างนี้ โดยได้ใช้เทคนิคทั้ง 2D และ 3D นำทีมโดยศาสตราจารย์ Chantal Milani นักนิติมานุษยวิทยาชาวอิตาเลียน หนึ่งในศิลปินที่เข้ามาสร้างภาพใบหน้าคือฮิว มอร์ริสัน (Hew Morrison) อธิบายเรื่องการสร้างภาพสมมติฐานใบหน้าแบบนี้ว่าใช้เทคนิคอย่างเดียวกับการระบุตัวตนด้วยนิติวิทยาศาสตร์ที่ใช้กับเหยื่อที่ไม่สามารถระบุ DNA หรือรอยนิ้วมือได้ ด้วยการอาศัยโครงสร้างของกะโหลกศีรษะ ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลในคดีอาชญากรรมที่ยากจะระบุรูปพรรณของร่างได้

เพื่อความแม่นยำมากขึ้น Dr.Milani จึงได้ทำการสร้างภาพ 3D ของมัมมี่ร่างเดียวกัน โดยอาศัยข้อมูลเรื่องเนื้อเยื่อจากการสำรวจข้อมูลประชากรของชาติพันธุ์วิทยาในปัจจุบัน นำมาใช้กำหนดความตื้นลึกของจุดต่างๆ ที่เนื้อของมนุษย์จะก่อขึ้นบนฐานรูปทรงกะโหลก แม้ว่าการสร้างภาพสามมิติจะเรียกว่าเป็นภาพเหมือนบุคคลไม่ได้ แต่ก็สามารถแสดงภาพอัตลักษณ์บุคคลของมัมมี่ร่างนี้ว่ามีโครงหน้าแบบใดได้อย่างแม่นยำ
Featured Image : Olek Leydo / Warsaw Mummy Project via Smithsonian Magazine

References :
- Cowie, A. (2022, November 11). Is this the face of the first mummy of a pregnant woman? Ancient Origins Reconstructing the story of humanity’s past. Retrieved November 12, 2022, from https://www.ancient-origins.net/news-history-archaeology/mummy-pregnant-woman-0017509
- Ejsmond, W., Ożarek-Szilke, M., Jaworski, M., & Szilke, S. (2021). A pregnant ancient Egyptian mummy from the 1st century BC. Journal of Archaeological Science, 132, 105371. https://doi.org/10.1016/j.jas.2021.105371
- Katz, B. (2021, April 30). World’s only known pregnant Egyptian mummy revealed. Smithsonian.com. Retrieved November 12, 2022, from https://www.smithsonianmag.com/smart-news/researchers-reveal-first-known-pregnant-egyptian-mummy-180977637/