เป็นที่ฮือฮาอย่างมากเมื่อทางประเทศทูร์เคียหรือตุรกีที่เราคุ้นกันได้ออกรายงานระบุว่ามีการพบภาพศิลปะเล่าเรื่องที่เก่าที่สุดในโลก โดยสันนิษฐานว่ามีอายุราว 11,000 ปี ไล่เลี่ยกับแหล่งโบราณคดีอีก 2-3 แห่งที่ 1 ในนั้นได้ชื่อว่าเป็นวิหารที่เก่าที่สุดที่เคยพบในโลก แต่ไม่มีอะไรจะกระตุกจิตกระชากใจใครหลายคนเท่าภาพหนึ่งซึ่งเป็นภาพสลักคนเล่นจู๋ ทำเอาตะลึงกันไปตามๆ กันว่าคนเราอวดจู๋กันทำไม ทำเพื่ออะไร ทำไมมันถึงมีตั้งแต่ยุคเก่าขนาดนั้น เรามาหาคำตอบทีละประเด็นพร้อมกันในบทความนี้
แหล่งโบราณคดีไซบูร์ช (ออกเสียงตามภาษาตุรกี :Sayburç) อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพื้นที่ประเทศตุรกี มีรูปแบบวัฒนธรรมใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ อีกหลายแห่งที่กระจายตัวอยู่ไม่ไกลกันนัก โดยมีแหล่งโบราณคดีสำคัญๆ อย่าง โกเบคลิ เทเป (Göbekli tepe), คาราฮัน เทเป (Karahantepe) ที่อยู่ในจังหวัดชานลึอูร์ฟา (Şanlıurfa district) เช่นเดียวกับไซบูร์ช
ตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีไซบูร์ชอยู่ตรงตีนเขาด้านตะวันออกของเทือกเขาทอรัส (Taurus) และห่างจากแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates) ราว 60 กม. บริเวณที่พบโบราณสถาน/โบราณวัตถุมีสัณฐานเป็นเนินดินที่ส่วนมากถูกครอบครองด้วยหมู่บ้านสมัยใหม่ในปัจจุบันที่เข้ามาอยู่อาศัยราวปีค.ศ. 1949 โดยไม่ได้ทราบถึงความเป็นมาหรือมีการค้นพบด้านโบราณคดีมาก่อน

ตุรกีโดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำไทกริส (Tigris) และยูเฟรตีส ตรงส่วนด้านบนของพื้นที่ที่นักโบราณคดีเรียกว่า “วงเสี้ยวแห่งความอุดมสมบูรณ์” (Fertile Crescent) และถือว่าเป็น “บ่อกำเนิดอารยธรรม” (Cradle of civilization) นั้น มีการพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ หลายแห่งมีการพัฒนาจากชุมชนโบราณมาเป็นเมือง อย่างกรณีของชาทัลฮือยึค (Çatalhöyük) ที่มีคนอยู่อาศัยสร้างที่พักกันตั้งแต่ยุคหินใหม่ (Neolithic) -ยุคทองแดง (รอยต่อยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ในตะวันออกกลาง-อียิปต์) กำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ว่าเก่าแก่ราว 7500 – 6400 ปีก่อนคริสตกาล

พร้อมกับแสดงไซต์ยุคหินใหม่ก่อนหรือที่ยังไม่พบการกสิกรรม (จุดสีดำ)
(Credit : GFDL, CC BY-SA 3.0, via Wikimedia Commons)
ในช่วงเวลาที่ค้นพบชาตัลฮือยึค นักโบราณคดีต่างให้ความเห็นว่าการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณเกิดขึ้นหลังจากมีการปฏิวัติเกษตรกรรมยุคหินใหม่ (Neolithic Revolution/1st Agricultural Revolution) ทำให้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมเร่ร่อน-หาของป่ามาเป็นการสร้างหมู่บ้านแทน และกว่าจะเริ่มมีการสร้างโบราณสถานประเภทอนุสรณ์หรือศาสนสถานก็ต้องใช้เวลาหลังจากนั้นอีกหลายปี

แต่การค้นพบที่โกเบคลิ เทเปที่เป็นโบราณสถานศิลาขนาดใหญ่ มีร่องรอยของศิลปกรรมที่มีทั้งรูปใบหน้าคน ตัวสัตว์ แกะสลักบนเสาหินรูปตัว T เป็นวงล้อมขนาดใหญ่ดัง “วิหาร” (Temple) ทำให้แนวคิดดังกล่าวต้องมีการอัพเดทกันใหม่ เนื่องจากแม้จะมีการพบสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากตั้งแต่การขุดศึกษาค.ศ.1995 – ปัจจุบัน ยังไม่มีการพบร่อยรอยของภาชนะดินเผา การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน สุสาน ไปจนถึงร่องรอยของการทำไร่นากับหุงหาอาหารเลย มีเพียงร่องรอยของกระดูกสัตว์
เท่ากับว่าตอนนี้ยุคหินใหม่ในตุรกีมีการสร้างศาสนสถานก่อนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเสียอีก หลังจากโกเบคลิ เทเปแล้ว ตุรกีก็ยังพบชุมชนโบราณที่มีอายุเก่าแก่ราว 11,000-10,000 เพิ่มขึ้นอีกมากมาย และไซบูร์ชคืออีกแห่งที่น่าสนใจอย่างมาก
อย่างไรก็ตามการขุดค้นที่โกเบคลิ เทเปเองในปีค.ศ. 2021 นักโบราณคดีระบุเพียงว่าทำการขุดค้นในพื้นที่ไปแล้วราว 5% ของพื้นที่สันนิษฐานเท่านั้น เช่นเดียวกับกรณีของแหล่งโบราณคดีไซบูร์ชที่เริ่มดำเนินการในปีดังกล่าว มีเพียงพื้นที่เล็กๆ ที่ขุดเปิดแล้วเท่านั้น ทว่ากลับมีการค้นพบภาพสลักกับโครงสร้างของอาคารโบราณฝังอยู่ใต้ตึกสมัยใหม่
อาคารดังกล่าวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 11 เมตรโดยประมาณ สร้างด้วยการแกะสลักหินปูนธรรมชาติ มีคานหินขนาดใหญ่คล้ายคานคอดินตัดขึ้นจากพื้นเป็นแนวรองรับน้ำหนักผนังซึ่งก่อด้วยศิลา ขนาดของคานสูง 0.6-0.8 เมตร กว้าง 0.6 เมตร มีความยาวไปตลอดแนวกำแพงที่คาดว่าเดิมมีโครงสร้างเสาคั่นกลาง พิจารณาจากขนาดของแนวโบราณสถานกับการค้นพบภาพสลัก ทำให้ดูเหมือนว่าสถานที่แห่งนี้อาจใช้เป็นที่ชุมนุมในโอกาสพิเศษของชุมชน เช่นเดียวกับโกเบคลิ เทเปก็เป็นได้

Sayburç project archive).
บริเวณที่พบภาพสลักคือด้านในของคานหินที่รับผนัง โดยภาพที่พบใหม่อีก 2 ฉากนั้นเป็นรูปสลักบุคคล 2 คน ร่วมกับภาพสลักของเสือดาวและกระทิง ซึ่งทอดยาวไปตามแนวหินคล้ายบอกเล่าเรื่องราวที่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจเป็นศิลปกรรมเกี่ยวกับความเชื่อบางประการ

จากภาพพาโนรามาด้านบน มองจากซ้ายไปขวา รูปสลักแรกคือภาพของกระทิงกำลังหันหน้าชี้เขาไปทางรูปบุคคลที่กำลังชูแขนที่ถือสิ่งที่เหมือนเป็นงู มือข้างที่ชูในอากาศมีนิ้วมือจำนวนมากกว่าปกติ ถัดจากนั้นจะเป็นภาพสลักของเสือดาว 2 ตัวหันหน้าเข้าหารูปชายที่กำลังถือลึงค์ด้วยมือขวา เสือตัวหนึ่งที่อยู่ฝั่งตะวันตกมีการเขียนอวัยวะเพศชายเอาไว้ ส่วนอีกตัวหนึ่งไม่ปรากฏ ตัวภาพทั้งหมดสลักเป็นรอยขูดขีดเป็นร่องลายเส้นแบบ 2D มีเพียงรูปบุคคลที่อวดอวัยวะเพศเท่านั้นที่ทำเป็นภาพกึ่งนูนสูงแบบ 3D

ภาพคนอวดลึงค์นี้ถูกจัดวางองค์ประกอบให้ดูโดดเด่นจากพื้นหลังที่เป็นเพียงลายเส้น ทั้งยังเป็นรูปเดียวที่หันหน้าออกมาประจันหน้ากับผู้ชม ในขณะที่ภาพอื่นๆ ที่แม้จะสร้างเป็นรูปบุคคลเช่นกันก็ยังหันหน้าเข้าหาสิ่งประกอบอย่างกระทิงเท่านั้น
นักโบราณคดีที่ทำการศึกษาศิลปะของไซบูร์ช วิเคราะห์ว่าภาพสลักสองมิติของที่นี่มีความละม้ายกับแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยกันอย่างที่โกเบคลิ เพียงแต่ว่าแตกต่างในจุดที่ไซบูร์ชพบว่าเป็นศิลปะเล่าเรื่อง (Narrative Art) อาจเป็นภาพสะท้อนของความทรงจำหรือเรื่องราวสำคัญสำหรับกลุ่มคนที่เคยอาศัยอยู่เมื่อ 11,000 ปีก่อน
ในศิลปะของโลกโบราณมีการพบคตินิยมสร้างประติมากรรมหรือรูปปั้นที่เกี่ยวข้องกับเพศมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การสร้างเพียงรูปของอวัยวะเพศชาย-หญิง ไปจนถึงการสร้างรูปคนแสดงท่าทางอวดเครื่องเพศ เนื่องด้วยคนโบราณนั้นมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งต่างๆ ว่าเกิดขึ้นด้วยการสังวาส เพื่อบวงสรวงให้เกิดความอุดมสมบูรณ์จึงเกิดคติของการจำลองภาวะสมสู่กันของพลังธรรมชาติ
กรณีของไซบูร์ชนั้นมีการพบสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความแข็งกร้าวรุนแรง ด้วยการแสดงภาพของกระทิงกับเสือดาวที่เป็นสัตว์ดุร้ายอันตรายต่อมนุษย์ หนำซ้ำยังมีการเน้นย้ำส่วนที่เป็นอาวุธของสัตว์นั้นอย่างเขาหรือเขี้ยวก็ดี Jens Notroff นักโบราณคดีชาวเยอรมันที่ร่วมทีมวิจัยกับตุรกีจึงเสนอแนวคิดว่าภาพดังกล่าวเป็นการทำเพื่อแสดงอำนาจของความเป็นชาย (Masculinity) การที่เสือดาวกำลังแยกเขี้ยวเข้าหาชายผู้ซึ่งกำลังอวดลึงค์คือสัญญะเชิงอำนาจที่บุรุษกำลังท้าทายหรือเอาชนะภยันตรายนั้นๆ

กระทิงกับเสือดาวนั้นยังปรากฏอยู่ในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ส่วนงูที่บุคคลหนึ่งถืออยู่นั้นก็เช่นกัน นับจากการค้นพบที่โกเบคลิ เทเปกับไซบูร์ชนี้ ยังมีแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่อีกประมาณ 15 แห่งที่พบในประเทศตุรกี การขุดค้นและศึกษาในอนาคตอาจทำให้เราเข้าใจบริบทกับรูปแบบของสังคมยุคหินใหม่ได้มากขึ้น ยังอาจจะสามารถตอบคำถามมากมายเกี่ยวกับลักษณะของศิลปกรรมคนอวดลึงค์ที่เราเห็นกันอยู่นี่
ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีไซบูร์ชเองก็ยังต้องใช้เวลาอีกมากเพื่อทำการขุดค้น หากมองจากภาพด้านล่างคงจะเห็นว่าแนวโบราณสถานนั้นยังอยู่ใต้ตึกสมัยใหม่ที่สร้างครอบไว้ คงต้องมีการดำเนินการรื้อถอนอย่างระมัดระวังเพื่อทำการขุดค้นต่อไป

(courtesy of the Sayburç project archive).
References :
- Altuntaş,L.(October 18, 2021).A relief of a man holding his Phallus was found in Sayburç, one of the Taş Tepeler.Arkeonews.Retrieved 11 December 2022, from https://arkeonews.net/a-relief-of-a-man-holding-his-phallus-was-found-in-sayburc-one-of-the-tas-tepeler/
- Killgrove,K.(December 8, 2022).Man holding penis and flanked by leopards is world’s oldest narrative carving.Livescience.Retrieved 11 December 2022, from https://www.livescience.com/oldest-narrative-scene-neolithic-turkey
- Özdoğan, E. (2022). The Sayburç reliefs: A narrative scene from the Neolithic. Antiquity, 96(390), 1599-1605. doi:10.15184/aqy.2022.125
- Schuster,R.(December 8, 2022).Narrative Relief From 11,000 Years Ago Found in Turkey.Haaretz.Retrieved 11 December 2022, from https://www.haaretz.com/archaeology/2022-12-08/ty-article-magazine/narrative-relief-from-11-000-years-ago-found-in-turkey/00000184-ec7a-d9f1-a9e6-edfa8d0a0000
- อัศวัตถามา.(20 ตุลาคม พ.ศ. 2565).“โกเบคลี เทเป” วิหารแห่งแรกของโลก ก่อนมนุษย์รู้จักเพาะปลูก อายุกว่าหมื่นปี.ศิลปวัฒนธรรม.Retrieved 11 December 2022, from https://www.silpa-mag.com/history/article_95000
