ในขณะที่บ้านเมืองเรากำลังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์กันอย่างเคร่งเครียดภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี) การรณรงค์ให้ใส่ชุดสีดำไว้ทุกข์กันอย่างพร้อมเพรียงนั้น กลายเป็นกระแสสังคมกันอย่างกว้างขวางทั้งในแง่ที่ดี สำรวม และสุภาพ แต่ใครจะรู้บ้างว่าแต่เดิมประเทศไทยไม่ได้ยึดถือวัฒนธรรมการสวมสีดำไว้ทุกข์กันอย่างปัจจุบัน แต่เป็นการรับเอาขนบนุ่งดำมาจากตะวันตกจนสืบเนื่องมาในปัจจุบัน
การแต่งสีดำในงานศพ อาจกล่าวได้ว่ามีในสมัย ร.5 ครั้งแรก เมื่อคราวพ.ศ. 2414 ในงานพระองค์เจ้าชายอิศรวงศ์วรราชกุมาร พระโอรสในเจ้าจอมมารดาแสง ซึ่งเป็นพระโอรสองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีพระประสูติในพระมหาเศวตฉัตร (หลังครองราชย์) โดยในความนิยมนุ่งสีดำนี้ คงได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งตะวันตก เนื่องจากในราชสำนักเริ่มมีรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาตั้งแต่ในช่วงราวรัชกาลที่ 4 แล้ว ในระยะเวลาดังกล่าวตรงกับช่วงที่พระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษทรงฉลองพระองค์สีดำเพื่อไว้ทุกข์ให้พระสวามีผู้ล่วงลับ โดยมีดำริว่าจะทรงชุดสีดำตลอดพระชนม์ชีพ และบรรดาข้าราชบริพาร รวมถึงประชาชนทั่วไปได้ปฏิบัติตามธรรมเนียมไว้ทุกข์ของพระนางด้วย

พระเจ้าลูกเธอ เจ้าจอมมารดา พระบรมศานุวงศ์ และข้าราชบริพารฝ่ายใน
ทรงฉายภาพเป็นที่ระลึกในงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี ณ พระราชวังบางปะอิน พ.ศ.2447
แต่เดิมในพื้นที่ประเทศไทยสมัยโบราณ การไว้ทุกข์จะนิยมแต่งกายนุ่งขาวห่มขาว แต่เดิมทำกันทั้งครัวเรือน ต่อมาจึงมีการกำหนดเพิ่มเติมละเอียดขึ้น แบ่งตามสถานภาพทางสังคม อายุและความเกี่ยวข้องกับผู้ตาย โดยกำหนดจากการใช้สีเครื่องแต่งกายที่ต่างกัน 3 สี คือ สีดำ สีขาว และสีม่วงแก่หรือสีน้ำเงินแก่ โดยพิจารณาการนุ่งห่มตามสภานภาพดังนี้
- สีขาว สำหรับผู้เยาว์หรือผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าผู้ตาย เช่น ลูกหลานญาติสนิทหรือผู้อยู่ในอุปการะและสำหรับพระราชพิธีพระบรมศพ
- สีดำ สำหรับผู้ใหญ่หรือผู้ที่อายุแก่กว่าผู้ตาย
- นุ่งดำสวมเสื้อขาว สำหรับมิตรสหายที่สนิทกับผู้ตาย
- นุ่งสีม่วงแก่หรือน้ำเงินแก่สวมเสื้อขาว สำหรับผู้ที่มิได้เกี่ยวข้องเป็นญาติกับผู้ตาย

สถานภาพทางสังคม และลำดับเครือญาติจึงจะปรากฏจากสีของเครื่องแต่งกายในงานศพ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่บรรดาเจ้านายจะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะไม่ต้องถูกตำหนิว่า “เป็นผู้ไม่มีความรู้เรื่องเลือดเนื้อของตัวเอง” ตามที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยดิศกุล ทรงเล่าถึงใช้สีต่างๆ ในการแต่งกายไปงานศพว่า
"พวกเราเด็กๆ มักถูกเอ็ดเสมอเพราะแต่งไม่ถูกบ่อยๆ และชักจะสนุกในการได้เปลี่ยนสีเครื่องแต่งตัวเสียด้วย บางครั้งพอได้ข่าวว่าเสด็จป้า เสด็จอา พระองค์ใดสิ้นพระชนม์ ก็รีบแต่งดำขึ้นไปเฝ้า พอถึงก็ถูกสมเด็จหญิงทรงถามว่า ไว้ทุกข์ใคร? เราทูลว่าพระองค์นั้นๆ เลยถูกไล่ให้ไปเปลี่ยนเร็ว เพราะท่านกำลังประชวรหนักไม่สิ้นสักที จะเป็นแต่งไปแช่งท่าน ส่วนในงานเวลาเมรุนั้นเราเด็กๆ ไม่ค่อยจะได้แต่งสีดำเลย เพราะไม่มีผู้ตายอายุอ่อนกว่า จึงต้องแต่งขาวอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดมีพวกเด็กเล็กตาย เราได้แต่งดำรู้สึกภาคภูมิเสียจริงๆ ส่วนสีน้ำเงินแก่นั้น เคยแต่งครั้งเดียว คือเมื่องานพระราชทานเพลิงศพ "พระยาอิศรพันธ์โสภณ (หนูอิศรางกูร)" เพราะในเวลานั้นยังไม่มีนามสกุล เรารู้จักกันแต่ว่าเป็นขุนนางคนหนึ่ง สมเด็จหญิงและพระเจ้าลูกเธอที่ทรงมีชันษาคราวเดียวกันทรงเป็นลูกศิษย์ของเจ้าคุณอิศรพันธ์โสภณ ทรงเรียกว่า คุณหนู ถึงวันเผาท่านก็ทรงขาวกันทุกพระองค์ และตรัสสั่งให้ข้าพเจ้านุ่งสีน้ำเงินแก่ตามเสด็จเพราะไม่ได้เป็นลูกศิษย์ พวกเรารู้สึกว่าโก้แทบตายเพราะไม่เคยนุ่งเลยสักครั้งเดียว"
อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดเหล่านี้ก็อาจมีการยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงในโอกาสพิเศษต่างๆ อาทิเช่น ในรัชสมัย ร.1 ในการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงฉลองพระองค์พระภูษาลายพื้นขาว ด้วยพระราชดำรัสว่า “ลูกคนนี้รักมากต้องนุ่งขาวให้”
หรือช่วงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์พระภูษาขาว ในงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ในปี พ.ศ. 2388 และสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยทรงพระภูษาขาวในงานพระเมรุพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ใน พ.ศ. 2447 ผู้ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ประสูติก่อนสมเด็จพระราชบิดาเสด็จขึ้นเสวยราชย์ ทั้งสามกรณีหากเป็นไปโดยธรรมเนียมจำเป็นต้องฉลองพระองค์สีดำ เนื่องจากเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดา ซึ่งถือเป็น “ผู้น้อย” แต่มีความเสน่หาจึงทรงฉลองพระองค์สีขาวให้ รวมถึงข้าราชบริพารก็ปฏิบัติตามโดยพร้อมเพรียงกัน

ภาพจาก http://www.prachachat.net

บรรณานุกรม
- กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.หนังสือสาส์นสมเด็จฯ.กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร.2501
- ข้ามภพไปสมัย ร.5-7 ‘ชมภาพหายาก’ นิทรรศการ ‘ฟิล์มกระจก’ มรดกความทรงจำ (25 พฤษภาคม 2561) .Matichon Online. https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_970950
- ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (14 ตุลาคม 2559).”รู้จักวิธีการไว้ทุกข์ “สีเครื่องแต่งกาย” ตามธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” ใน prachachat.net เข้าถึงได้จาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1476446167 [CITED 26 October 2016]
- ศิลปวัฒนธรรม (14 ตุลาคม 2559).”การแต่งกายในงานศพสมัยโบราณ” ใน silpa-mag.com.เข้าถึงได้จาก : https://www.silpa-mag.com/featured/article_3358 [CITED 26 October 2016]
