พัฒนามาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์และอยู่ระหว่างสมัยก่อนการสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่เรารู้จักกันดีอย่างพีระมิด อียิปต์โบราณเริ่มต้นจากการรวบรวมชุมชนต่างๆ สร้างเป็นรัฐซึ่งอยู่ใต้การปกครองระบอบกษัตริย์จนเป็นจุดเปลี่ยนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ในที่สุด
อย่างที่เรามักคุ้นเคยกันว่าอาณาจักรอียิปต์แบ่งภูมิภาคออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ นั่นคืออียิปต์บน (ที่อยู่ทางทิศใต้ของประเทศตามภูมิศาสตร์) กับอียิปต์ล่างซึ่งเป็นบริเวณปากแม่น้ำไนล์ ทิศเหนือของทวีปแอฟริกา นักอียิปต์วิทยาให้นิยามของการอุบัติขึ้นของยุคประวัติศาสตร์อียิปต์คือเมื่อมีการควบดินแดนทั้งบนและล่างมาอยู่ใต้การปกครองระบอบเดียวกันภายใต้กษัตริย์เพียงหนึ่ง พร้อมกับการเริ่มใช้ตัวอักษรอียิปต์ครั้งแรกๆ
ในช่วงยุคก่อนราชวงศ์ (Predynastic Period) ซึ่งนักอียิปต์วิทยาใช้นิยามหมายถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอียิปต์ แต่เส้นแบ่งระหว่างยุคสมัยค่อนข้างที่จะพร่าเลือนและสับสนจนอาจทำให้การแยกระหว่างยุคก่อนราชวงศ์กับยุคราชวงศ์แรกค่อนข้างยาก การศึกษาอียิปต์โบราณโดยเฉพาะช่วงรอยต่อระหว่างยุคก่อนราชวงศ์กับยุคราชวงศ์ช่วงแรกๆ จึงต้องอาศัยข้อมูลทางด้านโบราณคดีมาช่วยในการทำความเข้าใจการกำเนิดและพัฒนาการของอียิปต์
และจากหลักฐานทำให้อนุมานได้ว่าอารยธรรมอียิปต์โบราณมีจุดเริ่มต้นจากเมืองในยุคก่อนประวัติศาสตร์ทางทิศใต้ (อียิปต์บน) ซึ่งอุบัติขึ้นจากเมืองที่เป็นศูนย์กลางอย่างเมืองนุบท์ (Nubt) มีอีกชื่อว่านาคาดา (Naqada), เมืองธีส์ (This) หรืออะบิดอส (Abydos) และเนเคน (Nekhen) หรือที่สมัยหลังมีชื่อว่าไฮราคอนโพลิส (Hierakonpolis) ก่อนที่จะกระจายออกไปทางทิศเหนือตามลำน้ำไนล์จนถึงอียิปต์ล่าง
แม้นักวิชาการยังไม่สามารถให้น้ำหนักข้างมากกับทฤษฎีที่พยายามอธิบายพัฒนาการจากยุคก่อนราชวงศ์เปลี่ยนผ่านมาเป็นยุคราชวงศ์ได้ด้วยปัจจัยสนับสนุนใดอย่างแน่ชัด เพราะหากใช้บริบทของความเป็นเมือง (Urbanization) ก็คงอธิบายว่าชุมชนอียิปต์โบราณยุคก่อนและต้นราชวงศ์อาจไม่ได้มีรูปแบบอย่างที่เรียกว่าเมืองแบบที่เราเข้าใจจากยุคประวัติศาสตร์
แต่หากเราเริ่มมองพัฒนาการทางด้านสังคม รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน ความซับซ้อนของโครงสร้างชนชั้นทางสังคม, อัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม, เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy), ศูนย์อำนาจทางการปกครอง (Centralization) ไปจนถึงอุตสาหกรรมบางอย่างของชุมชน และอาจรวมถึงการพบหลักฐานด้านการติดต่อค้าขายทางไกล เราอาจจะเริ่มเห็นภาพว่าในทุกๆ เมืองที่มีความสำคัญในยุคประวัติศาสตร์ล้วนพัฒนามาจากเมืองที่มีโครงสร้างสังคมที่ซับซ้อนหลากหลาย มีอุตสาหกรรมและการค้าขายระหว่างเมืองหรือชุมชนแล้วตั้งแต่ยุคก่อนก่อนประวัติศาสตร์ การค้าอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจของชุมชนให้มีการพัฒนามากขึ้น ยิ่งชุมชนนั้นๆ มีทรัพยากรมากเพียงพอทั้งสำหรับล่อเลี้ยงชุมชนและส่งไปแลกเปลี่ยนกับที่อื่น ยิ่งทำให้ชุมชนดังกล่าวมีความเจริญ มีการขยายตัวมากกว่าชุมชนที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอ
กรณีสำหรับอียิปต์นี้ก็เช่นกัน ทั้งนาคาดา อบิดอสและไฮราคอนโพลิสนั้นเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตลูกปัด ภาชนะหิน และอื่นๆ ยังไม่นับว่าใกล้กับแหล่งแร่ทองคำอีกด้วย ปัจจัยที่ได้มาจากความร่ำรวยทางทรัพยากรของทะเลทรายตะวันออกส่งผลให้ชุมชนเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ก่อนจะขยายมาสู่ความเป็นรัฐเล็กๆ ที่จะค่อยๆ ถูกรวมเข้าเป็นกลุ่มก้อนอาณาจักรเดียวกัน
อียิปต์เป็นสังคมกสิกรรม ผู้คนส่วนมากประกอบอาชีพชาวนาชาวสวน โดยยึดที่ดินทำการเพาะปลูกตามหมู่บ้านเล็กๆ มีการชลประทานขนาดย่อมเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ปัญหาดินเค็มแทบไม่เป็นเรื่องน่ากังวลเพราะชาวอียิปต์อาศัยน้ำท่วมจากแม่น้ำไนล์ที่จะมีปริมาณน้ำสูงขึ้นตามฤดูกาลช่วยพัดพาเอาเกลือออกไปจากพื้นดินและเพิ่มแร่ธาตุอาหาร โดยปกติแล้วช่วงน้ำท่วมมักจะเกิดขึ้นช่วงเดือนกรกฏาคม-กันยายนทุกปี ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้สภาพพื้นดินบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงอย่างสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์มีความอุดมสมบูรณ์และความชื้นเหมาะแก่การเพาะปลูก การปลูกข้าวพันธุ์ธัญญาหารถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักและตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาณาจักร และผลผลิตทางเกษตรบางส่วนจะถูกเก็บเข้าคลังหลวงในฐานะภาษีรายปีด้วย
แต่แม้ว่าส่วนภูมิภาคอียิปต์ล่างจะเป็นพื้นที่สำคัญด้านเกษตรกรรมซึ่งคือทรัพยากรอาหารของชาวอียิปต์ ทว่ารูปแบบการปกครองและเจ้าผู้ปกครองที่แข็งแกร่งมักจะมาจากดินแดนทางอียิปต์บนเสียมากกว่า และต่อให้มีการปกครองอย่างยาวนานในเมืองศูนย์กลางใหม่ทางบริเวณดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ แต่หลายครั้งในประวัติศาสตร์อันยาวนานต้องมีการคืนอำนาจสู่เมืองในอียิปต์บนเป็นระยะ อาจเป็นเพื่อการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองไปจนถึงการแตกศูนย์กลางอำนาจออกเป็น 2 ส่วนอีกครั้ง
ช่วงยุคต้นราชวงศ์เป็นสมัยที่อียิปต์โบราณเริ่มมีการปฏิวัติอัตลักษณ์ของตนเองทั้งในด้านภาษา, อักษร, ศิลปะ และองค์ความรู้ต่างๆ เริ่มมีการประดิษฐ์ปฏิทิน การประดิษฐ์อักษรเป็นวิวัฒนาการเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ สำหรับอียิปต์โบราณการมีระบบตัวอักษรใช้กันยังบ่งชี้ว่าเริ่มมีระบบภาษีใช้กันตั้งแต่ยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ – ยุคราชวงศ์ เนื่องจากมีร่องรอยของจารึกอักษรพระนามกษัตริย์และตราราชวงศ์สำหรับใช้ในการระบุภาชนะที่บรรจุสิ่งของซึ่งใช้ในการจ่ายภาษีให้กับรัฐ
สถาปัตยกรรมและงานศิลปกรรมยังแสดงให้เห็นถึงความประณีตของช่างฝีมือ จากรูปแบบศิลปะที่พบนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอาชีพช่างและศิลปินเริ่มกลายเป็นงานเต็มเวลา จัดเป็นอาชีพหนึ่งสำหรับเลี้ยงชีพโดยอาจถูกอุปถัมภ์โดยราชวงศ์ ช่างเหล่านี้สร้างผลงานเอาไว้ตามข้าวของและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ อาทิ จานของกษัตริย์นาร์เมอร์ (Narmer Palette) ซึ่งอาจเป็นของใช้ในพิธีกรรมหรือผสมเครื่องสำอางของกษัตริย์ ไปจนถึงอนุสรณ์สถานอย่างวิหารและสุสานของชนชั้นปกครอง
สุสานเป็นหลักฐานที่ถูกใช้ศึกษาโครงสร้างทางสังคมในสมัยนี้อยู่บ่อยครั้ง โดยยุคต้นราชวงศ์มีการพบสุสานของข้าราชการหรือขุนนางที่มีตำแหน่งสูงในบริเวณทางเหนือของซัคคารา ขุนนางพวกนี้ปกครองโดยมีกษัตริย์เป็นผู้อยู่บนสุดของฐานอำนาจ ราชวงศ์จะนิยมสร้างสุสานไว้ในศูนย์กลางอำนาจของตนในอียิปต์บนอย่างเมืองอะบิดอส นอกจากสุสานเหล่านี้จะเป็นตัวสะท้อนความเป็นรัฐขนาดใหญ่แล้วก็ยังบอกถึงระดับชนชั้นกับความร่ำรวยของรัฐอีกด้วย
เพราะในบรรดาสิ่งของที่นักโบราณคดีค้นพบจากสุสานมากมายล้วนเป็นเครื่องยืนยันระบบเศรษฐกิจที่ดีมากกว่าจะเป็นรัฐที่มีความขาดแคลนทรัพยากร นอกจากนี้ปริมาณของเครื่องมือทองแดงที่พบจำนวนมากในสุสานก็ยังแสดงถึงการเข้าถึงแหล่งแร่ทองแดงในทะเลทรายตะวันออก หรือการติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่นซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทองแดงขนาดใหญ่อย่างชุมชนแถบทะเลทรายเนเกฟ (Negev) และคาบสมุทรซีนาย (Sinai) ที่มีวัฒนธรรมและชุมชนของชาวคานาอัน (Canaan), อะมาเลค (Amalek), อะมอไรต์ (Amorite), นาเบเทียน (Nabataean) และเอดอม (Edom)
สิ่งที่เจริญมาถึงจุดสูงสุดอีกอย่างหนึ่งคือความคิดความเชื่อทางศาสนา เริ่มมีการมองชีวิตบนโลกเป็นเพียงการเดินทางหนึ่งของชีวิต ร่องรอยหลักฐานเกี่ยวกับความเชื่อระยะนี้สามารถพบได้จากป้ายจารึกที่มีภาพของสถาปัตยกรรมคล้ายวัดหรือแท่นบูชา จารึกส่วนมากมักแสดงถึงการอุทิศสิ่งของแก่เทพเจ้า แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลมากพอจะกล่าวได้ว่าศูนย์กลางทางด้านศาสนาและเทพเจ้านั้นคือที่ใด หลักฐานบางชิ้นที่สนับสนุนว่ามีสถานที่ประกอบศาสนกิจนอกเหนือไปจากสุสานหลวงแล้วก็ยังมีวิหาร แต่ก็แทบไม่เหลือภาพโครงสร้างรูปแบบแน่ชัด คงเหลือเพียงซากปรักหักพังในคอปทอส (Coptos), อบิดอส และไฮราคอนโพลิสเท่านั้น โดยในเมืองสุดท้ายนั้นพบฐานอาคารรูปทรงรีซึ่งพอเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน
แนวความคิดเรื่อง “มาอัต” (Ma’at) ที่เป็นภาพสะท้อนของความจริง, ความเที่ยงธรรม, เอกภาพและความสมดุลถูกเชิดชูชัดขึ้นและสะท้อนผ่านตัวของกษัตริย์ที่มีหน้าที่รวมดินแดนอียิปต์ทั้งมวลไว้เป็นหนึ่งเดียวและรักษาเสถียรภาพนั้นเอาไว้ โดยมีมุมมองว่ากษัตริย์ถือว่าเป็นสมมติเทพ มีอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรม แม้ว่าหลักฐานของระบอบกษัตริย์มีมาตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์ แต่เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงระยะนี้

ในช่วงยุคต้นราชวงศ์จนถึงยุคอาณาจักรกลางยังไม่มีปรากฏการใช้คำว่า “ฟาโรห์” จนถึงยุคอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ราว 1570 – 1069 ปีก่อนคริสตกาล ช่วงต้นราชวงศ์กษัตริย์จะถูกขานนามด้วยคำแทนตัวว่ากษัตริย์ (King) หรือ ฝ่าบาท (Your Majesty) การจารึกพระนามจะอยู่ในรูปที่เรียกว่า Serekh อักษรภาพที่เป็นคล้ายกรอบสี่เหลี่ยมแทนสัญลักษณ์ของวัง กรอบเซเรคนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แรกเริ่มของกรอบพระนามสมัยหลังอย่างคาทูช (Cartouche) ภายในกรอบมักจารึกพระนามซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้สืบทอดอำนาจจากเทพโฮรัส (Horus) ซึ่งเป็นพระนามที่นิยมกันตั้งแต่ยุคก่อนราชวงศ์และจัดว่าเป็นลักษณะของพระนามชนิดที่เก่าแก่ที่สุด
นอกจากสุสานและศาสนสถาน นักโบราณคดียังพบซากอาคารที่สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระราชวังภายในเมืองไฮราคอนโพลิส โดยพบร่องรอยของซุ้มประตูก่อจากอิฐ วิเคราะห์ร่วมกับหลักฐานอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงความหนาแน่นของชุมชน ไฮราคอนโพลิสเป็นเสมือนศูนย์กลางทางการปกครองในยุคแรกเริ่มเป็นรัฐของอียิปต์ การปรากฏรูปแบบอาคารก่ออิฐที่คล้ายคลึงกันพบได้ในแหล่งโบราณคดียุคราชวงศ์ที่ 1 และคาดว่าพัฒนารูปแบบมาจากอาคารยุควัฒนธรรมนาคาดา 2 และ 3 ไปจนถึงยุคราชวงศ์ที่ 0 ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นที่อยู่อาศัยก็คงเป็นวิหารของเมืองดังกล่าว

ร่องรอยของป้อมปราการปรากฏให้เห็นบางที่อย่างเกาะเอเลแฟนทีน (Elephantine) หรือเมืองโบราณอะบู ซึ่งตั้งอยู่ตรงแก่งแม่น้ำไนล์แห่งแรก ป้อมปราการขนาดใหญ่สร้างขึ้นยุคราชวงศ์ที่ 1 ล้อมรอบด้วยกำแพงป้อมเมืองยุคราชวงศ์ที่ 2 ในเกาะแห่งนี้ยังพบร่องรอยของวิหารยุคต้นราชวงศ์ ขนาดกว้าง 8 เมตร สร้างด้วยอิฐดินอย่างง่ายๆ ก่อซ้อนแนวโพรงหินแกรนิตธรรมชาติ
โดยสรุปแล้วการพัฒนาอารยธรรมของอียิปต์ในยุคต้นราชวงศ์อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลหลักมาจากการวิวัฒนาการของรูปแบบสังคมการเมืองกับองค์กรเศรษฐกิจและคตินิยม (Ideology) โดยเมื่อเทียบกับสังคมเมืองในพื้นที่ตะวันออกกลางซึ่งแม้จะร่วมสมัยกันแต่ก็มีขนาดเล็กและมีจำนวนประชากรต่ำกว่าอียิปต์ที่มีความสำเร็จในระยะเวลาสั้นและมีประสิทธิภาพมากกว่า ด้วยอียิปต์ใช้เวลาในการพัฒนามาเป็นอารยธรรมเพียงช่วงเวลาราว 800 กว่าปีนับแต่เริ่มราชวงศ์แรกจนถึงสิ้นสุดยุคอาณาจักรเก่า (Old Kingdom)
กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์ที่ 1 ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ของมาเนโท ( Manetho) ผู้ซึ่งเขียนพงศาวดารประวัติศาสตร์อียิปต์ประมาณช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาล ระบุว่าฟาโรห์องค์แรกคือ “เมเนส” (Menes) กษัตริย์ที่มาจากอียิปต์บนผู้พิชิตดินแดนอียิปต์ทั้งบนและล่างให้กลายเป็นดินแดนเดียวกัน พระนามของเมเนสยังปรากฏอยู่ในวงศากษัตริย์ตูริน (Turin King List) แต่เมื่อมีการศึกษาทางโบราณคดีในระยะต่อมาเริ่มปรากฏพระนาม “นาร์เมอร์” (Narmer) เป็นชื่อที่นักวิชาการส่วนมากเห็นพ้องตรงกันว่าคือผู้รวมอียิปต์ไว้ด้วยกันเมื่อ 3,150 ปีก่อนคริสตกาล กระนั้นก็ยังมีข้อถกเถียงกันว่าทั้งเมเนสและนาร์เมอร์อาจจะเป็นกษัตริย์องค์เดียวกันก็เป็นได้
โปรดติดตามรายชื่อกษัตริย์ของราชวงศ์ที่1 พร้อมทั้งข้อมูลประวัติศาสตร์แต่ละรัชสมัยในบทความถัดไป

References :
- Bard, K., & Shubert, S. (2005). Encyclopedia of the archaeology of ancient Egypt. New York: Routledge.
- Charvát Petr. (2013). The birth of the state: Ancient Egypt, Mesopotamia, India and China.Prague: Karolinum.
- Friedman, R., & Bussmann, R. (2018). The Early Dynastic Palace at Hierakonpolis. Ancient Egyptian and Ancient Near Eastern Palaces, 79–100. https://doi.org/10.2307/J.CTVRZGW3B.8
- Mark, J. (January 22, 2016). Early Dynastic Period In Egypt. Retrieved 25 September 2022, from https://www.worldhistory.org/Early_Dynastic_Period_In_Egypt/
- Radner, K., Moeller, N., & Potts, D. (2020). The Oxford history of the ancient Near East Volume 1. New York: Oxford University Press.
- Rice, M. (2003). Egypt’s Making: The Origins of Ancient Egypt, 5000-2000 BC (2nd ed.). London: Routledge.
- Shaw, I. (2003). The Oxford History of Ancient Egypt. Oxford: Oxford University Press.
- Teeter, E. (2011). Before the pyramids: The Origins of Egyptian Civilization. Chicago: Oriental Institute of the University of Chicago.
- Van de Mieroop, M. (2011). A history of ancient Egypt. Oxford: Wiley-Blackwell.
